

พรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร,เต็มใจไปด้วย พรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร,เต็มใจไปด้วย พรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร,เต็มใจไปด้วย พาหญิงอายุ 17 ปี ไม่เกิน 18 ปี ไปโดยต้องการอยู่กินฉันสามีภริยา โดยฝ่ายชายไม่มีภริยาอยู่ก่อน ดังนั้นฝ่ายชายไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5165/2548 ผู้เสียหายอายุ 17 ปีเศษ ได้หนีตามจำเลยที่ 1 ไปเพื่ออยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีภริยาอยู่ก่อน การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ถือว่าเป็นการพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจาร อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 284 และเมื่อได้ความว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์เต็มใจหนีตามจำเลยที่ 1 ไปด้วยเพื่ออยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคสาม โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 276, 284, 310, 318, 91, 83 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก และจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคแรก, 310 วรรคแรก, 318 วรรคสาม, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานข่มขืนกระทำชำเรา จำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 8 ปี ฐานร่วมกันพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จำคุกคนละ 1 ปี และฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเพื่อการอนาจาร จำคุกคนละ 6 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 17 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ซึ่งเป็นเหตุในลักษณะคดีศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ให้มิต้องถูกรับโทษดุจจำเลยที่ 2 ผู้อุทธรณ์ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 และสำหรับความของจำเลยที่ 1 ฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก ก็เป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวกันกับความผิดฐานอื่น จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า นางสาวนิตยาหรือแมวเป็นบุตรสาวของโจทก์ร่วมกับนายวิไล เกิดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2521 ซึ่งคำนวณอายุถึงวันเกิดเหตุวันที่ 4 กรกฎาคม 2539 มีอายุ 17 ปี 6 เดือน และอยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์ร่วม คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายเบิกความว่า ขณะที่ผู้เสียหายอยู่กับจำเลยที่ 1 ที่อำเภอสวี จำเลยกับพวกได้นำผู้เสียหายไปที่บ้านของผู้ใหญ่บ้านและมีการทำบันทึกข้อความกันไว้ตามบันทึกประจำวัน ซึ่งศาลฎีกาได้ตรวจดูบันทึกฉบับดังกล่าวแล้วมีข้อความระบุว่าผู้เสียหายได้มากับจำเลยที่ 1 ด้วยความเต็มใจ และมิได้บังคับขู่เข็ญและคนทั้งสองได้พากันมาพบผู้ใหญ่บ้านเพื่อแจ้งความและลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยาน ซึ่งความข้อนี้แม้ผู้เสียหายจะเบิกความปฏิเสธความถูกต้องของข้อความในบันทึกดังกล่าวว่าผู้เสียหายถูกจำเลยกับพวกขู่เข็ญบังคับระหว่างนั่งรถไปกับจำเลยที่ 1 ว่า ผู้เสียหายถูกข่มขู่ว่าให้บอกผู้ใหญ่บ้านว่ามาด้วยความเต็มใจกับจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ผู้เสียหายก็เพียงแต่เบิกความกล่าวอ้างขึ้นลอย ๆ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกข่มขู่ผู้เสียหายอย่างไร และมีการใช้อาวุธอะไรในการข่มขู่ก็ไม่ปรากฏ ซึ่งความข้อนี้ฝ่ายจำเลยกลับนำนายประภาส ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ตำบลควน อำเภอสวี จังหวัดชุมพร มาเบิกความรับรองว่า เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2539 เวลาประมาณ 8 นาฬิกา ขณะที่พยานอยู่ที่บ้าน ได้มีนายชุ่ม เพื่อนบ้านพาจำเลยที่ 1 และผู้เสียหายมาที่บ้านพยาน แจ้งความประสงค์ว่าต้องการแจ้งให้พยานทราบว่าคนทั้งสองได้หนีตามกันมา พยานจึงสอบถามผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายยอมรับว่าได้หนีตามจำเลยที่ 1 มาจริงและด้วยความสมัครใจ ขณะที่สอบถามนั้นผู้เสียหายไม่ได้มีลักษณะถูกขู่เข็ญบังคับแต่อย่างใด พยานจึงจัดให้มีการบันทึกข้อความไว้ หลังจากวันดังกล่าวประมาณ 7 วัน พยานไปตลาดนัดในหมู่บ้านก็ได้พบผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 อีกครั้งหนึ่ง บุคคลทั้งสองกำลังซื้อกับข้าวอยู่ มีลักษณะยิ้มแย้มแจ่มใส ซึ่งก็สอดคล้องกับคำเบิกความของดาบตำรวจสมบูรณ์ พยานผู้จับจำเลยที่ 1 ที่เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 1 ว่า ขณะที่โจทก์ร่วมพาพยานไปพบผู้เสียหายที่บ้านของจำเลยที่ 1 พยานเห็นผู้เสียหายบุตรสาวของโจทก์ร่วมมีสภาพปกติดี และบ้านที่พบผู้เสียหายนั้นไม่มีรั้วบ้าน ผู้เสียหายสามารถไปไหนมาไหนก็ได้ พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมดังที่ได้วินิจฉัยมา จึงมีข้อพิรุธและขัดต่อเหตุผลไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดจริงดังที่ผู้เสียหายเบิกความ แต่กลับรับฟังได้เจือสมพยานจำเลยว่า ผู้เสียหายได้หนีตามจำเลยที่ 1 ไปเพื่ออยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบจริง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีภริยาอยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อการอนาจารอันจะเป็นความผิดฐานร่วมกันพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 284 และเมื่อได้ความจากการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อตามข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 ว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์เต็มใจหนีตามจำเลยที่ 1 ไปด้วย เพื่ออยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน. มาตรา 284 ผู้ใดพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร โดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้ายใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธี ข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท ผู้ใดซ่อนเร้นบุคคลซึ่ง ถูกพาไปตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่น เดียวกับผู้พาไปนั้น "ความผิดตาม มาตรานี้ เป็นความผิดอันยอมความได้" มาตรา 318 ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไป ด้วยต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาท ถึงสองหมื่นบาท ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น ถ้าความผิดตาม มาตรานี้ ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่หกพัน บาท ถึงสามหมื่นบาท มาตรา 319 ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไป เสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และ ปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
|