ReadyPlanet.com


บังคับให้เซ็นสัญญาไปปฎิบัติงานต่างประเทศ


ขอความอนุเคราะห์ปรึกษาเรื่องการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้าง    วันนี้ นายจ้างได้เรียกไปพบเพื่อให้เซ็นหนังสือสัญญาการสงพนักงานไปศึกษา ฝึกอบรมและดูงาน หรือปฎิบัติงานในต่างประเทศ  เพื่อเดินทางไปร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศที่นายจ้างได้ไปเปิดบู๊ธแสดงสินค้าของบริษัท  งานมีทั้งหมด 5 วัน โดยผมจะทำหน้าที่ดูแลบู๊ธ ติดต่อเจรจากับลูกค้าบริษัทและผู้สนใจชาวต่างประเทศ ที่เข้ามาสอบถามสินค้า  ซึ่งเมื่อครั้งที่แล้วเมื่อปี  2552  ผมได้เดินทางไปร่วมงาน โดยนายจ้างก็ไม่ได้ให้เซ็นหนังสือสัญญาดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ ๆ เดินทางไปด้วยจากฝ่ายผลิตที่โรงงาน ได้เซ็นหนังสือสัญญาดังกล่าว  ซึ่งนายจ้างได้ใช้เป็นเหตุผลอ้างว่าเจ้าหน้าที่คนอื่นในองค์กรยังเซ็นต์ ทำไมผมจึงไม่ยอมเซ็น และขู่ผมว่า ผมกำลังขัดขืนและฝ่าฝืนคำสั่ง และตั้งข้อสังเกตว่า ผมคงกำลังจะลาออก จึงไม่ยอมเซ็นสัญญาเพื่อผูกพันให้อยู่ต่ออีก 1 ปี และบอกว่าสัญญานี้ คณะผู้บริหารบริษัท เป็นผู้ออกระเบียบว่าพนักงานที่เดินทางไปต่างประเทศ ต้องเซ็นสัญญานี้ 
 
ผมอยากเรียนถามว่า
1.  นายจ้างมีสิทธิ์ที่จะอ้างว่าผมฝ่าฝืนคำสั่งในการเซ็นต์สัญญาดังกล่าวหรือไม่ เพราะถ้าไม่เซ็นต์ก็จะไม่ให้ผมเดินทางไปงานแสดงสินค้า อันอาจก่อความเสียหายให้กับนายจ้าง เพราะไม่มีคนอื่นในบริษัท ที่สามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศและเจรจาธุรกิจการค้ากับลูกค้าได้
2.  นายจ้างอ้างว่า การเซ็นสัญญาฯ ดังกล่าว เป็นกฏและระเบียบข้อหนึ่งของบริษัท หากพนักงานฝ่าฝืน ถือว่าขัดคำสั่งและทำให้นายจ้างเสียหาย ผมอยากทราบว่า นายจ้างสามารถอ้างสัญญาฯ นี้เป็นส่วนหนึ่งของกฏระเบียบบริษัท ได้หรือไม่ครับ
3.  ในสัญญาว่าจ้างเข้าทำงาน ที่ผมได้เซ็นเข้าทำงานในวันแรก ซึ่งได้สิ้นสุดอายุไปแล้ว  มิได้มีข้อความหรือระเบียบเกี่ยวกับการเซ็นต์สัญญาส่งพนักงานไปศึกษา ฝึกอบรม และดูงาน หรือปฎิบัติงานในต่างประเทศ ระบุในสัญญาว่าจ้างดังกล่าว  ประเด็นนี้ จะเข้าข่ายนายจ้างกล่าวอ้างเอาเปรียบลูกจ้างเป็นการเกินสมควรหรือไม่ครับ
 
ขอความอนุเคราะห์ตอบคำถามทั้ง 3 ข้อ ด้วยครับ เพราะจริง ๆ ไม่อยากมีเรื่องกับนายจ้างและก็ไม่อยากตกงานในตอนนี้ หากนายจ้างบีบให้ออก หรือกลั่นแกล้ง
 
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

 



ผู้ตั้งกระทู้ Vikrom :: วันที่ลงประกาศ 2011-02-28 22:46:16


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2157486)

1.  นายจ้างมีสิทธิ์ที่จะอ้างว่าผมฝ่าฝืนคำสั่งในการเซ็นต์สัญญาดังกล่าวหรือไม่ เพราะถ้าไม่เซ็นต์ก็จะไม่ให้ผมเดินทางไปงานแสดงสินค้า อันอาจก่อความเสียหายให้กับนายจ้าง เพราะไม่มีคนอื่นในบริษัท ที่สามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศและเจรจาธุรกิจการค้ากับลูกค้าได้

ตอบ- การเข้าทำสัญญา ไม่ใช่คำสั่งนายจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะสัญญาที่คู่สัญญากระทำต่อกันนั้นทำให้คุณต้องผูกพันตามเงื่อนไขในสัญญา ดังนั้นถ้าคุณฝ่าฝืนไม่ยอมลงชื่อในสัญญาไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย นายจ้างอ้างเลิกจ้างเพราะเหตุไม่ทำสัญญาไม่ได้

2.  นายจ้างอ้างว่า การเซ็นสัญญาฯ ดังกล่าว เป็นกฏและระเบียบข้อหนึ่งของบริษัท หากพนักงานฝ่าฝืน ถือว่าขัดคำสั่งและทำให้นายจ้างเสียหาย ผมอยากทราบว่า นายจ้างสามารถอ้างสัญญาฯ นี้เป็นส่วนหนึ่งของกฏระเบียบบริษัท ได้หรือไม่ครับ

ตอบ-- สัญญานี้ไม่ไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับการจ้างงาน จึงไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นกฎ ระเบียบของนายจ้าง และไม่ทำให้นายจ้างเสียหาย แต่การไปต่างประเทศเพื่อการงานที่เป็นปกติของนายจ้าง นายจ้างอาจมีคำสั่งให้คุณไปได้แต่ต้องไม่มีเงื่อนไขที่ต้องผูกมัดคุณในอนาคต จึงจะเป็นคำสั่งนายจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย

3.  ในสัญญาว่าจ้างเข้าทำงาน ที่ผมได้เซ็นเข้าทำงานในวันแรก ซึ่งได้สิ้นสุดอายุไปแล้ว  มิได้มีข้อความหรือระเบียบเกี่ยวกับการเซ็นต์สัญญาส่งพนักงานไปศึกษา ฝึกอบรม และดูงาน หรือปฎิบัติงานในต่างประเทศ ระบุในสัญญาว่าจ้างดังกล่าว  ประเด็นนี้ จะเข้าข่ายนายจ้างกล่าวอ้างเอาเปรียบลูกจ้างเป็นการเกินสมควรหรือไม่ครับ

ตอบ -- ถ้าให้คุณไปโดยไม่มีข้อผูกมัดก็ถือว่าเป็นคุณกับทางลูกจ้าง แต่จะให้ทำสัญญาผูกมัดให้ทำงานต่อไปอีก 1 ปี เพราะเหตุเดินทางไปต่างประเทศคงไม่ได้ครับ 
 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-03-01 18:08:17


ความคิดเห็นที่ 2 (2157490)

กฎหมายกำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่สิบคนขึ้นไปจัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ในกรณีเป็นที่สงสัยว่านายจ้างมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือไม่ ให้ถือว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่นายจ้างต้องจัดให้มีตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ดังนั้น หากนายจ้างประสงค์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยไม่แจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง นายจ้างจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเสียก่อนจึงจะชอบด้วยกฏหมาย หรือนายจ้างจะต้องแจ้งข้อเรียกร้องจนมีการเจรจาตกลงกันได้ นายจ้างไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยลูกจ้างไม่ยินยอมไม่ได้

  การที่นายจ้างปิดประกาศให้ลูกจ้างมารับข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือหนังสือคู่มือพนักงาน ฉบับใหม่เพื่อใช้แทนฉบับเดิม อันมีสาระในการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเรื่องขั้นตอนการลงโทษกรณีโทษสถานเบา รายละเอียดความผิดโทษสถานร้ายแรง โดยไม่ได้รับความยินยอมของลูกจ้างนั้น แม้นายจ้างจะได้นำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง(หนังสือคู่มือพนักงาน)ไปจดทะเบียนต่ออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแล้วก็ตามก็ไม่มีผลผูกพันลูกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8396 - 8399/2550

อ่านคำพิพากษาฎีกาฉบับย่อยาว คลิ๊กที่นี่ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-03-01 18:11:30


ความคิดเห็นที่ 3 (2159746)

ขอบคุณเป็นอย่างสูงสำหรับคำตอบและข้อแนะนำของทนายลีนนท์

VIKROM

ผู้แสดงความคิดเห็น VIKROM วันที่ตอบ 2011-03-09 20:22:11



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล