ReadyPlanet.com


เมื่อบิดารับรองบุตรแล้ว สิทธิในการอุปการะบุตรสามารถทำได้เต็ม 100 หรือไม่


ผมอยู่กินกับภรรยาเก่ามาประมาณ 6 ปี ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีลูกด้วยกัน 1 คน ตอนนี้ลูกอายุ 9 ปี เราแยกทางกันเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยลูกได้อยู่ในความดูแลของผมมาตลอด รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ผมเป็นผู้รับผิดชอบ จนเมื่อ 2 ปี ก่อน ผมเข้ารับราชการและได้ไปจดทะเบียนรับรองบุตร เพื่อให้ลูกสามารถเบิกสวัสดิการได้ และผมได้แต่งงานมีครอบครัวใหม่ ยังไม่มีลูก

ในขณะที่ภรรยาเก่าของผม ไม่ได้ส่งเสียลูกเลย รับลูกไปอยู่ด้วยเป็นครั้งคราว (เสาร์อาทิตย์) ซึ่งนานๆ ที และกลับมาแต่ละครั้ง มีเรื่องให้ปวดหัวตลอด คือเขาจะสอนให้ลูกเกลียดแม่ใหม่ และพูดจาไม่เพราะ ผมกลุ้มใจมาก จนตอนนี้ผมไม่อยากให้เธอมารับลูกไปอีก

ผมอยากปรึกษาว่า เมื่อผมจดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว (โดยทั้งแม่เด็กและลูกของผมเป็นผู้เซ็นเอง) ผมมีสิทธิในการดูแลลูกแค่ไหน ผมเข้าใจว่าศาลต้องให้สิทธิของผู้เป็นมารดามาก่อนอยู่แล้ว หากผมไม่ให้ลูกไปหาแม่เลย เธอจะสามารถฟ้องศาลได้หรือไม่ หรือหากผมต้องการเป็นผู้ดูแลบุตรฝ่ายเดียวผมทำได้หรือไม่

ดูเหมือนผมเห็นแก่ตัวนะครับ แต่บางเรื่องมันมีอะไรอีกมากมาย ที่เราไม่สามารถบรรยายออกมาได้ ผมเพียงอยากปรึกษาเท่านั้นครับ เพื่อหาทางออกและทางแก้ไขต่อไป

ขอบคุณครับ

 



ผู้ตั้งกระทู้ พ่อรักลูก :: วันที่ลงประกาศ 2011-02-11 10:37:48


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2152912)

"ผมเข้ารับราชการและได้ไปจดทะเบียนรับรองบุตร เพื่อให้ลูกสามารถเบิกสวัสดิการได้"

ตอบ---   เมื่อคุณได้จดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว คุณจึงเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมาย และเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองร่วมกับมารดา (แฟนเก่าแม่ของบุตร)

"จนตอนนี้ผมไม่อยากให้เธอมารับลูกไปอีก"

ตอบ---   คงจะไปห้ามไม่ให้เขามาหาลูกไม่ได้ครับ คุณต้องแยกสิทธิของมารดา กับเรื่องส่วนตัวก่อนครับ

"ผมมีสิทธิในการดูแลลูกแค่ไหน"

ตอบ---   คุณมีสิทธิเท่ากับมารดาเด็กครับ เขาก็มีสิทธิ คุณก็มีสิทธิ ตามที่ตอบไว้ข้างต้นก็คือ เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองร่วมกันครับ

"ผมเข้าใจว่าศาลต้องให้สิทธิของผู้เป็นมารดามาก่อนอยู่แล้ว หากผมไม่ให้ลูกไปหาแม่เลย เธอจะสามารถฟ้องศาลได้หรือไม่"

ตอบ---   เมื่อคุณเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองร่วมกับมารดาบุตร สิทธิของมารดาไม่ได้มาก่อนตามที่คุณเข้าใจ แต่ถ้าคุณไม่ให้ลูกไปหาแม่เลยเขามีสิทธิฟ้องศาลได้แน่นอนครับ

"หากผมต้องการเป็นผู้ดูแลบุตรฝ่ายเดียวผมทำได้หรือไม่"

ตอบ---   ต้องเป็นการถอนอำนาจปกครองของมารดาเสียก่อนจึงจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่เพียงผู้เดียวได้ แต่ถ้าไม่ปรากฏว่ามารดาใช้อำนาจปกครองบุตรไม่ชอบอย่างไร ก็คงไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งถอนอำนาจปกครองบุตรได้ครับ

"ดูเหมือนผมเห็นแก่ตัวนะครับ แต่บางเรื่องมันมีอะไรอีกมากมาย"

ตอบ---   ก็แยกเรื่องส่วนตัวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบิดา+มารดากับบุรให้ได้ครับ มีเรื่องถึงศาลไม่เป็นประโยชน์กับฝ่ายใด รวมถึงลูกด้วยครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-12 09:33:45



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล