ReadyPlanet.com


เลิกกันแฟน แต่เขายังอยู่บ้านเรา ไม่ยอมย้ายออก



 สวัสดีค่ะ คุณทนาย


 พอดีอยากปรึกษา เรื่องที่ดิน พอดีดิฉันได้เลิกกับแฟน ซึ่งเราไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และที่ดินหลังโฉนดเป็นชื่อของดิฉัน เป็นทรัพย์สินของดิฉันก่อนจะมาอยู่ด้วยกัน แล้ววันหนึ่งเขาได้ไปขอทะเบียนบ้านมา แล้วเขาเป็นเจ้าบ้าน และตัวดิฉันออกมาอยู่กับพี่สาว แล้วตัวเขาไม่ยอมย้ายออกจากบ้านบนที่ดินของดิฉัน ดิฉันสามารถคัดเขาออกจากทะเบียนบ้านได้ไหม แต่ทะเบียนเบ้านเขาเป็นคนถืออยู่ ดิฉันอยากจะขายที่ดินตรงนั้นค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ สุจิตรา :: วันที่ลงประกาศ 2024-01-03 16:31:27


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4550316)

 1. ตามโฉนดที่ดินมีชื่อของคุณเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และได้ก่อนจะมาอยู่กินฉันสามีภรรยากันในภายหลัง กฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของคุณแต่เพียงผู้เดียว แต่แฟนคุณมีสิทธิพิสูจน์มาเป็นทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกันก็ได้ เนื่องจากศาลจะตั้งฟังความ 2 ฝ่ายก่อนจึงจะรับรองสิทธิความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของคุณได้

 

2.  แม้ทะเบียนบ้านที่ระบุว่าแฟนเป็นเจ้าบ้าน ก็เป็นเพียงหลักฐานของทางราชการที่ระบุว่าใครเป็นเจ้าบ้านและมีใครอาศัยอยู่ในบ้านบ้าง ไม่ใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้าน แฟนคุณจึงไม่ใช่เจ้าของและไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านนั้น

 

3. เมื่อคุณเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านจึงมีอำนาจเปลี่ยนตัวเจ้าบ้านแล้วคุณในฐานะเจ้าบ้านสามารถคัดบุคคลใด ๆ ในบ้านเลขที่ที่คุณเป็นเจ้าบ้านได้ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-05 12:11:57


ความคิดเห็นที่ 2 (4550317)

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 38/2539

แม้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขอให้ทางราชการออกเลขที่บ้านให้โดยจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นเจ้าบ้านในหลักฐานทะเบียนราษฎร์ก็มิได้หมายความว่าจำเลยที่ 2 ผู้ขอออกเลขที่บ้านและมีชื่อเป็นเจ้าบ้านจะมีกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังดังกล่าว เพราะหลักฐานดังกล่าวมิใช่หลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่เป็นเพียงหลักฐานของทางราชการที่ต้องการทราบว่าในหมู่บ้านนั้นมีบ้านอยู่กี่หลัง และมีคนอาศัยอยู่ในบ้านที่ขอออกเลขที่บ้านกี่คน เพื่อประโยชน์ในทางทะเบียนราษฎร์เท่านั้น เมื่อรูปคดีฟังได้ว่าบ้านพิพาทเป็นของเจ้ามรดกจึงเป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่บรรดาทายาททุกคน เจ้ามรดกถึงแก่ความตายในปี 2528 ทายาทของเจ้ามรดกตกลงกันว่าทายาทจะยังไม่แบ่งมรดกกันจนกว่าจะมีการเผาศพเจ้ามรดกเสียก่อนและได้มีการเผาศพเจ้ามรดกหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วประมาณ 2 ปี นอกจากนี้ยังปรากฎหลักฐานว่ามรดกของเจ้ามรดกยังอยู่ในระหว่างการแบ่งปันของบรรดาทายาทเมื่อมรดกยังแบ่งกันไม่เสร็จแม้ทายาทคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนจะเป็นผู้ครอบครองมรดกอยู่ก็ต้องถือว่าทายาทคนนั้นหรือเหล่านั้นครอบครองมรดกแทนบรรดาทายาทอื่นด้วยทุกคน แม้จะล่วงเลยเวลา 1 ปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทายาทอื่นก็ชอบที่จะฟ้องขอแบ่งมรดกได้

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามครอบครองที่ดินและบ้านพิพาททั้งสองหลังอันเป็นมรดกแทนผู้ตายซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกด้วยคนหนึ่ง โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-05 12:14:59


ความคิดเห็นที่ 3 (4550318)

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5586/2534

ทะเบียนบ้านที่ระบุว่าผู้ร้องเป็นเจ้าบ้าน เป็นเพียงหลักฐานของทางราชการที่ระบุว่าใครเป็นเจ้าบ้านและมีใครอาศัยอยู่ในบ้านบ้าง ไม่ใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในบ้าน ทั้งไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์ย่อมนำสืบพยานบุคคลและศาลย่อมรับฟังพยานบุคคลได้ ไม่เป็นการนำสืบพยานบุคคลแก้ไขพยานเอกสารอันต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94.

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์จำนวนเงิน 18,062.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านเลขที่ 27 ของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า บ้านดังกล่าวเป็นของผู้ร้องมิใช่ของจำเลยที่ 1 ขอให้ปล่อยทรัพย์

โจทก์ให้การว่า บ้านพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องมีว่า บ้านพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 หรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาว่า เป็นบ้านของผู้ร้อง ได้รับมรดกจากบิดามารดา ผู้ร้องได้ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของเกิน 10 ปี จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้อาศัย พยานผู้ร้องเบิกความสอดคล้องต้องกันมีเหตุผลเชื่อได้ว่าบ้านพิพาทเป็นของผู้ร้องนั้น เห็นว่า คำเบิกความของผู้ร้องปรากฏว่า บ้านพิพาทเป็นบ้านที่ผู้ร้องได้ปลูกสร้างเอง บิดาผู้ร้องตายไปนานแล้ว ผู้ร้องไม่ได้รับมรดกอะไรเลย ทั้งนายน้อย อนันธวัน และจำเลยที่ 1 เบิกความสนับสนุนว่าผู้ร้องปลูกสร้างเอง จึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องได้รับมรดกและครอบครองบ้านพิพาทมานานนับเป็น 10 ปี อย่างที่ฎีกา ในการปลูกสร้างบ้านพิพาทปรากฏจากคำเบิกความนายบัวไหล ศรีวรสาร ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านและต่อมาเป็นกำนันในหมู่บ้านและตำบลที่บ้านพิพาทตั้งอยู่ แม้ฝ่ายโจทก์จะอ้างมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ แต่พยานก็มิได้เกี่ยวข้องเป็นญาติกับฝ่ายใด เบิกความว่าจำเลยที่ 1 ได้ซื้อบ้านเรือนเก่ามาปลูกบริเวณใกล้เคียงกับบ้านนายน้อย ที่ดินที่ปลูกบ้านเป็นของจำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 ขายให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อนายน้อยรื้อบ้านเดิมไปอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลหนองยอง บ้านที่จำเลยที่ 1ปลูกยังไม่มีเลขที่บ้าน นายบัวไหลจึงให้จำเลยที่ 1 ใช้เลขที่บ้านของนายน้อยที่รื้อไปแทน ผู้ร้องไม่ได้ย้ายตามนายน้อยไป จึงอยู่ที่บ้านจำเลยที่ 1 ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน คำเบิกความของนายบัวไหลซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านและต่อมาเป็นกำนันรู้เรื่องเกี่ยวกับบ้านพิพาทเป็นอย่างดี มีเหตุผลเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลูกบ้านพิพาทเองทั้งได้ปลูกสร้างในที่ดินที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากจำเลยที่ 2ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าบ้านพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1

ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่า ในเอกสารทะเบียนบ้านเป็นเอกสารราชการมีชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าบ้าน เป็นเอกสารราชการที่แสดงกรรมสิทธิ์โจทก์นำพยานบุคคลสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารจึงต้องห้าม และศาลรับฟังไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้นเห็นว่า หลักฐานทะเบียนบ้านที่ระบุว่าผู้ร้องเป็นเจ้าบ้านเป็นเพียงหลักฐานของทางราชการที่ระบุว่าใครเป็นเจ้าบ้านและมีใครอาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าวบ้าง ไม่ใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังนั้นทั้งไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์ย่อมนำสืบพยานบุคคลและศาลย่อมรับฟังพยานบุคคลได้ ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน.

 
ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-05 12:17:25



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล