ReadyPlanet.com


คนเครียดคนเดิม เรื่องที่ดินมรดก(ถูกครอบครองปรปักษ์)


ถ้าโฉนดเป็นชื่อแม่ปีที่แล้ว เวลาที่เขานับเพื่อที่จะมีสิทธิ์ฟ้องเพื่อครอบครองที่ดินแปลงนั้น นับจากสมัยยายยังมีชีวิตอยู่ (ปัจจุบันยายเสียชีวิตไปแล้ว) หรือนับจากวันที่ชื่อแม่ซึ่งเป็นเจ้าของโฉนดคนปัจจุบัน ตามกฎหมายเขาต้องทำกินบนที่ดินแปลงนั้นโดยสงบ เปิดเผย มากว่าสิบปีถึงมีสิทธิ์ฟ้องเพื่อครอบครองที่ดินตรงนั้นได้ แต่ที่ดินแปลงนี้เจ้าของเดิมเป็นชื่อยาย ตอนนี้เป็นชื่อแม่ เรามีโฉนดถูกต้องตามกฎหมาย เขายังมีสิทธิ์ฟ้องเอาที่ดินตรงนั้นได้อีกเหรอ?



ผู้ตั้งกระทู้ คนไม่รู้กฎหมาย :: วันที่ลงประกาศ 2010-10-19 18:51:54


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2120831)

นับแต่วันที่เขาครอบครองปรปักษ์ ในกรณีของคุณ ถ้าเขาครอบครองปรปักษ์สมัยยายจนครบ 10 ปี แล้ว เขาจะได้กรรมสิทธิ์แล้ว แม้ว่าแม่จะโอนมาเป็นชื่อของแม่แล้วก็ตาม แต่โอนภายหลังจากที่เขาได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว แต่ถ้าแม่ได้รับโอนมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว เขาก็จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ครับ

มาตรา 1299 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือ กฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอัน เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและ ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่
 

ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียน นั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและ โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-10-20 14:28:08


ความคิดเห็นที่ 2 (2120841)

 การนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์
 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 บัญญัติว่าบุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ ตามทางนำสืบปรากฏว่าการครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา เป็นการครอบครองที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของนายชาลี จำเลยทั้งสองจะต้องครอบครองที่ดินดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีจึงจะได้กรรมสิทธิ์ แต่ได้ความว่านายชาลีได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่บิดาโจทก์และมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ก่อนครบกำหนดสิบปี จำเลยทั้งสองจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจยกการครอบครองขึ้นยันบิดาโจทก์ได้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสองได้ขาดตอนตั้งแต่บิดาโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนแล้ว หากจำเลยทั้งสองจะครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจากบิดาโจทก์จะต้องเริ่มนับระยะเวลาการครอบครองที่ดินดังกล่าวใหม่ ตั้งแต่บิดาโจทก์ได้กรรมสิทธิ์มา เมื่อยังไม่ครบสิบปี จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8700/2550

          จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของ ช. เมื่อ ช. ขายที่ดินพิพาทและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บิดาโจทก์ทั้งห้าก่อนจำเลยทั้งสองครอบครองครบกำหนดสิบปี จำเลยทั้งสองไม่อาจยกการครอบครองดังกล่าวขึ้นยันบิดาโจทก์ทั้งห้าได้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสองจึงขาดตอนตั้งแต่บิดาโจทก์ทั้งห้าได้รับโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนแล้ว จำเลยทั้งสองจะต้องเริ่มนับระยะเวลาครอบครองที่ดินพิพาทใหม่ จะนำระยะเวลาที่จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินของ ช. มานับรวมด้วยไม่ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากบิดาโจทก์ทั้งห้าได้กรรมสิทธิ์มายังไม่ครบสิบปี จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์

          แม้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 จะเป็นผู้มอบอำนาจหลายคน แต่ต่างเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินและบ้านพิพาท จึงเป็นผู้มีอำนาจร่วมกันมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 5 ซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกระทำการมากกว่าครั้งเดียวโดยเสียอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 7 (ข) ซึ่งกำหนดไว้ 30 บาท ปรากฏว่าใบมอบอำนาจของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ติดอากรแสตมป์ 30 บาท โจทก์ที่ 5 จึงมีอำนาจฟ้องแทนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ได้


          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดิน และบ้านพิพาทของโจทก์ทั้งห้า และส่งมอบที่ดินและบ้านหลังดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งห้า กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะส่งมอบที่ดินและบ้านพิพาทแก่โจทก์ทั้งห้า
          จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินและออกไปจากบ้านและที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งห้า ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบบ้านและที่ดินดังกล่าวและร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบบ้านและที่ดินแก่โจทก์ทั้งห้า

          จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายชาลี เมื่อปี 2537 นายชาลีได้ขายที่ดินดังกล่าวและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่นายสุนันท์บิดาโจทก์ทั้งห้าตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2541 นายสุนันท์จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งห้าตามสำเนาโฉนดที่ดิน จำเลยทั้งสองอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทมาตั้งแต่ปี 2533 ถึงปัจจุบัน ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อแรกมีว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ทั้งห้าได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากบิดาโจทก์ทั้งห้าโดยการให้โดยเสน่หา ไม่เสียค่าตอบแทนจึงมิใช่บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยทั้งสองสามารถนับระยะเวลาการครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่บิดาโจทก์ทั้งห้ารับโอนกรรมสิทธิ์จากนายชาลีรวมกับระยะเวลาที่โจทก์ทั้งห้าได้รับโอนกรรมสิทธิ์จากบิดาโจทก์ทั้งห้าต่อเนื่องกันมาจนถึงวันฟ้อง เมื่อเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปี จำเลยทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้วนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 บัญญัติว่าบุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ ตามทางนำสืบของจำเลยทั้งสองจะเห็นได้ว่าการครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา เป็นการครอบครองที่ดินพิพาทในขณะที่ที่ดินดังกล่าวยังเป็นกรรมสิทธิ์ของนายชาลี จำเลยทั้งสองจะต้องครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีจึงจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่านายชาลีได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่บิดาโจทก์ทั้งห้าและมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บิดาโจทก์ทั้งห้าก่อนครบกำหนดสิบปี จำเลยทั้งสองจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจยกการครอบครองขึ้นยันบิดาโจทก์ทั้งห้าได้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสองได้ขาดตอนตั้งแต่บิดาโจทก์ทั้งห้าได้รับโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนแล้ว หากจำเลยทั้งสองจะครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจากบิดาโจทก์ทั้งห้าจำเลยทั้งสองจะต้องเริ่มนับระยะเวลาการครอบครองที่ดินดังกล่าวใหม่ จะนำระยะเวลาที่จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินของนายชาลีมานับรวมด้วยไม่ได้ ซึ่งจำเลยทั้งสองยังครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อบิดาโจทก์ทั้งห้าและโจทก์ทั้งห้าได้กรรมสิทธิ์มายังไม่ครบสิบปี จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไว้โดยชอบแล้ว ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีปิดอากรแสตมป์เพียง 30 บาท เป็นการปิดอากรแสตมป์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ แต่เนื่องจากเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยเสียก่อน เห็นว่า แม้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 จะเป็นผู้มอบอำนาจหลายคน แต่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินและบ้านพิพาท จึงเป็นผู้มีอำนาจร่วมกันและมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 5 ซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกระทำการมากกว่าครั้งเดียวต้องเสียอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 7 (ข) ซึ่งกำหนดไว้ 30 บาท ปรากฏว่าใบมอบอำนาจของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ติดอากรแสตมป์ 30 บาท จึงถูกต้องแล้ว โจทก์ที่ 5 มีอำนาจฟ้องแทนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เอกสารหมาย จ. 10 เป็นเอกสารที่โจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารต่อศาลและส่งให้แก่จำเลยทั้งสองก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 จึงไม่อาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้นั้น เห็นว่า เอกสารหมาย จ. 10 เป็นสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลฎีกามีอำนาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
          พิพากษายืน

( เฉลิมเกียรติ ชาญศิลป์ - บุญรอด ตันประเสริฐ - สนอง เล่าศรีวรกต )

หมายเหตุ 

          การนับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ถือเอาระยะเวลาครอบครองของฝ่ายผู้ครอบครองที่ต้องครอบครองติดต่อกัน ไม่ต้องพิจารณาถึงตัวเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกครอบครองว่าจะได้โอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้อื่นหรือไม่ และไม่จำต้องถือเอาทางฝ่ายเจ้าของอสังหาริมทรัพย์แต่ละคนที่รับโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นเกณฑ์ในการเริ่มนับระยะเวลาครอบครองใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนตัวเจ้าของ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5432/2536, 1088/2519, 5086/2532) การที่เจ้าของโอนอสังหาริมทรัพย์ของตนที่มีผู้อื่นครอบครองปรปักษ์อยู่ให้บุคคลภายนอกก่อนครบระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 หากบุคคลภายนอกรับโอนโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1299 วรรคสอง มีผลทำให้การครอบครองปรปักษ์ก่อนหน้านั้นสิ้นไป (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2544) แต่หากบุคคลภายนอกรับโอนโดยไม่สุจริตหรือมิได้เสียค่าตอบแทนย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรา 1299 วรรคสอง ทำให้ผู้ครอบครองปรปักษ์สามารถนับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ติดต่อกันได้

           ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้เป็นการที่ ช. เจ้าของเดิมขายที่ดินพิพาทให้บิดาของโจทก์ทั้งห้าในขณะที่จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินดังกล่าวยังไม่ครบสิบปี จากนั้นบิดาโจทก์ทั้งห้าก็ยกที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งห้า จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าโจทก์ทั้งห้ารับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน แต่มิได้ให้การว่าบิดาของโจทก์ทั้งห้ารับโอนโดยไม่สุจริต จึงไม่มีประเด็นว่าบิดาของโจทก์ทั้งห้าซื้อที่ดินพิพาทมาจาก ช. เจ้าของเดิมโดยไม่สุจริตและต้องถือว่าบิดาโจทก์ทั้งห้าซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 การครอบครองปรปักษ์ของจำเลยทั้งสองจึงขาดตอนตั้งแต่บิดาโจทก์ทั้งห้ารับโอนมาแล้วแม้โจทก์ทั้งห้าจะรับโอนที่ดินพิพาทมาจากบิดาโดยไม่เสียค่าตอบแทนหรือไม่สุจริตแต่จำเลยทั้งสองก็ครอบครองที่ดินดังกล่าวยังไม่ครบสิบปีนับแต่วันที่บิดาโจทก์รับโอนมาจาก ช. จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์        

          สิรภพ รอดภาษา 
                

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-10-20 14:49:56


ความคิดเห็นที่ 3 (2121376)

1.กรณีของแม่ได้ให้ทนายความดำเนินการทำหนังสือ และโอนจากชื่อยายมาเป็นชื่อป้า หลังจากนั้นป้าจึงได้โอนให้แม่โดยเสียค่าตอนแทนให้เจ้าหน้าที่และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว แสดงว่าเราก็จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1299 ใช่หรือไม่ และฝ่ายตรงข้ามก็ไม่สามารถเอากรณีที่เขาทำกินในที่ของเราเกินสิบปีมาเป็นข้อต่อสู้ได้อีกใช่หรือเปล่าคะ

2.ภายในหนึ่งเดือนแรกที่โอนไม่มีใครมาคัดค้านอะไร เขายังมีสิทธิ์ฟ้องได้หรือคะ?

3.กรณีที่ลุงและป้าคนอื่นที่เป็นผู้สืบสันดานของยายยินยอมพร้อมใจให้ป้าเป็นผู้รับโอนจากชื่อยาย แต่ป้าเป็นผู้สืบสันดานลำดับก่อนคนสุดท้ายซึ่งเป็นแม่  ทำแบบนี้จะมีปัญหาอะไรหรือไม่ค่ะ (ลุงและป้าต่างก็ได้รับที่ดินที่โอนเป็นชื่อของตัวเองหมดแล้ว)

ตอบ--รับก่อนเจ้ามรดกตายไม่มีผลอะไรครับ

 



------------------------------------------

1.กรณีของแม่ได้ให้ทนายความดำเนินการทำหนังสือ และโอนจากชื่อยายมาเป็นชื่อป้า หลังจากนั้นป้าจึงได้โอนให้แม่โดยเสียค่าตอนแทนให้เจ้าหน้าที่และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว แสดงว่าเราก็จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1299 ใช่หรือไม่ และฝ่ายตรงข้ามก็ไม่สามารถเอากรณีที่เขาทำกินในที่ของเราเกินสิบปีมาเป็นข้อต่อสู้ได้อีกใช่หรือเปล่าคะ

ตอบ--ถ้าพิสูจน์ได้ก็ใช่ครับ แต่น่าจะมีพิรุธ

2.ภายในหนึ่งเดือนแรกที่โอนไม่มีใครมาคัดค้านอะไร เขายังมีสิทธิ์ฟ้องได้หรือคะ?

ตอบ--- 10 ปี ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-10-21 22:42:31


ความคิดเห็นที่ 4 (2122228)

1.กรณีที่บ้านคือโอนหลังจากยายเสียชีวิตมาสิบกว่าปีแล้วนะคะ เป็นอะไรมั้ยคะ

2.หลังจากป้าโอนที่จากชื่อยายมาเป็นชื่อป้าโดยเสียค่าใช้จ่ายกับเจ้าหน้าที่แล้ว และโอนจากชื่อป้ามาเป็นชื่อแม่ต่อภายในวันเดียวกัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผิดมั้ยคะ

ผู้แสดงความคิดเห็น คนเครียด วันที่ตอบ 2010-10-25 08:44:55



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล