ReadyPlanet.com
bulletรับฟ้องคดีแพ่ง/อาญา
bulletพระราชบัญญัติ
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletป.อาญา ฎีกา
bulletป.วิอาญา
bulletป.วิแพ่ง
bulletป.กฎหมายที่ดิน
bulletป.รัษฎากร
bulletฟ้องหย่า
bulletอำนาจปกครอง
bulletนิติกรรม
bulletคดีมรดก
bulletอายุความฟ้องร้องคดี
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletเอกเทศสัญญา
bulletเกี่ยวกับแรงงาน
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
bulletตั๋วเงินและเช็ค
bulletห้างหุ้นส่วน-บริษัท
bulletคำพิพากษาและคำสั่ง
bulletทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์
bulletอุทธรณ์ฎีกา
bulletเกี่ยวกับคดีล้มละลาย
bulletเกี่ยวกับวิแพ่ง
bulletเกี่ยวกับวิอาญา
bulletการบังคับคดี
bulletคดีจราจรทางบก
bulletการเล่นแชร์ แชร์ล้ม
bulletอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
bulletมรรยาททนายความ
bulletถอนคืนการให้,เสน่หา
bulletข้อสอบเนติบัณฑิต
bulletคำพิพากษา 2550
bulletทรัพย์สินทางปัญญา
bulletสัญญาขายฝาก
bulletสำนักทนายความ
bulletป-อาญา มาตรา1- 398
bulletภาษาอังกฤษ
bulletการสมรสและการหมั้น
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-แพ่ง
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2549-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2548-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2547-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2546-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2545-แพ่งพาณิชย์
bulletนิติกรรมสัญญา
bulletพระธรรมนูญศาล
bulletทรัพย์สิน-สามีภริยา
bulletบิดามารดา-รับรองบุตร
bulletคดีครอบครัว
bulletสัญญาระหว่างสมรส
bulletสิทธิครอบครองที่ดิน
bulletสัญญาซื้อขาย
bulletแปลงหนี้ใหม่
bulletการได้กรรมสิทธิ์
bulletคดีเรื่องบุตร
bulletเช่าซื้อรถยนต์
bulletถอนผู้จัดการมรดก
bulletฟ้องค่าทดแทน
bulletฟ้องหย่า-ฟ้องหย่า
bulletสินสมรส-สินสมรส
bulletบันดาลโทสะ
bulletเบิกความเท็จ
bulletสิทธิ-สัญญาเช่า
bulletค้ำประกัน
bulletเจ้าของรวม
bulletจำนอง
bulletลูกหนี้ร่วม
bulletคำพิพากษาฎีกาทั่วไป
bulletกระดานถาม-ตอบ
bulletป-กฎหมายยาเสพติด2564
bulletขนส่งทางทะเล
bulletสมรสเป็นโมฆะ
bulletสามีภริยา
bulletตัวการไม่เปิดเผยชื่อ
bulletทนายความของสภาจัดให้
bulletอาวุธปืน
bulletรับช่วงสิทธิ
bulletแพ่งมาตรา1-1755




เพิกถอนนิติกรรมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมใช้สิทธิติดตามเอาคืน

   เพิกถอนนิติกรรมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมใช้สิทธิติดตามเอาคืน

    ที่ดินทั้งสี่แปลงที่จำเลยที่ 2 ได้มาเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงครึ่งหนึ่ง  การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาททั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์อีกคนหนึ่งมิได้รู้เห็นยินยอม นิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าว ย่อมไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของโจทก์  โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งได้

     ปัญหาว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอ้างมาในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะเป็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา อาศัยสิทธิในฐานะที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทเพื่อการใช้สิทธิติดตามเอาคืน โดยการเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์เป็นเจ้าของรวม ตามบันทึกมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้นายพิเชฐ(ทนายความ)เป็นผู้ฟ้องเรียกที่ดินจากจำเลยที่ 1 เพื่อนำมาแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนของจำเลยที่ 2 จะยกให้แก่บุตรเองก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ผู้ทำเอกสารแสดงเจตนาของตนต่อนายพิเชฐในขณะนั้น แม้โจทก์อยู่ด้วยในขณะที่จำเลยที่ 2 ทำเอกสารดังกล่าว แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ตกลงยินยอมหรือเข้าร่วมผูกพันตามข้อความในเอกสารนั้นแต่อย่างใด เอกสารดังกล่าวจึงไม่มีผลลบล้างสิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม จึงหาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่... เมื่อฟังได้ว่าที่ดินทั้งสี่แปลงที่จำเลยที่ 2 ได้มาเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 และเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาททั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์อีกคนหนึ่งมิได้รู้เห็นยินยอม นิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าว ย่อมไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของโจทก์  โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งได้ ศาลอุทธรณ์หาได้พิพากษาเพิกถอนที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่    

      มาตรา 5 ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี  ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต

      มาตรา 237    เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆอันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบแต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หาท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมีให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

      มาตรา 1361 เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จะจำหน่ายส่วนของตนหรือ จำนอง หรือก่อให้เกิดภารติดพันก็ได้
             (วรรค 2)แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภารติดพันได้ ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน
             (วรรค 3)ถ้าเจ้าของรวมคนใดจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภารติดพัน ทรัพย์สินโดยมิได้รับความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน แต่ภายหลังเจ้าของ รวมคนนั้นได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินแต่ผู้เดียวไซร้ ท่านว่านิติกรรมนั้นเป็นอัน สมบูรณ์

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5658/2552

          แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ยกปัญหาว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่ขึ้นอ้างในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง

          ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์กับจำเลยที่ 2 คนละครึ่ง การที่จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งได้

ที่จำเลยทั้งสองอ้างข้อเท็จจริงตามหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท ล. มาท้ายฎีกานั้น จำเลยทั้งสองเพิ่งกล่าวอ้างขึ้นในชั้นฎีกา เป็นการนำพยานเอกสารเข้าสู่สำนวนความโดยไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 และโจทก์ไม่มีโอกาสซักค้านเกี่ยวกับเอกสารนี้ ข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้

            โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินทั้งสี่แปลงตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ครึ่งหนึ่ง และเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินซึ่งปลอดภาระติดพันให้โจทก์โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียม ค่าอากร ค่าภาษีเงินได้ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการโอนทั้งสิ้น หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง โดยให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์ไปดำเนินการจดทะเบียนเอง ถ้าจำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนที่ดินโดยปลอดภาระติดพันให้โจทก์ได้ ก็ให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงิน 73,537,500 บาท แก่โจทก์
          จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

          ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม นางสาวสุมาลี บุตรของจำเลยที่ 2 ซึ่งเกิดจากโจทก์ และนางดวงจิต บุตรของจำเลยที่ 2 ซึ่งเกิดจากจำเลยที่ 1 ต่างยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้นางดวงจิต เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6691 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ (เมือง) จังหวัดสมุทรปราการ ที่ดินโฉนดเลขที่ 4791, 26946 และ 26947 ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 2 โอนให้แก่จำเลยที่ 1 เฉพาะส่วนที่เป็นของโจทก์หนึ่งในสามส่วน ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวให้โจทก์หนึ่งในสามส่วนโดยปลอดจากภาระติดพัน โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกค่าธรรมเนียม ค่าอากร ค่าภาษีเงินได้ และค่าใช้จ่ายในการโอน หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ถ้าจำเลยทั้งสองไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 49,025,000 บาท ทั้งนี้ นางดวงจิตไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

            ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินเฉพาะส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ดังกล่าวหนึ่งในสองส่วน ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์หนึ่งในสองส่วนโดยปลอดภาระติดพัน โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกค่าธรรมเนียม ค่าอากร ค่าภาษีเงินได้และค่าใช้จ่ายในการโอน ถ้าจำเลยทั้งสองไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 65,000,000 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 160,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
          จำเลยทั้งสองฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่ ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ยกขึ้นอ้างมาในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะเป็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทรวม 4 แปลง ร่วมกับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าเป็นบันทึกการแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์แต่ตามเอกสารดังกล่าว จำเลยที่ 2 ทำขึ้นโดยนายพิเชฐ ทนายความ พิมพ์ข้อความให้ และขณะที่ทำเอกสารก็มีตัวโจทก์และบุตรของโจทก์อยู่ด้วย ซึ่งในเอกสารดังกล่าวมีข้อความเพียงว่า หากได้มาจะยกให้บุตร ที่เกิดระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์เท่านั้น ไม่มีข้อความตอนใดที่กำหนดยกให้แก่โจทก์เลย แสดงว่าในขณะที่จำเลยที่ 2 ทำเอกสารนั้น โจทก์ได้ยอมรับสภาพว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นของโจทก์ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องและนำเอกสารดังกล่าวมาประกอบเป็นเอกสารท้ายฟ้องโดยกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ทำบันทึกยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่งทั้งที่ตนเองไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาท เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา ดังนั้นคำฟ้องโจทก์จึงเป็นคำขอที่อาศัยสิทธิในฐานะที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทเพื่อการใช้สิทธิติดตามเอาคืน โดยการเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์เป็นเจ้าของรวมซึ่งได้กระทำไปโดยไม่มีสิทธิหรืออำนาจตามกฎหมาย โจทก์หาได้อ้างสิทธิหรือบังคับตามข้อความใด ๆ ในเอกสารดังกล่าวมาฟ้องเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ส่วนที่เอกสารดังกล่าวมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้นายพิเชฐเป็นผู้ฟ้องเรียกที่ดินจากจำเลยที่ 1 เพื่อนำมาแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนของจำเลยที่ 2 จะยกให้แก่บุตรเองก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ผู้ทำเอกสารแสดงเจตนาของตนต่อนายพิเชฐในขณะนั้น แม้โจทก์อยู่ด้วยในขณะที่จำเลยที่ 2 ทำเอกสารดังกล่าว แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ตกลงยินยอมหรือเข้าร่วมผูกพันตามข้อความในเอกสารนั้นแต่อย่างใด เอกสารดังกล่าวจึงไม่มีผลลบล้างสิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่มีอยู่ตามกฎหมาย กรณีจึงหาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่...

          จำเลยทั้งสองฎีกาประการต่อไปว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรม การโอนที่ดินพิพาท แล้วแบ่งที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงแก่โจทก์ครึ่งหนึ่งเป็นการไม่ชอบ เพราะที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นสินสมรสนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงที่จำเลยที่ 2 ได้มาเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 และเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาททั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์อีกคนหนึ่งมิได้รู้เห็นยินยอม นิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าว ย่อมไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคสอง โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หาได้พิพากษาเพิกถอนที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ในการก่อตั้งบริษัท ล. ได้นำเงินทุนและทรัพย์สินทั้งหมดมาจากการแปรสภาพกิจการทางการค้ายี่ห้อจิ้นเส็งและยี่ห้อล่อจิ้นเส็ง ซึ่งกิจการทั้งสองยี่ห้อดังกล่าวเป็นกิจการของจำเลยทั้งสองก่อนที่โจทก์จะอยู่กินกับจำเลยที่ 2 โดยอ้างหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท ล. มาท้ายฎีกานั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าว จำเลยทั้งสองเพิ่งกล่าวอ้างขึ้นในชั้นฎีกา เป็นการนำพยานเอกสารเข้าสู่สำนวนความโดยไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 และโจทก์ไม่มีโอกาสซักค้านเกี่ยวกับเอกสารนี้ ข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ สำหรับฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นข้ออื่น ๆ ล้วนแต่เป็นการโต้เถียงในข้อที่ไม่เป็นสาระสำคัญอันจะมีผลทำให้การวินิจฉัยคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1971/2551

จำเลยที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น ไม่มีสิทธินำที่ดินส่วนที่ตกได้แก่ทายาทคนใดไปขาย โดยทายาทผู้นั้นไม่ยินยอม ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจที่จะนำที่ดินส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ไปขายให้แก่ผู้ใด โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะรับซื้อที่ดินดังกล่าวไว้สุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินในส่วนของโจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2

การที่โจทก์มาฟ้องเรียกเอาที่ดินส่วนของโจทก์คืนนั้น จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน กรณีจึงไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เพระการที่จะเป็นเรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลได้นั้น จำเลยที่ 1 ผู้โอนจะต้องมีสิทธิโอนอยู่แล้ว แต่การโอนทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียหายเท่านั้น จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจดังกล่าวมาแล้ว จึงนำอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ในการเพิกถอนการฉ้อฉลมาใช้บังคับไม่ได้และเมื่อคดีนี้ไม่ใช่เรื่องการขอเพิกถอนการฉ้อฉลแต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันแก่โจทก์ได้

     โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนซื้อขายที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 1287 ตำบลบงเหนือ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ระหว่างจำเลยทั้งสอง และบังคับให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ไปดำเนินการโอนขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

     ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

     ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 1287 ตำบลบงเหนือ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,000 บาท

     จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

     ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบโต้แย้งกันฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมมารดาเดียวกันของนางอ่อนจันทร์ กับนายจันทร์ดี ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนางอ่อนจันทร์ กับนายชิต บิดามารดาของโจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียน ส่วนบิดามารดาของจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกัน จำเลยที่ 1 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ที่ดินพิพาทเดิมมีเนื้อที่ 24 ไร่ เป็นของนางอำคา ขายให้แก่นายชิต บิดาจำเลยที่ 1 ต่อมานางอ่อนจันทร์ มารดาโจทก์ได้ร่วมกับนายชิต บิดาจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 13 ไร่ นำรวมเข้ากับที่ดินเดิมเป็นประมาณ 37 ไร่ แล้วขอแบ่งแยกออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ต่อมานายชิต บิดาจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายชิต จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก ได้ทำบันทึกตกลงแบ่งแยกที่ดินมรดกให้แก่ทายาท เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2538 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่โอนที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือจำนวน 13 ไร่ ให้แก่โจทก์ตามที่ได้ตกลงกันไว้ โจทก์จึงยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทจำนวน 13 ไร่ ดังกล่าว ตามที่ตกลงกันไว้ให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2541 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คดีถึงที่สุด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงผูกพันจำเลยที่ 1 และในระหว่างดำเนินคดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538

     คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทหรือไม่ จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยคบคิดกันฉ้อฉลโจทก์หรือไม่และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ที่จะขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้วหรือไม่ เห็นว่า สำหรับประเด็นแรกโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทหรือไม่นั้น ทางพิจารณาได้ความว่า โจทก์เป็นบุตรของนางอ่อนจันทร์กับนายจันทร์ดี ซึ่งอยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส และต่อมามารดาโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับนายชิต บิดาจำเลยที่ 1 และมีบุตรด้วยกัน 3 คน คือจำเลยที่ 1 นายอุดม นายสวัสดิ์ชัย โจทก์จึงไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชิต บิดาจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของบิดาจำเลยที่ 1 แต่โจทก์มีสิทธิรับมรดกของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่ตกแก่มารดาโจทก์ในฐานะคู่สมรสและถือเป็นทายาทคนหนึ่งของบิดาจำเลยที่ 1 เมื่อมารดาโจทก์มาอยู่กินกับนายชิต ได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทเพิ่มเติมประมาณ 13 ไร่ จากที่ดินเดิม 24 ไร่ ที่ซื้อจากนางอำคารวมเป็น 37 ไร่เศษ แล้วแบ่งแยกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ดังนี้เมื่อนายชิตถึงแก่กรรม ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นทรัพย์มรดกที่ตกแก่มารดาโจทก์ในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งตกแก่ทายาทที่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชิต กับมารดาโจทก์คือจำเลยที่ 1 กับพี่น้องรวม 3 คน คนละหนึ่งส่วน โดยมารดาโจทก์ยังมีส่วนได้รับในฐานะทายาทชั้นบุตรด้วยอีก 1 ส่วน และเมื่อมารดาโจทก์ถึงแก่กรรมในภายหลัง ส่วนที่ตกเป็นมรดกของมารดาโจทก์ก็ย่อมตกแก่โจทก์ ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของมารดาโจทก์ โจทก์จึงมีส่วนได้ในที่ดินพิพาทที่เป็นทรัพย์มรดกของนายชิต บิดาจำเลยที่ 1 ด้วย...โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงแบ่งที่ดินมรดกกันต่อหน้าผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 จึงไปดำเนินการขอแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นแปลงตามที่ตกลงกันไว้จริงโดยคงเหลือที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์จำนวน 13 ไร่เศษ ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงให้ตกเป็นของโจทก์ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.1 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทกันในคดีนี้คือ ที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 13 ไร่เศษในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งต่อมาภายหลังจำเลยที่ 1 ได้โอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 นั้น เป็นของโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชิต เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองแทนเท่านั้น

     ปัญหาวินิจฉัยต่อไปในประเด็นที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสมรู้ร่วมคิดกันฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ที่จะขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้วหรือไม่นั้น เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น เป็นการทำนิติกรรมฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามที่วินิจฉัยมาแล้วว่า จำเลยที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชิต จึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรกดที่ดินพิพาทให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่ทายาทคนใดไปขายให้บุคคลใด โดยทายาทผู้นั้นไม่ยินยอมทั้งสิ้น ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้จำนวน 13 ไร่เศษ ไปขายให้แก่ผู้ใด โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะรับซื้อที่ดินดังกล่าวไว้สุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 นั่นเอง ดังนั้นการที่โจทก์มาฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์คืนนั้น จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน กรณีจึงไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 เพราะการที่จะเป็นเรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลได้นั้น จำเลยที่ 1 ผู้โอนจะต้องมีสิทธิโอนอยู่แล้ว แต่การโอนทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียหายเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจดังกล่าวมาแล้ว จึงนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ในการเพิกถอนการฉ้อฉลมาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 1 ปี ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาโต้แย้งมา และเมื่อคดีนี้ไม่ใช่เรื่องการขอเพิกถอนการฉ้อฉลแต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันแก่โจทก์ได้

        อนึ่ง คดีนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแย่งการครอบครองที่โจทก์จะต้องฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองภายในกำหนด 1 ปี ดังที่จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ด้วย เพราะในเรื่องการแย่งการครอบครองนั้น จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แล้ว จึงไม่มีประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ฉะนั้น จำเลยที่ 2 จะโต้แย้งว่าโจทก์ไม่ใช้สิทธิเรียกคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่นายบัวคำ สามีของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2539 ตามบันทึกตกลงประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.5 ที่ทำที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอสว่างแดนดิน แล้วโจทก์จึงสิ้นสิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 นั้นก็ฟังไม่ได้เช่นกัน

ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องติดตามเอาทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความไม่ใช่เรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 จึงไม่ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้วพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาท ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000 บาท แทนโจทก์