ReadyPlanet.com


การกู้ร่วมของพี่ชายที่เสียชีวิตและทรัพย์สิน


 

ขอปรึกษาค่ะ

1. พี่ชายได้เสียชีวิตลง มีภรรยา แต่ไม่มีบุตร ระหว่างที่มีชีวิตอยู่ได้กู้บ้านร่วมกับ

น้องสาว (กู้ร่วม) แต่หักบัญชีธนาคารน้องสาวมาตลอด การกู้ดังกล่าวพี่ชายทำหลังจากแต่งงานแต่ยังไม่จดทะเบียน  ในภายหลังจึงได้จดทะเบียนกับภรรยา เมื่อพี่ชายเสียชีวิตลง ภรรยาได้แต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก และได้บ่ายเบี่ยงในการจัดการเรื่องบ้านที่พี่ชายกู้ร่วมกับน้องสาว  บ้านดังกล่าวภรรยาจะมีสิทธิหรือไม่ และจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้เป็นของน้องสาว
2 หากต้องการยื่นคัดค้านการเป็นผู้จัดการมรดกจะต้องทำอย่างไร  ทราบว่าเรื่องราวเสร็จสิ้นตั้งแต่ พย 2553 แต่ภรรยาพี่ชายไม่ติดต่อหรือชี้แจงใด ๆ จะทำได้หรือไม่ อย่างไร ต้องจ้างทนายความหรือไม่ และคาดว่าบ้านที่เป็นชื่อของพี่ชาย หลังจากภรรยาได้เป็นผู้จัดการมรดก คงแจ้งเปลี่ยนเป็นชื่อภรรยาแล้วจะทำอย่างไรได้บ้างค่ะ
3. ทรัพย์สินหลายรายการของพี่ชาย ได้มาตอนหลังแต่งงานกับภรรยา เช่น บ้าน หุ้น แต่ก่อนที่จะจดทะเบียนสมรส  เช่นนี้ถือว่าเป็นสินสมรสหรือไม่  พ่อแม่จะมีสิทธิได้รับหรือไม่ค่ะ ถ้าได้จะแบ่งกัน 3 ส่วน หรือ 2 ส่วนค่ะ
4. หากสนใจใช้บริการทนายความเพื่อขอความเป็นธรรม ในคดีดังกล่าวสำนักงานจะรับหรือไม่ค่ะ และค่าใช้จ่ายคิดอย่างไร หรือประมาณเท่าไรค่ะ 
ขอบพระคุณค่ะ

 



ผู้ตั้งกระทู้ จีน :: วันที่ลงประกาศ 2011-02-05 11:29:26


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2150997)

1. บ้านดังกล่าวภรรยาจะมีสิทธิหรือไม่ และจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้เป็นของน้องสาว?

ตอบ--- ผมเข้าใจว่า ที่ดินพร้อมบ้านที่พูดถึงนี้มีชื่อคุณซึ่งเป็นน้องสาวและพี่ชายซึ่งคือผู้ตาย ร่วมกันในโฉนดที่ดิน และขณะนี้ได้ทำสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้เงินกู้ซึ่งมีผู้ตายและคุณเป็นลูกหนี้ร่วมกัน

สิ่งที่ควรรู้คือ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของใคร ตอบว่า เป็นเจ้าของรวมระหว่างผู้ตายและคุณ มีสิทธิคนละครึ่งหนึ่ง

สำหรับการชำระหนี้เงินกู้ มีข้อตกลงกับเจ้าหนี้ว่าให้หักบัญชีของคุณก็เป็นวิธีการในการชำระหนี้เท่านั้น เว้นแต่พี่ชายเป็นเพียงผู้ถือแทน ซึ่งแท้จริงแล้วพี่ชายไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อเจ้าของรวมคนหนึ่งได้ตายลง สิทธิในความเป็นเจ้าของกึ่งหนึ่งนั้นจึงเป็นมรดกของผู้ตายที่ตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย

ทายาทโดยธรรมของผู้ตายคือใคร??    1. บิดา มารด 2. ผู้สืบสันดาน และคู่สมรส (ไม่มี) 3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4. พี่น้องร่วมเพียงบิดา หรือร่วมเพียงมารดา  (ในข้อ 3 และ 4 ต้องเป็นกรณี ถ้าไม่มีบิดา มารดา ผู้สืบสันดาน และคู่สมรส) 

ตามข้อมูลที่เล่ามาเข้าใจว่า ไม่มีบิดา มารดา ผู้สืบสันดาน ดังนั้นคู่สมรสของผู้ตายจึงเป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ส่วนน้องสาวถูกทายาทซึ่งเป็นคู่สมรสตัดออกไปแล้วจึงไม่อยู่ในฐานะทายาทโดยธรรม

สรุป ที่ดินพร้อมบ้านครึ่งหนึ่งเป็นมรดกของผู้ตายตกได้แก่ทายาทคือ คู่สมรสของผู้ตาย ส่วนอีกครึ่งหนึ่งที่เป็นส่วนของน้องสาวก็ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของน้องสาวอยู่ดังเดิม

คำถามว่า จะสามารถทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้เป็นของน้องสาว?

ตอบได้ว่าคงทำอะไรไม่ได้ครับ เพราะอย่างไรเสียสิทธิต่าง ๆ ก็ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายรับรองไว้

2 .หากต้องการยื่นคัดค้านการเป็นผู้จัดการมรดกจะต้องทำอย่างไร  ทราบว่าเรื่องราวเสร็จสิ้นตั้งแต่ พย 2553 แต่ภรรยาพี่ชายไม่ติดต่อหรือชี้แจงใด ๆ จะทำได้หรือไม่ อย่างไร ต้องจ้างทนายความหรือไม่ และคาดว่าบ้านที่เป็นชื่อของพี่ชาย หลังจากภรรยาได้เป็นผู้จัดการมรดก คงแจ้งเปลี่ยนเป็นชื่อภรรยาแล้วจะทำอย่างไรได้บ้างค่ะ

ตอบ---  การยื่นคัดค้านการเป็นผู้จัดการมรดก

---ต้องดำเนินการก่อนที่ศาลตั้งผู้จัดการมรดก ถ้าศาลได้ตั้งแล้วก็ไม่มีสิทธิคัดค้านอะไรได้

            *บ้านคงเปลี่ยนชื่อเป็นของภรรยาแล้วจะทำอย่างไรได้บ้างค่ะ??

--- ตามคำตอบข้อ 1. คงพอเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของทายาทโดยธรรมแล้วนะครับ เมื่อเขาเป็นทายาทโดยธรรมและฐานะผู้จัดการมรดก เขาก็มีสิทธิที่จะลงชื่อของเขาเป็นผู้รับมรดกของสามีเขาได้ครับ แต่จะไม่เกี่ยวกับส่วนครึ่งหนึ่งของคุณ

3. ทรัพย์สินหลายรายการของพี่ชาย ได้มาตอนหลังแต่งงานกับภรรยา เช่น บ้าน หุ้น แต่ก่อนที่จะจดทะเบียนสมรส  เช่นนี้ถือว่าเป็นสินสมรสหรือไม่  พ่อแม่จะมีสิทธิได้รับหรือไม่ค่ะ ถ้าได้จะแบ่งกัน 3 ส่วน หรือ 2 ส่วนค่ะ

ตอบ-- สรุปแล้วผู้ตายยังมีพ่อแม่อยู่หรือไม่??ครับ

ทรัพย์สินใดเป็นสินสมรส ทรัพย์สินใดเป็นสินส่วนตัวมีหลักพิจารณาคือ

เมื่อมีการจดทะเบียนสมรสกันเมื่อใด ถ้ามีทรัพย์สินที่ได้รับมาโดยเงินทองที่หาได้หลังการจดทะเบียนสมรส ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ทำมาหาได้ก็ถือว่าเป็นสินสมรส

แล้วทรัพย์สินของสามี ภริยาที่อยู่กินด้วยกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสจะเป็นอย่างไร??

การที่สามีภรรยา ไม่จดทะเบียนสมรส เป็นการทำสัญญาหุ้นส่วน ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินก่อนจดทะเบียนจึงเป็นเจ้าของรวมก็มีสิทธิเรียกร้องแบ่งได้ครับ

4. หากสนใจใช้บริการทนายความเพื่อขอความเป็นธรรม ในคดีดังกล่าวสำนักงานจะรับหรือไม่ค่ะ และค่าใช้จ่ายคิดอย่างไร หรือประมาณเท่าไรค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ

ตอบ-- โทร. 084 130 2058

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-05 14:11:09



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล