ReadyPlanet.com


การร้องขอให้สามีเป็นบุคคลสาปสูญ(สาบสูญ) และ สิ้นสุดทะเบียนสมรส


สวัสดีคะ

ดีฉันได้แต่งงานและ จดทะเบียนสมรส กับสามี และ มี บุตร ด้วยกันหนึ่งคน แต่ อยู่ๆ สามีก้อ หายสาปสูญไป จนถึง วันนี้ ก้อ เป็น เวลา ร่วมแปดปี แล้ว โดยไม่มี ใคร ทราบข่าวของ เค้า เลย แม้แต่ ญาติพี่น้อง ของ เค้า เอง

และ ตอนนี้ ดิฉัน มีความต้อง การ ที่ จะแต่งงาน ใหม่

ไม่ ทราบว่า ดิฉันควรจะทำยังไง คะ และ อยากทราบ เรื่องค่าใช้จ่าย และ ต้องใช้ เวลานานแค่ไหนคะ

กรุณาชี้แนะ ทางออกให้ ด้วยคะ

ขอบคุณคะ



ผู้ตั้งกระทู้ เด็กโง่ :: วันที่ลงประกาศ 2011-08-03 08:00:50


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2211642)

ใช้สิทธิฟ้องหย่าดีกว่าครับ โดยอาศัยเหตุทิ้งร้างไปเกิน 1 ปี ไม่อุปการะเลี้ยงดู เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง

มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความ ผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่าย ที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
 

อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่น ประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่ง นั้นฟ้องหย่าได้
(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุก เกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามี ภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกิน ควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของ ศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่าง ไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตาม สมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอา สภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่าย หนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมี ลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความ ประพฤติอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่าย หนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรัง ไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้น ไม่อาจร่วม ประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-09-01 13:48:25


ความคิดเห็นที่ 2 (2211647)

 เป็นการจงใจทิ้งร้างสามีเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี

 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยได้จงใจทิ้งร้างโจทก์โดยจำเลยออกไปจากภูมิลำเนาที่พักอยู่อาศัยโดยมิได้แจ้งโจทก์และบุตรว่าจำเลยจะไปที่ใดจนกระทั่งถึงปัจจุบัน และจำเลยมิได้ส่งเสียเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง เป็นการจงใจทิ้งร้างโจทก์เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี โจทก์ไม่ประสงค์จะอยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6948/2550

          แม้พฤติการณ์ของโจทก์ในเบื้องต้นเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่ายินยอมให้จำเลยทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นก็ตาม แต่หลังจากนั้นประมาณ 2 ปี คือตั้งแต่ปี 2542 โจทก์ได้ขอร้องให้จำเลยกลับมาดูแลครอบครัวหลายครั้ง แสดงว่าโจทก์ไม่ยินยอมให้ทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป แต่จำเลยยังคงยืนยันไม่กลับประเทศไทยรวมทั้งไม่ยินยอมกลับประเทศไทยเพื่อมาเบิกความเป็นพยานในคดีนี้ แสดงว่าจำเลยประสงค์ที่จะทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นโดยไม่สนใจที่จะกลับมาดูแลบุตรและอยู่ร่วมกับโจทก์ฉันสามีภริยาอีกต่อไป ถือว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่า 1 ปี นับแต่ปี 2542 โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4)

          บุตรทั้งสองของโจทก์กับจำเลยยังเป็นผู้เยาว์และอยู่ในความอุปการะของโจทก์มาโดยตลอด โจทก์รับราชการอันเป็นอาชีพที่มั่นคง ส่วนจำเลยทำงานอยู่ประเทศญี่ปุ่นทิ้งบุตรให้อยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์มากว่า 8 ปี แล้ว เมื่อคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดอันจะเกิดแก่ผู้เยาว์ทั้งสองในปัจจุบันและในอนาคต จึงเห็นสมควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองแต่ผู้เดียว

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยได้จงใจทิ้งร้างโจทก์โดยจำเลยออกไปจากภูมิลำเนาที่พักอยู่อาศัยโดยมิได้แจ้งโจทก์และบุตรว่าจำเลยจะไปที่ใดจนกระทั่งถึงปัจจุบัน และจำเลยมิได้ส่งเสียเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง เป็นการจงใจทิ้งร้างโจทก์เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี โจทก์ไม่ประสงค์จะอยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยอีกต่อไป ขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว

          จำเลยให้การว่า โจทก์กับจำเลยได้ปรึกษากันให้จำเลยเดินทางไปทำงานในร้านอาหารที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งพี่สาวของจำเลยได้เปิดกิจการอยู่ ซึ่งจำเลยได้ส่งเงินให้โจทก์และบุตรมาโดยตลอด และโจทก์ก็ยังเคยเดินทางไปเยี่ยมจำเลยหลายครั้ง จำเลยมิได้ทิ้งร้างโจทก์ตามฟ้อง แต่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยโดยไม่สุจริตเพราะโจทก์ยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย

          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียวด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือเด็กหญิง น. และเด็กหญิง ภ. มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า กรณีมีเหตุหย่าตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์สรุปว่า เมื่อปี 2540 โจทก์ได้ย้ายมารับราชการที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จำเลยได้ปรึกษากับโจทก์ว่าจำเลยอยากจะทำงานมีรายได้มาก ๆ และจำเลยขออนุญาตโจทก์เดินทางไปประกอบอาชีพเกี่ยวกับกิจการร้านอาหารซึ่งญาติของจำเลยทำอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ในเบื้องต้นโจทก์ทัดทานเพราะเห็นว่าบุตรคนเล็กยังเล็กอยู่และโจทก์ต้องรับภาระดูแลบุตรถึง 2 คน แต่จำเลยไม่เชื่อฟังและได้ไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ระยะแรกช่วงปี 2540 ถึงปี 2541 จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบทางโทรศัพท์ว่าจำเลยไปอยู่ที่ใดกับใครและมีรายได้จากการทำงานจำนวนเท่าใด จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่า แม้ช่วงแรกโจทก์จะคัดค้านเรื่องที่จำเลยขออนุญาตโจทก์ไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น แต่เมื่อจำเลยไปทำงานแล้วไม่ปรากฏว่าโจทก์โต้แย้งเรื่องที่จำเลยไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นอีก พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่ายินยอมให้จำเลยคงทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว แต่หลังจากจำเลยไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นประมาณ 2 ปี โจทก์ได้มีโอกาสไปราชการต่างประเทศและโจทก์แวะไปพบจำเลยที่ประเทศญี่ปุ่น โจทก์เจรจากับจำเลยว่าจำเลยไปทำงานร่วม 2 ปีแล้ว ขอให้กลับมาช่วยดูแลบุตรและอยู่กับโจทก์ที่ประเทศไทย ซึ่งจำเลยยืนกรานจะขอทำงานหาเงินต่อไปอีก หลังจากโจทก์กลับมาประเทศไทยแล้วนาน ๆ ครั้ง จำเลยเป็นฝ่ายใช้โทรศัพท์ติดต่อโจทก์ โจทก์ยืนยันขอร้องให้จำเลยกลับมาดูแลครอบครัว จำเลยก็ไม่กลับคงพูดบ่ายเบี่ยงตลอด ในช่วงปี 2542 เมื่อจำเลยใช้โทรศัพท์ติดต่อโจทก์ โจทก์ยืนยันกับจำเลยว่าจำเลยไปทำงานนานแล้วโจทก์ลำบากมากและขอให้จำเลยช่วยกลับมาดูแลครอบครัว แต่จำเลยยืนยันว่าไม่กลับ โจทก์แจ้งจำเลยว่าหากจำเลยยืนยันที่จะทำงานอยู่ต่างประเทศต่อไปเรื่อย ๆ ปล่อยให้โจทก์และบุตรลำบาก โจทก์จะขอหย่าขาดกับจำเลย จำเลยก็ยืนยันไม่ขอกลับประเทศไทยและขอทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป หลังจากนั้นจำเลยไม่ติดต่อกับโจทก์อีกและโจทก์ไม่สามารถติดต่อกับจำเลยได้เพราะจำเลยเปลี่ยนสถานที่ทำงานเกี่ยวกับร้านอาหารอยู่เสมอ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ปรากฏดังกล่าวแสดงว่าแม้เมื่อจำเลยไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นแล้วช่วงแรกโจทก์ไม่มีพฤติการณ์คัดค้าน แต่ในช่วงหลังคือหลังจากจำเลยไปทำงานประมาณ 2 ปี โจทก์ได้ขอร้องให้จำเลยกลับมาดูแลครอบครัวโดยตลอด พฤติการณ์ของโจทก์ในช่วงหลังแสดงว่าโจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป การที่จำเลยยังคงยืนยันไม่กลับประเทศไทยโดยขอทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไปแม้โจทก์จะขอให้จำเลยกลับประเทศไทยหลายครั้งแต่จำเลยเพิกเฉย นอกจากนั้นข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าเมื่อโจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลยเป็นคดีนี้ จำเลยกลับมอบอำนาจให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ดำเนินคดีแทน ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลจังหวัดปทุมธานีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2547 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยว่าทนายจำเลยแถลงว่าจำเลยอยู่ต่างประเทศ ทนายจำเลยแจ้งถึงเหตุที่จำเลยต้องมาเบิกความด้วยตนเองตามระบบกระบวนการพิจารณาคดีให้จำเลยทราบและเข้าใจแล้ว จำเลยยืนยันว่าไม่สามารถมาเบิกความตามที่ทนายความแนะนำได้ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏดังกล่าวแสดงให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่า 1 ปี นับตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งเป็นปีที่โจทก์ขอให้จำเลยกลับมาอยู่กับโจทก์ที่ประเทศไทยเป็นต้นมา เพราะจำเลยประสงค์ที่จะทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไปโดยไม่สนใจที่จะกลับมาดูแลบุตรและอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยากับโจทก์อีกต่อไป โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักให้ฟังว่าจำเลยทิ้งร้างโจทก์ จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะฟ้องหย่าจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น และศาลฎีกาเห็นว่าเด็กหญิง น. และเด็กหญิง ภ. ยังเป็นผู้เยาว์ และอยู่ในความอุปการะของโจทก์มาโดยตลอด ซึ่งโจทก์ประกอบอาชีพรับราชการอันเป็นอาชีพที่มั่นคง ส่วนจำเลยทำงานอยู่ประเทศญี่ปุ่นทิ้งบุตรให้อยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์มากว่า 8 ปีแล้ว เมื่อคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดอันจะเกิดแก่ผู้เยาว์ทั้งสองในปัจจุบันและในอนาคต จึงเห็นสมควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองแต่ฝ่ายเดียว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นเช่นกัน”

          พิพากษากลับ ให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดกัน ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิง น. และเด็กหญิง ภ. แต่เพียงผู้เดียว

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-01 13:57:51


ความคิดเห็นที่ 3 (2211770)

  สาปสูญเป็นเวลา 10 ปีเศษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1473/2496

          สามีภริยาอยู่กินด้วยกัน เกิดบุตรหลายคน สามีได้ไปเมืองเมกกะตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามเอเชียบูรพา คือราว 10 ปีมาแล้ว ไม่ได้กลับมาเลย และไม่ปรากฎว่าได้ส่งข่าวคราวถึงภริยาเลย ดังนี้ หากภริยาไปกู้เงินผู้อื่นเขามาใช้จ่ายก็ย่อมจะถือได้ว่าขณะที่ภริยากู้เงินเขานี้ เป็นการไม่แน่นอนว่าสามียังมีชีวิตอยู่หรือตายแล้ว กรณีต้องต้องด้วย ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา 39(1) ภริยาย่อมทำการอันผูกพันส่วนของตนในสินบริคณห์ได้โดยมิต้องได้รับอนุญาตจากสามี

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1,2 เป็นสามีภริยากัน จำเลยที่ 2 ไปประเทศปากีสถานแล้วเลยหายสาปสูญเป็นเวลา 10 ปีเศษ ระหว่างเวลาเหล่านี้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลอุปการะครอบครัว ได้กู้เงินโจทก์ไปอุปการะเลี้ยงดูครอบครัวและการศึกษาของบุตร ครบกำหนดแล้วไม่ใช้ จำเลยที่ 2 ก็ปฏิเสธ จึงขอให้บังคับให้จำเลยร่วมกันใช้เงินรายนี้ให้โจทก์

          จำเลยที่ 1 รับตามฟ้อง

          จำเลยที่ 2 ให้การว่ามิได้หายสาปสูญ ฯลฯ

          ศาลชั้นต้นฟังว่าเป็นกรณีต้องด้วยข้อยกเว้นตาม ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา 39(1) นิติกรรมกู้เงินที่จำเลยที่ 1 ทำไป จึงเป็นการสมบูรณ์ผูกพันส่วนของจำเลยที่ 1 ในสินบริคณห์โดยมิต้องรับอนุญาตจากจำเลยที่ 2 ผู้เป็นสามี จึงพิพากษาว่า หนี้ 4500 บาท กับดอกเบี้ย 49 บาท ผูกพันส่วนของจำเลยที่ 1 ในสินบริคณห์ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้ให้โจทก์ ยกฟ้องคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนาย 200 บาทแทนโจทก์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายสำหรับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ

          จำเลยที่ 2 เท่านั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          จำเลยที่ 2 ฎีกา

          ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 2 เป็นสามีภริยากันมาช้านานแล้ว เกิดบุตรด้วยกันหลายคน จนจำเลยที่ 2 ได้ไปเมืองเมกกะ ตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามเอเชียบูรพา คือเมื่อราว 10 ปีมาแล้ว ระหว่างนั้นจำเลยที่ 2 ไม่ได้กลับมาเลย เพิ่งกลับเมืองไทยเมื่อ พ.ศ.2494 นี้เอง ก่อนจำเลยที่ 2 กลับมาจำเลยที่ 1 ได้สามี แต่ยังไม่ได้แต่งงานกันตามทางศาสนาอิสสลาม เมื่อจำเลยที่ 2 กลับมาแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ฟ้องขอหย่าจากจำเลยที่ 2 แต่ศาลยกฟ้อง พฤติการณ์ ต่าง ๆ ส่อแสดงให้เห็นว่า ขณะทำสัญญากู้เงินโจทก์นี้เป็นการไม่แน่นอนว่าจำเลยที่ 2 ยังมีชีวิตอยู่หรือตายแล้ว กรณีต้องด้วย ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา39(1) จำเลยที่ 1 ย่อมทำการอันผูกพันส่วนของตนในสินบริคณห์ได้ โดยมิต้องได้รับอนุญาตของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นสามี ฯลฯ

          คงพิพากษายืน

    

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-01 20:44:13


ความคิดเห็นที่ 4 (2211775)

 จะทำร้ายให้เสียชีวิตหรือทำให้โจทก์หายสาบสูญไป

โจทก์ติดต่อจำเลยเพื่อให้จดทะเบียนหย่าแต่ไม่สามารถติดต่อจำเลยได้ ขอให้พิพากษาให้การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆียะ และให้เพิกถอนการสมรส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6868/2542
 

          ก่อนมีการจดทะเบียนสมรสโจทก์ถูกจำเลยกับพวกใช้กำลังบังคับขู่เข็ญให้จำต้องนั่งรถยนต์ไปกับจำเลยจากจังหวัดสมุทรปราการไปยังจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีจำเลยกับพวกอย่างน้อย 2 คน คอยควบคุมตัวไว้มิให้หลบหนี ทั้งยังถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราระหว่างพักที่บ้านญาติจำเลยด้วย โจทก์ซึ่งเป็นหญิงคนเดียวอยู่ในกลุ่มพวกจำเลยย่อมต้องเกรงกลัวการบังคับและคำขู่ของจำเลยที่ว่าจะไม่พาโจทก์กลับบ้านจะทำร้ายร่างกายและพาโจทก์ไปอยู่ในป่าหากไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับจำเลย วิญญูชนที่ตกอยู่ในภาวะการณ์เช่นนี้ย่อมมีมูลต้องเกรงกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกายและเสรีภาพของตนหากไม่ยินยอมปฏิบัติตามคำข่มขู่เช่นเดียวกับโจทก์ การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นการสมรสโดยถูกข่มขู่อันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่นั้นโจทก์จะไม่ทำการสมรสกับจำเลย การสมรสจึงเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1507 วรรคหนึ่ง ตามคำให้การจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้อย่างชัดแจ้งแต่อย่างใดเลยว่ามีการให้สัตยาบันการสมรสที่เป็นโมฆียะ จำเลยให้การเพียงว่ามีการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บิดามารดาโจทก์ไปจำนวน 100,000 บาท และบิดามารดาโจทก์ตลอดจนตัวโจทก์ยอมให้อภัยในการกระทำของจำเลย รวมทั้งยอมถอนแจ้งความที่แจ้งไว้ยังสถานีตำรวจต่าง ๆ เท่านั้น ฉะนั้น ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ให้สัตยาบันการสมรสที่เป็นโมฆียะนี้แล้ว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อประมาณปลายเดือนมกราคม 2538จำเลยกับพวกรวม 6 คน ร่วมกันใช้กำลังและอาวุธปืนทำร้ายและฉุดโจทก์จากบริเวณท่าน้ำตลาดบางพลีนำไปกักขังไว้ที่ตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยวจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นบ้านญาติของจำเลย แล้วจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ต่อมาจำเลยพยายามเกลี่ยกล่อมให้โจทก์เป็นภริยาของจำเลยและข่มขู่ว่าหากไม่ยอมก็จะไม่ให้โจทก์กลับบ้านและจะทำร้ายให้เสียชีวิตหรือทำให้โจทก์หายสาบสูญไป แต่โจทก์ไม่ยอม จำเลยจึงเสนอเงื่อนไขให้โจทก์ยินยอมจดทะเบียนสมรสกับจำเลยเพียงในนามเพื่อป้องกันมิให้โจทก์และบิดาโจทก์ดำเนินคดีกับจำเลยภายหลัง เมื่อเรื่องเรียบร้อยแล้วจะหย่าให้ โจทก์กลัวจึงยอมจดทะเบียนสมรสกับจำเลยในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538ณ ที่ว่าการอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อโจทก์กลับบ้านแล้วจึงไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและติดต่อจำเลยเพื่อให้จดทะเบียนหย่าแต่ไม่สามารถติดต่อจำเลยได้ ขอให้พิพากษาให้การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ (ที่ถูกคือโมฆียะ) และให้เพิกถอนการสมรส

          จำเลยให้การว่า จำเลยกับโจทก์รักใคร่ชอบพอกันมาหลายปีแล้ว วันเกิดเหตุจำเลยพบกับโจทก์ที่ท่าน้ำตลาดบางพลี จำเลยขอให้โจทก์ไปคุยที่รถเพื่อนจำเลยแต่โจทก์มีญาติมาด้วยจึงไม่กล้า จำเลยจึงอุ้มโจทก์ไปขึ้นรถโดยมิได้ทำร้ายร่างกายขู่เข็ญหรือมีอาวุธใด ๆ ติดตัวไป หลังจากนั้นได้พาโจทก์ไปพักค้างคืนที่บ้านญาติของจำเลยที่ตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วโจทก์จำเลยร่วมประเวณีกันด้วยความสมัครใจของโจทก์ ต่อมาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538โจทก์จำเลยพร้อมด้วยกำนันและข้าราชการประจำกรมชลประทาน และญาติของจำเลยพาโจทก์ไปจดทะเบียนสมรส ณ ที่ว่าการอำเภอบางน้ำเปรี้ยว โดยไม่ได้ข่มขู่หลอกลวงแต่อย่างใดหลังจากนั้นจำเลยไปขอขมาต่อบิดามารดาและญาติผู้ใหญ่ของโจทก์และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บิดามารดาโจทก์ 100,000 บาทโจทก์ได้ให้อภัยจำเลยแล้ว การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อโจทก์กลับจากบ้านจำเลยไปอยู่บ้านโจทก์ บิดามารดาและพี่น้องของโจทก์ไล่จำเลยไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับโจทก์อีก จากนั้นโจทก์ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบ่อเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย จำเลยยังรักโจทก์ไม่ประสงค์จะจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยตามทะเบียนการสมรส สำนักทะเบียนอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทราเลขทะเบียนที่ 55/7123 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538 เป็นโมฆียะ ให้เพิกถอนการสมรส

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2538 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา ขณะที่โจทก์และนางสาวบังอร แพรสุวรรณ พี่สาว กำลังจะเดินลงเรือข้ามฟากที่ท่าเรือบางพลีน้อย จำเลยกับพวกรวม 6 คน ใช้กำลังอุ้มโจทก์ขึ้นรถยนต์กระบะ แล้วนำตัวไปพักที่บ้านญาติของจำเลยที่ตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยวจังหวัดฉะเชิงเทราขณะที่พักอยู่ด้วยกันจำเลยร่วมประเวณีกับโจทก์ 2 ครั้งในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยกับญาติของจำเลยพาโจทก์ไปจดทะเบียนสมรสที่ที่ว่าการอำเภอบางน้ำเปรี้ยว ตามสำเนาทะเบียนการสมรสและใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย จ.1 และ ล.1 หลังจากนั้นจำเลยไปขอขมาบิดามารดาโจทก์ และมอบเงินให้ 100,000 บาท หลังจากขอขมาแล้วในวันรุ่งขึ้นบิดามารดาโจทก์ไปรับตัวโจทก์ที่บ้านของจำเลยกลับไป คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆียะเพราะถูกข่มขู่หรือไม่โจทก์มีตัวโจทก์มาเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยกับพวกรวม 6 คน ใช้อาวุธปืนสั้นขู่ไม่ให้โจทก์ขัดขืนพานั่งรถยนต์กระบะไปกักขังที่บ้านญาติของจำเลยที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยจำเลยกับพวกอีก 2 คน คอยควบคุมตัวไว้ แม้ตอนไปอาบน้ำก็เฝ้ารออยู่หน้าห้องน้ำด้วย ในตอนกลางคืนจำเลยข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ หลังจากนั้นมารดาและญาติของจำเลยมาขอให้โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยเพื่อป้องกันมิให้บิดามารดาโจทก์เอาเรื่องกับจำเลย แต่โจทก์ไม่ยินยอม ขอให้พากลับบ้านและจะไม่เอาเรื่องจำเลยจึงขู่ว่าหากโจทก์ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับจำเลย จำเลยจะไม่พาโจทก์กลับบ้าน จะทำร้ายร่างกายและพาไปอยู่ในป่า โจทก์กลัวจะถูกจำเลยกระทำตามที่จึงยอมนั่งรถยนต์ไปที่ว่าการอำเภอกับจำเลยและพวก เมื่อไปถึงโจทก์นั่งรออยู่ในรถพร้อมกับพวกของจำเลย ส่วนจำเลยและกำนันตำบลบางขนากขึ้นไปบนที่ว่าการอำเภอ ครู่หนึ่งมีเจ้าหน้าที่อำเภอซึ่งเป็นหญิงพร้อมกับจำเลยกับพวกลงมาจากที่ว่าการอำเภอนำสมุดมาให้โจทก์ลงลายมือชื่อ 2 ชื่อ หลังจากนั้นจำเลยพาโจทก์ไปรับประทานอาหารกับปลัดอำเภอและเจ้าหน้าที่อำเภอหญิงดังกล่าวและแจ้งว่าโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยแล้ว ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยมาเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยกับพวกฉุดโจทก์ไปที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จำเลยร่วมประเวณีกับโจทก์ 2 ครั้ง โดยโจทก์ยินยอม หลังจากนั้นโจทก์ต้องการกลับบ้าน จำเลยบอกให้โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยก่อน โจทก์ตกลงและมอบบัตรประจำตัวประชาชนให้นายราเชนไปคัดสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์ที่อำเภอบางบ่อเพื่อเป็นหลักฐานในการจดทะเบียนสมรส ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538จำเลยกับโจทก์ไปที่ว่าการอำเภอบางน้ำเปรี้ยวขึ้นไปที่ชั้นสองของที่ว่าการอำเภอปลัดอำเภอซึ่งทำหน้าที่ในการจดทะเบียนสมรสสอบถามโจทก์และจำเลยว่ามีคู่สมรสหรือจดทะเบียนสมรสกับผู้อื่นมาแล้วหรือไม่ โจทก์จำเลยตอบว่าไม่ จึงได้จดทะเบียนสมรสกันหลังจากนั้นจำเลยพาโจทก์กลับมาบ้านญาติของจำเลยแล้วติดต่อขอขมาบิดามารดาโจทก์ พร้อมจ่ายเงินค่าขมาเป็นเงิน 100,000 บาท ไปแล้ว นอกจากนี้จำเลยยังมีนางธวิกา ศรีเจริญ เจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอบางน้ำเปรี้ยวและนายประคอง เจษฎาคำ ปลัดอำเภอบางน้ำเปรี้ยว ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนสมรสมาเบิกความสนับสนุนว่าโจทก์เต็มใจยินยอมจดทะเบียนสมรสกับจำเลยด้วย เห็นว่าก่อนมีการจดทะเบียนสมรสโจทก์ถูกจำเลยกับพวกใช้กำลังบังคับขู่เข็ญให้จำต้องนั่งรถยนต์ไปกับจำเลยจากจังหวัดสมุทรปราการไปยังจังหวัดฉะเชิงเทราโดยมีจำเลยกับพวกอย่างน้อย 2 คนคอยควบคุมตัวไว้มิให้หลบหนี ทั้งยังถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราระหว่างพักที่บ้านญาติจำเลยด้วย โจทก์ซึ่งเป็นหญิงคนเดียวอยู่ในกลุ่มพวกจำเลยย่อมมีความเกรงกลัวจำเลยเป็นปกติวิสัย หากโจทก์จำเลยรักใคร่ชอบพอกันฉันชู้สาวจนถึงขั้นจะสมรสกันก็สามารถไปจดทะเบียนสมรสที่จังหวัดสมุทรปราการได้โดยลำพังโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาเพราะทั้งโจทก์และจำเลยต่างอายุ 25 ปีบรรลุนิติภาวะแล้ว จำเลยอ้างว่าจำเลยพาโจทก์ขึ้นไปบนชั้นสองของที่ว่าการอำเภอบางน้ำเปรี้ยวเพื่อจดทะเบียนสมรส ปลัดอำเภอซึ่งทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ในการจดทะเบียนสมรสได้สอบถามจำเลยและโจทก์เกี่ยวกับรายละเอียดและคุณสมบัติของคู่สมรส แต่นางธวิกาและนายประคองกลับเบิกความว่า ที่ทำการของบุคคลทั้งสองอยู่ชั้นล่างของที่ว่าการอำเภอบางน้ำเปรี้ยว และนางธวิกาเป็นผู้สอบถามรายละเอียดและคุณสมบัติของโจทก์จำเลยแล้วบันทึกไว้เอง คำเบิกความของจำเลยกับพยานจำเลยดังกล่าวจึงแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญอันเป็นพิรุธ ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะพาโจทก์เข้าไปในที่ว่าการอำเภอบางน้ำเปรี้ยวดังเบิกความ แต่น่าเชื่อตามคำเบิกความของโจทก์ที่ว่าโจทก์นั่งรออยู่ในรถยนต์พร้อมกับพวกของจำเลย ส่วนจำเลยกับกำนันตำบลบางขนากขึ้นไปติดต่อขอจดทะเบียนสมรสโดยลำพังแล้วนำเอกสารมาให้โจทก์ลงลายมือชื่อในรถยนต์ที่จอดอยู่ด้านนอก พฤติการณ์ที่โจทก์ถูกจำเลยใช้กำลังข่มขู่บังคับให้จำต้องมาที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ต้องถูกควบคุมตัวอยู่ตลอดเวลา12 วันและถูกล่วงละเมิดทางเพศ แม้ขณะจดทะเบียนสมรสก็ยังอยู่ในความควบคุมของจำเลยเช่นนี้ โจทก์เพียงลำพังย่อมต้องเกรงกลัวการบังคับและคำขู่ของจำเลยที่ว่าจะไม่พาโจทก์กลับบ้าน จะทำร้ายร่างกายและพาโจทก์ไปอยู่ในป่าหากไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับจำเลย วิญญูชนที่ตกอยู่ในภาวะการณ์เช่นนี้ย่อมมีมูลต้องเกรงกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกายและเสรีภาพของตนหากไม่ยินยอมปฏิบัติตนตามคำข่มขู่เช่นเดียวกับโจทก์ การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นการสมรสโดยถูกข่มขู่อันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่นั้นโจทก์จะไม่ทำการสมรสกับจำเลยการสมรสจึงเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1507 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆียะเพราะถูกข่มขู่นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปคือ โจทก์ได้ให้สัตยาบันการสมรสที่เป็นโมฆียะนี้แล้วหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่าจำเลยไปขอขมาต่อบิดามารดาโจทก์และมอบเงินให้ 100,000 บาท บิดามารดาโจทก์และตัวโจทก์ไปถอนคำร้องทุกข์ไม่ติดใจดำเนินคดีอาญาต่อจำเลยแล้ว จึงเป็นการให้สัตยาบันแก่การสมรสที่เป็นโมฆียะมีผลทำให้การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 177 โจทก์จึงไม่มีสิทธิมาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยได้อีก เห็นว่าตามคำให้การจำเลย จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้อย่างชัดแจ้งอย่างใดเลยว่ามีการให้สัตยาบันการสมรสที่เป็นโมฆียะจำเลยให้การเพียงว่ามีการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บิดามารดาโจทก์ไปจำนวน 100,000 บาท และบิดามารดาโจทก์ตลอดจนตัวโจทก์ยอมให้อภัยในการกระทำของจำเลยรวมทั้งยอมถอนแจ้งความที่แจ้งไว้ยังสถานีตำรวจต่าง ๆ เท่านั้น ฉะนั้น ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ให้สัตยาบันการสมรสที่เป็นโมฆียะนี้แล้ว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ทั้งไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวไม่รับวินิจฉัย"

          พิพากษายืน

( ประสพสุข บุญเดช - อำนวย สุขพรหม - อธิราช มณีภาค )


หมายเหตุ 

          การสมรสโดยถูกข่มขู่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การสมรสสิ้นสุดลงได้กฎหมายได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1507 ว่า"ถ้าคู่สมรสได้ทำการสมรสโดยถูกข่มขู่อันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่นั้นจะไม่ทำการสมรส การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

           สิทธิขอเพิกถอนการสมรสเพราะถูกข่มขู่เป็นอันระงับเมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้วหนึ่งปี"

           บทบัญญัติในมาตรานี้ ได้กำหนดให้การสมรสที่ถูกข่มขู่เป็นโมฆียะเนื่องจากการสมรสได้มาโดยการยินยอมอันไม่เต็มใจของผู้ถูกข่มขู่ เหตุที่ยินยอมสมรสก็เพราะความเกรงกลัวจากการถูกข่มขู่อันมีอำนาจเหนือเจตนาที่แท้จริงของผู้ถูกข่มขู่ การข่มขู่ที่จะทำให้การสมรสเป็นโมฆียะนั้นจะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่นั้นจะไม่ทำการสมรส ซึ่งต้องถึงขนาดที่วิญญูชนมีมูลจะต้องเกรงกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ตนเอง ชื่อเสียงวงศ์สกุลแห่งตนหรือทรัพย์สินของตน และเป็นภัยที่ใกล้จะถึง แต่ความกลัวเพราะนับถือยำเกรงหรือการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7209/2538 ก่อนเกิดเหตุประมาณ 5 วัน โจทก์ได้รับเงินส่วนแบ่งจากการที่บิดาขายที่ดินประมาณ 32 ล้านบาท วันเกิดเหตุขณะที่โจทก์กำลังจะเดินเข้าที่ทำงาน จำเลยกับพวกใช้กำลังลักพาโจทก์ไปทำการข่มขืนกระทำชำเราในเขตท้องที่หลายจังหวัดและบังคับให้จดทะเบียนสมรส โดยขู่ว่าถ้ายินยอมให้การและให้ถ้อยคำวันจดทะเบียนสมรสตามที่สอนให้จะยอมปล่อยกลับบ้าน ถ้าไม่ยอมปฏิบัติตามจะฆ่าโจทก์และพี่น้องของโจทก์ เช่นนี้ การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นการสมรสโดยถูกข่มขู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1507 วรรคแรก โจทก์มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนการสมรสอันเป็นโมฆียะนี้ได้ตามมาตรา 1503

           ตามหลักทั่วไป โมฆียะกรรมอาจถูกบอกล้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 175 ซึ่งเมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม แต่เนื่องจากการสมรสก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในทางส่วนตัว ทรัพย์สินและบุตร การสมรสจึงมีลักษณะแตกต่างจากนิติกรรมโดยทั่วไป ดังนั้นการที่จะให้มีการบอกล้างการสมรสที่เป็นโมฆียะได้ตามหลักทั่วไป ย่อมทำให้มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว กฎหมายจึงได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษว่าจะต้องมาร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรสเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนแล้ว การสมรสที่เป็นโมฆียะจึงสิ้นสุดลงในวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

           มีปัญหาน่าศึกษาต่อไปว่า การสมรสที่เป็นโมฆียะนั้นอาจให้สัตยาบันได้เช่นเดียวกับนิติกรรมที่เป็นโมฆียะหรือไม่ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ จำเลยฎีกาว่าโจทก์ให้สัตยาบันการสมรสที่เป็นโมฆียะแล้วแต่ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากว่าต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ซึ่งปัญหาดังกล่าวนักกฎหมายมีความเห็นแตกต่างกันเป็น 2 นัย คือ

           ฝ่ายที่ 1 เห็นว่า การสมรสที่เป็นโมฆียะอาจมีการให้สัตยาบันได้เช่นเดียวกับการให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 177 การให้สัตยาบันการสมรสที่เป็นโมฆียะก็คือ การที่บุคคลที่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆียะสละสิทธิที่จะนำคดีขึ้นมาสู่ศาลเพื่อขอให้เพิกถอนการสมรสดังกล่าว อันมีผลให้การสมรสสมบูรณ์ตลอดไป ซึ่งอาจเป็นการให้สัตยาบันโดยตรง หรือโดยปริยายก็ได้ โดยหลักแล้วก็คือการแสดงเจตนาที่จะให้มีการอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป ซึ่งรวมทั้งการร่วมประเวณีต่อกันโดยสมัครใจภายหลังจากทราบเหตุ หรือพ้นจากเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆียะนั้นแล้ว

           ฝ่ายที่ 2 เห็นว่า การสมรสที่เป็นโมฆียะ ไม่อาจให้สัตยาบันได้เพราะการสมรสมิใช่นิติกรรมหรือสัญญา นิติสัมพันธ์ของคู่สมรสประกอบด้วยสิทธิและหน้าที่ของสามีภริยาซึ่งมีขึ้นตามกฎหมายลักษณะครอบครัวกำหนดไว้ในบรรพ 5 โดยเฉพาะ เมื่อบรรพ 5 มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้สัตยาบันไว้ จึงจะนำหลักทั่วไปในบรรพ 1 เกี่ยวกับโมฆะและโมฆียะกรรมมาใช้บังคับไม่ได้ ดังนั้นหากผู้มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆียะมิได้ใช้สิทธิขอให้ศาลเพิกถอนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ การสมรสนั้นก็สมบูรณ์ตลอดไป

           เป็นที่น่าเสียดายที่คำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ไม่ได้วินิจฉัยในปัญหานี้จึงต้องรอดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยในปัญหานี้โดยตรงต่อไป

           กริตติกาทองธรรม
 
 
  

                

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-01 21:09:38



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล