ReadyPlanet.com


จะฟ้องค่าเลี้ยงดูบุตร- ไม่มีเงินจ้างทนายความ ฟ้องที่ศาลไหน


หนูเป็นคนจน บ้านต้องเช่า ข้าวต้องซื้อ มีลูก 2 คน อายุ 11 ปี และ 12 ปี หย่ากับสามีมาประมาณ 9 ปีเพราะเขาไปมีเมียน้อยจึงตกลงหย่ากัน ในใบหย่าไม่ได้ตกลงเรื่องค่าเลี้ยงดู ลูกอยู่กับหนูทั้ง 2 คน ใน 9 ปี เขาส่งเงินให้ไม่ถึง 10 ครั้ง หนูต้องกู้หนี้ยืมสินมากมายเพื่อเลี้ยงดูส่งเสียลูกเรียน หนูอยากฟ้องบังคับให้เขาส่งเงินให้ลูกเพราะตกลงกันไม่ได้ เขาทำเฉยตลอด ทั้งที่เขาเป็นครูมีอาชีพมั่นคงแต่ไม่เคยเหลียวแลลูก หนูต้องทำอย่างไร เงินก็ไม่มีจ้างทนาย ฟ้องเรียกย้อนหลังและอนาคตได้ไหมคะ ต้องฟ้องต่อศาลใด เสียค่าใช้จ่ายกี่บาท หนูต้องทำอย่างไร ช่วยหนูด้วยนะคะ ขอบพระคุณมากคะ



ผู้ตั้งกระทู้ ปราบมาร :: วันที่ลงประกาศ 2013-06-23 13:23:04


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2381008)

บิดา มารดา มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตร เมื่อไม่ได้จ่ายหรือให้อีกฝ่ายหนึ่งจ่ายไปแต่ฝ่ายเดียวสามารถฟ้องเรียกย้อนหลังได้ 5 ปีครับ และเรียกให้จ่ายในอนาคตได้ จนบุตรอายุครบ 20 ปี บริบูรณ์ครับ

เงินไม่มีจ้างทนาย - แนะนำให้ติดต่อกับ สภาทนายความ หรือ สำนักงานอัยการประจำจังหวัด หรือในกรุงเทพฯ ไปที่สำนักงานอัยการ ติดกับหรือใกล้เคียงกับอาคารศาลอาญา ถนนรัชฎา ครับ

ต้องฟ้องต่อศาลใด - ฟ้องได้ 2 ศาลคือ 1. ศาลที่บิดา มีทะเบียนบ้านอยู่ปัจจุบัน (ถือเป็นภูมิลำเนา) 2. ฟ้องตามมูลคดีเกิด ในการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู อาจถือเอาสำนักงานทะเบียนที่จดทะเบียนหย่าเป็นสถานที่มูลคดีเกิดได้ครับ ศาลที่อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาคดีนี้คือศาลเยาวชนและครอบครัวในจังหวัดนั้น ๆ หรือหากในกรุงเทพ ก็มี 2 ศาลคือ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง สาขามีนบุรี และที่ถนนหน้าหับเผยเข้าที่ศาลหลักเมืองสนามหลวงครับ

 

มาตรา 1598/38  ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา หรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้นย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี

มาตรา 193/33  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี
(1)  ดอกเบี้ยค้างชำระ
(2)  เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ
(3)  ค่าเช่าทรัพย์สินค้างชำระ เว้นแต่ค่าเช่าสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 193/34 (6)
(4)  เงินค้างจ่าย คือ เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดูและเงินอื่นๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา
(5)  สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2013-07-03 20:17:34



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล