ReadyPlanet.com


สิทธิของเจ้าหนี้,ผู้ซื้อหนี้,ลูกหนี้


ศาลพิพากษาตามยอมเมื่อ 19 ธค.2543 ผมไม่ได้ชำระปล่อยให้ธนาคารเจ้าหนี้ยึดทรัพย์จำนองขายชำระหนี้้ไป แต่ยังมีหนีิเหลืออยู่ประมาณ161,000.บาท(น่าจะยังไม่รวมดอกเบี้ยครับ) ธนาคารเจ้าหนี้มีหนังสือแจ้งให้ทราบว่าได้รายงานเครดิตบูโรไปว่าได้ขายหนี้ไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์หรือนิติบุคลอื่นแล้วเมื่อ มิย.2551  ขอเรียนสอบถามว่า

1. ธนาคารเจ้าหนี้เดิมยังมีสิทธิ บังคับคดียึดทรัพย์อื่นๆของผมต่อไปหรือไม่อย่างไรครับ

2. บริษัทบริหารสินทรัพย์หรือนิติบุคคลอื่นผู้ซื้อหนี้ไปมีสิทธิ บังคับคดีตามคำพิพากษาข้างต้นหรือไม่อย่างไรครับ ถ้าไม่  แล้วมีสิทธิฟ้องเป็นคดีใหม่หรือไม่อย่างไรครับ

3. ตามคำถามข้อ 1,2 นำ  วิแพ่ง มาตรา 271 มาบังคับใช้ได้หรือไม่อย่างไรครับ

ขอบคุณมากๆครับ

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ se :: วันที่ลงประกาศ 2010-09-08 15:07:01


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2105641)

1. ธนาคารเจ้าหนี้เดิมยังมีสิทธิ บังคับคดียึดทรัพย์อื่นๆของผมต่อไปหรือไม่อย่างไรครับ

ตอบ--ถ้าไม่มีการโอนสิทธิเรียกร้อง เจ้าหนี้เดิมย่อมมีสิทธิบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของคุณได้ครับ เพราะสถาบันการเงินจะทำสัญญาให้ครอบไปถึงการยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้หากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้วไม่พอชำระหนี้

2. บริษัทบริหารสินทรัพย์หรือนิติบุคคลอื่นผู้ซื้อหนี้ไปมีสิทธิ บังคับคดีตามคำพิพากษาข้างต้นหรือไม่อย่างไรครับ ถ้าไม่  แล้วมีสิทธิฟ้องเป็นคดีใหม่หรือไม่อย่างไรครับ

ตอบ-- เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องครับ เจ้าหนี้เดิมมีสิทธิอย่างไร ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องไปก็มีสิทธิเพียงเท่าที่เจ้าหนี้เดิมมีอยู่ครับจะไปฟ้องใหม่อีกไม่ได้ครับ

3. ตามคำถามข้อ 1,2 นำ  วิแพ่ง มาตรา 271 มาบังคับใช้ได้หรือไม่อย่างไรครับ

ตอบ -- ใช้ได้ครับ มีสิทธิบังคับคดีภายใน 10 ปีเท่านั้น คือนับแต่ลูกหนี้ผิดนัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งอาจไม่ใช่วันที่ 19 ธันวาคม 2543 ก็ได้ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-09-08 20:05:24


ความคิดเห็นที่ 2 (2105707)

ขอบคุณทนายความ ลีนนท์ มากครับ แต่ผมมีปัญหาตรงที่ว่า ม.271 ได้กล่าวถึงสิทธิของ "คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ" เท่านั้นไม่ใช่หรือครับ ไม่มีการกล่าวถึงสิทธิของ"ผู้รับโอนสิทธิ"เลยนี่ครับ

ขอบคุณอีกครั้งนะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น se วันที่ตอบ 2010-09-08 23:30:12


ความคิดเห็นที่ 3 (2105789)

แม้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 จะกล่าวถึงเฉพาะคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีก็ตาม แต่เมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ ไปแล้ว ทางบริษัทผู้รับโอนก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอเข้าสวมสิทธิ์ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป

(ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ในการโอนสินทรัพย์จากสถาบันการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้อง เป็นคดีอยู่ในศาล ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าวและอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดงคัดค้านเอกสาร ที่ได้ยื่นไว้แล้ว ถามค้านพยานที่สืบมาแล้วและคัดค้านพยานหลักฐานที่ได้สืบไปแล้วได้ และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6343/2551

เหตุที่ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ก็เนื่องจากผู้ร้องอ้างว่า ได้รับโอนสินทรัพย์รวมทั้งสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยมาจากโจทก์ ซึ่งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวโจทก์ได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยเป็นคดีนี้ พร้อมกับได้เสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์แล้ว และศาลได้มีคำพิพากษาให้บังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิ เป็นคู่ความแทนโจทก์ภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จึงเป็นการขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนที่โจทก์เดิมเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยต่อไปเท่านั้น

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-09-09 09:53:19


ความคิดเห็นที่ 4 (2106059)

ขอบพระคุณทนายความ ลีนนท์มากเลยครับที่สละเวลาตอบครับ

ผมมีข้อสงสัยเพิ่มเติมนะครับ

1. ตามที่ทนายบอกว่า "....ซึ่งอาจไม่ใช่วันที่ 19 ธค.2543..." นั้น แต่ตัวบทก็บอกอย่างชัดเจนว่า "...ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง..."  เช่นนี้แล้วท่านผู้รักษากฎหมายสามารถแปรเจตนาใช้ดุลพินิจตัดสินไปเป็นอย่างอื่นได้อีกหรือครับ ...รบกวนช่วยอธิบายคร่าวๆก็ได้ครับ

2. ผมไปอ่านตัวบท ป.แพ่งพบว่าในมาตรา 193/32 ก็ยังระบุว่า "...สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด หรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้มีกำหนดอายุความสิบปี..." เช่นนี้หมายถึงทั้งเจ้าหนี้เดิมและผู้รับโอนสิทธิเรียกร้อง เพียงมีสิทธิเรียกร้องหรือบังคับคดียึดทรัพย์ภายในสิบปีนับแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุดใช่หรือไม่ครับ ถ้าเลยกำหนดสิปปีแล้วทั้งเจ้าหนี้เดิมและผู้รับโอนสิทธิเรียกร้อง ก็หมดสิทธิเรียกร้องหรือบังคับยึดทรัพย์อื่นๆของลูกหนี้อีก ใช่หรือไม่ครับ

3. เรื่องกำหนดเวลาสิบปีของ วิแพ่ง ม.271 กับแพ่ง ม.193/32 มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรครับ

ขอบคุณครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น se วันที่ตอบ 2010-09-09 23:02:53


ความคิดเห็นที่ 5 (2106157)

1. ตามที่ทนายบอกว่า "....ซึ่งอาจไม่ใช่วันที่ 19 ธค.2543..." นั้น แต่ตัวบทก็บอกอย่างชัดเจนว่า "...ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง..."  เช่นนี้แล้วท่านผู้รักษากฎหมายสามารถแปรเจตนาใช้ดุลพินิจตัดสินไปเป็นอย่างอื่นได้อีกหรือครับ ...รบกวนช่วยอธิบายคร่าวๆก็ได้ครับ

ตอบ--ผมตอบจากข้อมูลของคุณว่า  ศาลมีคำพิพากษาตามยอมวันที่ 19 ธ.ค. 2543 นับ 10  ปี ตั้งแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ดังนั้น คงไม่ได้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 2543 เพราะในสัญญาประนีประนอมยอมความคงไม่ได้ตกลงกันให้ชำระหนี้ในวันที่ 19 ธ.ค. 2543 ซึ่งเป็นวันที่มีคำพิพากษาตามยอม อันเป็นเหตุให้ลูกหนี้ผิดนัดและเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องในวันนั้น และนับ 10 ปีนับแต่วันนั้น??? ผมจึงใช้คำว่า "อาจ" คือไม่ได้ปิดประตูหรือฟันธง

2. ผมไปอ่านตัวบท ป.แพ่งพบว่าในมาตรา 193/32 ก็ยังระบุว่า "...สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด หรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้มีกำหนดอายุความสิบปี..." เช่นนี้หมายถึงทั้งเจ้าหนี้เดิมและผู้รับโอนสิทธิเรียกร้อง เพียงมีสิทธิเรียกร้องหรือบังคับคดียึดทรัพย์ภายในสิบปีนับแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุดใช่หรือไม่ครับ ถ้าเลยกำหนดสิปปีแล้วทั้งเจ้าหนี้เดิมและผู้รับโอนสิทธิเรียกร้อง ก็หมดสิทธิเรียกร้องหรือบังคับยึดทรัพย์อื่นๆของลูกหนี้อีก ใช่หรือไม่ครับ

ตอบ -ถูกต้องครับ แต่ไม่หมดที่ไม่หมดก็คือคำตอบจากข้อ 1 เพราะคำพิพากษาตามยอมต้องนับแต่วันที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องครับ มีคำพิพากษาฎีกาอยู่แล้วไปอ่านดูนะครับ

3. เรื่องกำหนดเวลาสิบปีของ วิแพ่ง ม.271 กับแพ่ง ม.193/32 มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรครับ

ตอบ--ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271 ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมด หรือบางส่วนคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำ พิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตาม คำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น

ป.พ.พ.  มาตรา 193/32    สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาล ที่ถึงที่สุดหรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความให้มีกำหนดอายุความสิบปี ทั้งนี้ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด

ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271  กล่าวถึงระยะเวลาที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา "ชอบที่จะขอให้บังคับคดี...ได้ภายในสิบปี"
ป.พ.พ.  มาตรา 193/32   กล่าวถึง สิทธิเรียกร้อง...ให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี แม้จะเป็นหนี้ที่เคยมีอายุความน้อยกว่า 10 ปี ก็ให้มีอายุความ 10 ปี เช่น หนี้บัตรเครดิต อายุความ 2 ปี ก็ให้มีอายุความ 10 ปี ตามตัวบท

ความแตกต่างก็คือ ระยะเวลา 10 ปี ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271 ไม่ใช่อายุความ แต่ สิทธิเรียกร้องตาม มาตรา 193/32 เป็นอายุความ
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1679/2551

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาตามยอม คดีหมายเลขแดงที่ 1172/2537 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2537 ว่า ลูกหนี้ทั้งสองตกลงชำระหนี้จำนวน 542,509.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 350,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จโดยชำระให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวเป็นรายเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 8 กรกฎาคม 2537 โดยชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ถ้าลูกหนี้ทั้งสองผิดนัดไม่ว่างวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยินยอมให้เจ้าหนี้บังคับคดีได้ทันทีโดยยึดที่ดินจำนองโฉนดเลขที่ 5170 และ 5171 ตำบลเหล่ายาว อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ออกขายทอดตลาด ถ้าไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอย่างอื่นของลูกหนี้ทั้งสองออกขายทอดตลาดจนกว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จนครบถ้วน หลังจากศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้วลูกหนี้ทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตั้งแต่งวดแรก วันที่ 28 ตุลาคม 2537 เจ้าหนี้ดำเนินการบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 5170 และ 5171 ตำบลเหล่ายาว อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน พร้อมสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้ที่ 1 ขณะนี้อยู่ระหว่างประกาศขายทอดตลาด ต่อมาศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสองเด็ดขาด เจ้าหนี้จึงนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้หรือไม่เพียงใด ที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่าสิทธิเรียกร้องตามคำขอรับชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาตามยอมของศาลที่ถึงที่สุดแล้ว จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 ประกอบมาตรา 193/12 เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้ทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมตั้งแต่งวดแรกวันที่ 8 กรกฎาคม 2537 เจ้าหนี้จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาตามยอมได้นับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2537 การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2547 จึงพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องนั้นได้ หนี้ตามคำพิพากษาตามยอมที่เจ้าหนี้มีต่อลูกหนี้ทั้งสองจึงขาดอายุความแล้ว ที่เจ้าหนี้อ้างในอุทธรณ์ทำนองว่า ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวลูกหนี้ที่ 1 เคยยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายขอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาลดยอดหนี้เพื่อให้ลูกหนี้ที่ 1 สามารถไถ่ถอนทรัพย์จำนองเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของเจ้าหนี้แล้ว และเจ้าหนี้ได้ดำเนินการบังคับคดีโดยมีการยึดทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้ว ทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามคำพิพากษาสะดุดหยุดลง จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า การยื่นคำร้องของลูกหนี้ที่ 1 ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าว และการที่เจ้าหนี้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี นั้น ก็มิใช่เป็นกรณีที่ลูกหนี้ที่ 1 รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง ทั้งมิใช่เป็นการกระทำอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และ (5) ที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ดังนั้น มูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงขาดอายุความและถือเป็นหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 (1) ส่วนที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีนั้น เห็นว่า เจ้าหนี้ดังกล่าวเป็นเจ้าหนี้มีประกันในทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองไว้แล้วในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1172/2537 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ และเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) แม้หนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วเจ้าหนี้ก็ยังคงมีทรัพยสิทธิบังคับชำระหนี้จากราคาทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ภายในวงเงินจำนอง 350,000 บาท แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดเกินกว่าห้าปีไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745 คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ในส่วนสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว”

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
( ดิเรก อิงคนินันท์ - สมชาย พงษธา - สุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์ )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-09-10 10:57:46



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล