ReadyPlanet.com


อายุความกู้ซื้อบ้านพร้อมที่ดิน


กู้เมื่อ 25 มิย.2539 หยุดส่งชำระตั้งแต่ประมาณ เมย.2540 ธนาคารส่งหนังสือมาโดยสำนักงานทนายความเอกชนเมื่อ 15 มิย.2549 และ 22 เมย.2552 ปัจจุบันยังไม่ได้มีการฟ้องศาลบังคับคดี

ขอเรียนถามว่า 1). สัญญากู้ยืมเงินนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ยขาดอายุความแล้วใช่หรือไม่ อย่างไรครับ   2). ธนาคารเพียงมีสิทธิ์บังคับจำนอง ไม่เกินวงเงินที่ทำสัญญาจำนองใช่หรือไม อย่างไรครับ

 ขอขอบพระคุณผู้ที่ตอบคำถามเป็นอย่างสูง            

 



ผู้ตั้งกระทู้ ชล :: วันที่ลงประกาศ 2010-09-08 14:38:08


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2105603)

1). สัญญากู้ยืมเงินนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ยขาดอายุความแล้วใช่หรือไม่ อย่างไรครับ

ตอบ--โดยหลักแล้ว สัญญากู้ยืมเงินที่ตกลงชำระเงินคืนเป็นงวด ๆ นั้นจะมีอายุความ 5 ปี ครับ(มาตรา 193/33 (2)

มาตรา 193/33    สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี
(1) ดอกเบี้ยค้างชำระ
(2) เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ
(3) ค่าเช่าทรัพย์สินค้าชำระ เว้นแต่ค่าเช่าสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 193/34 (6)
(4) เงินค้างจ่ายคือเงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดู และเงินอื่น ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา
(5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี

แต่การกู้ยืมเงินกับธนาคาร ปกติจะมีการผ่อนกันระยะยาว เช่น 20 ปี ดังนั้นก็ต้องอ่านเงื่อนไขในสัญญาว่ามีอะไรบ้าง?? เช่นหากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมด เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องบังคับคดีได้ทันที่

กรณีถ้ามีข้อตกลงกันผ่อนเป็นงวด ๆ แต่ผิดนัดงวดใด ก็สามารถใช้สิทธิเรียกร้องนั้นได้ทันที ส่วนงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระนั้นก็ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องคือยังไม่ผิดนัด ดังนั้นในงวดที่ผิดนัดนั้นก็จะมีอายุความ 5 ปี (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2316/2550)

ทางสถาบันการเงินเช่นธนาคาร มีอาชีพปล่อยสินเชื่อ จึงไม่ค่อยพลาดในเรื่องอายุความครับ แต่อย่างไรก็ตาม เวลาถูกฟ้องก็ไม่ตัดสิทธิลูกหนี้จะยกอายุความขึ้นต่อสู้ ส่วนศาลจะมองอายุความเรื่องนี้อย่างไรก็คงต้องเป็นดุลพินิจของศาลครับ

2). ธนาคารเพียงมีสิทธิ์บังคับจำนอง ไม่เกินวงเงินที่ทำสัญญาจำนองใช่หรือไม่

อย่างไรครับ

ตอบ--แม้หนี้ประธานจะขาดอายุความ หนี้จำนองก็สามารถบังคับกันได้อยู่ครับ และเรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 5 ปี ตามมาตรา 745  "ผู้รับจำนองจะบังคับจำนอง แม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้"

ในกรณีที่หนี้ประธานขาดอายุความแล้ว เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ได้อีก แม้คู่สัญญาจะได้ทำสัญญาตกลงยกเว้น มาตรา 733 ไว้ก็ตาม

มาตรา 733    ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุดและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดีเงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-09-08 18:29:44


ความคิดเห็นที่ 2 (2105604)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2316/2550

หนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นหนังสือรับรองว่าจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่โดยตกลงผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกำหนดวีธีชำระหนี้โดยผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33 (2) เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดแรก โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้แต่ละงวดได้ตั้งแต่เมื่อครบกำหนดที่จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้เป็นงวดนั้นๆ สิทธิเรียกร้องในหนี้งวดใดที่พ้นกำหนดอายุความ 5 ปี นับย้อนหลังตั้งแต่วันฟ้องขึ้นไปจึงเป็นอันขาดอายุความ

หนังสือรับสภาพหนี้ไม่ได้มีข้อตกลงว่า หากจำเลยทั้งสองผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมดหรือหนี้ทั้งหมดนั้นถึงกำหนดชำระอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันที ข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือรับสภาพหนี้ว่า หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยินยอมให้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันที หมายถึงสิทธิเรียกร้องของโจทก์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดในงวดนั้นๆ แล้วเท่านั้น ส่วนงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระโจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสอง

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับสภาพหนี้ยอมรับว่าเป็นหนี้เงินกู้ยืมโจทก์จำนวน 52,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตกลงผ่อนชำระหนี้คืนเป็นรายเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 2,000 บาท เริ่มชำระเดือนแรกภายในวันที่ 19 มกราคม 2541 และทุกวันที่ 19 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยอมให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันที ในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันการชำระหนี้จำนวนดังกล่าวโดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม ภายหลังจำเลยที่ 1 ทำสัญญารับสภาพหนี้แล้วจำเลยทั้งสองมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ติดตามทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 5 ปี 3 เดือน 14 วัน คิดเป็นเงิน 41,244 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 93,244 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 93,244 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 52,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 40,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.50 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 1 ปี เป็นเงิน 12,000 บาท สัญญารับสภาพหนี้จำนวน 52,000 บาท จึงรวมดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดโจทก์คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกิน 5 ปี สัญญารับสภาพหนี้เป็นข้อตกลงให้มีการผ่อนทุนคืนเป็นงวด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะให้ชำระหนี้ตามสัญญามีกำหนด 5 ปี เมื่อนับแต่วันที่ 19 มกราคม 2541 ถึงวันฟ้องเกิน 5 ปี คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นความรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 46,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2546 นับย้อนหลังไปเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี แต่ดอกเบี้ยคำนวนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 เมษายน 2546) ต้องไม่เกิน 41,244 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงเป็นการต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เงินกู้โจทก์จำนวน 52,000 บาท ตกลงชำระคืนเป็นงวดรายเดือน เดือนละ 2,000 บาท โดยเริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 19 มกราคม 2541 งวดถัดไปจะชำระภายในวันที่ 19 ของทุกๆ เดือนจนกว่าจะชำระเสร็จและยินยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้นตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมสละสิทธิตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688, 689, 690 ตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 ภายหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองไม่เคยชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนแก่โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า หนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 เป็นหนังสือรับรองว่าจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่โดยตกลงผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือน เดือนละ 2,000 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกำหนดวิธีชำระหนี้โดยผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33 (2) เมื่อปรากฏว่า หลังจากทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้ว จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดแรกที่ต้องชำระภายในวันที่ 19 มกราคม 2541 โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แต่ละงวดได้ตั้งแต่เมื่อครบกำหนดที่จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้เป็นงวดนั้นๆ สิทธิเรียกร้องในหนี้งวดใดที่พ้นกำหนดอายุความ 5 ปี นับย้อนหลังตั้งแต่วันฟ้องขึ้นไปจึงเป็นอันขาดอายุความ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 มีข้อตกลงกันว่า หากจำเลยทั้งสองผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยินยอมให้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันที โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ทั้งหมดได้นับแต่จำเลยทั้งสองผิดนัดงวดแรกการนับอายุความเริ่มนับแต่วันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันฟ้องจึงมีระยะเวลาเกินกว่า 5 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า หนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่ได้มีข้อตกลงว่า หากจำเลยทั้งสองผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมดหรือหนี้ทั้งหมดนั้นถึงกำหนดชำระอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันที ข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือรับสภาพหนี้ว่า หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยินยอมให้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันที น่าจะหมายถึงสิทธิเรียกร้องของโจทก์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดในงวดนั้นๆ แล้วเท่านั้น ส่วนงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระโจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( ชาลี ทัพภวิมล - สมศักดิ์ จันทรา - ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์ )

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-09-08 18:32:22


ความคิดเห็นที่ 3 (2105617)

สิทธิที่จะบังคับคดีภายหลัง 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1507/2538
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733ไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนผู้จำนองอาจตกลงกับผู้รับจำนองเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่ มาตรา 733 บัญญัติไว้ได้เช่นในกรณีที่ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วยังได้เงินไม่พอใช้หนี้ผู้จำนองยอมรับผิดให้ผู้รับจำนองยึดทรัพย์อื่นของตนมาใช้หนี้จนครบเป็นต้นข้อตกลงนี้ย่อมมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมายไม่ตกเป็นโมฆะ สัญญาจำนองที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ ระบุว่าถ้าในการบังคับจำนองได้เงินไม่พอจำนวนเงินที่ค้างชำระจำนวนอยู่เท่าใดผู้จำนองยอมรับผิดชอบใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวนแต่หนี้ ที่ น. ลูกหนี้ค้างโจทก์หลังจากบังคับคดีแล้วไม่พอชำระนั้นเป็นเวลากว่า 10ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาโจทก์จึงหมดสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ลูกหนี้อีกต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 แต่ยังคงรับผิดตามทรัพย์ที่จำเลยจำนอง

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2518 นางนิต ได้กู้เงินโจทก์จำนวน 40,000 บาท กำหนดชำระเงินคืนภายในวันที่ 10 กันยายน 2519 และเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2518นางนิตยาได้กู้เงินโจทก์เพิ่มอีกจำนวน 25,000 บาท มีกำหนดระยะเวลา 24 เดือน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าวและจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 30290ตำบลในคลองบางปลากด อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้นั้นด้วย ต่อมาโจทก์ได้ฟ้องนางนิตยาและศาลแพ่งมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 13955/2521ให้นางนิตยาชำระเงินจำนวน 92,139.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 65,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่นางนิตไม่ชำระเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 113223 แขวงประเวศเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ของนางนิตและนำออกขายทอดตลาดได้เงิน 101,000 บาท หักค่าใช้จ่ายชั้นบังคับคดีแล้วคงเหลือเงินจำนวน 91,929 บาท ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์หักชำระดอกเบี้ย78,149.35 บาท คงค้างชำระต้นเงิน 51,220.35 บาท หลังจากนั้นนางนิตยาและจำเลยไม่ชำระหนี้ดังกล่าวอีกเลย โจทก์บอกกล่าวทวงถามบังคับจำนองไปยังจำเลยแล้ว ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินและดอกเบี้ยก่อนฟ้องจำนวน 43,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของต้นเงิน 25,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องขอบังคับตามสิทธิเรียกร้องเกิน10 ปี และโจทก์มิได้บังคับในคดีหมายเลขแดงที่ 13955/2521ให้เสร็จสิ้นภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา สิทธิการขอบังคับคดีหนี้เงินกู้อันเป็นหนี้ประธานย่อมระงับไป จำเลยผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 43,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 25,000 บาท นับตั้งแต่วันที่9 มีนาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 30290 ตำบลในคลองบางปลากดอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ยังขาดจำนวนแก่โจทก์โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า สัญญาข้อ 5ในข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.7 อันเป็นการตกลงกันอย่างอื่นนอกเหนือจากบทบัญญัติตามมาตรา 733 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใช้บังคับได้ ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่ประการใด ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า จำเลยได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 30290 ตำบลในคลองบางปลากดอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ มาประกันหนี้ของนางนิตยา อัศศิระกุล จำนวน 25,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามหนังสือสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองตามเอกสารหมาย จ.7 มีนายพิสันต์ ลงลายมือชื่อแทนจำเลยในฐานะผู้รับมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.19 นางนิตถูกโจทก์ฟ้องบังคับให้ชำระหนี้แล้วยังคงค้างโจทก์อยู่จำนวน 51,220.35 บาท เมื่อคิดถึงวันที่ 30เมษายน 2533 ตามบัญชีและรายการโอนชำระหนี้เอกสารหมาย จ.11,จ.12 ซึ่งจำเลยต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยค้างชำระก่อนฟ้องในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน18,750 บาท และนับแต่วันที่ 9 มีนาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733ไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้จำนองอาจตกลงกับผู้รับจำนองเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ก็ย่อมกระทำได้ เช่น ในกรณีที่ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วยังได้เงินไม่พอใช้หนี้ ผู้จำนองยอมรับผิดให้ผู้รับจำนองยึดทรัพย์อื่นของตนมาใช้หนี้จนครบเป็นต้นข้อตกลงนี้ย่อมมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมาย หาตกเป็นโมฆะอย่างใดไม่ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 168/2518 ระหว่างร้านสหกรณ์ร้อยเอ็ดจำกัด สินใช้ โจทก์ นายเสรี อิทธิสมบัติ กับพวก จำเลยนายเถียร นาครวาจา จำเลยร่วม แม้ปรากฎตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองที่จำเลยทำไว้กับโจทก์มีระบุไว้ในข้อ 5 ความว่าถ้าในการบังคับจำนองตามสัญญานี้ได้เงินไม่พอจำนวนเงินที่ค้างชำระจำนวนอยู่เท่าใด ผู้จำนองยอมรับผิดชอบใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวนซึ่งหมายความว่า ถึงจะยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอใช้หนี้แก่โจทก์ โจทก์ก็ยังมีสิทธิที่จะยึดทรัพย์อื่น ๆ ของจำเลยในฐานะผู้จำนองเป็นประกันมาใช้หนี้จนครบก็ตาม แต่หนี้ที่นางนิต  ลูกหนี้ ค้างโจทก์หลังจากบังคับคดีแล้วไม่พอชำระนั้นเป็นเวลากว่า 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ลูกหนี้อีกต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 จำเลยในผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 698 แต่ยังคงรับผิดตามทรัพย์จำนองซึ่งยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล"

พิพากษายืน

( เสริม บุญทรงสันติกุล - อุระ หวังอ้อมกลาง - ปราโมทย์ ชพานนท์ )
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-09-08 19:09:08


ความคิดเห็นที่ 4 (2105933)

ขอถามเพิ่มเติมนะครับ

ตามที่คุณทนายความลีนนท์กล่าวว่า

"...แต่การกู้ยืมเงินกับธนาคาร ปกติจะมีการผ่อนกันระยะยาว เช่น 20 ปี ดังนั้นก็ต้องอ่านเงื่อนไขในสัญญาว่ามีอะไรบ้าง?? เช่นหากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมด เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องบังคับคดีได้ทันที่

กรณีถ้ามีข้อตกลงกันผ่อนเป็นงวด ๆ แต่ผิดนัดงวดใด ก็สามารถใช้สิทธิเรียกร้องนั้นได้ทันที ส่วนงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระนั้นก็ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องคือยังไม่ผิดนัด ดังนั้นในงวดที่ผิดนัดนั้นก็จะมีอายุความ 5 ปี (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2316/2550)...."

ผมได้ไปดูสัญญากู้ในข้อ 6 ในวรรค 2 ระบุไว้ว่า"...การผิดนัดไม่ชำระหนี้...ถือว่าผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ทุกงวด...."

1. เช่นนี้แล้วแสดงว่า เมื่อผมไม่ได้ส่งชำระตั้งแต่ปี 2540 นั้นมีผลทำให้หนี้ทุกงวดทั้งสัญญากู้เริ่มนับอายุความตั้งแต่นั้นมาใช้หรือไม่อย่างไรครับ ?

2. เพิ่มเติมข้อมูลนิดนึงนะครับ เมื่อตอนกู้เมื่อปี 2539 นั้น โฉนดที่บ้านที่จำนองกับธนาคารเป็นชื่อผมคนเดียว แต่ธนาคารให้ภรรยา(ปัจจุบันได้จดทะเบียนหย่ากันแล้วครับเมื่อปี 2551..หย่าการเมืองน่ะครับ)ลงชื่อเป็นผู้กู้ร่วมด้วย ดังนั้นถ้าสัญญาประธานตามข้อ 1. ขาดอายุความแล้ว ธนาคารจึงมีสิทธิเพียงบังคับจำนองตามวงเงินจำนองบวกดอกเบี้ย 5 ปี ถ้าทรัพย์จำนองไม่พอ ธนาคารก็เพียงมีสิทธิยึดทรัพย์อื่นๆของผู้จำนองซึ่งก็คือผมคนเดียว  ใช่หรือไม่ครับ?

3. จากข้อ 1. ,2.  แสดงว่าธนาคารไม่มีสิทธิ ไปฟ้องหรือยึดทรัพย์อื่นใดของภรรยาผมแล้วใช่หรือไม่ครับ?

 

ขอขอบคุณอีกครั้งครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ชล วันที่ตอบ 2010-09-09 15:30:22


ความคิดเห็นที่ 5 (2106017)

1. เช่นนี้แล้วแสดงว่า เมื่อผมไม่ได้ส่งชำระตั้งแต่ปี 2540 นั้นมีผลทำให้หนี้ทุกงวดทั้งสัญญากู้เริ่มนับอายุความตั้งแต่นั้นมาใช้หรือไม่อย่างไรครับ ?

ตอบ-- ใช่ครับ เพราะสัญญาระบุชัดว่าเขาเกิดสิทธิเรียกร้องเงินกู้ยืมคืนได้ทั้งหมด

2. เพิ่มเติมข้อมูลนิดนึงนะครับ เมื่อตอนกู้เมื่อปี 2539 นั้น โฉนดที่บ้านที่จำนองกับธนาคารเป็นชื่อผมคนเดียว แต่ธนาคารให้ภรรยา(ปัจจุบันได้จดทะเบียนหย่ากันแล้วครับเมื่อปี 2551..หย่าการเมืองน่ะครับ)ลงชื่อเป็นผู้กู้ร่วมด้วย ดังนั้นถ้าสัญญาประธานตามข้อ 1. ขาดอายุความแล้ว ธนาคารจึงมีสิทธิเพียงบังคับจำนองตามวงเงินจำนองบวกดอกเบี้ย 5 ปี ถ้าทรัพย์จำนองไม่พอ ธนาคารก็เพียงมีสิทธิยึดทรัพย์อื่นๆของผู้จำนองซึ่งก็คือผมคนเดียว  ใช่หรือไม่ครับ?

ตอบ-- ถ้าหนี้ประธานขาดอายุความ เจ้าหนี้ฟ้องบังคับได้เฉพาะตัวทรัพย์ที่จำนอง และคิดดอกเบี้ย ย้อนหลังได้ 5 ปี โดยไม่มีสิทธิบังคับคดีเอากับทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ได้ (ทั้งสองคน) ครับ

3. จากข้อ 1. ,2.  แสดงว่าธนาคารไม่มีสิทธิ ไปฟ้องหรือยึดทรัพย์อื่นใดของภรรยาผมแล้วใช่หรือไม่ครับ?

ตอบ-- ถ้าหนี้ประธานขาดอายุความ ฟ้องยึดทรัพย์สินอื่นไม่ได้ทั้งสองคนครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-09-09 20:07:53



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล