ReadyPlanet.com


เรื่องของการขายฝากคะ


จดทะเบียนเปิดร้านรับซื้อ-ขายสินค้ามือสอง  และไปจดทะเบียนค้าของเก่าไว้เรียบร้อยคะ  กำลังจะเปิดร้าน พอดีมีเพื่อนกันทำร้านรับซื้อขายโทรศัพท์มือถือคะโดนตำรวจเชิญตัวไปโรงพัก เพราะมีคนไปฟ้องว่าร้านคิดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่ากฏหมายกำหนด  โดยทำหนังสือสัญญาขายฝากกำหนด 10 วัน อัตราซื้อคืนเพิ่ม 10%  ไม่ทราบว่าตำรวจสามารถดำเนินคดีกับเพื่อนได้หรือเปล่าคะ เพราะดิฉันก็จะทำขายฝากเช่นกัน แล้วถ้าดิฉันรับฝากเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้ามาแล้วต้องกำหนดอัตราเท่าไหร่คะถึงจะถูกต้องตามกฏหมาย  ไม่อยากเป็นคดีความเหมือนเพื่อนคะ รบกวนด้วยคะ



ผู้ตั้งกระทู้ อรุณพร (sindy_toom-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2011-02-26 13:06:17


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2156693)

กฎหมายกำหนดให้คิดประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี

มาตรา 499    สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กำหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก
 

ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีให้ไถ่ได้ตามราคาขาย ฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-27 01:58:48


ความคิดเห็นที่ 2 (2156735)

ผู้ซื้อฝากคิดดอกเบี้ยจากผู้ขายฝากเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

คู่สัญญาขายฝากกำหนดค่าสินไถ่กันไว้เป็นเงิน 310,000 บาท แต่ผู้ขายฝากยืนยันว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเพียง 200,000 บาท การที่ผู้ขายฝากกล่าวอ้างราคาขายฝากผิดไปจากจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญาขายฝากเป็นการอ้างพยานบุคคลมาหักล้างพยานเอกสาร เมื่อผู้ขายฝากไม่ไถ่ทรัพย์ในเวลากำหนดและตามราคาขายฝากตามสัญญาเป็นการชำระหนี้ที่ไม่ถูกต้องตามมูลหนี้ ผู้ซื้อฝากบอกปัดไม่ยอมให้ไถ่คืนได้ คดีนี้  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบที่ดินพร้อมบ้านพิพาทอันเป็นทรัพย์สินซึ่งขายฝากให้แก่โจทก์ในสภาพที่ซ่อมแซมดีแล้ว ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8591/2547

          พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 12 ไม่ใช้บังคับแก่นิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ การที่จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมบ้านกับโจทก์เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2541 ก่อน พ.ร.บ. ดังกล่าว และ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคสอง มีผลใช้บังคับ จึงนำ พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและ ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคสอง ที่ให้สิทธิแก่ผู้ขายฝากไถ่ทรัพย์ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปีมาปรับใช้แก่คดีนี้ไม่ได้ เมื่อสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมบ้านระบุราคาขายฝากไว้จำนวน 310,000 บาท การที่จำเลยอ้างตนเองและบุคคลอื่นสืบเป็นพยานเพื่อแสดงถึงราคาขายฝากที่แท้จริงว่ามีราคาเพียง 200,000 บาท เป็นการนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) จึงต้องฟังว่าคู่สัญญากำหนดสินไถ่ไว้เป็นเงิน 310,000 บาท แต่จำเลยขอไถ่ในราคา 230,000 บาท อันเป็นการปฏิบัติการชำระหนี้ที่ไม่ถูกต้องตามมูลหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกปัดไม่ชำระหนี้ได้
________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมบ้าน 1 หลัง แก่โจทก์ในราคา 310,000 บาท มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาและเมื่อครบกำหนดเวลาขายฝาก จำเลยไม่ได้ไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากและไม่ยอมส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวแก่โจทก์ ทั้งในระหว่างอายุสัญญาจำเลยยังนำบ้านที่ขายฝากไปให้บุคคลอื่นเช่าในอัตราเดือนละ 2,000 บาท แล้วเก็บค่าเช่าไว้เองเป็นการผิดข้อตกลงโดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยยุติการนำบ้านที่ขายฝากไปให้บุคคลอื่นเช่าและส่งมอบที่ดินพร้อมบ้านที่ขายฝากให้แก่โจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการนำบ้านที่ขายฝากไปให้บุคคลอื่นเช่าแก่โจทก์เป็นเงิน 38,000 บาท และให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือน เดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบทรัพย์สินซึ่งขายฝากให้แก่โจทก์.

          จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินและบ้านตามฟ้องให้แก่โจทก์จริง แต่ทำสัญญาขายฝากเป็นเงินจำนวนเพียง 200,000 บาท ส่วนที่สัญญาขายฝากระบุจำนวนเงิน 310,000 บาท เนื่องจากโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี รวมเข้าไปด้วย ทั้งสัญญาขายฝากก็มีข้อความที่ไม่สมบูรณ์เพราะไม่ได้กำหนดราคาสินไถ่ไว้ นอกจากนี้ก่อนครบอายุสัญญาขายฝากจำเลยไปติดต่อขอไถ่ทรัพย์สิน แต่โจทก์กำหนดราคาสินไถ่เป็นเงิน 600,000 บาท ทำให้จำเลยไม่อาจไถ่คืนได้ จำเลยไม่เคยนำบ้านที่ขายฝากไปให้บุคคลอื่นเช่าตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยยังประสงค์ที่จะไถ่ทรัพย์สินคืน ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาบังคับโจทก์ให้ยินยอมให้จำเลยไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากคืนตามราคาสินไถ่ที่ศาลเป็นผู้กำหนด หากโจทก์ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์

          โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาขายฝากเป็นเงินจำนวน 310,000 หากจำเลยต้องการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากคืนก็ต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมาชำระแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ส่วนที่โจทก์กำหนดราคาทรัพย์สินเป็นเงิน 600,000 บาท เป็นกรณีที่จำเลยขอซื้อทรัพย์สินซึ่งขายฝากคืนจากโจทก์หลังครบอายุสัญญาขายฝากแล้ว และโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยทำละเมิดนำบ้านที่ขายฝากไปให้บุคคลอื่นเช่าได้ ขอให้ยกฟ้องแย้ง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบที่ดินพร้อมบ้านพิพาทอันเป็นทรัพย์สินซึ่งขายฝากให้แก่โจทก์ในสภาพที่ซ่อมแซมดีแล้ว ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ฟ้องแย้งให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,000 บาท

          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่าเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 820 ตำบลขุนกระทิง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร พร้อมบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวกับโจทก์โดยระบุราคาขายฝากไว้ 310,000 บาท มีกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์ 1 ปี มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากไว้กับโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยทำสัญญาขายฝากในราคา 200,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน คิดเป็นดอกเบี้ย 120,000 บาท รวมเป็นเงิน 320,000 บาท แต่ระบุไว้ในสัญญาขายฝากเพียง 310,000 บาท โดยหักเป็นค่าดอกเบี้ยล่วงหน้า 10,000 บาท ต่อมาก่อนครบกำหนดสัญญาขายฝากประมาณ 10 กว่าวัน จำเลยไปติดต่อขอไถ่ในราคา 230,000 บาท แต่โจทก์จะให้ไถ่ในราคา 310,000 จำเลยจึงไม่ได้ไถ่คืน เห็นว่าตามสัญญาขายฝากไม่ได้กำหนดสินไถ่กันไว้เท่าใด คงระบุราคาที่ขายฝากไว้ 310,000 บาท จึงต้องถือว่าคู่สัญญาตกลงกำหนดสินไถ่กันโดยปริยายว่าให้ไถ่กันในราคา 310,000 บาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 499 (เดิม) ส่วนที่จำเลยอ้างว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเพียง 200,000 บาท โจทก์นำดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดรวมเข้าด้วยแล้วระบุไว้ในสัญญาว่าขายฝากกัน 310,000 บาท สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริง เป็นการไม่ชอบเพราะ พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม มาตรา 4 (6) มิให้ผู้ซื้อฝากคิดดอกเบี้ยจากผู้ขายฝากเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้ไม่เกิน 30,000 บาท เมื่อรวมราคาขายปกติแล้ว จำเลยมีสิทธิไถ่ได้ในราคา 230,000 บาทนั้น เห็นว่า พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 2 บัญญัติให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งได้ลงประกาศวันที่ 16 พฤศจิกายน 2540 แต่จำเลยทำสัญญาขายฝากเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2541 ก่อน พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มีผลใช้บังคับและมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ. นี้ไม่ให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ จึงนำมาปรับใช้แก่คดีนี้ไม่ได้ นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคสอง มีผลใช้บังคับนับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งประกาศวันที่ 9 เมษายน 2541 ภายหลังจากวันที่จำเลยทำสัญญาขายฝากและมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้มิให้บทบัญญัติมาตรา 499 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับแก่สัญญาขายฝากที่ได้ทำไว้ก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ จึงนำ ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคสอง ที่ให้สิทธิแก่ผู้ขายฝากไถ่ทรัพย์ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี มาปรับใช้แก่คดีนี้ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อสัญญาขายฝากระบุราคาขายฝากไว้ 310,000 บาท กรณีจำเลยอ้างตนเองและบุคคลอื่นมาสืบเพื่อแสดงถึงราคาขายฝากที่แท้จริงว่ามีราคาเพียง 200,000 บาทนั้น เป็นการนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญาขายฝาก ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) จึงต้องฟังว่าคู่สัญญากำหนดสินไถ่ไว้เป็นเงิน 310,000 บาท แต่จำเลยขอไถ่ในราคา 230,000 บาท อันเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามมูลหนี้ในสัญญาขายฝาก โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกปัดไม่ชำระหนี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยมิได้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากจากโจทก์โดยชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.
( สมชัย จึงประเสริฐ - พีรพล จันทร์สว่าง - บุญรอด ตันประเสริฐ )

ศาลจังหวัดชุมพร - นายธีระชัย กระแสทรง
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายภานุวัฒน์ ศุภะพันธุ์
                

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-27 12:00:34



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล