ReadyPlanet.com
bulletรับฟ้องคดีแพ่ง/อาญา
bulletพระราชบัญญัติ
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletป.อาญา ฎีกา
bulletป.วิอาญา
bulletป.วิแพ่ง
bulletป.กฎหมายที่ดิน
bulletป.รัษฎากร
bulletฟ้องหย่า
bulletอำนาจปกครอง
bulletนิติกรรม
bulletคดีมรดก
bulletอายุความฟ้องร้องคดี
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletเอกเทศสัญญา
bulletเกี่ยวกับแรงงาน
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
bulletตั๋วเงินและเช็ค
bulletห้างหุ้นส่วน-บริษัท
bulletคำพิพากษาและคำสั่ง
bulletทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์
bulletอุทธรณ์ฎีกา
bulletเกี่ยวกับคดีล้มละลาย
bulletเกี่ยวกับวิแพ่ง
bulletเกี่ยวกับวิอาญา
bulletการบังคับคดี
bulletคดีจราจรทางบก
bulletการเล่นแชร์ แชร์ล้ม
bulletอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
bulletมรรยาททนายความ
bulletถอนคืนการให้,เสน่หา
bulletข้อสอบเนติบัณฑิต
bulletคำพิพากษา 2550
bulletทรัพย์สินทางปัญญา
bulletสัญญาขายฝาก
bulletสำนักทนายความ
bulletป-อาญา มาตรา1- 398
bulletภาษาอังกฤษ
bulletการสมรสและการหมั้น
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-แพ่ง
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2549-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2548-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2547-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2546-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2545-แพ่งพาณิชย์
bulletนิติกรรมสัญญา
bulletพระธรรมนูญศาล
bulletทรัพย์สิน-สามีภริยา
bulletบิดามารดา-รับรองบุตร
bulletคดีครอบครัว
bulletสัญญาระหว่างสมรส
bulletสิทธิครอบครองที่ดิน
bulletสัญญาซื้อขาย
bulletแปลงหนี้ใหม่
bulletการได้กรรมสิทธิ์
bulletคดีเรื่องบุตร
bulletเช่าซื้อรถยนต์
bulletถอนผู้จัดการมรดก
bulletฟ้องค่าทดแทน
bulletฟ้องหย่า-ฟ้องหย่า
bulletสินสมรส-สินสมรส
bulletบันดาลโทสะ
bulletเบิกความเท็จ
bulletสิทธิ-สัญญาเช่า
bulletค้ำประกัน
bulletเจ้าของรวม
bulletจำนอง
bulletลูกหนี้ร่วม
bulletคำพิพากษาฎีกาทั่วไป
bulletกระดานถาม-ตอบ
bulletป-กฎหมายยาเสพติด2564
bulletขนส่งทางทะเล
bulletสมรสเป็นโมฆะ
bulletสามีภริยา
bulletตัวการไม่เปิดเผยชื่อ
bulletทนายความของสภาจัดให้
bulletอาวุธปืน
bulletรับช่วงสิทธิ
bulletแพ่งมาตรา1-1755




ทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ article

ทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ

ข้อ 3. การไฟฟ้ามหานครเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีหน้าที่และวัตถุประสงค์ในด้านบริการสาธารณูปโภค จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ประชาชนในเขตท้องที่ ๆ ให้บริการ วันเกิดเหตุกระแสไฟฟ้าแรงสูงที่จ่ายจากต้นทางมิได้ปรับให้เป็นกระแสไฟฟ้าแรงต่ำเพื่อไหลเข้าสู่ระบบไฟฟ้าภายในบ้านของประชาชน ทำให้กระแสไฟฟ้าแรงสูงไหลเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าเกิดการลัดวงจรและเป็นผลทำให้บ้านเรือนของนายหนึ่งเกิดเพลิงไหม้เสียหาย นายหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์เพลิงไหม้นั้น ส่วนนายสองซึ่งมีบ้านเรือนอยู่ติดกับบ้านเรือนของนายหนึ่งสะสมน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ของตนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ไฟที่ลามมาบ้านนายสองไม่อาจควบคุมได้โดยง่าย เกิดความเสียหายแก่บ้านของนายสองทั้งหลัง

ให้วินิจฉัยว่า นายหนึ่งและนายสองจะฟ้องการไฟฟ้ามหานครเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ร่างกายและทรัพย์สินของตนได้หรือไม่ เพียงใด


ธงคำตอบ

กระแสไฟฟ้าถือได้ว่าเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 437 วรรคสอง การไฟฟ้ามหานครซึ่งเป็นผู้ครอบครองทรัพย์อันตรายดังกล่าวจึงต้องรับผิดชอบเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่ทรัพย์นั้น กรณีนี้ ความเสียหายเกิดจากการไฟฟ้ามหานครจ่ายกระแสไฟฟ้าแรงสูงโดยมิได้ปรับให้เป็นกระแสไฟฟ้าแรงต่ำ เพื่อไหลเข้าสู่ระบบไฟฟ้าภายในบ้านของประชาชน จึงมิใช่เกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหาย ดังนั้น การไฟฟ้ามหานครจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ร่างกายและทรัพย์สินของนายหนึ่งเต็มจำนวน และเพื่อความเสียหายแก่ทรัพย์สินของนายสอง

ส่วนการที่นายสองสะสมน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ของตนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นเหตุให้ไฟที่ลามมาบ้านนายสองไม่อาจควบคุมได้โดยง่ายเกิดความเสียหายแก่บ้านของนายสองทั้งหลังนั้น เป็นกรณีที่นายสองผู้ต้องเสียหายมีส่วนผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น ค่าสินไหมทดแทนที่นายสองควรจะเรียกได้จึงต้องเฉลี่ยด้วยความผิดของนายสอง การคำนวณค่าเสียหายจึงต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณว่าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 437 "บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ อย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหาย นั้นเอง

ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงผู้มีไว้ในครอบครองของตนซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพหรือโดยความมุ่งหมาย ที่จะใช้หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย"

มาตรา 442 "ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม"

มาตรา 223 "ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร

วิธีเดียวกันนี้ ท่านให้ใช้แม้ทั้งที่ความผิดของฝ่ายผู้ที่เสียหายจะมีแต่เพียงละเลยไม่เตือนลูกหนี้ให้รู้สึกถึงอันตรายแห่งการเสียหายอันเป็นอย่างร้ายแรงผิดปกติซึ่งลูกหนี้ไม่รู้หรือไม่อาจจะรู้ได้หรือเพียงแต่ละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายนั้นด้วย อนึ่งบทบัญญัติแห่งมาตรา 220 นั้นท่านให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม "

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1469/2537

สายไฟฟ้าซึ่งมีกระแสไฟฟ้าเดินอยู่และหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ จำเลยผู้มีทรัพย์ดังกล่าวไว้ในครอบครองจึงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายที่เกิดจากทรัพย์ดังกล่าว เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเองตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 แม้จำเลยมิได้ประมาทเลินเล่อทำให้เกิดไฟไหม้ จำเลยก็ต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์อันเกิดจากสายไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟฟ้าของจำเลยเช่นนั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 จำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองเสาไฟฟ้าและหม้อแปลงกระแสไฟฟ้า (ที่ถูกน่าจะเป็นหม้อแปลงไฟฟ้า) ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณริมถนนซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 4 หน้าตึกแถวเลขที่ 359/9 และ 359/10ซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน แขวงบางยี่เรือเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2530หม้อแปลงไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าที่ต่อเข้าและออกจากหม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งตั้งอยู่หน้าบ้านเลขที่ 359/9 และ 359/10 ดังกล่าวได้เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นและลุกลามไปตามสายไฟฟ้าบริเวณใกล้เคียงเกิดสะเก็ดเปลวไฟหล่นลงและกระเด็นเข้าไปในห้องของตึกแถวเลขที่ 359/9และ 359/10 ทำให้เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นในอาคารตึกแถวดังกล่าว และลุกลามไปไหม้ตึกแถวข้างเคียง ทำให้เกิดความเสียหายต่ออาคารและทรัพย์สินในตึกแถวเลขที่ 359/9 ถึง 359/18 ของโจทก์รวม 10 คูหาจำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เนื่องจากเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าใกล้หน้าต่างตึกแถวของโจทก์ห่างประมาณ 90 เซนติเมตร เป็นการผิดระเบียบวิธีการติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าที่วางไว้ และการต่อสายไฟฟ้าเข้ากับหม้อแปลงไฟฟ้าไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้ขั้วที่ต่อไม่แน่น เมื่อเกิดการเดินของกระแสไฟฟ้าขึ้นก็จะเกิดความร้อนที่ขั้ว หรือมิฉะนั้นก็ปล่อยให้มีการใช้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านหม้อแปลงไฟฟ้าดังกล่าวเกินจำนวนที่หม้อแปลงไฟฟ้าจะสามารถให้ใช้งานได้หรือหม้อแปลงไฟฟ้าดังกล่าวได้ใช้งานไปนานจนเสื่อมสภาพแล้วโดยจำเลยมิได้ตรวจดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยและใช้งานได้ดี จำเลยมิได้ดูแลรักษาและป้องกันอันตรายต่อประชาชนตามหน้าที่ตามวิสัยเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างซ่อมแซมตึกแถวทั้ง 10 คูหาให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ดังเดิมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,000,000 บาท จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันเกิดเหตุถึงวันฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 1,075,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถว 10 คูหา ที่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง และฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้ว เหตุที่เกิดเพลิงไหม้มิได้เกิดจากสะเก็ดเปลวไฟที่มาจากหม้อแปลงไฟฟ้าและสายไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์อันตรายซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยโดยต้นเพลิงเกิดการลุกไหม้ขึ้นจากภายในชั้นที่ 3 ของห้องเลขที่ 359/9 และ 359/10 หม้อแปลงไฟฟ้าของจำเลยตั้งอยู่ใกล้บริเวณชั้นที่ 2 หน้าตึกแถวระหว่างห้องดังกล่าวหากเกิดประกายไฟจากไฟฟ้าลัดวงจรหรือลุกไหม้ก็ไม่สามารถกระเด็นเข้าไปถึงชั้นที่ 3 ได้เนื่องจากมีระยะห่างกันประมาณ 2 เมตร และมีกันสาดคอนกรีตบังอยู่ ทั้งประกายไฟไม่สามารถลุกลามไปติดสายไฟฟ้าแรงสูงซึ่งอยู่ด้านบนได้เพราะเป็นสายอลูมิเนียมเปลือยไม่มีฉนวนห่อหุ้มอันจะเป็นเชื้อเพลิงได้ จำเลยติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าก่อนโจทก์ปลูกสร้างตึกแถวที่เสียหาย และได้ปฏิบัติตามระเบียบและหลักวิชาในการดูแลรักษาหม้อแปลงไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพปกติและปลอดภัยทุกประการเป็นประจำ หม้อแปลงไฟฟ้าดังกล่าวของจำเลยอยู่ในสภาพดีจำเลยไม่ได้กระทำด้วยความประมาทให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายมากตามฟ้อง ค่าเสียหายของโจทก์รวมแล้วไม่เกิน 30,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามที่จำเลยฎีกาเป็นข้อแรกว่า จำเลยเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหานี้จำเป็นต้องวินิจฉัยก่อนว่าเหตุเพลิงไหม้คดีนี้เกิดจากหม้อแปลงไฟฟ้าหรือสายไฟฟ้าซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยหรือไม่ ในปัญหานี้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยฟังได้ว่าเหตุที่เกิดไฟไหม้ตึกแถว 10 คูหา ของโจทก์เสียหายเนื่องจากมีกระแสไฟฟ้าลัดวงจรที่เสาไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยโดยที่สายไฟฟ้าซึ่งมีกระแสไฟฟ้าเดินอยู่และหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพจำเลยผู้มีทรัพย์ดังกล่าวไว้ในครอบครองจึงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากทรัพย์ดังกล่าว เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 437 เมื่อจำเลยไม่ได้นำพยานหลักฐานมาสืบเลยว่าเหตุที่เกิดไฟไหม้ตึกแถวของโจทก์ดังกล่าวเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของโจทก์แต่อย่างใดจึงฟังไม่ได้เช่นนั้น และเมื่อคดีฟังได้ว่า เหตุเพลิงไหม้ตึกแถวของโจทก์เสียหายเกิดจากสายไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพที่อยู่ในครอบครองของจำเลย โดยมิได้เกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของโจทก์ผู้ต้องเสียหายเช่นนี้แล้ว แม้จำเลยมิได้ประมาทเลินเล่อทำให้เกิดไฟไหม้ดังกล่าว จำเลยก็ต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์อันเกิดจากสายไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟฟ้าของจำเลยเช่นนั้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยว่าเหตุที่เกิดไฟไหม้ตึกแถวของโจทก์เสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากจำเลยประมาทเลินเล่อหรือไม่ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4109/2539

การที่จำเลยที่2นำรถยนต์บรรทุกไปจอดใกล้กับทางรถไฟแม้จะอยู่ในบริเวณลานจอดรถของการท่าเรือแห่งประเทศไทยวิญญูชนย่อมจะต้องคาดหมายว่าเมื่อรถไฟแล่นมาตามรางจะต้องมีระยะที่ปลอดจากสิ่งกีดขวางพอสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุเฉี่ยวชนก้นพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ.2522มาตรา57(8)จึงบัญญัติว่าห้ามมิให้จอดรถห่างจากทางรถไฟน้อยกว่า15เมตรแต่จำเลยที่2มิได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อปกป้องบุคคลอื่นเมื่อจำเลยที่2นำรถไปจอดในที่เกิดเหตุไม่ว่าจะเป็นระยะ2เมตรหรือ1เมตรก็เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา422ให้สันนิษฐานว่าจำเลยที่2เป็นผู้ผิดกรณีฟังได้ว่าจำเลยที่2ทำละเมิดต่อโจทก์แล้วและเป็นการกระทำในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่1ต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นนายจ้างตามมาตรา425ส่วนจะต้องรับผิดเพียงใดนั้นจะต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา223วรรคหนึ่ง,438วรรคหนึ่งและ442ปรากฎว่าก่อนเกิดเหตุพนักงานขับรถไฟขับรถไฟมาด้วยความเร็วประมาณ15กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่อแล่นพ้นทางโค้งเห็นบริเวณที่จอดรถของการท่าเรือแห่งประเทศไทยมีรถยนต์บรรทุกจอดอยู่หลายคันแต่มีรถยนต์คันที่เกิดเหตุจอดอยู่ใกล้ทางรถไฟมากกว่าค้นอื่นพนักงานขับรถไฟคงขับรถไฟด้วยความเร็วเท่าเดิมต่อไปส่วนช่างเครื่องที่ไปด้วยก็เห็นรถยนต์จอดในระยะประมาณ20เมตรเมื่อเข้าไปใกล้ในระยะประมาณ10เมตรเห็นว่าไม่อาจขับรถผ่านไปได้โดยไม่เกิดเหตุเฉี่ยวชนกันช่างเครื่องได้ร้องบอกแก่พนักงานขับรถไฟพนักงานขับรถไฟจึงเปิดหวีดอันตรายพร้อมกับปิดคันบังคับการและลงห้ามล้อฉุกเฉินแต่ไม่อาจหยุดรถไฟได้ทันทีจึงเกิดเหตุขึ้นซึ่งในภาวะเช่นนั้นพนักงานขับรถไฟย่อมจะต้องคาดหมายได้ว่าอาจจะเกิดการเฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุกที่จอดอยู่อย่างผิดปกติตั้งแต่เมื่อขับรถไฟผ่านโค้งมาแล้วปกติรถไฟที่ใช้ความเร็ว15กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะมีระยะเบรกที่สามารถหยุดรถได้ประมาณ50เมตรในวิสัยของผู้มีหน้าที่ขับรถไฟอยู่ในเส้นทางดังกล่าวมาประมาณ3ปีก่อนเกิดเหตุเช่นพนักงานขับรถไฟที่เกิดเหตุย่อมจะต้องทราบว่าบริเวณที่เกิดเหตุมีรถยนต์บรรทุกแล่นเข้าออกอยู่เป็นประจำและพฤติการณ์ขณะเกิดเหตุก็เป็นเวลา18นาฬิกาเศษน่าจะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นการที่พนักงานขับรถไฟขับรถไฟในอัตราความเร็วเท่าเดิมจนถึงระยะที่ไม่อาจหยุดรถก่อนจะถึงที่เกิดเหตุได้ถือว่าพนักงานขับรถไฟมีความประมาทเลินเล่ออยู่ด้วยส่วนหนึ่งแต่อย่างไรก็ตามความเสียหายที่ด้านซ้ายของรถไฟมีเพียงเล็กน้อยที่ตะแกรงหน้าแสดงว่าการที่จำเลยที่2นำรถไปจอดนั้นมิใช่อยู่ในลักษณะที่กีดขวางทางรถไฟอย่างชัดแจ้งจะคาดหวังให้พนักงานขับรถไฟต้องดำเนินการตามขั้นตอนการหยุดรถตั้งแต่แรกเห็นย่อมจะไม่ได้พนักงานขับรถไฟจึงมีเพียงเล็กน้อยจำเลยที่2มีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่าเพราะรถไฟแล่นมาตามรางซึ่งเป็นทางบังคับเป็นหน้าที่ของผู้นำรถบรรทุกไปจอดจะต้องระมัดระวังกว่าในส่วนของความประมาทเลินเล่อของศาลฎีกาให้จำเลยทั้งสองรับผิดสองในสามส่วนของความเสียหายทั้งหมด

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 นางจ้างไปในทางการที่จ้างหรือในกิจการของจำเลยที่ 1ด้วยความประมาทโดยถอนหลังรถยนต์บรรทุกเพื่อเข้าจอดใกล้กับทางรถไฟ อันเป็นการกีดขวางทางเดินขบวนรถไฟของโจทก์ ซึ่งในขณะนั้นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ขับเคลื่อนขบวนรถไฟเข้ามาห่างจากรถยนต์บรรทุกดังกล่าวประมาณ 50 เมตร เจ้าหน้าที่ของโจทก์ไว้เปิดหวีดอันตรายพร้อมทั้งห้ามล้อฉุกเฉินเพื่อจะหยุดขบวนรถไฟ แต่เนื่องจากเป็นระยะกระชั้นชิด ทำให้ขบวนรถไฟเลื่อนไหลเข้าไปชนรถยนต์บรรทุกดังกล่าวเป็นเหตุให้หม้อสูบเครื่องห้ามล้อด้านซ้ายแคร่ที่ 1ของรถจักรดีเซล ซึ่งลากจูงขบวนรถไฟมาได้รับความเสียหายใช้การไม่ได้ต้องเปลี่ยนหม้อสูบเครื่องห้ามล้อ 1 ล้อ เป็นเงิน 49,068.68 บาทจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 52,748.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 49,068.68 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ดังกล่าวไปในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 ไม่ได้ขับรถยนต์ด้วยความประมาท เหตุที่เกิดขึ้นเพราะความประมาทของเจ้าหน้าที่ของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ถูกเปรียบเทียบปรับไม่เกี่ยวข้องกับที่โจทก์กล่าวอ้างค่าเสียหายที่เกิดขึ้นสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน52,748.83 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 49,068.68 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ความเสียหายของหม้อสูบเครื่องห้ามล้อรถจักรเกิดจากการเฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1

ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดเพียงใดนั้น ต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420บัญญัติว่า "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดีเสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น" การที่จำเลยที่ 2 นำรถยนต์บรรทุกไปจอดใกล้กับทางรถไฟ แม้จะอยู่ในบริเวณลานจอดรถของการท่าเรือแห่งประเทศไทยวิญญูชนย่อมจะต้องคาดหมายว่าเมื่อรถไฟแล่นมาตามรางจะต้องมีระยะที่ปลอดจากสิ่งกีดขวางพอสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุเฉี่ยวชนกัน พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 57(8) จึงบัญญัติว่า ห้ามมิให้จอดรถห่างจากทางรถไฟน้อยกว่า 15 เมตร แต่จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อปกป้องบุคคล เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 2 นำรถไปจอดในที่เกิดเหตุไม่ว่าจะเป็นระยะ 2 เมตร ดังที่จำเลยทั้งสองนำสืบ หรือ 1 เมตร ดังที่โจทก์นำสืบก็เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 422 ให้สันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ผิด กรณีฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์แล้วและเป็นการกระทำในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นนายจ้างตามมาตรา 425 ส่วนจะต้องรับผิดเพียงใดนั้น มาตรา 438วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด"มาตรา 442 บัญญัติว่า "ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" และมาตรา 223วรรคหนึ่ง 223 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร" ตามคำเบิกความของนายสุชีพพนักงานขับรถไฟว่าเกิดเหตุขับรถไฟมาด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง เมื่อแล่นพ้นทางโค้งเห็นบริเวณที่จอดรถของการท่าเรือแห่งประเทศไทยมีรถยนต์บรรทุกจอดอยู่หลายค้นแต่มีรถยนต์คันที่เกิดเหตุจอดอยู่ใกล้ทางรถไฟมากกว่าค้นอื่น พยานคงขับรถไฟด้วยความเร็วเท่าเดิมต่อไป ส่วนนายประชาช่างเครื่องที่ไปด้วยก็เห็นรถยนต์จอดในระยะประมาณ 20 เมตรเมื่อเข้าไปใกล้ในระยะประมาณ 10 เมตร พยานทั้งสองจึงเห็นว่าไม่อาจขับผ่านไปได้โดยไม่เกิดเหตุเฉี่ยวชนกัน นายประชาได้ร้องบอกแก่นายสุชีพ นายสุชีพจึงเปิดหวีดอันตรายพร้อมกับบิดคันบังคับการและลงห้ามล้อฉุกเฉิน แต่ไม่อาจหยุดรถไฟได้ทันทีจึงเกิดเหตุขึ้นเห็นว่า ในภาวะเช่นนั้นนายสุชีพย่อมจะต้องคาดหมายได้ว่าอาจจะเกิดการเฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุกที่จอดอยู่อย่างผิดปกติตั้งแต่เมื่อรถไฟผ่านโค้งมาแล้ว ซึ่งตามคำเบิกความของนายสุชีพตอนตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองว่า ปกติรถไฟที่ใช้ความเร็ว 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะมีระยะเบรกที่สามารถหยุดรถได้ประมาณ 50 เมตรในวิสัยของผู้มีหน้าที่ขับรถไฟอยู่ในเส้นทางดังกล่าวมาประมาณ 3 ปีก่อนเกิดเหตุเช่นนายสุชีพย่อมจะต้องทราบว่าบริเวณที่เกิดเหตุมีรถยนต์บรรทุกแล่นเข้าออกอยู่เป็นประจำ และพฤติการณ์ขณะเกิดเหตุก็เป็นเวลา 18 นาฬิกาเศษน่าจะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น การที่นายสูชีพขับรถไฟในอัตราความเร็วเท่าเดิมจนถึงระยะที่ไม่อาจหยุดรถก่อนจะถึงที่เกิดเหตุได้ ถือว่านายสุชีพมีความประมาทเลินเล่ออยู่ด้วยส่วนหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่ด้านซ้ายของรถไฟมีเพียงเล็กน้อยที่ตะแกรงหน้า แสดงว่าการที่จำเลยที่ 2 นำรถไปจอดนั้นมิใช่อยู่ในลักษณะที่กีดขวางทางรถไฟอย่างชัดแจ้ง จะคาดหวังให้นายสุชีพต้องดำเนินการตามขั้นตอนการหยุดรถตั้งแต่แรกเห็นย่อมจะไม่ได้เพราะรถไฟแล่นมาตามรางซึ่งเป็นทางบังคับเป็นหน้าที่ของผู้นำรถบรรทุกไปจอดจะต้องระมัดระวังมากกว่าในส่วนความประมาทเลินเล่อของนายสุชีพจึงมีเพียงเล็กน้อยจำเลยที่ 2 มีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่า ศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยทั้งสองรับผิดสองในสามส่วนของความเสียหายทั้งหมด

พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 32,712.45 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2535 จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น 




การสอบเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 58(วิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

ห้างหุ้นส่วนจำกัดก่อนจดทะเบียน article
คนเสมือนไร้ความสามารถทำพินัยกรรม article
ผู้ขนส่งจะส่งมอบของแก่ผู้รับของได้ต่อได้รับเวนคืนใบตราส่ง article
สิทธิยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า article
เจ้าของรวมขายกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของตน article
หนี้ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ article
ผู้รับโอน-สิทธิไถ่ทรัพย์สิน article
ผลที่ผู้ค้ำประกันตกลงด้วยในการผ่อนเวลา article
สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตน article