ReadyPlanet.com


ขอปรึกษาปัญหาเรื่องที่ดินหน่อยครับ


พี่ชายโดนป้าฟ้องเรื่องแบ่งที่ดินที่มีชื่อร่วมกัน โดยได้รับมาจากปู่ เป็นชื่อของ 2 คนในโฉนด
อยู่ดีๆป้าก็มาฟ้องให้แบ่งโดยไม่บอกมาก่อน (ผมอาศัยอยู่กับพี่ที่บ้านนี้)
วันก่อนโดนปิดหมายที่บ้าน พอดีไม่มีใครอยู่บ้านตอนเค้ามาติด อย่างนี้พี่ชายผมต้องทำอย่างไรต่อครับ?

-ถ้าพี่เค้าโอเคที่จะแบ่ง แล้วต้องจ้างทนายมั้ยครับ?
-ถ้าต้องจ้างทนาย ค่าใช้จ่ายของทนายทั้งหมดจะประมาณเท่าไหร่อะครับ? โฉนดเค้าตีราคามา 2 ล้านบาท
-เห็นมีเขียนไว้ในคำฟ้องด้วย ถ้าแพ้พี่ผมต้องเสียค่าธรรมเนียมต่างๆ + ค่าทนายของป้าด้วย ยังงี้ต้องชนะคดีอย่างเดียวถึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ รึเปล่าครับ? แล้วทั้งหมดต้องเสียประมาณเท่าไหร่อะครับ?

ขอบคุณมากๆครับ



ผู้ตั้งกระทู้ กร :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-11 20:26:39


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2198196)


1. โดนปิดหมายศาลที่บ้านต้องทำอย่างไร? 
ตอบ  จำเลยมีหน้าที่ต้องไปศาลตามหมายศาลที่ระบุวันเวลาไว้ในหมายนัด ในกรณีที่เป็นคดีแพ่งสามัญจะต้องยื่นคำให้การภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดคือ 15 วันในกรณีที่มีผู้รับหมายไว้แทน หรือ 30 วันในกรณีที่เจ้าหน้าที่ศาลปิดหมายไว้ที่บ้าน

เมื่อไปศาลตามนัดศาลจะสอบถามว่าคุยกันบ้างหรือยัง ตกลงกันได้ไหม

2. ในกรณีจำเลยมีเจตนาที่จะแบ่งตามคำฟ้องอยู่แล้วต้องทำอย่างไร?

ตอบ เมื่อไม่มีประเด็นที่จะต่อสู้คดี ก็ไม่จำเป็นต้องจ้างทนายความ แต่ต้องไปศาลเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความ

3. ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความผู้แพ้คดีต้องเสียให้กับผู้ชนะคดีใช่หรือไม่?

ตอบ กฎหมายให้ผู้แพ้คดีเป็นผู้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความตามที่ศาลกำหนดไว้ในคำพิพากษา แต่ไม่ใช่ค่าทนายความตามที่คู่ความได้ชำระไปจริง แต่อย่างไรก็ตามหากมีการตกลงกันได้โดยสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือการถอนฟ้องคู่ความอาจตกลงกันให้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความตกเป็นพับก็ได้ และในกรณีที่โจทก์ถอนฟ้องก็จะได้รับค่าธรรมเนียมศาลคืนส่วนหนึ่งด้วย

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-22 11:36:45


ความคิดเห็นที่ 2 (2198254)

การแบ่งกรรมสิทธิ์รวม
ที่ดินมีโฉนดมีเจ้าของร่วมกัน 3 คน ต่อมาเจ้าของรวมคนหนึ่งเสียชีวิตลงแต่ทายาทของผู้ตายยังไม่ได้มีการเข้ารับมรดก คำถามว่าจะทำการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยไม่มีการตั้งผู้จัดการมรดกได้หรือไม่?
ประเด็นปัญหา  โฉนดที่ดินมีชื่อ นาย ก.  นาย ข.  นาย ค.  ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน นาย ค. ตายและทายาทยังมิได้ขอรับมรดก  ต่อมา นาย ก. และทายาทของ นาย ค.  บางคนได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง   นาย ข. เป็นจำเลย  เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ นาย ข. แบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดิน  ระหว่างการพิจารณา  โจทก์จำเลยตกลงประนีประนอมยอมความกันได้  โดยจำเลยตกลงจะไปแบ่งแยกที่ดินตามคำขอของโจทก์  หากไม่ไปให้ใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา  ศาลพิพากษาตามยอม  มีกรณีพิจารณาว่านาย ก. และทายาทของ นาย ค.   จะแบ่งกรรมสิทธิ์รวม โดยใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของ  นาย ค. ผู้ตายได้หรือไม่

การแบ่งกรรมสิทธิ์รวมเป็นการตกลงกันในระหว่างเจ้าของรวม  การจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินเป็นการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน  ดังนั้น ในกรณีผู้มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว  ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของบุคคลดังกล่าวจึงต้องจดทะเบียนโอนมรดกหรือจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกในส่วนของผู้ถึงแก่ความตายในโฉนดที่ดินเสียก่อน จึงจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินนั้นต่อไปได้  หากทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ได้ถึงแก่กรรมไปแล้วยังไม่จดทะเบียนรับโอนมรดก หรือไม่จดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกของผู้ถึงแก่ความตาย  ย่อมทำการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้  ประกอบกับคำพิพากษาตามยอมมีผลผูกพันเฉพาะคู่กรณีที่ทำสัญญากันเท่านั้น  หาได้มีผลผูกพันกองมรดกหรือทายาทของผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว  รวมทั้งบุคคลภายนอก  เช่น  พนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด    นาย ก. และทายาทบางคนของนาย ค. ที่เป็นโจทก์  จึงไม่อาจกล่าวอ้างคำพิพากษาตามยอมเพื่อขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่รังวัดและ จดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยใช้คำพิพากษาตามยอมแทนการแสดงเจตนาของ นาย ค. ผู้ตาย และทายาทอื่นของนาย ค. ผู้ตาย ที่มิได้เป็นคู่ความในคดีด้วยได้  

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-22 14:23:21


ความคิดเห็นที่ 3 (2198258)

โจทก์มิได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินเป็นจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8015/2543

          คำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่จำเลยนั้น เป็นคำฟ้องที่ขอให้บังคับเจ้าพนักงานที่ดินให้กระทำการหรือไม่กระทำการ เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินเป็นจำเลย จึงขอให้บังคับเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคสอง คำขอของโจทก์จึงไม่ชอบและไม่อาจบังคับได้

________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน โจทก์จึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่เป็นเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าว จำเลยนำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน(ส.ค.1) เลขที่ 253 เนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินของโจทก์ไปยื่นขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สาขานางรอง เจ้าพนักงานที่ดินจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลยเป็นเนื้อที่ 12 ไร่ โจทก์คัดค้านเจ้าพนักงานที่ดินสอบสวนเปรียบเทียบแล้วมีคำสั่งให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่จำเลยตามจำนวนเนื้อที่ที่ได้นำรังวัดสอบสวนซึ่งจะทำให้โจทก์เสียที่ดินไปตามจำนวนเนื้อที่ที่ออกเกินไป ขอให้มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สาขานางรอง ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลย และยกเลิกคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลย

          จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เกินกว่าเนื้อที่ตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ทำให้โจทก์เสียที่ดินไปตามจำนวนที่ออกเกิน แต่คำขอบังคับของโจทก์ขอให้ศาลห้ามเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สาขานางรอง ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลยทั้งหมด คำฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุมจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยตลอด โจทก์ฟ้องเอาที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยเกินกว่า 1 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องและขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้อง

          ระหว่างพิจารณา จำเลยขอถอนฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นอนุญาตและเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะส่วนที่ยกฟ้องโจทก์ในประเด็นที่ขอให้ยกเลิกคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลย แล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานแล้วพิพากษาในประเด็นดังกล่าวไปตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นคู่ความในคดี ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 253 หมู่ที่ 10 ตำบลสะเดาอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินของโจทก์ ไปยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์คิดเป็นเนื้อที่ 12 ไร่ ซึ่งเกินกว่าเนื้อที่ตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)ทำให้โจทก์เสียที่ดินตามเนื้อที่ที่ออกเกิน โจทก์คัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สาขานางรอง ทำการสอบสวนเปรียบเทียบแล้ว มีคำสั่งให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่จำเลยตามเนื้อที่ที่ได้นำรังวัดสอบสวน การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สาขานางรอง ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลย เป็นการฟ้องว่าจำเลยขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะรายโดยไม่ชอบ ซึ่งการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะรายนั้น ผู้ที่มีสิทธิครอบครองในที่ดินจะต้องนำหลักฐานที่แสดงว่าตนมีสิทธิครอบครองที่ดิน เช่น แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) หรือใบจอง เป็นต้น ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เจ้าพนักงานที่ดินจะทำการรังวัดสอบสวนสิทธิในที่ดินของผู้ยื่นคำขอนั้น แล้วพิจารณาว่าจะดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นคำขอหรือไม่ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 56, 59 ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2537 ฟ้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่จำเลยนั้น เป็นคำฟ้องที่ขอให้บังคับเจ้าพนักงานที่ดินให้กระทำการหรือไม่กระทำการ เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สาขานางรอง เป็นจำเลยจึงขอให้บังคับเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สาขานางรอง ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคสอง คำขอของโจทก์จึงไม่ชอบและไม่อาจบังคับได้ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงมีสิทธิคัดค้านการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลย และผลแห่งคำพิพากษาเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สิทธิย่อมผูกพันเจ้าพนักงานที่ดินในอันที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลในทำนองว่าสามารถใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้นั้น ก็หาใช่เป็นเรื่องบังคับให้เจ้าพนักงานที่ดินกระทำการหรือไม่กระทำการแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายกฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"


          พิพากษายืน

( รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ - พิชัย เตโชพิทยากูล - อภิชาต สุขัคคานนท์ )

              

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-07-22 14:29:08


ความคิดเห็นที่ 4 (2198264)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่1053/2539
 

 

จำเลยที่ 3 ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยครอบครองปรปักษ์จำเลยที่ 3 กับจำเลยที่1 และที่2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยที่1 และที่2 จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่3 ศาลพิพากษาคดีไปตามยอมไม่ใช่คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งที่ดินพิพาทจึงไม่ผูกพันหรือใช้ยันแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา145(2)ศาลไม่จำต้องเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความหรือคำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าว

________________________________


โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่30545 เนื้อที่ 1ไร่1 งาน 57 ตารางวาจากจำเลยที่1 และที่2 โดยวางมัดจำในวันทำสัญญาเป็นเงิน1,000,000 บาทมีข้อตกลงว่าจำเลยที่1 และที่2 จะต้องขอรังวัดสอบเขตที่ดินเพื่อทราบจำนวนเนื้อที่เมื่อรังวัดเสร็จแล้วจำเลยที่1 และที่2 ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบก่อน15 วันเพื่อรับโอนที่ดินและชำระเงินที่ค้างหากโจทก์ผิดสัญญาไม่รับโอนที่ดินยอมให้ริบเงินมัดจำหากจำเลยที่1 และที่2 ไม่ดำเนินการขอรังวัดสอบเขตที่ดินและแจ้งให้โจทก์ทราบภายในกำหนด6เดือนยอมให้โจทก์บังคับตามสัญญาและยอมเสียค่าปรับอีก1,000,000 บาทแต่จำเลยที่1 และที่2 มิได้ขอรังวัดสอบเขตที่ดินและมิได้แจ้งการนัดโอนที่ดินให้โจทก์ทราบต่อมาโจทก์ไปอายัดที่ดินที่สำนักงานที่ดินจึงทราบว่าจำเลยที่3ยื่นฟ้องจำเลยที่1 และที่2ต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่18 ตุลาคม2531 อ้างว่าได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินดังกล่าวเนื้อที่300 ตารางวาทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสามสมคบกันฉ้อฉลโจทก์โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายจำเลยที่3มิได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินดังกล่าวและทราบว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่1และที่2การทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวกระทำโดยไม่สุจริตไม่มีการชำระค่าตอบแทนและยังมิได้จดทะเบียนโจทก์จึงมีสิทธิดีกว่าจำเลยที่3ถือได้ว่าจำเลยที่1 และที่2 ผิดสัญญาต้องรับผิดชำระค่าปรับ1,000,000 บาทแก่โจทก์ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยที่3กับจำเลยที่1และที่2 และคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่5187/2531 ของศาลชั้นต้นสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ให้จำเลยที่1 และที่2 โอนที่ดินโฉนดเลขที่30545 ให้แก่โจทก์และรับเงินที่เหลือ2,063,500 บาทจากโจทก์โดยหักค่าเสียหายและเบี้ยปรับ1,000,000 บาทคงเหลือ1,063,500 บาทให้จำเลยที่1 และที่2 เป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมค่าภาษีอากรในการโอนหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

จำเลยที่1 และที่2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่าจำเลยที่1 และที่2 ขอรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทแต่จำเลยที่3 เจ้าของที่ดินซึ่งมีแนวเขตติดต่อคัดค้านการรังวัดและไม่รับรองแนวเขตโจทก์จึงขอให้จำเลยที่1 และที่2 ยกเลิกคำขอรังวัดและให้โอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์เมื่อจำเลยที่1 และที่2 ยกเลิกคำขอรังวัดโจทก์กลับไม่รับโอนที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าหากจำเลยที่1 และที่2 เสียภาษีการโอนและภาษีรายได้ถูกจะทำให้โจทก์จำนองที่ดินพิพาทแก่ธนาคารได้เงินน้อยและโจทก์ก็มิได้เตรียมเงินมาชำระค่าที่ดินพิพาทจำเลยที่1 และที่2 จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจำเลยที่ 3 ครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่1 และที่2 บางส่วนโดยครอบครองปรปักษ์เกินกว่า10 ปีสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยที่3 กับจำเลยที่1 และที่2 จึงมีผลผูกพันตามกฎหมายโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าปรับขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่3ให้การว่าได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทเนื้อที่300ตารางวาโจทก์ทราบมาก่อนโจทก์กับจำเลยที่1และที่2ทำสัญญาจะซื้อจะขายไม่สุจริตแต่สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยที่3กับจำเลยที่1และที่2กระทำโดยสุจริตขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่5187/2531 ของศาลชั้นต้นให้จำเลยที่1 และที่2 โอนที่ดินโฉนดเลขที่30545 ตำบลบางบอนอำเภอบางขุนเทียนกรุงเทพมหานครแก่โจทก์และรับเงินค่าที่ดินจากโจทก์ 2,063,500 บาทกับให้จำเลยที่1 และที่2 ชำระเบี้ยปรับ 300,000 บาทแก่โจทก์หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่1 และที่ 2

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า"พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่13 มิถุนายน2531 โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 30545 ตำบลบางบอนอำเภอบางขุนเทียนกรุงเทพมหานครเนื้อที่ 1ไร่ 1งาน 57 ตารางวาซึ่งเป็นที่ดินพิพาทในราคาตารางวาละ 5,500 บาทรวมเป็นเงิน 3,063,500 บาทโจทก์วางมัดจำในวันทำสัญญาเป็นเงิน 1,000,000 บาทมีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทต้องขอรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทเพื่อคิดราคาตามเนื้อที่ที่รังวัดได้และเมื่อรังวัดเสร็จต้องแจ้งให้โจทก์ทราบก่อน 15 วันเพื่อรับโอนที่ดินพิพาทภายในกำหนด 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญากันดังกล่าวหากโจทก์ผิดสัญญายอมให้ริบมัดจำหากจำเลยที่1 และที่2 ผิดสัญญายอมให้ปรับ 1,000,000 บาทตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาวันที่ 14 เดือนเดียวกันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทและวันที่ 15 เดือนเดียวกันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาบางขุนเทียนช่างรังวัดได้ไปรังวัดที่ดินพิพาทครั้งที่1และที่2 ไม่แล้วเสร็จเนื่องจากจำเลยที่3 ไม่ไประวังแนวเขตและเมื่อวันที่ 21 กันยายน2531 ช่างรังวัดไปรังวัดที่ดินพิพาทครั้งที่ 3 ปรากฎว่าแนวรั้วโรงงานของจำเลยที่ 3 ล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาทด้านตรงมุมหักของที่ดินพิพาทประมาณ 80 เซนติเมตรเป็นรูปชายธงช่างรังวัดได้ปักหลักเสาหินแสดงเขตที่ดินพิพาทเลยรั้วของจำเลยที่ 3 เข้าไปประมาณ 80 เซนติเมตรตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.39 จำเลยที่ 3 ไม่ยอมรับรองแนวเขตและยื่นหนังสือคัดค้านของจำเลยที่ 3 เอกสารหมาย จ.5 ต่อมาวันที่ 26 กันยายน 2531 จำเลยที่1 และที่ 2 ทำเรื่องขอยกเลิกคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทตามสำเนาบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.47 เมื่อวันที่18 ตุลาคม 2531 จำเลยที่ 3 ยื่นฟ้องจำเลยที่1 และที่2 ต่อศาลชั้นต้นขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทบางส่วนโดยอ้างว่าได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทด้านติดกับรั้วโรงงานของจำเลยที่3เนื้อที่ 300 ตารางวา  ต่อมาวันที่ 22 พฤศจิกายน 2531 จำเลยที่3กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยที่1 และที่ 2 จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเนื้อที่ 300 ตารางวา ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 และศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีไปตามยอมแล้วตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5187/2531 ของศาลชั้นต้นคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสามว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทหรือไม่และโจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5187/2531 ของศาลชั้นต้นหรือไม่

ปัญหาประการแรกนั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่1 และที่2 เป็นผู้ขอยกเลิกคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทเองโจทก์หาได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยไม่จำเลยที่1 และที่2 จึงไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบโดยวิธีการรังวัดตามวิธีการของกรมที่ดินตามข้อ 3.1 ในหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 ให้เป็นที่เรียบร้อยและต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2531 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังทำสัญญาประนีประนอมยอมความจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเนื้อที่ 300 ตารางวาให้แก่จำเลยที่ 3 ตามที่จำเลยที่ 3 ยื่นฟ้องอีกซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีไปตามยอมแล้วทั้งๆที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังมีหนี้ที่จะต้องจดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมายจ.1 จำเลยที่1 และที่2 จึงผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทฎีกาจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาประการสุดท้ายนั้นเห็นว่าที่จำเลยที่3กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยที่1 และที่ 2 ว่าจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเนื้อที่ 300 ตารางวาให้แก่จำเลยที่ 3 ตามที่จำเลยที่ 3 ยื่นฟ้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 300 ตารางวา ดังกล่าวโดยอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีไปตามยอมแล้วนั้นไม่ใช่คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งที่ดินพิพาทจำนวนเนื้อที่ 300 ตารางวา ดังกล่าวจึงไม่อาจใช้ยันแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ศาลจึงไม่จำต้องเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความหรือคำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าวที่ศาลล่างทั้งสองให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีไปตามยอมแล้วนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแต่คำฟ้องของโจทก์เห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ศาลแสดงว่าสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมบังคับแก่โจทก์ไม่ได้และไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1และที่2ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องฎีกาจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน"

พิพากษาแก้เป็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความ และคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5187/2531 ของศาลชั้นต้นไม่ผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145(2) กับไม่เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

(ไพศาลรางชางกูร-อร่ามหุตางกูร-สมพลสัตยาอภิธาน)

หมายเหตุ

1.ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา131บัญญัติว่า"คดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลนั้นให้ศาลปฏิบัติดังนี้(2)ในเรื่องประเด็นแห่งคดีให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดโดยทำเป็นคำพิพากษาหรือว่าคำสั่งหรือให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามที่บัญญัติไว้ในลักษณะนี้"และมาตรา138บัญญัติว่า"ในคดีที่คู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนคำฟ้องนั้นและข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความกันนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายให้ศาลจดรายงานพิจารณาแสดงข้อความแห่งข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความเหล่านั้นไว้แล้วพิพากษาไปตามนั้น"นอกจากนี้มาตรา141บัญญัติว่า"คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทำเป็นหนังสือและต้องกล่าวหรือแสดง(5)คำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดีตลอดทั้งค่าฤชาธรรมเนียม"

จากบทบัญญัติทั้งสามมาตราจะเห็นได้ว่าคดีที่มีคำพิพากษาตามยอมก็ถือว่าศาลได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีเหมือนคำพิพากษาคดีอื่นๆเช่นกัน

นอกจากนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา145บัญญัติให้คำพิพากษาผูกพันแต่เฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้นเว้นแต่จะเป็นกรณีตามมาตรา145วรรคสอง(2)ที่ว่า"คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใดๆเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า"ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นว่าในคดีที่มีประเด็นแห่งคดีเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใดๆเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแม้ศาลจะได้วินิจฉัยชี้ขาดด้วยการมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็ตามก็ถือได้ว่าเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใดๆเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามมาตรา145วรรคสอง(2)แล้วเช่นกัน

2.เคยมีคดีพิพาทกันว่าจำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้อ.แต่จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ด้วยและจำเลยผิดสัญญาทั้งสองรายโจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีหนึ่งให้โอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาหลังจากนั้นอ.ก็ฟ้องให้จำเลยโอนที่ดินให้อ.ตามสัญญาอีกคดีหนึ่งแต่จำเลยกับอ.ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยยอมโอนที่ดินให้อ.และศาลได้ทำสัญญายอมให้ศาลฎีกาวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาที่1311/2504ว่าคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวเป็นเรื่องที่ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจำเลยยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้อ.ตามสัญญาจะซื้อขายเท่านั้นไม่ใช่คำพิพากษาที่แสดงหรือวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินว่าเป็นของอ.แต่อย่างใดอันจะมีผลผูกพันถึงโจทก์ในอีกคดีหนึ่งด้วย

ข้อสังเกตคดีที่มีคำพิพากษาตามยอมมีประเด็นว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ไม่ใช่มีประเด็นแห่งคดีว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นของอ.หรือไม่ดังนั้นคำพิพากษาศาลฎีกานี้จึงวินิจฉัยว่าคำพิพากษาในคดีที่มีการทำยอมไม่ใช่คำพิพากษาที่แสดงหรือวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินว่าเป็นของอ.ดังกล่าว

3.ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่1053/2539นี้คดีที่จำเลยที่3ฟ้องจำเลยที่1และที่2ขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทบางส่วนโดยอ้างว่าได้ครอบครองปรปักษ์นั้นมีประเด็นแห่งคดีว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่3หรือไม่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมว่าจำเลยที่1และที่2จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่3ผู้เขียนจึงเห็นว่าน่าที่จะเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยที่3อันสามารถใช้ยันแก่บุคคลภายนอกรวมทั้งโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา145วรรคสอง(2)

ทวีประจวบลาภ

 


 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-22 14:49:57



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล