ReadyPlanet.com


กรณีฝ่ายชายขอหย่า


อาจจะยาวหน่อยนะคะ เนื่องจากช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาฝ่ายชายเจ็บป่วยด้วยโรคเครียดอย่างหนักจนไม่สามารถไปทำงานได้และไม่ใด้รับการดูแลจากผู้เป็นภรรยาเท่าที่ควร เนื่องจากภรรยายังคงเที่ยวกลางคืนและปล่อยให้ลูกทั้งสองคนอยู่ตามลำพัง จนฝ่ายชายอาการดีขึ้นตามลำดับต่อมาฝ่ายชายจึงขอแยกกันอยู่กับภรรยาเนื่องจากการเดินทางระหว่างบ้านและที่ทำงานไกลพอสมควร และเมื่อปลายปีที่ผ่านมาทางฝ่ายสามีได้ขอเลิกและขอหย่ากับภรรยาเก่าด้วยเหตุผลว่าทนพฤติกรรมและนิสัยส่วนตัวของอีกฝ่ายไม่ได้ และอีกฝ่ายก็ยินยอมตามนั้น เพียงแต่ไม่ยอมเซ็นใบหย่า และเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาฝ่ายชายได้ร้องขอให้ฝ่ายภรรยาเก่าเซ็นใบหย่าให้ ด้วยเหตุผลเพราะอยากเจอลูกและไม่อยากสร้างความกดดันกันเอง(เนื่องจากฝ่ายหญิงได้ต่อว่าฝ่ายชายและใช้คำพูดกดดันผ่านทาง Facebook, BB รวมทั้งใด้พูดจากล่าวถึงฝ่ายชายในแง่ไม่ดีต่อหน้าเพื่อนฝูงและครอบครัวฝ่ายชาย) เพราะเป็นห่วงความรู้สึกของลูกทั้งสองคน

ปัจจุบันลูกทั้งสองคนยังอยู่กับฝ่ายภรรยาเก่า และฝ่ายชายยังคงส่งเสียค่าเลี้ยงดูบุตรเช่นเดิม รวมทั้งกิจการร้านกาแฟ รวมทั้งสินสมรสฝ่ายชายได้ยกให้ภรรยาเก่าทั้งหมด แต่การพูดคุยครั้งล่าสุด ฝ่ายภรรยาเก่าไม่ยอมเซ็นใบหย่าให้ พร้อมทั้งท้าว่า ถ้าอยากได้ใบหย่ารวมทั้งลูกๆ ก็ให้ฟ้องร้องเอา

ถ้าเกิดเป็นกรณีเช่นนี้ ฝ่ายชายได้พยายามประนีประนอมแล้วแต่ก็ยังไร้ผล ถ้าเกิดฝ่ายชายต้องการฟ้องหย่าต้องทำอย่างไรบ้าง

 



ผู้ตั้งกระทู้ น้องน้ำมนต์ :: วันที่ลงประกาศ 2011-02-09 13:17:53


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2152144)

"ฝ่ายชายเจ็บป่วยด้วยโรคเครียดอย่างหนักจนไม่สามารถไปทำงานได้"

อาการโรคเครียดไม่ใช่อาการป่วยที่ภรรยาจะสามารถดูแลรักษาได้ แม้แพทย์เองก็คงต้องให้ยาไปลดความเครียดซึ่งกรณีอย่างนี้กฎหมายไม่รับรองว่าเป็นความบกพร่องของภริยาได้

"เนื่องจากภรรยายังคงเที่ยวกลางคืนและปล่อยให้ลูกทั้งสองคนอยู่ตามลำพัง"

การกระทำดังกล่าวของภริยาถ้าได้กระทำเป็นอาจีณ และมีพยานหลักฐานยืนยันได้จริงย่อมเป็นกรณีที่ฝ่ายภริยากระทำการเข้าข่ายเรื่องกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง เมื่อการกระทำนั้นถึงขนาดที่ฝ่ายสามีเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ  แต่อย่างไรก็ตามก็เป็นข้อมูลเพียงฝ่ายเดียว ถ้าหากได้ฟังข้อเท็จจริงของอีกฝ่ายหนึ่งก็อาจมีเหตุผลหักล้างกันได้ กรณีคำตอบอาจเปลี่ยนแปลงไป

"ต่อมาฝ่ายชายจึงขอแยกกันอยู่กับภรรยาเนื่องจากการเดินทางระหว่างบ้านและที่ทำงานไกลพอสมควร"

เป็นการแยกกันอยู่เพราะมีเหตุอันจำเป็นเกี่ยวกับหน้าที่การงานจึงไม่สามารถอ้างเหตุการแยกกันอยู่เป็นสาระสำคัญในการฟ้องหย่าได้ครับ

"ทางฝ่ายสามีได้ขอเลิกและขอหย่ากับภรรยาเก่าด้วยเหตุผลว่าทนพฤติกรรมและนิสัยส่วนตัวของอีกฝ่ายไม่ได้ และอีกฝ่ายก็ยินยอมตามนั้น เพียงแต่ไม่ยอมเซ็นใบหย่า"

ก็แสดงว่าทางภริยาเขาไม่ยินยอมและก็จะไปบังคับเขาไม่ได้ครับ ตอนจดทะเบียนสมรสกันก็ไม่มีใครบังคับ ดังนั้นการจดทะเบียนหย่าก็คงจะไปบังคับฝ่ายใดก็ไม่ได้เช่นเดียวกันครับ

"พร้อมทั้งท้าว่า ถ้าอยากได้ใบหย่ารวมทั้งลูกๆ ก็ให้ฟ้องร้องเอา"

ก็เขาไม่อยากหย่า ดังนั้นถ้าคุณคิดว่าเขามีความผิดจริงก็ต้องไปฟ้องเอาตามที่เขาท้านั่นแหละครับ เพราะอย่างไรเสียก็จะไปบังคับเขาไม่ได้ตามที่ได้ตอบไว้ข้างต้น และเมื่อฟ้องกันจริง ๆ ก็ยังมีข้อสงสัยว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่าอย่างไร เพราะต้องอาศัยข้อเท็จจริงทั้งฝ่าย โดยทั่วไปคนเราก็อยากจะพูดแต่สิ่งดี ๆ ให้กับตนเองซึ่งเป็นธรรมชาติอยู่แล้วไม่ว่ากันครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-09 15:44:39


ความคิดเห็นที่ 2 (2152506)

 
ขอบคุณมากคะสำหรับคำแนะนำ เนื่องจากเป็นปัญหาที่พี่ชายกังวลมาก และรบกวนถามอีกข้อนะคะ ถ้าเป็นกรณีที่ฝ่ายชายต้องการฟ้องหย่า โดยการอ้างสิทธิการดูแลบุตรใด้มั้ยคะ เนื่องจากฝ่ายภรรยาเก่า ไม่มีงานทำ ซึ่งถึงแม้จะมีธุรกิจร้านกาแฟ แต่ก็เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง อนึ่ง ตลอดระยะเวลาที่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันมา การทำธุรกรรมหลายๆ อย่างฝ่ายภรรยาเก่าไม่เคยแจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายเลย จนกระทั้งใด้เลิกรากัน ซึ่งปัจจุบันพี่ชายใด้ให้เงินเดือนทั้งสิ้น หนึ่งแสนห้าหมื่นบาท โดยไม่รวมค่าเล่าเรียนบุตรทั้งสองคน

พอจะมีทางใหนใด้บ้างคะที่สามารถทำให้พี่ชายดำเนินการฟ้องหย่าใด้บ้างคะ

ขอบคุณล่วงหน้ามากๆคะ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น น้องน้ำมนต์ วันที่ตอบ 2011-02-10 17:28:37


ความคิดเห็นที่ 3 (2152650)

"ถ้าเป็นกรณีที่ฝ่ายชายต้องการฟ้องหย่า โดยการอ้างสิทธิการดูแลบุตรใด้มั้ยคะ"

ตอบ ---   เวลาฟ้องก็อ้างได้(ขอศาลได้) แต่ศาลจะพิจารณาประเด็นที่ขอไปอย่างไร ก็ต้องไปว่ากันในชั้นศาล ก็เป็นตามที่ผมแสดงความเห็นไปในคำตอบก่อนหน้านี้คือ ข้อมูลของคุณเป็นข้อมูลฝ่ายเดียว พอไปถึงศาล เขาก็จะมีข้อมูลของเขาตอบโต้อีกเพียบ (มาก) เพราะการดำเนินคดีในชั้นศาลนั้นคู่ความมีอิสระที่จะนำสืบพยานหลักฐานของตนเอง สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับว่าข้ออ้างของใครมีพยานหลักฐานยืนยันสนุบสนุนข้ออ้างของตนมากน้อยกว่ากว่า

ขอให้ความเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของบิดา+มารดา กับบุตร นั้น ศาลจะไม่ค่อยฟันธงให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิโดยเด็ดขาดในการดูแลบุตร นอกจากจะมีเหตุผลอันจำเป็นในแต่ละพฤติการณ์ เพราะเด็กควรได้รับการดูแลจากบิดา และ มารดาไปพร้อม ๆ กัน แม้บิดามารดาจะได้แยกกันอยู่ หรือต่างฝ่ายก็มีสามี และภริยากันใหม่แล้วก็ตาม เพราะเป็นประโยชน์กับเด็กมากกว่าครับ

"เนื่องจากฝ่ายภรรยาเก่า ไม่มีงานทำ ซึ่งถึงแม้จะมีธุรกิจร้านกาแฟ แต่ก็เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง"

ตอบ --  การอุปการะเลี้ยงดูบุตรให้เป็นคนดี เป็นพลเมืองดีของสังคม ไม่จำต้องอาศัยปัจจัยในเรื่องเงินทองเพียงอย่างเดียว ก็มีมารดาจำนวนมากที่ทำไร่ทำสวน และสามารถส่งเสียบุตรจนได้ดี เป็นแพทย์ เป็นผู้พิพากษา ดังนั้นอาชีพการงานไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ศาลจะนำมาชี้ขาดให้เกิดการแพ้ชนะในทางคดีในเรื่องการเลี้ยงดูบุตร

"ตลอดระยะเวลาที่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันมา การทำธุรกรรมหลายๆ อย่างฝ่ายภรรยาเก่าไม่เคยแจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายเลย จนกระทั้งใด้เลิกรากัน"

ตอบ--  ในเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องส่วนตัวของคนสองคน เขามีข้อตกลงกันอย่างไร เขายินยอมกันอย่างไร ยากที่บุคคลภายนอกจะลงความเห็นหรือฟันธง โดยเฉพาะคุณซึ่งเป็นพี่สาวก็คงไม่รู้เสียทุกเรื่อง และคงยากที่จะทำใจเป็นกลางได้เพราะนี่คือธรรมชาติของมนุษย์

"ซึ่งปัจจุบันพี่ชายใด้ให้เงินเดือนทั้งสิ้น หนึ่งแสนห้าหมื่นบาท โดยไม่รวมค่าเล่าเรียนบุตรทั้งสองคน"

ตอบ---  ก็เขาเป็นสามี ภริยา และบุตร กันทั้งสามคน เขาพอใจให้ก็คงจะไปห้ามเขาไม่ได้ แต่ถ้าเขาไม่ให้ เขาก็ยังมีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ ไม่ว่าจะฟ้องในฐานะภริยาชอบด้วยกฎหมาย หรือในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตร เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้สามีภริยาต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน และบิดา+มารดามีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรและให้การศึกษาตามฐานานุรูปของตน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-11 11:10:13



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล