ReadyPlanet.com


สามารถกันที่ดินเฉพาะส่วนของตนเอง ก่อนที่ดินพิพาทก่อนขายทอดตลาดหรือไม่


เรียนถามค่ะ   พ่อของดิฉันได้ซื้อที่ดินร่วมกับเพื่อนเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว แต่มี 1 ในหุ้นส่วนเป็นหนี้ธนาคารกรุงศรี จ่ายหนี้ธนาคารไม่หมด ธนาคารตามยึดทรัพย์และตามยึดถึงแปลงนี้ แต่แปลงนี้ไม่ได้ติดจำนองและมี15 หุ้นส่วน เรื่องก็ขึ้นศาลศาลพิพากษาให้ขายที่ดินทอดตลาดทั้งหมด หนูสงสัยเพียงแต่ว่าพ่อดิฉันผิดตรงไหนทำไม ไม่ยุติธรรมกับพ่อและให้สิทธิธนาคารยึดที่พิพาท ออกขายทอดตลาด โดยผู้ร้องทั้งสิบห้าไม่มีสิทธิขอกันที่ดินเฉพาะ เพียงเพื่อสนองความต้องการแบงค์กรุงศรี ส่วนพ่อดิฉันต้องขายในราคาขาดทุน ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นฝ่ายผิด หนูรู้เพียงแต่ว่าเมื่อขายทอดตลาด แบงค์ก็จะไปช้อนซื้อ


ผู้ตั้งกระทู้ รัตนา :: วันที่ลงประกาศ 2011-03-11 23:49:04


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2160462)

ตามข้อเท็จจริงที่ให้มานั้นไม่ได้บอกว่าที่ดินที่พ่อเป็นเจ้าของรวมนั้นได้มีการระบุส่วนของใครในแต่ละส่วนอย่างไรแล้วหรือไม่ และได้แบ่งแยกการครอบครองโดยการเข้าไปทำประโยชน์ส่วนของตนแล้วหรือไม่ จึงขอตอบคำถามและข้อข้องใจแบบรวม ๆ ดังนี้ครับ กล่าวคือในกรณีที่พ่อของคุณได้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินนั้นแล้วและสามารถพิสูจน์ส่วนที่พ่อคุณครอบครองที่ดินส่วนของตน ย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ขายเฉพาะส่วนของลูกหนี้ของธนาคารได้ แต่ถ้าไม่ได้แบ่งกันเป็นสัดส่วน ตามกฎหมายก็ถือว่าทุกคนมีสิทธิครอบไปถึงที่ดินทั้งแปลง จากข้อกฎหมายดังกล่าวมีปัญหาในการบังคับคดีที่ไม่อาจทราบได้ว่าลูกหนี้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนใด เพราะจะแบ่งสัดส่วนที่ดินโดยที่เจ้าของรวมคนอื่นไม่ยินยอมไม่ได้ เพราะเจ้าของรวมทุกคนก็คงต้องการส่วนที่มีประโยชน์สูงสุด (ทำเลดี,ติดถนนสาธารณะ) ดังนั้นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะขายที่ดินทั้งแปลงได้ หรือนำเงินไปชำระหนี้เจ้าหนี้ในส่วนที่เป็นของลูกหนี้แล้วเข้าถือเอาส่วนของลูกหนี้โดยงดการขายทอดตลาดก็อาจเป็นทางออกหนึ่งที่จะไม่ให้มีการขายทอดตลาดได้

คำถามว่า "หนูสงสัยเพียงแต่ว่าพ่อดิฉันผิดตรงไหนทำไม ไม่ยุติธรรมกับพ่อและให้สิทธิธนาคารยึดที่พิพาท ออกขายทอดตลาด"

คำตอบ  ปัญหานี้เป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติรับรองให้เจ้าหนี้ทำได้ และทางแก้ของเจ้าของรวมก็คือ ต้องแบ่งส่วนที่ดินให้ชัดเจนและถือครองที่ดินให้ชัดเจน หรือจะให้ดีที่สุดก็ไปทำเรื่องรางวัดแบ่งแยกกันไปเลย ทางออกต่าง ๆ เหล่านี้เจ้าของรวมสามารถทำได้ แต่ไม่ได้ทำ ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องกับคำถามของคุณดังนี้ครับ

เจ้าของรวมที่ได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินชัดเจนแล้วก่อนมีการบังคับคดี มีสิทธิที่จะขอกันส่วนของตนไม่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายทอดตลาดได้ สำหรับคดีนี้โฉนดที่ดินได้บรรยายส่วนเจ้าของรวมไว้แล้วและได้แบ่งแยกกันครอบครองชัดเจน เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะนำที่ดินออกขายทอดตลาดทั้งแปลงไม่ได้ เจ้ารวมมีสิทธิร้องขอกันส่วนและขอให้ขายเฉพาะส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ ในเรื่องการยึดทรัพย์ของลูกหนี้ออกขายทอดตลาดทั้งแปลงนั้นสามารถทำได้ในกรณีที่ทรัพย์ยังไม่มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วน (1) ฎีกาที่ 981/2494  การร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดต้องเป็นกรณีอ้างว่าลูกหนี้ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ แต่ถ้าลูกหนี้เป็นเจ้าของรวม ลูกหนี้ย่อมมีสิทธิครอบไปเหนือทรัพย์สินทั้งหมด(ทั้งแปลง) แต่ร้องขอกันส่วนได้ (2)  ฎีกาที่ 744/2499  ร้องขัดทรัพย์ว่าตนได้กรรมสิทธิโดยการครอบครองปรปักษ์ เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธิจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับจำนองไม่ได้ (3)  ฎีกาที่ 1026/2504  ลูกหนี้มีกรรมสิทธิ์รวม เจ้าหนี้มีสิทธิยึดที่ดินได้ทั้งแปลง และศาลย่อมจะขายได้ทั้งแปลง  (4)  ฎีกาที่ 938/2503  สินสมรสที่ยังไม่ได้แบ่งหลังการหย่า ผู้ร้องขัดทรัพย์จะอ้างการครอบครองเกิน 1 ปียันเจ้าหนี้ไม่ได้   (5)  ฎีกาที่  4895/2528  ลูกหนี้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์ขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องจะขอให้ถอนการยึดและระงับการขายทอดตลาดไม่ได้ เมื่อไม่สามารถระบุได้ว่าลูกหนี้ได้ครอบครองเป็นสัดส่วนอย่างไร 
       ต่อไปเป็นกรณีที่เจ้าของรวมมีการแบ่งแยกที่ดินเป็นสัดส่วนแล้ว เจ้าของรวมขอให้งดขายทอดตลาดส่วนของตนได้   (1)  ฎีกาที่  466/2506  ลูกหนี้กับผู้ร้องแบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะขอให้งดการขาดดทอดตลาดส่วนของผู้ร้องและให้ขายเฉพาะส่วนของลูกหนี้ได้ (2)  ฎีกาที่  2883/2528  เจ้าหนี้ผู้รับจำนองทราบดีว่า รับจำนองที่ดินเฉพาะส่วนของลูกหนี้ เจ้าหนี้จะขายทอดตลาดที่ดินทั้งแปลงโดยให้ผู้ร้องมีสิทธิที่จะขอกันเงินในส่วนที่ได้จากการขายทอดตลาดครึ่งหนึ่งก็จะไม่เป็นธรรมแก่ผู้ร้อง

                      คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2124/2551

อ่านคำพิพากษาฉบับย่อยาวคลิ๊กที่นี่เลยครับ


 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-03-12 11:11:05


ความคิดเห็นที่ 2 (2431781)

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9761/2555

 
          ป.พ.พ. มาตรา 1361 บัญญัติว่า “เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ จะจำหน่ายส่วนของตนหรือจำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้ แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันได้ ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน” แม้ผู้ร้องจะเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง 1 ใน 7 ส่วน แต่จากการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบเอก บ.  จดทะเบียนใส่ชื่อของจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพียงคนเดียว และนำที่ดินดังกล่าวไปจำนองเพื่อประกันหนี้ไว้แก่โจทก์ ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและบรรดาทายาทอื่นของจ่าสิบเอก บ. โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด ทั้งผู้ร้องและพี่น้องคนอื่นซึ่งเป็นบุตรของจำเลยยังเคยเจรจากับโจทก์ว่าไม่คิดจะโกงโจทก์ และภายหลังโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แล้ว ผู้ร้องยังมีส่วนเจรจากับโจทก์โดยขอให้โจทก์ยอมลดยอดหนี้ให้แก่จำเลย จนจำเลยและโจทก์ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และเมื่อมีการยึดที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาด ผู้ร้องยังได้ไปดูแลการขายทอดตลาดแทนจำเลยอีกด้วย แสดงว่าตลอดระยะเวลาประมาณ 20 ปี นับแต่จำเลยนำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไปจำนองไว้แก่โจทก์ ผู้ร้องรู้มาโดยตลอด แต่ไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้าน แสดงว่าผู้ร้องมีเจตนาให้จำเลยแสดงตนเป็น เจ้าของที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียวและยินยอมให้จำเลยจำนองที่ดินพิพาทได้ การจำนองผูกพันผู้ร้องตาม ป.พ.พ.          มาตรา 1361 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงออกจากการขายทอดตลาดได้
ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 0859604258 วันที่ตอบ 2013-11-21 11:42:56



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล