ReadyPlanet.com


กฎหมายมาตรา 675


ขอเรียนสอบถามครับ เนื่องจากผมได้เข้าพัก ณ.โรงแรม แห่งหนึ่ง ที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นกรุ๊ปใหญ่ประมาณ 250 คน ปรากฎว่าช่วงเวลากลางคืนถูกโจรกรรมงัดแงะห้อง รวม 3 ห้อง มีผู้เสียหาย 7-8 คน ทรัพย์สินที่เสียหายเป็นเงินสด ทอง กล้อง โทรศัพท์  บริษัท ประกันของโรงแรงแจ้งความรับผิดชอบในกรณ๊เงินสดไว้คนละไม่เกิน 5000 บาท กรณ๊ เงินสด และทอง ส่วนกล้องมีการหักค่าเสื่อมราคา 50% โดยที่ยังไม่ได้สอบถามว่าซื้อมาเมื่อไหร่ ส่วนโทรศัพท์ เค้าตีค่าความเสียหายให้ตามราคาตลาดมือสองต่ำสุด

ขอถามว่า กรณีนี้สมเหตุสมผมหรือไม่ แล้วหากเราไม่พอใจในตัวเลขความรับผิดชอบดังกล่าว เราเรียกร้องกับในส่วนของโรงแรมได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นกรณีหายด้วยการงัดแงะ เข้ามาข้าวของกระจัดกระจาย ไม่ได้เสียหายโดยปกติ หรือเราจะดำเนินกับทางโรงแรมได้หรือไม่ แนวทางการเจรจาเป็นอย่างไร

ขอบคุณครับ



ผู้ตั้งกระทู้ วัลลภ (vallop418-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2010-04-23 23:49:23


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2058797)

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 3,008,800 บาท

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 675 วรรคสอง ให้จำกัดความรับผิดไว้เพียง 500 บาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 500 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
 
 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9284/2544
 

 

          จำเลยซึ่งเป็นเจ้าสำนักโรงแรมมิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุโดยตรงให้ทรัพย์สินของโจทก์สูญหาย ไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยต้องรับผิดเพียงที่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดเกี่ยวกับวิธีเฉพาะสำหรับเจ้าสำนักโรงแรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 674,675 และ 676 เท่านั้น

           ทรัพย์สินของโจทก์ที่หายคือ นาฬิกาเรือนทองฝังเพชรสายสร้อยคอทองคำ เหรียญหลวงพ่อคูณกรอบทองคำล้อมเพชรพระนางพญาเลี่ยมทอง ตุ้มหูเพชร เข็มกลัดเพชรและเงินสดทรัพย์สินดังกล่าวจึงเกี่ยวด้วยเงินทอง ตรา ธนบัตร อัญมณี และของมีค่าอื่น ๆ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 675 วรรคสอง ให้จำกัดความรับผิดไว้เพียง 500 บาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้งโจทก์เป็นคนเดินทางหรือแขกอาศัยเมื่อไม่ฝากของมีค่าไว้จำเลยจึงรับผิดเพียง 500 บาท ไม่ว่าของมีค่านั้นผู้เดินทางจะสวมใส่มาโดยเปิดเผยหรือไม่ก็ตาม และหาใช่ว่าจะต้องฝากทรัพย์สินเฉพาะผู้ลงทะเบียนเข้าพักในโรงแรมไม่

 

 

 


          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ นายวิญญู  และนางสาวสาลินี สามีและบุตรโจทก์ได้เข้าพักที่โรงแรมแม่โขงของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ซึ่งมิใช่สถานที่ที่คนไปมาเข้าออกได้ จากนั้นโจทก์สามีและบุตรโจทก์ได้พักผ่อนนอนหลับ โดยก่อนนอนได้ปิดประตูห้องล็อกกุญแจลูกบิดและที่ล็อกประตูด้านในแบบตัวยูแล้ว ต่อมาเวลา4.50 นาฬิกา โจทก์ตื่นขึ้นมาปรากฏว่าทรัพย์สินของโจทก์ที่นำติดตัวมาและถอดวางไว้บนโต๊ะและเก้าอี้ในห้องพักของโรงแรมได้สูญหายไปทั้งหมด โดยประตูห้องปิดอยู่ตามเดิมที่ล็อกแบบตัวยูถูกง้างออก แสดงว่ามีคนร้ายเปิดประตูห้องเข้าไปลักทรัพย์ของโจทก์ทรัพย์สินของโจทก์ที่สูญหายมี นาฬิกายี่ห้อโรเล็กซ์เรือนทองฝังเพชร 1 เรือน ราคา 500,000บาท สายสร้อยคอทองคำแบบลูกเต๋าหนัก 5 บาท 1 เส้น พร้อมเหรียญหลวงพ่อคูณรุ่นบารมีกรอบทองคำล้อมเพชร 1 องค์ ราคา 200,000บาท สายสร้อยคอทองคำและพระนางพญาเลี่ยมทอง 1 องค์ ราคา220,000 บาท ตุ้มหูเพชร 1 คู่ ราคา 1,500,000 บาท เข็มกลัดเพชร1 อัน ราคา 300,000 บาท เงินสด 200,000 บาท รวมเป็นเงิน2,920,000 บาท ความเสียหายดังกล่าวเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสามเนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าสำนักโรงแรมมีหน้าที่ควบคุมดูแลจัดการและรับผิดชอบทรัพย์สินของแขกอาศัยที่เข้าพักมิให้สูญหายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ปล่อยปละละเลยในการบริการรักษาความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของโจทก์ โดยปล่อยให้คนร้ายใช้กลวิธีเปิดประตูห้องพักที่โจทก์เช่าอาศัยอยู่เข้าไปลักเอาทรัพย์ของโจทก์กล่าวคือ ระบบการจัดเก็บรักษากุญแจห้องพักของจำเลยยังอยู่ในความประมาทเลินเล่อ พนักงานของจำเลยทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการต้อนรับลูกค้าสามารถที่จะหยิบฉวยเอากุญแจไปได้โดยง่าย และกุญแจพิเศษที่สามารถเปิดห้องพักได้ทุกห้องจำเลยก็ไม่มีมาตรการหรือวิธีการจัดเก็บที่ได้ระดับมาตรฐาน จึงทำให้พนักงานของจำเลยหรือบุคคลภายนอกหยิบฉวยนำเอาไปเปิดห้องพักของโจทก์และใช้ของแข็งบาง ๆ สอดเข้าร่องระหว่างประตูห้องกับวงกบประตู ดันเอาก้านล็อกประตูเปิดง้างออกเข้าไปในห้องและลักเอาทรัพย์ของโจทก์ไปขณะโจทก์นอนหลับ โดยปกติแล้วหากระบบปิดล็อกประตูห้องพักแน่นหนาพอก็เป็นการยากที่จะเปิดประตูเข้าไปในห้องพักได้ นอกเสียจากการใช้กุญแจห้องพักหรือกุญแจแม่ (มาสเตอร์คีย์) เปิดประตูเข้าไปและไม่สามารถใช้ของแข็งบาง ๆ ดันคานล็อกแบบตัวยูออกแล้วลักเอาทรัพย์ดังกล่าวข้างต้นไปได้ การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน2,920,000 บาท นับแต่วันที่ 8 มกราคม 2539 จนถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 88,800 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 3,008,800 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,920,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ


          จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่เคยนำทรัพย์สินตามฟ้องมาไว้หรือเก็บรักษาไว้ในห้องพักแต่ประการใด และไม่เคยแจ้งต่อจำเลยทั้งสามหรือพนักงานของจำเลยทั้งสามที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลจัดการและรับผิดชอบแขกอาศัยที่เข้าพักให้ทราบว่าโจทก์ได้นำทรัพย์สินของมีค่าดังกล่าวมาไว้ในโรงแรม และบอกราคาทรัพย์สินดังกล่าวให้ทราบ จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามมีพนักงานควบคุมดูแลจัดการและรับผิดชอบแขกอาศัยที่เข้าพักและทรัพย์สินของแขกอาศัยที่เข้าพักมิให้สูญหาย มีระบบจัดเก็บรักษากุญแจห้องพักโดยพนักงานของจำเลยหรือบุคคลภายนอกจะหยิบฉวยไปเปิดห้องพักโดยพลการไม่ได้โดยเด็ดขาด นอกจากจำเลยทั้งสามจะมีระบบการจัดเก็บรักษากุญแจที่ดีแล้วยังมีตู้นิรภัยไว้คอยบริการแขกที่เข้าพักอาศัยหากได้นำของมีค่าจำพวกเงิน ทอง เพชรธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร อัญมณีหรือของมีค่าอื่น ๆ เข้ามาในโรงแรมดังกล่าว การที่โจทก์อ้างว่านำของมีค่าเข้ามาไว้ในห้องพักของจำเลยแล้วเกิดการสูญหายนั้นเป็นความผิดของโจทก์ บริวารโจทก์หรือบุคคลที่โจทก์ได้นำมาด้วยต้องรับผิดชอบเองทั้งสิ้นเพราะโจทก์วางของมีค่าดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยสามารถลักหรือหยิบเอาไปได้ง่าย ซึ่งของมีค่าดังกล่าวบุคคลที่โจทก์พามาอาจหยิบจับไปโดยไม่บอกกล่าวให้ทราบก็เป็นได้ ในการเข้าพักโจทก์และบุคคลที่โจทก์พามาได้อ่านและลงชื่อรับทราบในบัตรจดนามผู้มาพัก (ร.ร.14) ซึ่งมีข้อความแสดงว่าฝ่ายบริการจะไม่รับผิดชอบในกรณีสูญหายของมีค่าที่มีไว้ในห้องพัก นอกจากฝากไว้กับตู้นิรภัยของโรงแรมเท่านั้นอันเป็นการตกลงชัดแจ้งแล้วว่าหากเกิดความเสียหาย จำเลยทั้งสามจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น ขอให้ยกฟ้อง


          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 500 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8มกราคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3


          โจทก์อุทธรณ์


          ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน


          โจทก์ฎีกา


          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2535 เวลาประมาณ1 นาฬิกา โจทก์ สามี และบุตรเข้าพักที่ห้องหมายเลข 6012 โรงแรมของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการแทน ก่อนนอนโจทก์ได้ถอดตุ้มหูเพชร สร้อยคอทองคำ นาฬิกาข้อมือฝังเพชร เข็มกลัดเพชร วางไว้บนโต๊ะเครื่องแป้ง ตื่นขึ้นมาเวลาประมาณ5 นาฬิกา ปรากฏว่าทรัพย์สินต่าง ๆ หายไปหมด รวมราคาทั้งสิ้น 2,920,000 บาท ตรวจสอบภายในห้องพบว่าประตูเข้าห้องพักปิดอยู่ลูกบิดล็อกเช่นเดิม ส่วนเหล็กที่ล็อกรูปตัวยูง้างหลุดออกจากเดือย จึงแจ้งพนักงานโรงแรมและเจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบที่เกิดเหตุแล้วเห็นว่าคนร้ายสามารถเข้าห้องโดยประตูทางเข้าเท่านั้นโจทก์ยืนยันว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสาม เพราะจำเลยทั้งสามไม่ดูแลกุญแจให้ดีปล่อยให้ใคร ๆก็เอากุญแจไปใช้ได้ หลังเกิดเหตุสอบถามเจ้าหน้าที่ของโรงแรมว่ากุญแจไขห้องต่าง ๆ อยู่ที่ใครบ้าง พบว่ากุญแจอยู่ที่เคาน์เตอร์และที่แม่บ้านกุญแจที่เคาน์เตอร์ใครก็สามารถหยิบได้ ส่วนจำเลยนำสืบถึงขั้นตอนการเข้าพักในโรงแรมว่าผู้เข้าพักต้องลงทะเบียนรับทราบข้อกำหนดและข้อห้ามของโรงแรม เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เข้าพักหากมีราคาเกินกว่า500 บาท ให้ฝากที่ตู้เซฟของโรงแรมซึ่งจัดไว้โดยไม่คิดค่าบริการหากผู้เข้าพักไม่แจ้งทรัพย์สินเมื่อมีการสูญหายโรงแรมจะรับผิดเป็นเงิน500 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 โรงแรมจะมอบกุญแจห้องพักให้ผู้เข้าพัก 1 ดอก ส่วนกุญแจแม่ซึ่งสามารถเปิดได้ทุกห้อง จะเก็บไว้ในตู้เซฟของโรงแรม เวลาจะนำออกมาใช้ต้องมีกรรมการบริหารของโรงแรมอย่างน้อย 2 คน เป็นผู้เปิดตู้เซฟ ระเบียบการใช้กุญแจตามเอกสารหมาย ล.2 กรณีแม่บ้านเข้าทำความสะอาดห้องพักจะใช้ลูกกุญแจที่มอบให้แขกที่เข้าพักนำมาคืน จะไม่อนุญาตให้แม่บ้านใช้กุญแจแม่ ห้องพักทุกห้องประตูจะเป็นแบบล็อกสองชั้นคือ ลูกบิดและเหล็กล็อกรูปตัวยู เมื่อปิดประตูล็อกลูกบิดและเหล็กล็อกตัวยูแล้วบุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปในห้องได้ เห็นว่า จากคำพยานโจทก์เข้าใจว่ามีผู้ใช้กุญแจแม่ไขประตูห้องแล้วใช้สิ่งของปลดล็อกรูปตัวยูเข้าไปลักทรัพย์ของโจทก์ ซึ่งพันตำรวจโทจิระ บารมี พนักงานสอบสวนเบิกความว่าได้ค้นหาวิธีเปิดประตูห้องเมื่อใช้ลูกกุญแจของโรงแรมเปิดประตูลูกบิดแล้ว ได้ใช้นิ้ว ไม้ กระดาษอ่อนลองปลดล็อกรูปตัวยูพบว่าไม่สามารถปลดออกได้ แต่เมื่อลองใช้กระดาษพลาสติกที่ตัดเป็นรูปต่าง ๆ นำมาใช้เขี่ยและค่อย ๆ ดันหาจังหวะสามารถปลดล็อกรูปตัวยูได้สอบสวนพยานทั้งหมดแล้วไม่สามารถหาตัวคนร้ายได้ แต่น่าเชื่อว่าคนร้ายเป็นคนใกล้ชิดกับการเข้าพักของแขกโรงแรมและรู้ทางเข้าออกของโรงแรมดี รายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.1 และ ปจ.1 ถึง ปจ.8 โจทก์อ้างว่าจำเลยเก็บกุญแจไว้ไม่ดีทำให้มีผู้นำไปใช้เปิดห้องเข้าไปลักทรัพย์ แต่จำเลยมีระเบียบการใช้และเก็บรักษากุญแจตามเอกสารหมาย ล.2 นอกจากนี้โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามประมาทเลินเล่ออย่างใด อันทำให้มีผลโดยตรงทำให้ทรัพย์ของโจทก์สูญหาย ฉะนั้นข้อเท็จจริงตามคำพยานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามต้องรับผิดเพียงที่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดเกี่ยวกับวิธีเฉพาะสำหรับเจ้าสำนักโรงแรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 674, 675 และ 676 เท่านั้น ได้ความว่าทรัพย์สินของโจทก์ที่หายคือ นาฬิกาเรือนทองฝังเพชร สายสร้อยคอทองคำเหรียญหลวงพ่อคูณกรอบทองคำล้อมเพชร พระนางพญาเลี่ยมทอง ตุ้มหูเพชร เข็มกลัดเพชรและเงินสดทรัพย์สินดังกล่าวจึงเกี่ยวด้วยเงินทองตราธนบัตร อัญมณี และของมีค่าอื่น ๆ ซึ่งตามมาตรา 675 วรรคสองให้จำกัดความรับผิดไว้เพียง 500 บาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง โจทก์เป็นคนเดินทางหรือแขกอาศัยเมื่อไม่ฝากของมีค่าไว้ จำเลยจึงรับผิดเพียง 500 บาทไม่ว่าของมีค่านั้นผู้เดินทางจะสวมใส่มาโดยเปิดเผยหรือไม่ก็ตามและหาใช่ว่าจะต้องฝากทรัพย์สินเฉพาะผู้ลงทะเบียนเข้าพักในโรงแรมตามที่โจทก์ฎีกาไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชอบแล้ว"


          พิพากษายืน

 

 

( สุมิตร สุภาดุลย์ - เดิมพัน จรรยามั่น - สมชัย เกษชุมพล )

          
 
 
  

                

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-04-26 21:00:58



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล