ReadyPlanet.com


แบ่งมรดกค่ะ


อยากทราบว่าอย่างไรเป็นการแบ่งมรดกเสร็จสิ้น ตาม ปพพ.1727 และเมื่อศาลตั้งผจก.มรดกเป็นเวลา 14 ปีแล้วแต่ผจก.ไม่แบ่งตามกฎหมาย  แต่ทายาทได้เข้าครอบครองในส่วนของตนแล้วเช่นนี้จะถือว่าแบ่งเสร็จสิ้นหรือไม่

 



ผู้ตั้งกระทู้ หมูชมพู :: วันที่ลงประกาศ 2011-01-26 15:55:25


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2148473)

มาตรา 1750 การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้ว เอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท

ถ้าการแบ่งปันมิได้เป็นไปตามวรรคก่อน แต่ได้ทำโดยสัญญา จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  เว้นแต่จะมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ในกรณีเช่นนี้ให้นำ มาตรา 850,มาตรา 852 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วย ประนีประนอมยอมความมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-01-26 17:09:38


ความคิดเห็นที่ 2 (2148559)

การแบ่งปันมรดกยังไม่แล้วเสร็จ

ในเดือนเมษายน 2528 เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เดือนธันวาคม 2528 ศาลตั้งนายสุดใจเป็นผู้จัดการมรดก เดือนมีนาคม 2535 นายสุดใจผู้จัดการมรดกถึงแก่ความตาย เดือนมีนาคม 2539 ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกต่อจากนายสุดใจที่ถึงแก่ความตาย เนื่องจากยังเหลือมรดกเป็นที่ดิน 2 แปลงที่ยังไม่ได้แบ่งปันให้ทายาท ในเดือนมีนาคม 2539 เดือนเดียวกันนี้ทายาททุกคนได้ไปให้ถ้อยคำกับพเจ้าพนักงานที่ดินว่าสละไม่รับมรดกยินยอมให้โอนที่ดิน 2 แปลงที่เหลือแก่ผู้คัดค้าน โดยการกระทำดังกล่าวผู้ร้องไม่ได้ร่วมตกลงด้วย กรณีดังกล่าวจึงยังถือว่ายังมีทรัพย์มรดกที่ยังแบ่งปันไม่แล้วเสร็จ

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7448/2544

          หลังจากที่ ศ. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ศ. ต่อมา ส. ถึงแก่ความตาย ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าการจัดการมรดกยังไม่แล้วเสร็จ ยังมีที่ดินอีกสองแปลงที่ยังไม่แบ่งปันแก่ทายาท ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก อ้างว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วและผู้ร้องมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาลตามกำหนด ดังนี้เมื่อปรากฏว่าในระหว่างที่ ส. เป็นผู้จัดการมรดกยังมีทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันคือที่ดินอีก 2 แปลง และไม่ปรากฏว่า ส. ได้จัดการโอนที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านแล้ว แม้บรรดาทายาทอื่นได้ไปให้ถ้อยคำสละไม่รับมรดกต่อเจ้าพนักงานที่ดินและยินยอมให้ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ผู้คัดค้านก็ตาม แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแล้วโดยผู้ร้องมิได้ร่วมตกลงด้วย จึงไม่ผูกพันผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสอง กรณีจึงต้องถือว่ายังมีทรัพย์มรดกที่ยังแบ่งปันไม่แล้วเสร็จในขณะที่ ส. ผู้จัดการมรดกยังมีชีวิตอยู่และมีเหตุต้องจัดการทรัพย์มรดกต่อไป
           แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1728 และมาตรา 1729 จะกำหนดให้ผู้ร้องต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายระบุไว้ และรูปแบบบัญชีจะต้องทำตามแบบในมาตรา 1729 ก็ตาม แต่ขณะผู้ร้องได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกต่อจาก ส. มีทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้จัดการอยู่เพียง 2 รายการ คือ ที่ดิน 2 แปลงเท่านั้นและผู้ร้องได้ทำบัญชีไว้แล้ว แม้จะไม่ทำตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนดก็ตาม เมื่อทรัพย์มรดกที่ผู้ร้องจะต้องจัดการมีเพียง 2 รายการ และมิได้มีข้อยุ่งยากแก่การจัดการ ดังนั้น การที่ผู้ร้องมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกตามรูปแบบและภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 1729 กรณียังไม่พอถือว่าผู้ร้องมิได้ทำบัญชีทรัพย์สินอันเป็นการเพิกเฉยไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดก กรณียังไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก

          คดีสืบเนื่องมาจากเดิมศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายสุดใจ พ่วงศิริเป็นผู้จัดการมรดกของนายศิริ พ่วงศิริ ผู้ตาย ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2535นายสุดใจผู้จัดการมรดกได้ถึงแก่กรรม ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่าการจัดการมรดกไม่แล้วเสร็จเพราะยังมีที่ดินอีก 2 แปลง ที่ยังไม่แบ่งปันแก่ทายาท คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 167196 และที่ดินโฉนดเลขที่ 165235 ผู้ร้องและทายาทอื่นไม่อาจดำเนินการขอรับมรดกที่ดินดังกล่าวเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทได้จึงขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายศิริ พ่วงศิริ แทนนายสุดใจผู้จัดการมรดกคนเดิมซึ่งถึงแก่กรรมไป ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วไม่มีทายาทอื่นคัดค้าน จึงมีคำสั่งลงวันที่ 14 มีนาคม 2539 ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนนายสุดใจ พ่วงศิริ
          ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
          ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านไม่อยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน
          ผู้คัดค้านอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          ผู้คัดค้านฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องมิใช่เป็นบุตรโดยสายโลหิตและมิใช่ทายาทโดยธรรมของนายศิริทั้งไม่มีสิทธิในที่ดินเอกสารหมาย ร.1 และ ร.4 และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนั้น เห็นว่า เป็นข้อที่ผู้คัดค้านเพิ่งจะยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

           สำหรับปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นแล้วไม่มีเหตุที่ต้องจัดการทรัพย์มรดกอีกนั้น เห็นว่าแม้การแบ่งปันมรดกหาจำต้องทำเป็นบันทึกข้อตกลงระหว่างทายาทตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างก็ตาม แต่ต้องเป็นการแบ่งปันมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง เท่านั้นเมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2528 นายศิริเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ครั้นวันที่ 9 ธันวาคม 2528 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้นายสุดใจเป็นผู้จัดการมรดกของนายศิริ ในระหว่างที่นายสุดใจเป็นผู้จัดการมรดกยังเหลือมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปัน คือ ที่ดินอีก 2 แปลงตามเอกสารหมาย ร.1 และ ร.4 ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2535 นายสุดใจผู้จัดการมรดกถึงแก่ความตาย และเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2539 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายศิริต่อจากนายสุดใจและไม่ปรากฏว่านายสุดใจได้จัดการโอนที่ดินตามเอกสารหมาย ร.1 และร.4 ให้แก่ผู้คัดค้านแล้ว ทั้งพฤติการณ์ที่บรรดาทายาท เช่น นางเขียนนายประเสริฐ นางประยงค์ไปให้ถ้อยคำสละไม่รับมรดกต่อเจ้าพนักงานที่ดินและยินยอมให้ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกสารหมาย ร.1 และร.4 แก่ผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2539 ตามฎีกาของผู้คัดค้านนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว โดยผู้ร้องมิได้ร่วมตกลงด้วยแต่อย่างใด จึงไม่ผูกพันผู้ร้องตามมาตรา 1750 วรรคสอง ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ายังมีทรัพย์มรดกที่ยังแบ่งปันไม่แล้วเสร็จในขณะที่นายสุดใจผู้จัดการมรดกยังมีชีวิตอยู่ และมีเหตุต้องจัดการทรัพย์มรดกต่อไป จึงเป็นการชอบแล้ว

          ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ว่า บ้านของผู้ร้องกับบ้านของผู้คัดค้านอยู่ติดกัน ส่วนบ้านของนายประเสริฐและนายสุดใจก็อยู่ในละแวกเดียวกัน โดยอยู่ห่างจากบ้านผู้ร้องเพียง 400 เมตร ผู้ร้องยื่นคำร้องขอโดยมีเจตนาไม่สุจริตปกปิดมิให้ทายาทล่วงรู้การมาร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายศิริ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า ในการนัดไต่สวนคำร้องขอของผู้ร้อง ศาลได้ประกาศนัดไต่สวนแล้วไม่มีผู้ใดคัดค้านจากหลักฐานในสำนวนก็ปรากฏว่ามีการประกาศนัดไต่สวนคำร้องขอของผู้ร้องทางหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอีกด้วย ข้อเท็จจริงที่ผู้คัดค้านนำสืบและฎีกาขึ้นมายังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

          สำหรับปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ผู้ร้องมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1729อันเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1728 และ 1729 จะกำหนดให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายศิริต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายระบุไว้ และแม้รูปแบบบัญชีจะต้องทำตามแบบที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1729 ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ชัดว่า ผู้ร้องได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกต่อจากนายสุดใจซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายศิริคนแรก และในชั้นที่ผู้ร้องได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกนี้ก็มีทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้จัดการอยู่เพียง 2 รายการ คือ ที่ดิน 2 แปลงตามเอกสารหมาย ร.1 และ ร.4 เท่านั้น และเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวผู้ร้องก็ได้ทำบัญชีไว้ตามเอกสารหมาย ร.24 แล้ว แม้จะไม่ได้ทำตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ตาม เมื่อทรัพย์มรดกที่ผู้ร้องจะต้องจัดการมีเพียง2 รายการและมิได้มีข้อยุ่งยากแก่การจัดการ ดังนั้น การที่ผู้ร้องมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกตามรูปแบบและภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1729 ก็ตาม กรณียังไม่พอถือว่าผู้ร้องมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์สิน อันเป็นการเพิกเฉยไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดก กรณียังไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของผู้คัดค้านทุกข้อฟังไม่ขึ้น"
          พิพากษายืน 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2011-01-26 21:08:38


ความคิดเห็นที่ 3 (2148560)

มาตรา 1728 ผู้จัดการมรดกต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดก ภายในสิบห้าวัน
(1) นับแต่เจ้ามรดกตาย ถ้าในขณะนั้นผู้จัดการมรดกได้รู้ถึงการ ตั้งแต่งตามพินัยกรรมที่มอบหมายไว้แก่ตน หรือ
(2) นับแต่วันที่เริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดกตาม มาตรา 1716 ในกรณีที่ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดก หรือ
(3) นับแต่วันที่ผู้จัดการมรดกรับเป็นผู้จัดการมรดกในกรณีอื่น

มาตรา 1729 ผู้จัดการมรดกต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้แล้วเสร็จ ภายในหนึ่งเดือนนับแต่เวลาที่ระบุไว้ใน มาตรา 1728 แต่กำหนดเวลานี้ เมื่อผู้จัดการมรดกร้องขอก่อนสิ้นกำหนดเวลาหนึ่งเดือนศาลจะอนุญาต ให้ขยายต่อไปอีกก็ได้

บัญชีนั้นต้องทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน ซึ่งต้องเป็นผู้มีส่วน ได้เสียในกองมรดกนั้นด้วย

บุคคลซึ่งจะเป็นพยานในการทำพินัยกรรมไม่ได้ตาม มาตรา 1670 จะเป็นพยานในการทำบัญชีใด ๆ ที่ต้องทำขึ้นตามบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายนี้ไม่ได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2011-01-26 21:10:48


ความคิดเห็นที่ 4 (2148574)

   เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทายาทของผู้ตายได้ตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ตายว่าบุคคลใดได้รับยกให้ที่ดินแปลงใดก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตายและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นก็ให้ตกเป็นของบุคคลนั้น จำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแต่ผู้เดียว กรณีจึงเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยทายาทก่อนเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ทายาทอื่นจะเรียกร้องเอาส่วนแบ่งให้ผิดไปจากที่ได้แบ่งปันกันไปแล้วอีกไม่ได้ แม้ภายหลังจำเลยไปยื่นขอจัดการมรดกของผู้ตาย ก็ไม่ทำให้ที่ดินพิพาทกลับกลายเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกันระหว่างทายาท เพราะจำเลยประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทตามสิทธิของตนเท่านั้น มิใช่เพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่นซึ่งสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาทแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8042/2551

          เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย ทายาทของ ส. ตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินของ ส. ว่าบุคคลใดได้รับยกให้ที่ดินแปลงใดก่อน ส. ถึงแก่ความตายและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นก็ให้ตกเป็นของบุคคลนั้น จำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ ส. ถึงแก่ความตายแต่ผู้เดียว กรณีจึงเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยทายาทก่อนเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามจะเรียกร้องเอาส่วนแบ่งให้ผิดไปจากที่ได้แบ่งปันกันไปแล้วอีกไม่ได้ แม้ภายหลังจำเลยไปยื่นขอจัดการมรดกของ ส.ก็ไม่ทำให้ที่ดินพิพาทกลับกลายเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกันระหว่างทายาท เพราะจำเลยประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทเท่านั้น มิใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาทแล้ว

          โจทก์ทั้งสามฟ้อง ขอให้จำเลยเพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 26398 และ 6920 และให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสามเนื้อที่คนละประมาณ 48.33 ตารางวา และ 7 ไร่ 72 ตารางวา (2,872.66 ตารางวา) ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
          จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
          ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตาย นายสงวนศักดิ์บุตรของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต

          ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยไปเพิกถอนพินัยกรรม (ที่ถูก เพิกถอนนิติกรรม) การโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 26398 และ 26920 ตำบลคำเนียม อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2542 และให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 26398 และ 26920 ดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสามภายใน 7 วัน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 26398 และ 26920 ให้แก่โจทก์ทั้งสามเป็นเนื้อที่คนละ 1 ใน 6 ส่วนของเนื้อที่ทั้งหมดของที่ดินทั้งสองแปลง คำขอที่กำหนดระยะเวลาให้จำเลยโอนที่ดินตามส่วนให้แก่โจทก์ทั้งสามให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยรวมทั้งทายาทอื่นของนางสีได้ตกลงแบ่งปันที่ดินพิพาททั้งสองแปลงคดีนี้ให้แก่จำเลยและนางสาวทองแดงเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดกันแล้วหรือไม่ โจทก์ทั้งสามคงมีพยานคือโจทก์ทั้งสามเท่านั้นที่เบิกความว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นทรัพย์มรดกของนางสี เมื่อนางสีถึงแก่ความตายแล้วทายาทของนางสีไม่เคยตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นของจำเลยและนางสาวทองแดงแต่อย่างใด โดยไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน โจทก์ทั้งสามเป็นผู้เรียกร้องขอแบ่งที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่พิพาทย่อมจะเบิกความให้เป็นประโยชน์แก่ตน คำของพยานโจทก์ทั้งสามจึงมีน้ำหนักน้อย ส่วนพยานโจทก์ทั้งสามอีก 3 ปาก คือ นายภิญโญ นางมงคลและนางอุบลรัตน์นั้นก็เป็นเพียงเจ้าพนักงานที่ดินปฏิบัติการตามหน้าที่ไม่ได้รู้เห็นว่าทายาทของนางสีจะมีการตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกหรือไม่ ส่วนจำเลยมีพยานคือตัวจำเลยเบิกความยืนยันว่าหลังจากนางสีถึงแก่ความตาย มีการทำบุญหามารดา พี่น้องทุกคนตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินว่า บุคคลใดทำประโยชน์ที่ดินแปลงใดก็เป็นของบุคคลนั้น หลังจากนั้นจำเลยเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไม่มีบุคคลใดมาเกี่ยวข้องโดยจำเลยมีนางสาวทองแดงและนายอ่อนสีมาเบิกความสนับสนุนและสอดคล้องกับคำของจำเลยโดยเฉพาะนายอ่อนสีเป็นพี่ชายของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และจำเลยกับเป็นอาของโจทก์ที่ 3 และเป็นทายาทคนหนึ่งของนางสี แต่ไม่ได้ฟ้องเรียกร้องเอาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนับว่าเป็นพยานคนกลาง ยิ่งกว่านั้นหากไม่มีการตกลงดังที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้าง นายอ่อนสีย่อมได้รับส่วนแบ่งที่ดินพิพาททั้งสองแปลง การที่นายอ่อนสีมาเบิกความว่า มีการตกลงแบ่งทรัพย์สินหลังมารดาตาย โดยที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตกได้แก่จำเลยจึงเป็นการเบิกความที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองทำให้ตนเสียประโยชน์ไม่ได้รับส่วนแบ่งที่ดินพิพาททั้งสองแปลง คำของนายอ่อนสีมีน้ำหนักรับฟังได้ อนึ่ง แม้จำเลยจะไปโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นชื่อจำเลยแต่ผู้เดียวก็ได้ความจากนางสาวทองแดงเบิกความว่าได้ตกลงให้ใส่ชื่อจำเลยก่อน ซึ่งจำเลยก็เบิกความว่าหากนางสาวทองแดงมาขอแบ่งก็จะแบ่งให้ นอกจากนี้ยังได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ทั้งสามว่าจำเลยได้รับส่วนแบ่งที่ดินจากบิดามารดามากกว่าผู้อื่นเนื่องจากเป็นผู้เลี้ยงดูบิดามารดาซึ่งเป็นประเพณีท้องถิ่นอันเป็นการสอดคล้องกับที่จำเลยนำสืบและโจทก์ที่ 2 ยังเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า บิดามารดายกที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งเป็นที่ทำนาให้แก่จำเลยและนางสาวทองแดง เมื่อบิดามารดาถึงแก่ความตาย จำเลยอาศัยอยู่ในบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 เมื่อมารดาถึงแก่ความตายจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเรื่อยมาและเป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จึงเป็นข้อสนับสนุนว่าได้มีการตกลงแบ่งปันที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยและนางสาวทองแดงจริงดังที่นำสืบ จำเลยจึงได้เป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ ยิ่งกว่านั้นจำเลย นายอ่อนสี และนางสาวทองแดง ยังเบิกความยืนยันว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมารดาตกลงแบ่งให้แก่จำเลยและนางสาวทองแดงแล้วเพียงแต่ยังไม่ได้โอนทางทะเบียนโดยเฉพาะที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 จำเลยปลูกบ้านอยู่อาศัยกับนางสีตั้งแต่ก่อนนางสีถึงแก่ความตายและยังคงอาศัยตลอดมาหลังจากนางสีถึงแก่ความตายซึ่งโจทก์ที่ 2 ก็เบิกความรับรองดังที่วินิจฉัยข้างต้น คำของบุคคลทั้งสามมีน้ำหนักให้รับฟัง เมื่อฟังประกอบข้อเท็จจริงที่ว่า ก่อนนางสีถึงแก่ความตายนอกจากที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแล้ว นางสียังมีที่ดินอีก 5 แปลง ซึ่งนางสีก็ได้แบ่งให้แก่บุตรทุกคนแล้วย่อมไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่แบ่งที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่บุตร เพราะถ้าไม่ตกลงยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยก่อนนางสีตายแล้ว จำเลยก็จะได้ที่ดินน้อยกว่าบุตรคนอื่นซึ่งขัดกับประเพณีท้องถิ่นดังที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยนำสืบว่าบุตรที่เลี้ยงดูบิดามารดาจะได้รับส่วนแบ่งที่ดินมากกว่าบุตรคนอื่น พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อนางสีถึงแก่ความตาย ทายาทของนางสีได้ตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินของนางสีว่าบุคคลใดได้รับยกให้ที่ดินแปลงใดก่อนนางสีถึงแก่ความตายและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นก็ให้ตกเป็นของบุคคลนั้น ทั้งจำเลยและนางสาวทองแดงได้ครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตั้งแต่นางสีถึงแก่ความตายโดยนางสีครอบครองแทนในส่วนของนางสาวทองแดง กรณีจึงต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้นอาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด...” ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจะเรียกร้องเอาส่วนแบ่งจากที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้ผิดไปจากที่ตกลงหาได้ไม่ แม้ภายหลังจำเลยจะไปยื่นคำร้องขอจัดการมรดกก็หาทำให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับกลายเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกันระหว่างทายาทไม่ เพราะการกระทำของจำเลยเป็นเพียงวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนเพื่อให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งสิ้นสิทธิเรียกร้องในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วปัญหาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความมรดกหรือไม่จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป

          พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2011-01-26 21:44:35


ความคิดเห็นที่ 5 (2148587)

ปัญหาว่าฟ้องขาดอายุความหรือไม่  โจทก์อ้างว่าโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามว่า ทุจริต เบียดบัง ยักย้าย ปิดบังทรัพย์มรดก โจทก์จึงใช้สิทธิติดตามเอาคืนจึงไม่ขาดอายุความ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางปาน(ผู้ตาย)ได้ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดก โดยไม่แบ่งมรดกของนางปานให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาท ดังนี้ เป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ปรากฏว่าทรัพย์มรดกของนางปานมีเพียงที่ดินสองแปลงที่พิพาทกันนี้ จำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2519 แล้ว ถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 1 ว่า จัดการมรดกไม่ถูกต้องเกินกว่า 5 ปี นับแต่จำเลยที่ 1 จัดการมรดกเสร็จสิ้น คดีย่อมขาดอายุความ สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรนางปานเจ้ามรดกจึงเป็นทายาทโดยธรรมซึ่งมีสิทธิจะรับมรดก เมื่อผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกให้จำเลยที่ 2 และที่ 3แล้ว  แต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อรับเอาทรัพย์มรดก จึงเป็นคดีมรดกอายุความ 1 ปี โจทก์ฟ้องเกินกว่า 1 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6797/2543
 นายนกเอี้ยงหรือกำพล กิ่งก้าน
      โจทก์
 
นายบุญช่วย กิ่งก้าน กับพวก
      จำเลย

ป.พ.พ. มาตรา 1733, 1754

          โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ป. ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดกโดยไม่แบ่งมรดกให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาท สำหรับจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก เมื่อทรัพย์มรดกมีเพียงที่ดินสองแปลง จำเลยที่ 1ได้จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ไปแล้วถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว โจทก์มาฟ้องเกินกว่า 5 ปีคดีย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตร ป. เป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกย่อมมีความชอบธรรมที่จะรับไว้และครอบครองทรัพย์มรดกได้ด้วยอำนาจของตนไม่เข้าข่ายการปิดบังยักย้ายทรัพย์มรดกและไม่ถือว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อรับเอาทรัพย์มรดก จึงเป็นคดีมรดกมีอายุความ1 ปี ตามมาตรา 1754 โจทก์ฟ้องเกินกว่า 1 ปี จึงขาดอายุความ

          โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่าโจทก์เป็นบุตรของนายสมบุญ นางอนงค์ กิ่งก้าน ที่อยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ซึ่งนายสมบุญยอมรับว่าโจทก์เป็นบุตรและให้การศึกษาอุปการะเลี้ยงดูกับยอมให้โจทก์ใช้ชื่อสกุล นายสมบุญและจำเลยทั้งสามเป็นบุตรในจำนวน 8 คน ของนายแหยม นางปาน กิ่งก้านสำหรับนายแหยมถึงแก่กรรมนานแล้ว นายสมบุญถึงแก่กรรมเมื่อปี 2517นางปานถึงแก่กรรมเมื่อปี 2518 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2537 โจทก์ไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรี ตรวจหลักฐานทรัพย์มรดกของนางปานทราบว่ามรดกของนางปานมีที่ดินโฉนดเลขที่ 481 และที่ดินบางส่วนโฉนดเลขที่ 1207 ตำบลบึงบอน อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่29 ไร่ 2 งาน 38 ตารางวา และ 90 ไร่ ตามลำดับ รวมราคา 72,000,000บาท ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางปานตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 ต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 2519 จำเลยที่ 1ยื่นคำขอลงชื่อจำเลยที่ 1 ฐานะผู้จัดการมรดกของนางปานในที่ดินทั้งสองดังกล่าว และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินบางส่วนโฉนดเลขที่ 1207 ให้แก่จำเลยที่ 2และที่ 3 ครั้นวันที่ 18 พฤษภาคม 2519 จำเลยที่ 1 ฐานะผู้จัดการมรดกโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 481 ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้งที่จำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าโจทก์เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของนางปานเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ ผู้รับมรดกแทนที่นายสมบุญ และจำเลยทั้งสามยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกโดยกลฉ้อฉลและรู้อยู่ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวทำให้โจทก์เสื่อมประโยชน์ จำเลยทั้งสามจึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้ที่ดินทั้งสองแปลง การที่จำเลยทั้งสามลงชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นการครอบครองแทนโจทก์ จำเลยทั้งสามต้องโอนโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามโอนโฉนดที่ดินเลขที่ 481 และ1207 ตำบลบึงบอน อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี โดยให้จำเลยทั้งสามออกค่าภาษี ค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์หากจำเลยทั้งสามไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ได้ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 72,000,000 บาท
          จำเลยทั้งสามให้การว่า เมื่อนางปานถึงแก่กรรม โจทก์และนางอนงค์ตกลงกับฝ่ายจำเลยว่า ที่ดินมรดกเนื้อที่ 10 ไร่ ที่นางปานว่าจะยกให้โจทก์ขอรับเป็นเงินสดแทนและจะไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกอื่นซึ่งโจทก์รับเงินสดจำนวน 32,500 บาท ตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 23กุมภาพันธ์ 2519 โจทก์จึงรับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกทั้งหมดแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1ฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งปันที่ดินตามฟ้องโดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามความประสงค์ของนางปาน จำเลยทั้งสามมิได้ยักย้าย ปิดบังทรัพย์มรดกโดยกลฉ้อฉล จึงไม่ถูกกำจัดมิให้ได้ทรัพย์มรดกจำเลยที่ 1 มิได้ครอบครองที่ดินตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองที่ดินดังกล่าวเพื่อตนเองมิใช่ครอบครองแทนทายาท จำเลยที่ 1 จัดการมรดกสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2519 นับแต่นั้นจนวันที่โจทก์ฟ้องเกินกว่า 5 ปี คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่นางปานถึงแก่กรรม หรือควรรู้ถึงการถึงแก่กรรมของนางปาน ทั้งนี้ภายใน 10 ปี นับแต่นางปานถึงแก่กรรมเมื่อนับถึงวันฟ้องเกินกว่า 18 ปี คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 นอกจากนี้ราคาที่ดินตามฟ้องมิใช่ราคาที่แท้จริง ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
          โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นโดยคู่ความรับกันและไม่โต้เถียงกันว่า โจทก์เป็นบุตรนายสมบุญ กิ่งก้านซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับจำเลยทั้งสามอันเกิดแต่นายแหยมและนางปาน กิ่งก้าน นายแหลมถึงแก่กรรมก่อน ต่อมาปี 2517 นายสมบุญถึงแก่กรรม และต่อมาในปี 2518 นางปานถึงแก่กรรม มีที่ดินโฉนดเลขที่481 และ 1207 ตำบลบึงบอน อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เป็นทรัพย์มรดกวันที่ 7 พฤษภาคม 2519 ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตของนางปานเป็นผู้จัดการมรดก และในวันที่ 17 และ 18 พฤษภาคม 2519จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินทรัพย์มรดกทั้งสองแปลงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยทั้งสามให้โอนที่ดินทรัพย์มรดกแก่โจทก์ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน2537 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องขาดอายุความหรือไม่โจทก์อ้างว่าโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามว่า ทุจริต เบียดบัง ยักย้าย ปิดบังทรัพย์มรดก โจทก์จึงใช้สิทธิติดตามเอาคืนจึงไม่ขาดอายุความ เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางปานได้ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดก โดยไม่แบ่งมรดกของนางปานให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาท ดังนี้ เป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ปรากฏว่าทรัพย์มรดกของนางปานมีเพียงที่ดินสองแปลงที่พิพาทกันนี้ จำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงให้จำเลยที่ 2และจำเลยที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2519 แล้ว ถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 1 ว่า จัดการมรดกไม่ถูกต้องเกินกว่า 5 ปี นับแต่จำเลยที่ 1 จัดการมรดกเสร็จสิ้น คดีย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรนางปานเจ้ามรดกจึงเป็นทายาทโดยธรรมซึ่งมีสิทธิจะรับมรดก เมื่อผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกให้จำเลยที่ 2 และที่ 3แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมมีความชอบธรรมที่จะรับไว้ด้วยสิทธิความเป็นทายาทและย่อมจะครอบครองทรัพย์มรดกได้ด้วยอำนาจของตน กรณีไม่เข้าข่ายการปิดบังยักย้ายทรัพย์มรดก และไม่ถือว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อรับเอาทรัพย์มรดก จึงเป็นคดีมรดกอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754โจทก์ฟ้องเกินกว่า 1 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษายืน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2011-01-26 22:17:41



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล