ReadyPlanet.com
bulletรับฟ้องคดีแพ่ง/อาญา
bulletพระราชบัญญัติ
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletป.อาญา ฎีกา
bulletป.วิอาญา
bulletป.วิแพ่ง
bulletป.กฎหมายที่ดิน
bulletป.รัษฎากร
bulletฟ้องหย่า
bulletอำนาจปกครอง
bulletนิติกรรม
bulletคดีมรดก
bulletอายุความฟ้องร้องคดี
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletเอกเทศสัญญา
bulletเกี่ยวกับแรงงาน
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
bulletตั๋วเงินและเช็ค
bulletห้างหุ้นส่วน-บริษัท
bulletคำพิพากษาและคำสั่ง
bulletทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์
bulletอุทธรณ์ฎีกา
bulletเกี่ยวกับคดีล้มละลาย
bulletเกี่ยวกับวิแพ่ง
bulletเกี่ยวกับวิอาญา
bulletการบังคับคดี
bulletคดีจราจรทางบก
bulletการเล่นแชร์ แชร์ล้ม
bulletอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
bulletมรรยาททนายความ
bulletถอนคืนการให้,เสน่หา
bulletข้อสอบเนติบัณฑิต
bulletคำพิพากษา 2550
bulletทรัพย์สินทางปัญญา
bulletสัญญาขายฝาก
bulletสำนักทนายความ
bulletป-อาญา มาตรา1- 398
bulletภาษาอังกฤษ
bulletการสมรสและการหมั้น
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-แพ่ง
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2549-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2548-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2547-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2546-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2545-แพ่งพาณิชย์
bulletนิติกรรมสัญญา
bulletพระธรรมนูญศาล
bulletทรัพย์สิน-สามีภริยา
bulletบิดามารดา-รับรองบุตร
bulletคดีครอบครัว
bulletสัญญาระหว่างสมรส
bulletสิทธิครอบครองที่ดิน
bulletสัญญาซื้อขาย
bulletแปลงหนี้ใหม่
bulletการได้กรรมสิทธิ์
bulletคดีเรื่องบุตร
bulletเช่าซื้อรถยนต์
bulletถอนผู้จัดการมรดก
bulletฟ้องค่าทดแทน
bulletฟ้องหย่า-ฟ้องหย่า
bulletสินสมรส-สินสมรส
bulletบันดาลโทสะ
bulletเบิกความเท็จ
bulletสิทธิ-สัญญาเช่า
bulletค้ำประกัน
bulletเจ้าของรวม
bulletจำนอง
bulletลูกหนี้ร่วม
bulletคำพิพากษาฎีกาทั่วไป
bulletกระดานถาม-ตอบ
bulletป-กฎหมายยาเสพติด2564
bulletขนส่งทางทะเล
bulletสมรสเป็นโมฆะ
bulletสามีภริยา
bulletตัวการไม่เปิดเผยชื่อ
bulletทนายความของสภาจัดให้
bulletอาวุธปืน
bulletรับช่วงสิทธิ
bulletแพ่งมาตรา1-1755




อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกัน

    -ปรึกษากฎหมาย นายลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ

     โทร.085-9604258

   -ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์   

   (1) @leenont 

   (2) @peesirilaw  

   (3) 0859604258 เพิ่มด้วยหมายเลขโทรศัพท์

  -Line Official Account : เพิ่มเพื่อน QR CODE

QR CODE 

ข้อ 5. นายสิบ ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินนายพัน 1,000,000 บาท โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินของตนเป็นประกัน สัญญาจำนองมีข้อตกลงว่า ถ้าบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ นายสิบ ยอมชำระหนี้ที่เหลือจนครบถ้วน นายหมื่น ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน หลังจากหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินถึงกำหนดชำระแล้ว 5 ปี นายพัน ทวงถามนายหมื่น ผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ นายหมื่น ชำระหนี้ให้นายพัน 100,000 บาท ต่อมาอีก 7 ปี นายพัน ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนอง นายสิบ เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ นายพัน จึงฟ้องนายสิบ ให้รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินและบังคับจำนองโดยขอใช้สิทธิตามข้อตกลงด้วย และฟ้องให้นายหมื่น รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน

ให้วินิจฉัยว่า นายสิบ และนายหมื่น จะต้องรับผิดต่อนายพัน หรือไม่ เพียงใด

ธงคำตอบ

กรณีความรับผิดของนายสิบ ตามสัญญากู้ยืมเงิน นายพัน ฟ้องคดีหลังจากหนี้ถึงกำหนดชำระเกิน 10 ปีแล้ว หนี้กู้ยืมเงินขาดอายุความ การที่นายหมื่น ผู้ค้ำประกันชำระหนี้บางส่วนเป็นการรับสภาพหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันแต่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้มีผลไปถึงลูกหนี้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1438/2540) กรณีไม่ต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694 ซึ่งเป็นเรื่องลูกหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ดังนั้น ถ้านายสิบ ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ศาลต้องยกฟ้อง นายสิบไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงิน ส่วนกรณีความรับผิดของนายสิบตามสัญญาจำนอง การที่หนี้กู้ยืมเงินขาดอายุความไม่ทำให้หนี้ระงับ จำนองจึงยังไม่ระงับ นายพัน ผู้รับจำนองมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 และถ้าขายทอดตลาดที่ดินจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้กู้ยืมและดอกเบี้ยดังกล่าว นายพัน ไม่มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของนายสิบ แม้จะมีข้อตกลงไว้ก็ตาม (คำพิพากษาฎีกาที่ 667/2549) นายสิบ จึงรับผิดเฉพาะจากที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น

สำหรับกรณีความรับผิดของนายหมื่น ผู้ค้ำประกันนั้น แม้นายหมื่น ชำระหนี้บางส่วนทำให้อายุความในหนี้ตามสัญญาค้ำประกันสะดุดหยุดลงมีผลให้ไม่ขาดอายุความ แต่หนี้ตามสัญญาค้ำประกันเป็นหนี้อุปกรณ์เพื่อประกันการชำระหนี้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธาน เมื่อหนี้ประธานขาดอายุความ นายหมื่อนผู้ค้ำประกันมีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694 ที่จะยกข้อต่อสู้ของนายสิบ เรื่องหนี้กู้ยืมเงินขาดอายุความขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ ศาลต้องยกฟ้อง นายหมื่น จึงไม่ต้องรับผิดต่อนายพัน (คำพิพากษาฎีกาที่ 964/2512)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 694 นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันยังอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลาย ซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย

มาตรา 745 ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1438/2540

การที่ว. ผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ที่1ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้นั้นย่อมทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้ว่าให้มีผลไปถึงลูกหนี้ด้วยแม้ลูกหนี้ทั้งสองจะต้องรับผิดร่วมกับผู้ค้ำประกันกำหนดอายุความของลูกหนี้แต่ละคนก็ต้องเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแต่ลูกหนี้คนนั้นเท่านั้นการที่ว.ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ลูกหนี้ทั้งสองย่อมไม่ถูกผูกพันในเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงฉะนั้นจึงไม่ทำให้อายุความที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากลูกหนี้ทั้งสองสะดุดหยุดลงด้วยเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้ในอายุความเพียง5ปีเท่านั้น ลูกหนี้ที่1เป็นหนี้เจ้าหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน11ฉบับคิดถึงวันเรียกเก็บค้างชำระเป็นเงินทั้งสิ้น891,808.23บาทนับตั้งแต่วันผิดนัดชำระหนี้รายนี้ลูกหนี้ทั้งสองไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เลยจึงถือว่าดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้มีสิทธิคิดจากเงินที่ค้างชำระดังกล่าวเป็นดอกเบี้ยที่ค้างชำระซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/33(1)กำหนดให้สิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยค้างชำระหนี้ได้ภายในอายุความ5ปีดอกเบี้ยที่ค้างเกินกว่า5ปีซึ่งขาดอายุความแม้ยังถือเป็นภาระหนี้ที่ลูกหนี้ทั้งสองค้างชำระแก่เจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องและก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแต่หนี้ของส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า5ปีก็เป็นหนี้ที่ขาดอายุความต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ดังนั้นเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธินำเงินที่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ดังกล่าวมาหักชำระดอกเบี้ยที่ค้างส่งเกินกว่า5ปีอันเป็นหนี้ที่ขาดอายุความแล้วได้

 คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้(จำเลย) ทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2537 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้รวม 2 อันดับ อันดับที่ 1 เป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คดีหมายเลขแดงที่ 3613/2529 และอันดับที่ 2เป็นมูลหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท 11 ฉบับ เป็นเงิน 3,000,115.19บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสอง รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่า มูลหนี้อันดับที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3613/2529 ลูกหนี้ที่ 1 ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้เป็นเงิน565,061.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ในต้นเงิน460,065.41 บาท นับถัดจากวันฟ้องถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นดอกเบี้ย 630,195.10 บาท และค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลไม่สั่งคืน3,551.88 บาท กับค่าทนายความ 3,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น1,201,808.04 บาท ส่วนมูลหนี้อันดับที่ 2 หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทลูกหนี้ทั้งสองต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้เป็นต้นเงินรวม 891,808.23บาท ส่วนดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้ขอมาเป็นดอกเบี้ยค้างชำระ จึงคิดให้ไม่เกิน 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(1)โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยนับแต่วันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดย้อนไป 5 ปี เป็นดอกเบี้ย746,816.07 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระเป็นเงิน1,638,624.30 บาท หักชำระหนี้บางส่วนเป็นเงิน 505,208.33 บาทคงเหลือหนี้ค้างชำระ 1,133,415.97 บาท รวมเป็นเงินที่เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ทั้ง 2 อันดับ 2,335,003.40 บาท เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้มูลหนี้อันดับที่ 1 จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 เป็นเงิน 1,201,587.43 บาท ตามที่ขอมาและมูลหนี้อันดับที่ 2 จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสอง เป็นเงิน1,133,415.97 บาท ตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย โดยมีเงื่อนไขว่าในมูลหนี้อันดับที่ 2 หากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากนายวิบูลย์ จันทรางศุนายวิบูลศักดิ์ มัณฑะจิตร และนายชยงค์ กังสดาร ผู้ค้ำประกันไปแล้วเพียงใด ก็ให้สิทธิเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดลงไปเพียงนั้น

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

เจ้าหนี้ อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

เจ้าหนี้ ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คู่ความมิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับมูลหนี้อันดับที่ 1 จึงยุติตามคำสั่งศาลชั้นต้น คงเหลือปัญหาเกี่ยวกับมูลหนี้อันดับที่ 2 ทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ลูกหนี้ที่ 1 ได้เปิดเล็ตเตอร์อออฟเครดิตซึ่งเป็นวิธีการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศผ่านเจ้าหนี้สาขาราษฎร์บูรณะ เมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทย เจ้าหนี้ได้แจ้งให้ลูกหนี้ที่ 1 นำเงินค่าสินค้าที่เจ้าหนี้ได้จ่ายแทนไปมาชำระเพื่อลูกหนี้จะได้รับเอกสารเกี่ยวกับการไปรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย แต่ลูกหนี้ที่ 1 ไม่มีเงินชำระลูกหนี้ที่ 1 จึงได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทให้ไว้แก่เจ้าหนี้รวม 11 ฉบับ เพื่อขอรับเอกสารไปออกสินค้า โดยมีข้อตกลงว่า ลูกหนี้ที่ 1 จะนำเงินมาชำระค่าสินค้าให้แก่เจ้าหนี้ตามจำนวนและกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีท และลูกหนี้ที่ 1 ตกลงชำระดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้อัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี และสัญญาว่าในกรณีที่ลูกหนี้ที่ 1 ผิดสัญญา ลูกหนี้ที่ 1 ยอมรับว่า เจ้าหนี้ยังไม่ได้สละสิทธิในเงื่อนไขที่เจ้าหนี้มีอยู่ตามเล็ตเตอร์ออฟเครดิต สัญญาทรัสต์รีซีทและเอกสารอื่นใดที่เกี่ยวกันสัญญาทรัสต์รีซีท 11 ฉบับ รวมเป็นเงิน891,808.23 บาท และเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ดังกล่าวนายวิบูลย์ จันทรางศุ และนายวิบูลศักดิ์ มัณฑะจิตร นายชยงค์กังสดาร และลูกหนี้ที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้แก่เจ้าหนี้โดยยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามเอกสารหมาย จ.14 ถึง จ.24ลูกหนี้ที่ 1 มิได้ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ เจ้าหนี้ได้ทวงถามโดยชอบแล้ว ต่อมาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2536 เจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวฟ้องลูกหนี้ทั้งสองเป็นคดีล้มละลายศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่17 มกราคม 2537 แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2536 และ10 สิงหาคม 2536 นายวิบูลย์ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้เป็นเงิน300,000 บาท และ 205,208.33 บาท ให้แก่เจ้าหนี้ตามลำดับหลังจากนั้นก็มิได้มีการชำระหนี้อีก เจ้าหนี้นำเงินดังกล่าวไปหักชำระหนี้แล้ว เมื่อคิดคำนวณถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ทั้งสองค้างชำระต้นเงิน 864,823.75 บาท และดอกเบี้ยอีก933,704.01 บท รวมเป็นเงิน 1,798,527.76 บาท

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองย้อนขึ้นไปนับแต่วันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเกินกว่า 5 ปี หรือไม่ เจ้าหนี้ฎีกาว่า นายวิบูลย์ จันทรางศุ เป็นผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ เมื่อวันที่18 พฤษภาคม 2536 จำนวน 300,000 บาท และวันที่ 10 สิงหาคม 2536ชำระอีกจำนวน 205,208.33 บาท ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 นั้น เห็นว่า หากนายวิบูลย์ค้ำประกันได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันนั้น ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้ว่าให้มีผลไปถึงลูกหนี้ด้วย แม้ลูกหนี้ทั้งสองจะต้องรับผิดร่วมกับผู้ค้ำประกัน กำหนดอายุความของลูกหนี้แต่ละคนก็ต้องเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแต่ลูกหนี้คนนั้นเท่านั้น การที่นายวิบูลย์ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ทั้งสองย่อมไม่ต้องถูกผูกพันในเรื่องอายุความสะดุดหยุดลง ฉะนั้น จึงไม่ทำให้อายุความที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากลูกหนี้ทั้งสองสะดุดหยุดลงด้วย เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้ในอายุความเพียง 5 ปี ฎีกาข้อนี้ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้ 5 ปี โดยนำจำนวนเงินที่นายวิบูลย์ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน505,208.33 บาท มาหักกับดอกเบี้ยที่พิพากษาให้นั้นชอบหรือไม่ในข้อนี้เจ้าหนี้ฎีกาว่า แม้ดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้มาเป็นดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ซึ่งขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(1) แต่กรณีหาใช่ว่าลูกหนี้มิได้เป็นหนี้ เจ้าหนี้จึงมีสิทธินำเงินดังกล่าวมาหักชำระหนี้ดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระก่อนได้ ถึงแม้ดอกเบี้ยในส่วนดังกล่าวจะเป็นดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท จำนวน 11 ฉบับ คิดถึงวันเรียกเก็บค้างชำระเป็นเงินทั้งสิ้น 891,808.23 บาท นับตั้งแต่วันผิดนัดชำระหนี้รายนี้ลูกหนี้ทั้งสองไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เลยจนบัดนี้จึงถือว่าดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้มีสิทธิคิดจากเงินที่ค้างชำระดังกล่าวเป็นดอกเบี้ยที่ค้างชำระซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33(1) บัญญัติไว้ให้สิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยค้างชำระหนี้ได้ในอายุความ 5 ปี ดอกเบี้ยที่ค้างเกินกว่า 5 ปี ซึ่งขาดอายุความแม้ยังถือเป็นภาระหนี้ที่ลูกหนี้ทั้งสองค้างชำระแก่เจ้าหนี้ และผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องและก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่หนี้ของส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ก็เป็นหนี้ที่ขาดอายุความ ซึ่งต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ดังนั้นเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธินำเงินที่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ดังกล่าวมาหักชำระดอกเบี้ยที่ค้างส่งเกินว่า 5 ปี อันเป็นหนี้ที่ขาดอายุความแล้วได้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท เป็นต้นเงินจำนวน 891,808.23 บาท กับให้มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระได้เพียง 5 ปี โดยนับจากวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดย้อนหลังลงไป 5 ปี หักด้วยเงินที่ผู้ค้ำประกันให้เจ้าหนี้จำนวนเงิน 505,208.33 บาท แล้วคงเหลือหนี้ที่ลูกหนี้ทั้งสองต้องรับผิดชำระเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น1,133,415.97 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน"

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 667/2549

 แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีรวมทั้งสัญญาเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งต้องด้วยลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะไม่มีกำหนดเวลา แต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเอกเทศสัญญาที่มีลักษณะเฉพาะ โดยสัญญาจะคงสภาพอยู่ต่อไปได้ก็จะต้องมีการสะพัดทางบัญชีอย่างต่อเนื่องและภายในระยะเวลาอันสมควร ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภ. ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2526 แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันอีกเลย นับถึงวันที่ ภ. สิ้นพระชนม์เป็นเวลานานเกือบ 12 ปี แสดงว่า ภ. มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องตรวจตราบัญชีของลูกค้าอยู่ตลอดเวลาว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างไร เมื่อปรากฏว่า ภ. ซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ไม่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชี โจทก์ย่อมจะต้องทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาในเวลาอันสมควร มิใช่ถือโอกาสใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นในระยะเวลายาวนานเกินสมควรเช่นนี้ ถือได้ว่าการใช้สิทธิของโจทก์มิได้กระทำโดยสุจริต โดยถือว่าสัญญาเลิกกันตั้งแต่วันที่ ภ. มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายคือวันที่ 14 มีนาคม 2526 อันเป็นวันที่ ภ. เดินสะพัดทางบัญชีเป็นครั้งสุดท้าย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น สิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 10 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2539 พ้นกำหนด 10 ปี หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงขาดอายุความ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่า ภ. ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวในวงเงิน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวจะขาดอายุความ แต่กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้เมื่อหนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังเกินกว่าห้าปีไม่ได้ และคงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่ ภ. จำนองไว้เท่านั้น จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นอีกหาได้ไม่ ถึงแม้ว่าตามสัญญาจำนองจะกำหนดให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ตาม

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2548)

 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 47,574,591.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 41,369,210.14 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่นในกองมรดกของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์จนกว่าจะครบ

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงชั้นฎีกาฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นชายาของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้วเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2538 ก่อนสิ้นพระชนม์พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้เปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารโจทก์สำนักงานใหญ่ บัญชีเลขที่ 001-3-9703-8 ซึ่งมีวิธีการเบิกถอนเงินออกจากบัญชีโดยการออกเช็คสั่งจ่ายเงิน และวันที่ 25 สิงหาคม 2520 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเพื่อเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวไว้ในวงเงิน 4,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ชำระเป็นรายเดือนทุก ๆ วันสิ้นเดือน หากผิดนัดยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเป็นต้นเงินได้ตามประเพณีของธนาคาร โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันไว้ในวงเงิน 4,000,000 บาท มีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน 2521 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้เพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีอีก 1,500,000 บาท รวมเป็น 5,500,000 บาท และจดทะเบียนเพิ่มวงเงินจำนองทรัพย์สินดังกล่าวเป็นประกันอีก 1,500,000 บาท เป็น 5,500,000 บาท วันที่ 11 มิถุนายน 2525 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนจำนวน 5,000,000 บาท และวันที่ 14 มีนาคม 2526 นำเข้าอีก 1,582.18 บาท จากนั้นมิได้มีการนำเงินเข้าบัญชีหรือเบิกถอนเงินออกจากบัญชีอีก มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีรวมทั้งสัญญาเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลซึ่งต้องด้วยลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะไม่มีกำหนดเวลา แต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเอกเทศสัญญาที่มีลักษณะเฉพาะโดยสัญญาจะคงสภาพอยู่ต่อไปได้ก็จะต้องมีการสะพัดทางบัญชีอย่างต่อเนื่องและภายในระยะเวลาอันสมควร ข้อเท็จจริงปรากฏว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2526 แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันอีกเลย นับถึงวันที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลสิ้นพระชนม์เป็นเวลานานเกือบ 12 ปี แสดงว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลมีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องตรวจตราบัญชีของลูกค้าอยู่ตลอดเวลาว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างไร เมื่อปรากฏว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ไม่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชี โจทก์ย่อมจะต้องทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาในเวลาอันสมควร มิใช่ถือโอกาสใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลในระยะเวลายาวนานเกินสมควรเช่นนี้ ถือได้ว่าการใช้สิทธิของโจทก์มิได้กระทำโดยสุจริต โดยถือว่าสัญญาเลิกกันตั้งแต่วันที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลมีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายคือวันที่ 14 มีนาคม 2526 อันเป็นวันที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลเดินสะพัดทางบัญชีเป็นครั้งสุดท้าย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น สิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 10 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2539 พ้นกำหนด 10 ปี หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงขาดอายุความ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวในวงเงิน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวจะขาดอายุความตามที่วินิจฉัยข้างต้น แต่กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้เมื่อหนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังเกินกว่าห้าปีไม่ได้ และคงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลจำนองไว้เท่านั้นตามกฎหมายข้างต้น จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นอีกหาได้ไม่ ถึงแม้ว่าตามสัญญาจำนองจะกำหนดให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยในฐานะทายาทและในฐานะผู้จัดการมรดกของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลชำระเงิน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลาห้าปีกับนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดเฉพาะทรัพย์จำนองคือที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 ถึง 5335 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 964/2512

 เจ้ามรดกกู้เงินโจทก์ แล้วถึงแก่ความตายลงโดยยังมิได้ชำระหนี้โจทก์เพิ่งฟ้องทายาทเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมขาดอายุความฟ้องร้อง

นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้แล้วผู้ค้ำประกันยังอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วยดังนั้น เมื่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์ซึ่งมีต่อลูกหนี้ขาดอายุความแล้ว ผู้ค้ำประกันก็ย่อมยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้

สัญญาค้ำประกันที่มีข้อความว่า ถ้าผู้กู้ไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้ตามสัญญาหรือผู้กู้ถึงแก่กรรมหรือหนี้ระงับด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดซึ่งกระทำให้ผู้ให้กู้ต้องขาดสูญต้นเงินหรือดอกเบี้ยผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชอบชำระหนี้ให้แทนทั้งสิ้นนั้นยังแปลไม่ได้ว่า แม้เมื่อหนี้เงินกู้ขาดอายุความแล้ว ผู้ค้ำประกันก็ยอมสละสิทธิไม่ยกอายุความขึ้นต่อสู้

 โจทก์ฟ้องว่า นายนิทัศน์ แปลงเงิน สามีจำเลยที่ 1 และบิดาจำเลยที่ 2, 3, 4 ได้กู้เงินโจทก์ไป 15,000 บาท สัญญาให้ดอกเบี้ยชั่งละ 1 บาทต่อเดือน จำเลยที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกัน ครบกำหนดแล้วไม่เคยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเลย ต่อมานายนิทัศน์ตายโจทก์ทวงถาม จำเลยก็ไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1-4 ชำระต้นเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 5 ชำระแทน

จำเลยต่อสู้ไม่รับรองสัญญา และว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นฟังว่า นายนิทัศน์กู้เงินโจทก์จริงตามฟ้อง โดยจำเลยที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์เพิ่งทราบการตายของนายนิทัศน์ก่อนฟ้องไม่เกิน 1 ปี ไม่ขาดอายุความพิพากษาให้จำเลยที่ 1-4 ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามฟ้อง หากไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 5 ชำระแทน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังว่า โจทก์ทราบการตายของนายนิทัศน์มาก่อนฟ้องเกิน 1 ปี คดีขาดอายุความ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทราบการตายของนายนิทัศน์ก่อนฟ้องเกิน 1 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคสาม

มีปัญหาว่า จำเลยที่ 5 ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อหนี้ตามสัญญากู้ขาดอายุความแล้ว ลูกหนี้อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694 บัญญัติว่า นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้นั้นท่านว่าผู้ค้ำประกันยังอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย ดังนั้น เมื่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์ซึ่งมีต่อลูกหนี้ขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 5 ผู้ค้ำประกันจึงอาจยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้

ที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาค้ำประกันมีความว่า "ถ้าผู้กู้ไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้ตามสัญญา หรือผู้กู้ถึงแก่กรรมหรือหนี้ระงับด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด ซึ่งกระทำให้ผู้ให้กู้ขาดสูญต้นเงินหรือดอกเบี้ย ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชอบชำระหนี้แทนให้ทั้งสิ้น" ซึ่งหมายความว่า ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดไม่ว่าหนี้จะขาดอายุความแล้วหรือไม่ก็ตามนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความในสัญญาหาได้กล่าวว่าเมื่อหนี้เงินกู้ขาดอายุความแล้ว ผู้ค้ำประกันยอมสละสิทธิไม่ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไม่

พิพากษายืน

 




การสอบเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 61(วิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

ผู้เสียหายมีส่วนผิดในการก่อให้เกิดความเสียหาย
การรอนสิทธิ -ทรัพย์สินซึ่งขายชำรุดบกพร่อง
เช็คขีดคร่อมทั่วไปโอนกันได้
ผู้ถือหุ้นฟ้องกรรมการให้รับผิด
เจ้ามรดกไม่มีทายาทโดยธรรมมรดกย่อมตกทอดแก่แผ่นดิน
การซื้อขายตาม INCOTERMS แบบ DDP
ที่งอกริมตลิ่ง- สาธารณสมบัติของแผ่นดิน
เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก