ReadyPlanet.com


สิทธิในการรับมรดกแทนที่


กรณีที่ลุงไม่ได้แต่งงานและได้เสียชีวิตไป แล้วระหว่างผมเป็นหลานซึ่งเกิดจากน้องชายพ่อแม่เดียวกันกับลุง กับอาที่เป็นน้องชายอีกคนของลุงแต่คนละแม่กันกับลุง ใครจะมีสิทธิได้รับมรดกบ้าง และมีสิทธิคนละกี่ส่วน



ผู้ตั้งกระทู้ หริณ :: วันที่ลงประกาศ 2010-10-04 20:41:00


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2115780)

ตามข้อมูลพอเดาได้ว่า บิดาของคุณเสียชีวิตก่อนเจ้ามรดก ประกอบกับหัวข้อของคุณคือ"สิทธิในการรับมรดกแทนที่"

บิดาของคุณเป็นทายาทลำดับที่ 3 อาเป็นลำดับที่ 4 (พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดา) ดังนั้นบิดาของคุณเป็ทายาทโดยธรรมชั้นสนิทใกล้ชิดกว่าอา จึงตัดทายาทลำดับที่อยู่รองลงไป เมื่อทายาทตายก่อนเจ้ามรดก คุณเป็นผู้สืบสันดานจึงรับมรดกแทนที่บิดาของคุณได้

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-10-05 20:42:55


ความคิดเห็นที่ 2 (2115927)

ผู้รับมรดกแทนที่ กับผู้สืบสิทธิในการรับมรดก แตกต่างกันอย่างไร??

มาตรา 1599 บอกว่า เมื่อบุคคลใดตายมรดกตกทอดแก่ทายยาท และมาตรา 1639 บอกว่า เมื่อทายาทที่จะได้รับมรดกนั้นตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ผู้สืบสันดานของทายาทนั้นรับมรดกแทนที่ได้ แต่หากว่าเจ้ามรดกตาย แล้วทายาทตายโดยยังไม่ได้แบ่งทรัพย์มรดกกัน อย่างนี้ผู้สืบสันดานของทายาทที่ตายหลังเจ้ามรดกมีสิทธิสืบมรดกของทายาทที่ตายนั้นได้

มาตรา 1639 ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตาม มาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อน เจ้ามรดกตายถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทน ที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัด มิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับ มรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคล เป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  108/2548

          ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ไม่จำต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยเป็นทายาทโดยตรง หากมีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายก็มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ เมื่อทรัพย์มรดกของ ช. เจ้ามรดกตกทอดได้แก่ทายาทซึ่งรวมทั้ง ม. มารดาผู้ร้องด้วย แต่ ม. ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่จะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว สิทธิในทรัพย์มรดกของ ช. ส่วนที่ตกได้แก่ ม. จึงเป็นมรดกของ ม. ที่ตกได้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาท ผู้ร้องจึงมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เป็นมรดกของ ช. ด้วยตามส่วน ถือได้ว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ช. ได้


          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายชุม  ผู้ตาย

          ศาลชั้นต้นเห็นว่า ผู้ร้องมิใช่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของนายชุมเจ้ามรดกที่จะร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายชุมได้ จึงมีคำสั่งยกคำร้องขอ

          ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายชุม  ผู้ตาย หรือไม่ เห็นว่า ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 นั้น ไม่จำต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยเป็นทายาทโดยตรงหากมีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายก็มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ ตามคำร้องของผู้ร้องได้ความว่า นางชวนชม  มารดาผู้ร้อง เป็นบุตรของนายชุม  นางชวนชมจึงเป็นทายาทของนายชุม เมื่อนายชุมถึงแก่ความตายทรัพย์มรดกของนายชุมย่อมตกทอดได้แก่ทายาทของนายชุมซึ่งรวมทั้งนางชวนชมด้วย แต่นางชวนชมถึงแก่ความตายเสียก่อนที่จะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว สิทธิในทรัพย์มรดกของนายชุมส่วนที่ตกได้แก่นางชวนชมจึงเป็นมรดกของนางชวนชมที่ตกได้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทของนางชวนชม ผู้ร้องจึงมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เป็นมรดกของนายชุมด้วยตามส่วน ถือได้ว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายชุมได้ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับคำร้องขอของผู้ร้องไว้พิจารณา ที่ศาลชั้นต้นรับคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น”

          พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอไว้ดำเนินการพิจารณาแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

( สมชาย จุลนิติ์ - มานะ ศุภวิริยกุล - ชาลี ทัพภวิมล )


                                                                              หมายเหตุ 

          บุตรของเจ้ามรดกเป็นผู้สืบสันดานชั้นสนิทที่สุดที่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก ส่วนผู้สืบสันดานในชั้นถัดลงไปจะรับมรดกได้ก็แต่โดยอาศัยสิทธิในการรับมรดกแทนที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1631 ประกอบมาตรา 1639 แต่ต้องเป็นกรณีที่ทายาทนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย

           ผู้สืบสันดานที่เข้ารับมรดกแทนที่ทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ยังถือว่าเป็น "ทายาท" ของเจ้ามรดกตามความหมายในมาตรา 1713 วรรคหนึ่ง โดยเหตุผลที่ว่า การถูกกำจัดมิให้รับมรดกเป็นการเฉพาะตัว ผู้สืบสันดานของผู้ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไปเสมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว (มาตรา 1607) จึงนับได้ว่าเป็นทายาทโดยตรงของเจ้ามรดก แม้จะมิใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของเจ้ามรดกก็ตาม

           ในกรณีที่ทายาทโดยธรรมไม่ว่าในฐานะคู่สมรสหรือญาติในลำดับใดๆ ตามาตรา 1629 เกิดสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกแล้วแต่ถึงแก่ความตายในภายหลังผู้สืบสันดานของทายาทเหล่านั้นย่อมมีสิทธิรับมรดกของทายาทดังกล่าวในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (1) แต่เมื่อทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกคนแรกยังมิได้แบ่งปันกันให้เสร็จสิ้น สิทธิในการรับมรดกย่อมตกทอดไปยังผู้สืบสันดานของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกคนแรก ตามาตรา 1600 กรณีเช่นนี้ ไม่ถือว่าผู้สืบสันดานนั้นเป็นทายาทโดยธรรมหรือทายาทโดยตรงของเจ้ามรดกคนแรก หากแต่เป็นเพียงผู้สืบสิทธิในการรับมรดกของทายาทดังกล่าวเท่านั้น จึงถือได้ว่าเป็น "ผู้เสียส่วนได้เสีย" ในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกคนแรก

           คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้วินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 181/2537 ซึ่งวินิจฉัยว่า ผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ที่มีสิทธิร้องขอจัดตั้งผู้จัดการมรดกนั้น หาจำต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะทายาทโดยธรรมหรือทางพินัยกรรมของผู้มรณะโดยตรง บุคคลใดที่มีส่วนได้เสียในกองมรดกก็ชอบที่จะร้องขอได้

           เจ้ามรดกมีที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกตกแก่ผู้ร้อง ซึ่งเป็นมารดากับบุตรทั้งสามและ ส. ภริยาของเจ้ามรดกแต่ที่ดินพิพาทที่เป็นมรดกยังไม่ได้แบ่งปัน ส. ก็ถึงแก่ความตาย ดังนี้ สิทธิในที่ดินพิพาทในส่วนที่ตกได้แก่ ส. จึงเป็นมรดกของ ส. ที่ตกแก่ผู้คัดค้านกับภริยาผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดามารดาของ ส. และบุตรทั้งสามของ ส. ผู้คัดค้านย่อมมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายด้วยตามส่วน ถือได้ว่าผู้คัดค้านมีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก

           และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2135/2537 แม้ผู้ร้องไม่ได้เป็นบุตรของเจ้ามรดกแต่เจ้ามรดกจดทะเบียนสมรสกับมารดาผู้ร้อง ระหว่างมีชีวิตเจ้ามรดกและมารดาผู้ร้องมีชื่อร่วมกันในที่ดิน เจ้ามรดกตายก่อนมารดาผู้ร้อง ที่ดินส่วนของเจ้ามรดกตกแก่มารดาผู้ร้องเมื่อมารดาผู้ร้องตาย ดังนี้ ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินมรดก มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้ ส่วนสิทธิในการรับมรดกของเจ้ามรดกว่าทรัพย์สินจะตกได้แก่ผู้ร้องเพียงใดนั้น เป็นกรณีที่จะต้องว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก
          

           ชาติชาย อัครวิบูลย์
 
   ป.พ.พ. มาตรา 1600, 1713

มาตรา 1600 ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้

มาตรา 1713 ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้อง ต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดั่งต่อไปนี้
(1) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหาย ไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขต หรือเป็นผู้เยาว์
(2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัด การ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก
(3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วย ประการใด ๆ

การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งตาม ข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่ข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อ ประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และโดยคำนึงถึงเจตนาของ เจ้ามรดกแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร 
    

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-10-06 10:19:57



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล