ReadyPlanet.com


พ.ร.บ.ล้างมลทิน กับการเพิ่มโทษจำเลย


กฎหมายอาญากำหนดให้เพิ่มโทษหนึ่งในสามแก่จำเลยที่กระทำความผิดซ้ำอีกภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ (พ้นโทษออกมาไม่เกิน 5 ปี) จำเลยมากระทำความผิดเป็นคดีหลังภายในหรือก่อน 5 ปี และ เมื่อศาลพิพากษาเพิ่มโทษในคดีหลังแล้วและคดีหลังถึงที่สุด ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ 2550 ใช้บังคับ มีผลให้คดีก่อนที่ศาลมีเหตุเพิ่มโทษจำเลยไปแล้ว จำเลยได้รับผลประโยชน์จาก พ.ร.บ. ล้างมลทิน จำเลยจะทำอย่างไรให้ศาลเปลี่ยนโทษใหม่ในคดีหลังได้



ผู้ตั้งกระทู้ ** :: วันที่ลงประกาศ 2010-10-15 17:58:34


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2119484)

คำตอบในเรื่องดังนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พ.ร.บ. ล้างมลทินฯ ให้ล้างมลทินให้แก่ผู้ต้องโทษในความผิดต่าง ๆ และได้พ้นโทษก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ เมื่อจำเลยในคดีนี้ได้พ้นโทษใน(คดีก่อน) คดีที่ศาลนำมาเป็นเหตุเพิ่มโทษจำเลยแล้ว แม้คดีหลังจะได้ถึงที่สุดแล้วแต่การรับโทษยังไม่เสร็จสิ้น จำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้กำหนดโทษจำเลยใหม่โดยไม่เพิ่มโทษแก่จำเลยในคดีหลังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7790/2552

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-10-15 19:39:24


ความคิดเห็นที่ 2 (4552310)

 เพิ่มโทษจำเลยได้หรือไม่?-จำเลยได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน 2550 หรือไม่?

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8970/2561

ฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยกระทำความผิดในคดีก่อนเมื่ออายุ 14 ปีเศษและจำเลยได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้นั้น แม้จำเลยจะมิได้หยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นกล่าวอ้างในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงสามารถหยิกยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ขณะกระทำความผิดในคดีก่อนจำเลยมีอายุ 14 ปีเศษ เมื่อความผิดที่ได้กระทำในขณะมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี ไม่ถือว่าเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษตาม ป.อ. มาตรา 94 ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยจึงไม่ชอบ ประกอบกับโจทก์ฟ้องว่าจำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวแล้วกลับมากระทำความผิด คดีนี้อีกเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2548 แสดงให้เห็นว่าจำเลยพ้นโทษในคดีก่อนตั้งแต่ก่อนวันที่ 24 มีนาคม 2548 แล้ว เมื่อ พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 2 บัญญัติให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป และมาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินแก่บรรดาผู้ต้องโทษในคดีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนั้นเมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยต้องโทษและพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยจึงได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 92, 93, 288 และเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามกฎหมาย

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ

ระหว่างพิจารณา นายธีระศักดิ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิดเป็นเงิน 200,000 บาท และค่าขาดรายได้จากการประกอบอาชีพวันละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน เป็นเงิน 60,000 บาท รวมเป็นค่าสินไหมทดแทนทั้งสิ้น 260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนถึงวันฟ้อง

จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดในคดีอาญา จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 จำคุก 10 ปี เพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยอีกกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 เป็นจำคุก 15 ปี กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 224,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 24 มีนาคม 2548) จนถึงวันฟ้อง (วันที่ 14 กันยายน 2558) คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2548 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา โจทก์ร่วมไปนั่งดื่มสุราเพียงลำพังที่ร้านอาหาร ต่อมาตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง โจทก์ร่วมออกไปปัสสาวะที่ข้างห้องน้ำหลังร้านอาหาร ระหว่างนั้นนายเฉลาจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1511/2549 ของศาลชั้นต้นกับพวกอีก 2 คน ร่วมกันใช้จอบ คราด และไม้เป็นอาวุธทุบตีโจทก์ร่วมถูกที่บริเวณศีรษะ ใบหน้า และลำตัว เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัส กระดูกกรามบนหัก กระดูกไหปลาร้าซ้ายร้าว ฟันหน้าบนบิ่น และมีบาดแผลที่ศีรษะ ริมฝีปากกับเหนือคิ้วซ้ายอีกหลายแผล

มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยร่วมกับนายเฉลาและพวกกระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วมเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมไปนั่งดื่มสุราอยู่ที่ร้านคาราโอเกะเพียงลำพัง ต่อมาเวลาประมาณ 24 นาฬิกา นายเฉลากับพวกอีก 2 คน มานั่งที่โต๊ะข้างโจทก์ร่วมห่างประมาณ 3 ถึง 4 เมตร โจทก์ร่วมรู้จักนายเฉลามาก่อนเนื่องจากเคยทะเลาะวิวาทกันเมื่อประมาณ 7 ถึง 8 ปี ก่อนหน้านั้น ส่วนชายอีก 2 คน ที่มากับนายเฉลานั้นคือ จำเลยและนายธีระวัฒน์ โจทก์ร่วมรู้จักบุคคลทั้งสองเช่นเดียวกัน เนื่องจากเคยเห็นหน้ามาก่อนและอยู่บ้านละแวกเดียวกัน ต่อมาโจทก์ร่วมเดินไปปัสสาวะข้างห้องน้ำด้านหลังของร้านอาหาร ขณะที่ยืนปัสสาวะอยู่โจทก์ร่วมได้ยินเสียงทางด้านหลังพูดว่า " เอาให้ตาย " โจทก์ร่วมจึงหันไปดูแล้วถูกนายเฉลาตีด้วยจอบจนโจทก์ร่วมล้มฟุบกับพื้น จากนั้นนายเฉลาและจำเลยกับพวกเข้ารุมทำร้ายโจทก์ร่วมต่อ โดยจำเลยใช้คราดตีโจทก์ร่วมขณะที่ล้มนอนอยู่ด้วย โจทก์ร่วมจึงแกล้งทำเป็นหมดสติ ขณะนั้นได้ยินเสียงชายคนหนึ่งในสามคนพูดว่า "กลับกันเถอะมันตายแล้ว" นายเฉลาและจำเลยกับพวกจึงเดินออกไป หลังเกิดเหตุโจทก์ร่วมไปแอบซ่อนตัวอยู่ในคูน้ำ เมื่อเห็นว่าปลอดภัยดีแล้วจึงเดินทางกลับบ้านและให้บิดาพาไปส่งโรงพยาบาล โดยขณะถูกทำร้ายโจทก์ร่วมมองเห็นเหตุการณ์ได้ตลอดเนื่องจากมีแสงไฟจากหลอดไฟฟ้าที่ห้องน้ำส่องสว่างมองเห็นได้ หลังเกิดเหตุโจทก์ร่วมให้การต่อพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับเหตุที่ถูกทำร้ายและคนร้ายผู้ก่อเหตุ ต่อมาพนักงานสอบสวนนำภาพถ่ายของนายเฉลา จำเลย และนายธีระวัฒน์มาให้ตรวจสอบ โจทก์ร่วมตรวจสอบแล้วชี้ยืนยันว่าบุคคลทั้งสามเป็นคนร้ายที่ร่วมกันทำร้ายโจทก์ร่วม เห็นว่า โจทก์ร่วมเบิกความตามลำดับเหตุการณ์อย่างเป็นเรื่องราว และโดยเฉพาะในส่วนของจำเลยนั้น โจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมก่อเหตุด้วย โดยจำเลยร่วมเดินทางมาพร้อมกับนายเฉลากับพวกอีกหนึ่งคนตั้งแต่แรก และจำเลยร่วมรุมทำร้ายโดยใช้คราดทุบตีโจทก์ร่วมในขณะเกิดเหตุ ซึ่งหากโจทก์ร่วมจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือจำจำเลยไม่ได้ โจทก์ร่วมก็ไม่น่าจะสามารถเบิกความยืนยันเช่นนั้นได้ แม้ขณะเกิดเหตุจะเป็นเวลากลางคืน แต่ได้ความจากโจทก์ร่วม นางรัตนา เจ้าของร้านที่เกิดเหตุ และพันตำรวจโทสาคร พนักงานสอบสวนว่า บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงไฟจากหลอดไฟฟ้าซึ่งติดที่ห้องน้ำส่องสว่างมองเห็นเหตุการณ์ได้ และเมื่อพิจารณาสำเนาภาพถ่ายประกอบการตรวจที่เกิดเหตุ สำเนาแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ประกอบกับต้นฉบับของสำเนาภาพถ่ายและสำเนาแผนที่ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1511/2549 ของศาลชั้นต้น ซึ่งผูกรวมกับสำนวนคดีนี้ พบว่าร้านอาหารที่เกิดเหตุ ร้านขายของชำใกล้กับร้านอาหารที่เกิดเหตุ และห้องน้ำด้านหลังร้านอาหาร ติดตั้งหลอดไฟนีออนส่องสว่างทำให้มองเห็นเหตุการณ์ได้ด้วย เมื่อโจทก์ร่วมเคยมีเหตุทะเลาะวิวาทกับนายเฉลามาก่อน ดังนั้นเมื่อนายเฉลาและจำเลยกับพวกเดินเข้ามาภายในร้าน โจทก์ร่วมจึงย่อมต้องคอยระวังสังเกตนายเฉลาและจำเลยกับพวกเป็นธรรมดา ประกอบกับโจทก์ร่วมรู้จักและเคยเห็นหน้าจำเลยมาก่อน และจำเลยนำสืบยอมรับว่า คืนเกิดเหตุจำเลยมายังร้านอาหารที่เกิดเหตุ และระหว่างอยู่ภายในร้านนายเฉลามานั่งร่วมโต๊ะเดียวกับจำเลยด้วยจริง จึงย่อมทำให้โจทก์ร่วมมีโอกาสมองเห็นและจดจำจำเลยได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น ทั้งหลังจากพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 1 สัปดาห์ โจทก์ร่วมก็ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับเหตุคดีนี้ โดยยืนยันว่าจำเลยกับพวกเป็นคนร้ายที่ร่วมกันรุมทำร้ายโจทก์ร่วม พร้อมทั้งลงลายมือชื่อยืนยันภาพถ่ายของจำเลยกับพวกต่อพนักงานสอบสวนด้วย ซึ่งในข้อนี้โจทก์และโจทก์ร่วมมีพันตำรวจโทสาคร พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า เมื่อพยานสืบสวนทราบว่าจำเลยกับพวกคือบุคคลที่เดินตามโจทก์ร่วมไปยังห้องน้ำ พยานจึงนำภาพถ่ายของจำเลยกับพวกมาให้โจทก์ร่วมตรวจสอบ โจทก์ร่วมตรวจสอบแล้วยืนยันว่าจำเลยกับพวกเป็นคนร้ายในคดีนี้จริง อันเป็นการสอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ร่วม ทำให้เชื่อว่าโจทก์ร่วมสามารถมองเห็นและจดจำได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมก่อเหตุด้วยจริง นอกจากนั้นโจทก์และโจทก์ร่วมยังมีนางรัตนาเจ้าของร้านอาหารที่เกิดเหตุ เป็นพยานเบิกความว่า หลังเกิดเหตุพยานเคยไปให้การเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อพนักงานสอบสวน ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนนำภาพถ่ายของจำเลยกับพวกมาให้ตรวจสอบ พยานตรวจสอบแล้วยืนยันว่าจำเลยกับพวกเดินทางไปยังร้านอาหารของพยานในคืนเกิดเหตุจริง และพยานยังเคยเบิกความในคดีที่นายเฉลาถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วย แม้พยานปากนี้จะเบิกความในทำนองว่าพยานจดจำจำเลยและเหตุการณ์บางอย่างไม่ได้ก็ตาม แต่ขณะที่พยานเบิกความในคดีนี้นั้นเป็นเวลาหลังเกิดเหตุนานถึง 10 ปีเศษ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่พยานย่อมจะไม่สามารถจดจำรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์และบุคคลทั้งหมดได้ เมื่อพิจารณาสำเนาคำให้การและสำเนาคำเบิกความเอกสารแล้วพบว่าพยานปากนี้ให้การในชั้นสอบสวนในวันเกิดเหตุและเบิกความต่อศาลในคดีก่อนหลังเกิดเหตุเพียง 1 ปีเศษเท่านั้น ขณะนั้นพยานย่อมสามารถจดจำเหตุการณ์และรายละเอียดต่าง ๆ ได้มากกว่าขณะที่เบิกความในคดีนี้ ดังนั้นคำให้การในชั้นสอบสวนและคำเบิกความของพยานปากนี้ในคดีก่อนจึงน่าเชื่อถือ เมื่อพยานปากนี้ให้การและเบิกความในคดีก่อนว่า เมื่อโจทก์ร่วมเดินออกจากร้านไปห้องน้ำแล้ว จำเลยกับพวกเดินตามไป หลังจากนั้นสักพักหนึ่งจำเลยกับพวกกลับมาชำระค่าอาหารแล้วออกจากร้านไป อันเป็นการสอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ร่วม ทำให้คำเบิกความของโจทก์ร่วมมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น เมื่อพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทุกปากไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย เชื่อว่าพยานทุกปากเบิกความตามความจริง พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมรุมทำร้ายโจทก์ร่วมในขณะเกิดเหตุจริง เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดแล้วพบว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้จอบ คราด และไม้ซึ่งเป็นวัตถุขนาดใหญ่เป็นอาวุธทุบตีโจทก์ร่วม ถูกที่บริเวณศีรษะ ใบหน้า และลำตัวอันเป็นอวัยวะสำคัญ เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บกระดูกกรามบนหัก กระดูกไหปลาร้าร้าว และมีบาดแผลที่ศีรษะ ริมฝีปากกับเหนือคิ้วซ้ายอีกหลายแผล แสดงให้เห็นว่าจำเลยกับพวกทุบตีโจทก์ร่วมอย่างแรงหลายครั้ง การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่า เมื่อโจทก์ร่วมไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าโจทก์ร่วม ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า วันเกิดเหตุจำเลยกับนายธีระวัฒน์เดินทางไปยังร้านอาหารที่เกิดเหตุและพบนายเฉลากับพวกอีก 2 คน มาที่ร้าน ต่อมานายเฉลากับพวกอีก 2 คน ออกไปเข้าห้องน้ำ หลังจากนั้นเจ้าของร้านจะปิดร้าน จำเลยจึงให้นายธีระวัฒน์ชำระค่าอาหารแล้วเดินทางกลับบ้าน โดยจำเลยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น เห็นว่า จำเลยเบิกความเป็นพยานปากเดียวลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน พยานหลักฐานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์

ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองโจทก์ร่วมมาก่อน จึงไม่มีเหตุจูงใจที่จะฆ่าโจทก์ร่วมนั้น เห็นว่า โจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่าโจทก์ร่วมเคยมีเหตุทะเลาะวิวาทกับนายเฉลามาก่อน เมื่อจำเลยเดินทางมาพร้อมกับนายเฉลาและร่วมกับนายเฉลารุมทำร้ายโจทก์ร่วมโดยมีเจตนาฆ่า จึงต้องถือว่าจำเลยร่วมกับพวกมีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วมด้วย ฏีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยฎีกาว่า ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมดื่มสุราตั้งแต่เวลา 21 นาฬิกา ถึง 3 นาฬิกา เป็นเวลานานถึง 6 ชั่วโมง โจทก์ร่วมจึงย่อมจะต้องมึนเมาสุรา และขณะเกิดเหตุนายเฉลาเป็นคนร้ายคนแรกที่ใช้จอบตีศีรษะ โจทก์ร่วมจึงย่อมจะต้องตกใจและมึนงงจนไม่สามารถจดจำคนร้ายคนอื่นได้นั้น เห็นว่า เหตุคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 00.30 นาฬิกา มิใช่ 3 นาฬิกา ตามที่จำเลยอ้าง ส่วนการถูกทำร้ายนั้นโจทก์ร่วมเบิกความเพียงว่า นายเฉลาใช้จอบตีโจทก์ร่วมเป็นคนแรกเท่านั้น มิได้เบิกความว่าตีที่ศีรษะตามที่จำเลยอ้าง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากสำนวน จึงฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า จอบ คราด และไม้ของกลางเป็นเพียงเครื่องมือและสิ่งของที่วางทิ้งไว้ตรงบริเวณที่เกิดเหตุเท่านั้น เมื่อไม่มีพยานปากใดยืนยันว่าเป็นอาวุธที่คนร้ายใช้ก่อเหตุและไม่มีการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ จึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นอาวุธที่คนร้ายใช้ในการกระทำความผิดนั้น เห็นว่า จำเลยมิได้หยิบยกข้อเท็จจริงส่วนนี้ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น และเมื่อศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติในคำพิพากษาว่า จอบ คราด และไม้ของกลางเป็นอาวุธที่คนร้ายใช้ทุบตีทำร้ายโจทก์ร่วม จำเลยก็มิได้อุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ด้วย ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่จำเลยฎีกาว่า จอบ คราด และไม้ของกลางมิใช่อาวุธที่คนร้ายใช้ในการกระทำความผิดนั้น จึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง มาตรา 252 ที่แก้ไขใหม่ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า บาดแผลของโจทก์ร่วมมิได้เกิดขึ้นจากความคมของหน้าจอบและปลายแหลมของซี่คราด แสดงให้เห็นว่า คนร้ายใช้สันข้างของจอบหรือสันข้างของคราดตีทำร้ายโจทก์ร่วม คนร้ายจึงมิได้มีเจตนาฆ่ามีเพียงเจตนาทำร้ายเท่านั้น เห็นว่า จอบและคราดเป็นเครื่องมือขนาดใหญ่สามารถใช้ทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แม้มิได้ใช้หน้าจอบหรือซี่คราดตีทำร้าย แต่หากตีถูกที่อวัยวะสำคัญโดยแรงก็สามารถทำให้ถึงแก่ความตายได้ เมื่อโจทก์ร่วมถูกรุมทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายสาหัส กระดูกกรามบนหัก กระดูกไหปลาร้าซ้ายร้าว ฟันหน้าบนบิ่น และมีบาดแผลอีกหลายแห่งที่ศีรษะ ริมฝีปากกับเหนือคิ้วซ้าย ย่อมแสดงให้เห็นว่าคนร้ายร่วมกันใช้อาวุธรุมตีทำร้ายโจทก์ร่วมโดยมีเจตนาฆ่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดในคดีก่อนเมื่ออายุเพียง 14 ปีเศษเท่านั้น และจำเลยได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้ เห็นว่า แม้จำเลยจะมิได้หยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นกล่าวอ้างในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงสามารถหยิบยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อพิจารณาสำเนาภาพถ่ายพบว่าจำเลยเกิดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2528 ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีก่อนเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2543 จึงแสดงให้เห็นว่าขณะกระทำความผิดคดีก่อนนั้นจำเลยมีอายุ 14 ปีเศษ เมื่อความผิดที่ได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีไม่ถือว่าเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 94 ดังนั้นการที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยจึงไม่ชอบ ประกอบกับโจทก์ฟ้องว่าจำเลยพ้นโทษคดีดังกล่าวแล้วกลับมากระทำความผิดคดีนี้ขึ้นอีกเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2548 แสดงให้เห็นว่าจำเลยพ้นโทษในคดีก่อนตั้งแต่ก่อนวันที่ 24 มีนาคม 2548 แล้ว เมื่อพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 2 บัญญัติให้พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป และมาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินแก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนั้นเมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้ต้องโทษและพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ อันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้ว จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 10 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน ยกคำขอให้เพิ่มโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-18 10:02:44



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล