ReadyPlanet.com


ขับรถชนเด็ก


สวัสดีครับ คือผมขับรถอยู่ในหมู่บ้านและได้มีเด็กวิ่งมาตัดหน้าผมได้ชนเด็ก ผมได้รีบนำเด็กส่งรพ.แห่งแรก เค้าได้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้และบอกให้ผมพาไปศิริราชผมก็เลยรีบพาไปที่ศิริราชเข้าฉุกเฉิน (ขณะนำส่งเด็กรู้สึกตัวตลอด) หมอก็ได้รักษาเป็นที่เรียบร้อย นอนรักษาตัว9วัน ตลอดเวลา9วันผมไปเยี่ยมทุกวัน ปัจจุบันตอนนี้เด็กหายเป็นปกติแล้ว

 ค่าใช้จ่ายในส่วนของผมจ่ายไปดังนี้

1.ค่ายาที่ห้องฉุกเฉิน1,500 บาท

2.พรบของรถผม15,000 บาท

3.ค่าเอ็กซ์เรย์สมอง5,600 บาท

4.อื่่นๆ....

*ปัญหามันเกิดตรงที่ค่าทำขวัญ ผมยินดีให้50,000ทางญาติเด็กเรียก250,000 ผมบอกลดลงอีกสักหน่อยได้มั๊ยผมจะมีที่ไหนให้คุณตั้ง250,000อ่ะ

เค้าบอกว่าไม่ได้หลานเค้าเป็นเยอะไม่รู้ว่าจะต้องรักษาอีกนานหรือเปล่าก็ไม่รู้ ทั้งๆที่ผมก็เห็นเด็กเค้าวิ่งเล่นพูดคุยได้เป็นปกติ

แล้วสักประมาณ1อาทิตย์ ยังไงไม่รู้ตำรวจเจ้าของคดีโทรมาหาผม แล้วบอกว่าเค้าลดเหลือ150,000ห้ามต่อรอง

ผมบอกว่าผมไม่มีหรอคับ150,000ผมจะเอาที่ไหนมาให้ ผมก็พึ่งจะเรียนจบมายังไม่มีงานทำเลย 50,000นี่พ่อแม่ผมก็ต้องไปยืมคนอื่นเค้ามาให้ก่อน เห็นใจผมนิดนึงเถอะคับผมก็ไม่ได้ตั้งใจชน ผมก็ดูแลทุกอย่างและตอนนี้น้องเค้าก็ดีขึ้นมากแล้วเห็นใจผมหน่อยนะครับ

เค้าบอกงั้นก็ฟ้องศาลล่ะกัน ผมก็เลยบอกแล้วแต่น้าเถอะครับเพราะผมไม่มีจริงๆ

*แต่ผมข้องใจตรงวันที่ตำรวจพาผมไปส่งฟ้องที่อัยการศาลแขวง ไม่มีเอกสารสำนวนอะไรให้ผมเลย แล้วผมตอนนี้ซึ่งเป็นจำเลยแล้ว ยังไม่รู้ข้อหาเลย โจทย์ก็ไม่มีม วันนั้นผมรู้สึกเหมือนทำเรื่องฟ้องตัวเองยังไงไม่รู้ พอเสร็จ ในวันเดียวกันก็มาที่ศาลแขวงจังหวัดต่อ คราวนี้ผมโชดดีอยู่หน่อย ที่ไม่ต้องเข้าไปอยู่ในห้องควบคุมตัว ตำรวจศาลบอกให้เจ้าหน้าที่อัยการพาผมขึ้นไปข้างบนเลยบัลลังค์3 พอเข้ามาถึงห้องพิจารณาคดี นั่งอยู่พักใหญ่ศาลก็ขึ้นมา ก็อ่านคำฟ้องพร้อมกับใบรับรองแพทย์ให้ผมฟังแ้ล้วก็บอกผมว่าลองคิดดูนะถ้าเป็นญาติคุณเองคุณจะเรียกเท่าไรแต่ผมว่า150,000ไม่มากไปนะ และศาลก็สั่งให้สืบเสาะ...จบ  ผมไม่แปลกใจเลยทำไมศาลถึงได้บอกผมแบบนั้น เพราะสำนวนที่ตำรวจส่งให้อัยการมันแรงมากพร้อมกับใบรับรองแพทย์ที่ลงอาการเด็กค่อนข้างหนักเลยที่เดียว ซึ่งสำนวนมันขัดกับความเป็นจริงทุกอย่าง ส่วนอาการเด็ก เด็กก็หายเป็นปกติแล้วเหลือแต่แผลถลอกตามตัวแค่นั้นแล้วลงมาได้ยังไงว่าสมองบวม

แล้วยังนี้ผมจะมีวิธีการต่อสู้คดีได้อย่างไรบ้างครับ

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ ทิว :: วันที่ลงประกาศ 2010-08-29 00:23:03


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2101786)

1. เพื่อให้เข้าใจผมขออธิบายเรื่องใบชันสูตรบาดแผลของแพทย์ เสียก่อนว่า การตรวจพิสูจน์ของแพทย์เป็นไปตามหน้าที่ของแพทย์ผู้ตรวจ ทางตำรวจไม่อาจกดดันให้แพทย์เขียนความเห็นที่รุนแรงความเป็นจริงได้ ดังนั้นที่ศาลท่านพิจารณาใบชันสูตรบาดแผลแล้วแจ้งเราว่าถ้าเป็นญาติเราจะเรียกเท่าไหร่นั้น ท่านก็พิจารณาจากอาการบาดเจ็บและค่าเสียหายแล้วจึงพูดให้เราคิดตามเท่านั้น หากเราไม่ตกลงด้วยเขาก็มีอำนาจไปฟ้องเป็นคดีแพ่งอีกคดีหนึ่งได้ครับ ที่บอกว่าสำนวนขัดกับความเป็นจริงคงไม่น่าใช่ ที่บอกไม่น่าใช่ก็คือสำนวนก็ต้องทำไปตามใบชันสูตรบาดแผล และสำนวนจะไม่บรรยายในรายละเอียดมากนัก เพราะหากคุณต่อสู้คดีเขาก็จะสืบพยานในรายละเอียดอีกครั้ง

2.  เรื่องการฟ้องที่คุณรู้สึกว่าไม่มีคำฟ้องหรือเอกสารใด ๆ นั้น น่าจะเข้าใจคลาดเคลื่อนเพราะว่าศาลเขาก็อ่านฟ้องให้คุณฟังแล้ว สำหรับโจทก์ไม่มานั้น ความจริงโจทก์ก็คือพนักงานอัยการ เขาไปอยู่แล้ว ส่วนคำว่าโจทก์ของคุณนั้นคุณคงหมายถึงผู้เสียหาย ๆ นั้นจะไปศาลในฐานะพยาน ในวันสืบพยาน หรือโจทก์ร่วมหากขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ดังนั้นผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องไปในวันที่ศาลยังไม่ได้นัด

3.  ที่คุณบอกว่าศาลสั่งให้สืบเสาะนั้น ก็แสดงว่า คุณรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริง ศาลต้องการสืบเสาะความประพฤติของเราเพื่อประกอบในการกำหนดโทษ

4. แล้วยังนี้ผมจะมีวิธีการต่อสู้คดีได้อย่างไรบ้างครับ?

ตอบ-- ในศาลชั้นต้นคุณได้รับสารภาพในการกระทำความผิดแล้ว ดังนั้นในเรื่องข้อเท็จจริงว่าคุณผิดหรือไม่ผิดเป็นอันยุติลงแล้ว แต่ถ้าศาลพิพากษาแล้ว คุณเห็นว่าโทษหนักเกินไป คุณก็มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้อีกได้ แต่ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยอย่างไรก็แล้วแต่ดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ครับ

 

 

                             ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-08-29 08:16:04


ความคิดเห็นที่ 2 (2102081)

ขอถามว่า

1. ถ้าศาลมีความเห็นใจทางผู้เสียหายมากกว่า ศาลมีสิทธิ์ตัดสินให้ทางจำเลยชดใช้เงินมากกว่า 150,000 บาท ไหมครับ?

2.ศาลนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 20 เดือนตุลาคมนี้ ผมสามารถทำหนังสือเพื่อแถลงแย้งข้อเท็จจริงภายในวันนั้นได้ไหมครับ? หรือว่าต้องไปสู้กันในศาลอุทธรณ์ต่อไปครับ

3.การขับรถโดยประมาทเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น มีอัตราโทษสูงสุดอย่างไรบ้างครับ?

ขอบคุณครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ทิว วันที่ตอบ 2010-08-30 08:49:27


ความคิดเห็นที่ 3 (2102226)

1. ถ้าศาลมีความเห็นใจทางผู้เสียหายมากกว่า ศาลมีสิทธิตัดสินให้ทางจำเลยชดใช้เงินมากกว่า 150,000 บาท ไหมครับ?

ตอบ -- ต้องดูที่คำฟ้องนะครับ ผมเข้าใจว่าทางพนักงานเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา ไม่ได้มีส่วนแพ่งด้วย ดังนั้นศาลไม่อาจมีคำสั่งให้คุณชำระเงินได้ แม้คุณไม่ชำระเงินเลยก็สามารถทำได้ แต่ศาลจะกำหนดโทษโดยพิจารณาจากการบรรเทาความเสียหายให้ทางฝ่ายผู้เสียหายครับ

2.ศาลนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 20 เดือนตุลาคมนี้ ผมสามารถทำหนังสือเพื่อแถลงแย้งข้อเท็จจริงภายในวันนั้นได้ไหมครับ? หรือว่าต้องไปสู้กันในศาลอุทธรณ์ต่อไปครับ

ตอบ - สำหรับเรื่องนี้ ผมไม่มีข้อมูลที่แน่นอนว่าขั้นตอนของคุณไปถึงไหนแล้ว แต่จากที่ให้มาแล้ว พอเข้าใจว่าคุณรับสารภาพว่าทำผิดจริงแล้ว คุณจะไปโต้แย้งเรื่องอะไร? แต่หากเป็นเรื่องเงินต้องดูที่ฝ่ายผู้เสียหายเขายืนคำร้องเรียกค่าเสียหายมาด้วยหรือไม่ หากยื่นมาด้วยและยื่นมาแล้ว ตามปกติคุณมีสิทธิโตแย้งได้ตามที่ศาลจะกำหนดระยะเวลาโต้แย้งไว้ให้ เพื่อประโยชน์ของคุณควรมีทนายความขอคำปรึกษาเป็นกรณีเฉพาะจะดีกว่าครับ เกรงว่าคำตอบของผมอาจไม่ตรงคำถามบ้างไม่ตรงประเด็นบ้าง หรืออาจคลาดเคลื่อนตามข้อมูลที่มีไม่ครบถ้วนบ้าง

3.การขับรถโดยประมาทเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น มีอัตราโทษสูงสุดอย่างไรบ้างครับ?

ตอบ--  ขับรถโดยประมาทเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก แต่ตามปกติเขาจะฟ้องกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักคือ ผิดทั้ง พรบ.จราจรทางบก และประมวลกฎหมายอาญา ด้วย แต่ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นบทหนักครับ

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน หกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522     มาตรา 43 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถ
(1) ในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ
(2) ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น
(3) ในลักษณะกีดขวางการจราจร
(4) โดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคล หรือ ทรัพย์สิน
(5) ในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถตามธรรมดา หรือไม่อาจ แลเห็นทางด้านหน้าหรือด้านหลัง ด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านได้พอ แก่ความปลอดภัย
(6) คร่อมหรือทับเส้นหรือแนวแบ่งช่องเดินรถ เว้นแต่เมื่อเปลี่ยนช่อง เดินรถ เลี้ยวรถ หรือกลับรถ
(7) บนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่รถลากเข็นสำหรับทารถ คนป่วยหรือคนพิการ
(8) โดยไม่คำนึ่งถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น

มาตรา 157 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 35 มาตรา 43 (3) (4) (6) หรือ (7) มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 47 มาตรา 48 มาตรา 53 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง หรือ มาตรา 125 ต้องระวางโทษปรับ ตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท
 

อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8989/2549

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-08-30 14:42:37



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล