ReadyPlanet.com


สอบถามเรื่องการฟ้องครอบครองปรปักษ์ครับ


ตาเสียชีวิต  ยายเป็นผู้จัดการมรดก ต่อมายายเสีย ทั้งสองไม่มีลูก แต่เอาแม่ของผมมาเลี้ยงตั้งแต่เด็กแม่ทำกินบนที่นามาเกือบสามสิบปี โดยเปิดเผย และไม่มีผู้ใดคัดค้าน กรณีแบบนี้แม่สามารถฟ้องครอบครองปรปักษ์ได้หรือเปล่าครับ ไม่มีเอกสารที่แสดงว่าเป็นบุตรบุญธรรม แต่อยู่ด้วยกันจริงๆ   ทำอย่างไรถึงจะได้ครอบครองที่ดินของตาครับถ้าฟ้องแล้วจะได้รึเปล่าครับ ขอบคุณมากๆ (ชื่อในโฉนดเป็นชื่อยายแต่มีวงเล็บต่อท้าย..ผู้จัดการมรดก)



ผู้ตั้งกระทู้ นัท :: วันที่ลงประกาศ 2011-02-07 22:00:53


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2151889)

เมื่อตา เสียชีวิต มรดกของตาตกได้แก่ ทายาทของตา

ปัญหาว่า ยายเป็นทายาทของตายหรือไม่??  ข้อเท็จจริงตรงนี้ผมไม่มีจึงได้แต่ เดาเอาว่า

1. ยายเป็นภรรยา ของตาไม่จดทะเบียนสมรส จึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของตา แต่ทรัพย์ที่ตามีชื่ออยู่อาจเป็นทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน มีลักษณะเป็นเจ้าของรวม ยายมีสิทธิกึ่งหนึ่ง จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ แต่เนื่องจากส่วนของตนมีอยู่ครึ่งเดียวจึงโอนเป็นชื่อของยายทั้งแปลงไม่ได้ ยายจึงปล่อยให้เป็นชื่อของผู้จัดการมรดกถือกรรมสิทธิ์ ตามที่เล่ามาครับ

ในกรณีนี้ ยายเสียชีวิต ที่ดินส่วนของตา ไม่มีทายาทตกได้แก่แผ่นดิน ส่วนของยายตกได้แก่ทายาท แต่ไม่ปรากฏว่ามีทายาทเข้ามารับมรดกของยาย จึงตกได้แก่แผ่นดินโดยผลของกฎหมาย

2. กรณีที่ 2 ยายเป็นทายาทของตา เพราะเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายใหม่ (จดทะเบียนสมรส)  เมื่อตายเสียชีวิต ถ้าที่ดินแปลงนี้เป็นสินส่วนตัวของตาแต่เพียงผู้เดียว จะตกได้แก่ยายผู้เป็นทายาทโดยธรรมทั้งแปลง ยายร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก แต่ไม่ทันได้โอนเป็นกรรมสิทธิ์ของยาย แต่ยายก็มาเสียชีวิตเสียก่อน ที่ดินดังกล่าวเป็นมรดกของยาย ตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของยาย แต่ไม่ปรากฏว่ายายมีทายาทโดยธรรม มรดกของยายตกได้แก่แผ่นดิน

สำหรับการครองครองปรปักษ์

ขอตอบดังนี้ ระหว่างที่ตาและยายยังมีชีวิตอยู่ โอกาสที่คุณจะครอบครองด้วยเจตนาอย่างเป็นเจ้าของนั้นยากมาก เพราะถ้าทำพฤติกรรมอย่างนั้นก็คงเข้าข่ายเนรคุณ เพราะการครอบครองปรปักษ์ก็คือการโกงโดยมีกฎหมายรับรองว่าทำได้ (คือโกงอย่างถูกกฎหมาย)คงเพื่อลงโทษเศรษฐีที่มีที่ดินจำนวนมากไม่มีเวลาไปดูแล แต่อย่างไรก็ตาม กลับมาประเด็นที่ว่า คุณมีเจตนาจะเอาที่ดินของยายหรือตาก็แล้วแต่เมื่อใดแลกะวิธีการเป็นอย่างไร เช่น มีหนังสือถึงเจ้าของกรรมสิทธิ์ว่า ต่อไปนี้ผมไม่ต้องการจะครอบครองที่ดินในฐานะครอบครองแทนเจ้าของอีกต่อไป ที่ดินแปลงนี้ของผมแล้ว อยากได้คืนไปฟ้องเอาเอง การครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเรื่องยุ่งยากไม่น้อย แต่ในทางกลับกัน ยายอนุญาตให้คุณแม่ทำมาหากินและอยู่ด้วยกันฉันลูกฉันหลานกันมาช้านาน (30 ปี) อย่างนี้ การครองครองอย่างเจตนาเป็นเจ้าของยังไม่เริ่มนับ แม้จะครอบครองเกิน 30 ปี ก็ไม่อาจอ้างครอบครองปรปักษ์

กรณีต่อมา เมื่อที่ดินที่เจ้ามรดกไม่มีทายาท ย่อมตกแก่แผ่นดินด้วยผลของกฎหมาย เมื่อคุณครอบครองของตา หรือของยายยังไม่ครบ 10  ปี และต่อมาที่ดินตกเป็นของแผ่นดิน มีผลทำให้การครอบครองต้องสดุดหยุดลงเพราะเหตุไม่สามารถอ้างครอบครองปรปักษ์ยันทรัพย์สินของแผ่นดินได้

เนื่องจากข้อเท็จจริงที่จะวินิจฉัยมีจำกัดจึงตอบได้ตามที่พอจะคาดเดาข้อเท็จจริงเพียงนี้

มาตรา 1599 เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท

มาตรา 1753 ภายใต้บังคับแห่งสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดกเมื่อ บุคคลใดถึงแก่ความตายโดยไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรม มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่แผ่นดิน

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-08 21:01:25


ความคิดเห็นที่ 2 (2151890)

เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตาย โดยไม่มีทายาทโดยธรรม มรดกตกทอดแก่แผ่นดิน เจ้าหนี้ของผู้ตายจะบังคับชำระหนี้ได้ต่อเมื่อมีการตั้งผู้จัดการมรดกขึ้นแล้ว หากไม่มีผู้จัดการมรดกเจ้าหนี้ก็ไม่อาจได้รับชำระหนี้ได้ ดังนั้นจึงต้องถือว่าเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอต่อศาลขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกได้

คำพิพากษา ศาลฎีกาที่  1695/2531

  กองมรดกซึ่งไม่มีทายาทนั้น แม้มรดกจะตกทอดแก่แผ่นดิน  แผ่นดินก็มิใช่ทายาท เจ้าหนี้ไม่อาจบังคับชำระหนี้จนกว่าจะได้ตั้งผู้จัดการมรดกขึ้น และหากไม่มีผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใด เจ้าหนี้ก็ไม่มีทางได้รับชำระหนี้ได้เลย การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากกองมรดกขึ้นอยู่กับการที่กองมรดกมีผู้จัดการมรดก ในกรณีเช่นนี้ จึงต้องถือว่าเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713

  ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่ง ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ววินิจฉัยว่าผู้ร้อง ในฐานะเจ้าหนี้มิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้ง ผู้จัดการมรดก ให้ยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนฟังได้ว่านายเนียม  ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2522  นายเนียมไม่มีทายาท นางทาเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของนายเนียมศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางทาเป็นผู้จัดการมรดกของนายเนียมตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1280/2526 แต่การจัดการมรดกยังไม่เสร็จนางทาได้ถึงแก่กรรม ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทของนางทาได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางทา ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางทาตามคดีแพ่งหมาย เลขแดงที่  477/2527 ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกไม่มีทายาทจึงยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็น ผู้จัดการมรดกของนายเนียมเป็นคดีนี้

          พิเคราะห์ แล้ว คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่าผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกของนายเนียมซึ่งไม่มี ทายาทเป็นผู้มีส่วนได้เสียอันจะทำให้มีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า กองมรดกซึ่งไม่มีทายาทนั้นแม้มรดกจะตกทอดแก่แผ่นดิน แผ่นดินก็มิใช่ทายาท เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้จนกว่าจะได้ตั้งผู้จัดการมรดกขึ้น และหากไม่มีผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใด เจ้าหนี้ก็ไม่มีทางได้รับชำระหนี้ได้เลย การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากกองมรดกจึงขึ้นอยู่กับการที่กองมรดกมี ผู้จัดการมรดก ในกรณีเช่นนี้ต้องถือว่าเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องต่อศาล ขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713

          ส่วนปัญหาที่ว่า สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่นั้นเห็นว่า แม้ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้กองมรดก ซึ่งตามปกติย่อมมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก แต่เมื่อไม่ปรากฏว่ามีผู้มีส่วนได้เสียอื่นอีก และพนักงานอัยการก็มิได้คัดค้านไว้ จึงเห็นสมควรตั้งให้ตามที่ขอ"

          พิพากษากลับ ให้ตั้งนายชื่น  ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายเนียม  ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย และแจ้งคำสั่งนี้ให้พนักงานอัยการทราบด้วย


( เสียง ตรีวิมล - จุนท์ จันทรวงศ์ - ปชา วรธรรมพินิจ )

หมายเหตุ

          1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 บัญญัติว่า"ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ฯลฯ"

           ข้อเท็จจริงคดีนี้สรุปได้ว่า ผู้ร้องอ้างว่าเป็นเจ้าหนี้ของผู้ตายโดยผู้ตายไม่มีทายาท เจ้าหนี้จึงมาร้องขอให้ศาลตั้งเจ้าหนี้เป็นผู้จัดการมรดก ปัญหามีว่า เจ้าหนี้ของผู้ตายที่ไม่มีทายาทมีอำนาจร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้หรือไม่

          2. มาตรา 1753 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับแห่งสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดก เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายโดยไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรม มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่แผ่นดิน" ดังนั้น เมื่อ น. ผู้ตายไม่มีทายาท มรดกของน. ก็ตกทอดแก่แผ่นดิน แต่เนื่องจากการตกทอดนี้เป็นผลตามบทบัญญัติของกฎหมายและตามมาตรา 1603 ได้ระบุว่าทายาทมีสองประเภทเท่านั้น คือทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมายเรียกว่า ทายาทโดยธรรมและทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรมเรียกว่า ผู้รับพินัยกรรม ดังนั้นในกรณีที่มรดกของผู้ตายที่ไม่มีทายาทให้ตกทอดแก่แผ่นดิน แผ่นดินจึงไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย แต่ถ้าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของตนให้แก่แผ่นดิน เช่นยกที่ดินให้กรมสามัญศึกษา กรมสามัญศึกษาก็อาจเป็นทายาทของผู้ตายได้

           ทายาทนั้นนอกจากมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก และสิทธิต่าง ๆแล้วยังมีหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ด้วยตามมาตรา 1600 ทั้งนี้เจ้าหนี้กองมรดกจะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทคนใดก็ได้ตาม มาตรา 1737 แต่ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตนตามมาตรา 1601 ฎีกานี้จึงวินิจฉัยในชั้นต้นว่า แผ่นดินไม่ใช่ทายาทของผู้ตายตามมาตรา 1753 เพราะหากแผ่นดินเป็นทายาทแล้วเจ้าหนี้ก็ย่อมไม่มีอำนาจร้องขอ

          3. ข้อควรพิจารณาต่อไปว่า แผ่นดินตามความหมายของมาตรา 1753 หมายถึงผู้ใด ผู้เขียนเห็นว่า น่าจะหมายถึง กรมธนารักษ์กระทรวงการคลัง ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบเก็บรักษาทรัพย์สินของรัฐและจัดทรัพย์สินของรัฐ  ด้วยเหตุนี้ ถ้ามรดกที่ตกทอดแก่แผ่นดินนั้น เป็นทรัพย์สินมีมูลค่ามากกว่าหนี้สิน แผ่นดินโดยกรมธนารักษ์น่าจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ที่จะเป็นผู้มีอำนาจร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก เพื่อแสดงแก่บุคคลภายนอกและรับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดกมาเป็นของแผ่นดิน

          4. เข้าใจว่าคดีนี้ น. ผู้ตายน่าจะมีทรัพย์สินน้อยกว่าหนี้สิน และแผ่นดินไม่ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของผู้ตายจึงได้ร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก ปัญหาว่าเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียมีอำนาจร้องหรือไม่

           ในกรณีผู้ตายมีทายาท และทายาทปฏิเสธไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดก อาจฟ้องให้ทายาทคนใดรับผิดก็ได้ตามมาตรา 1734,1737 ดังนั้น ถ้าผู้ตายมีทายาท เจ้าหนี้จึงไม่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ไม่มีอำนาจร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก (คำพิพากษาฎีกาที่ 1098/2523,267/2524)

           แต่ในกรณีผู้ตายไม่มีทายาท เจ้าหนี้ไม่มีทางใช้สิทธิเรียกร้องเอาชำระหนี้จากบุคคลใดได้ โดยเฉพาะในกรณีนี้ จะฟ้องแผ่นดินก็ไม่ได้เพราะแผ่นดินไม่ใช่ทายาทดังกล่าว แล้วศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่จึงวินิจฉัยว่า เจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้

          5. ข้อน่าคิดประการแรกว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวนเช่นเดียวกันกับคดีขอจัดการมรดกทั่วไปน่าจะ ไม่เพียงพอ ผู้เขียนเห็นว่า เมื่อแผ่นดินเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงแต่ไม่อาจจะรู้ถึงสิทธิของตน หรือรู้แล้วแต่คิดว่าผู้ตายไม่มีทรัพย์สินที่จะเหลือตกทอดแก่ตนก็ตาม ศาลชอบที่จะสำเนาคำร้องขอ และแจ้งวันกำหนดนัดไต่สวนให้แผ่นดิน คือกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังทราบเพื่อจะคัดค้านหรือไม่คัดค้านคำร้องขอ และพิจารณาว่าควรจะเข้ามาในคดีหรือไม่ด้วย

           ข้อน่าคิดประการต่อไป ในกรณีเจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอนั้นจักต้องร้องขอภายในอายุความมรดกที่บังคับ ให้เจ้าหนี้ฟ้องให้กองมรดกรับผิดชำระหนี้ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตามมาตรา 1754 วรรคสามหรือไม่

           ตามคดีจัดการมรดกทั่วไปไม่มีบทบัญญัติกำหนดอายุการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ดังนั้นจะยื่นคำร้องขอภายหลังเจ้ามรดกตายแล้วกี่ปีก็ได้ แต่กรณีเจ้าหนี้เป็นผู้ร้องเพื่อเอาทรัพย์มรดกชำระหนี้แก่ตน ก่อนนั้นมีอายุความมรดกกำหนดหนึ่งปีดังกล่าวข้างต้นผู้เขียนจึงเห็นว่า เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของลูกหนี้ที่ไม่มีทายาทภายในอายุ ความมรดกหนึ่งปีเช่นกัน แต่คดีนี้ น.ลูกหนี้ตายเมื่อ 14 สิงหาคม 2522 ท. เจ้าหนี้ น.ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อ พ.ศ. 2526 ท.ตายผู้ร้องทายาทของ ท.ก็ใช้สิทธิของท. มาร้องขอจัดการมรดกของ น.ต่อมาอีกเป็นคดีนี้ซึ่งเกินกำหนดอายุความมรดก 1 ปีแล้ว แต่เนื่องจากแผ่นดินไม่อาจรู้หรือควรได้รู้ว่า กองมรดกของ น. ไม่มีทายาทจึงไม่ได้เข้ามาในคดี และไม่มีโอกาสยกอายุความมรดกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ผู้ร้องและศาลฎีกาจะหยิบยกปัญหาดังกล่าวมาวินิจฉัยเป็นมูลยกฟ้องก็ไม่ได้ตามมาตรา 193

           สรุปแล้ว ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยว่า ในกรณีลูกหนี้ผู้ตายไม่มีทายาท เจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ แต่ศาลควรแจ้งให้แผ่นดินคือกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังทราบเพื่อใช้สิทธิเข้ามาในคดี และการร้องขออยู่ในบังคับอายุความมรดกตามมาตรา 1754

           อัมพรณตะกั่วทุ่ง

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-08 21:02:36


ความคิดเห็นที่ 3 (2152270)

"ยายเสียประมาณปี 42 ซึ่งตอนนั้นเข้าใจว่าที่ดินเป็นของยายแล้ว"

---ถามว่าทำไมต้องเข้าใจว่าที่ดินเป็นของยายแล้ว??? ที่ถามคุณอย่างนี้เพราะข้อเท็จจริงพวกนี้สามารถตรวจสอบได้ที่หลังโฉนดที่ดินว่ามีการโอนเปลี่ยนมือกันมาอย่างไรก็จะทราบความเป็นโดยไม่ต้องลังเลว่าที่ดินตกเป็นของยายอย่างสมบูรณ์หรือไม่ และเพราะเหตุใด สำนักงานที่ดินจึงโยนลูกไปที่เรื่องตาคือทีบอกว่า พี่น้องของตาตายหมดแล้ว ข้อมูลตรงนี้ต้องไปทำความเข้าใจให้ชัดเจนเสียก่อนว่า มรดกของตาคือที่ดินทั้งแปลงหรือครึ่งหนึ่ง

ถ้าที่ดินแปลงนี้ยายเป็นเจ้าของครึ่งหนึ่งคุณก็สามารถจัดการได้ครึ่งหนึ่งเพราะคุณบอกว่ายายทำพินัยกรรมยกให้แล้ว

สรุปว่า คุณไปตรวจสอบโฉนดที่ดิน หรือศึกษารายละเอียดในโฉนดที่ดินว่าก่อนหน้าที่จะโอนมาให้ยายในฐานะผู้จัดการมรดกนั้น เป็นของใครอย่างไร?? แล้วค่อยกลับมาถามผมอีกครั้งหนึ่งก็ได้ ผมยินดีให้คำปรึกษาครับ  084 130 2058

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-09 21:41:27



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล