ReadyPlanet.com


จดทะเบียนรับรองบุตร และสิทธิการเยี่ยมเยียนบุตร


ผมเป็นบิดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับแม่ของลูก การแจ้งเกิดผมเป็นฝ่ายแจ้งเกิด ผมไปทำงานที่อื่นแล้วกลับมาแม่ของลูกหนีไปทำงานที่ต่างจังหวัด ผมไม่สามารถติดตามตัวได้ จนกระทั้งวันหนึ่งเธอกลับมาหาผมที่บ้านพร้อมแจ้งว่าโอนลูกให้เป็นบุตรบุญธรรมของพี่สาวแล้วผมไม่ยินยอม ผมขอให้คนรู้จักไปเช็คที่เขตปรากฎว่าไม่พบชื่อของเด็ก ซึ่งอาจเปลี่ยนชื่อไปแล้ว(เอกสารต่างๆอยู่ที่มารดาเด็กหมด ขณะนี้บุตรผมอายุ 1 ปี 3 เดือน) ผมจะลองจดทะเบียนรับรองบุตรที่เขต โดยเขตอาจทำให้ แต่ติดที่มารดาไม่ยินยอม เพื่อให้แม่ของลูกตัดสินใจ   หากวิธีแรกไม่ได้ผลอาจจะต้องร้องต่อศาลขอรับรองบุตร การรับรองบุตรผมไม่ได้ต้องการไปแย้งสิทธิการปกครอง แค่ขอต้องการเยียมลูกบางโอกาส และสิทธิประโยชน์ที่บุตรควรได้รับ ผมขอเรียนถามครับ
1.หากผมจดทะเบียนรับรองบุตรได้แล้ว ผมสามารถไปเยี่ยมเยียนบุตรได้ไหม
2.จดทะเบียนได้แล้ว กรณีที่บุตรถูกโอนเป็นของคนอื่นแล้ว สามารถคัดค้านได้หรือไม่ เพื่อเอามาปกครองเองเนื่องจากแม่มีเจตนาไม่อุปการะบุตรแล้ว
3.ค่าทนายประมารณเท่าไหร่สำหรับกรณีนี้
ขอบคุณล่วงหน้าจากคนมีลูกคนเดียว ผมรอคำตอบอย่างกระวนกระวายใจเพราะอยากเห็นหน้าลูกมาก



ผู้ตั้งกระทู้ จากคนมีลูกคนเดียว :: วันที่ลงประกาศ 2011-03-09 10:25:10


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2159761)

ผมยังเชื่อว่าบุตรยังไม่ได้ไปเป็นบุตรบุญธรรมผู้อื่น แต่อาจเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล ทำให้ไม่ปรากฏทางทะเบียนที่สำนักงานเขต ทางออกตอนนี้คุณน่าจะลองขอตรวจค้นสำเนาทะเบียนบ้านเดิมของบุตรเพื่อหาเลขบัตรประจำตัวประชาชนของลูกแล้วนำไปตรวจสอบกับทางสำนักงานเขตอีกครั้งก็จะสามารถรู้ว่า บุตรของคุณเปลี่ยนชื่อเป็นอะไร และนำสกุลอะไร และมีฐานะเป็นบุตรบุญธรรมของใครหรือไม่อย่างไร น่าจะมีข้อมูลเพิ่มเติมแล้วค่อยคิดขั้นตอนต่อไป 

หมายเหตุ   แม้บุตรจะยังไม่มีบัตรประชาชน แต่จะมีเลข 13 หลักทุกคนครับ 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-03-09 21:11:25


ความคิดเห็นที่ 2 (2162527)

ดิฉันรับราชการและรับบุตรน้องชายมาเป็นบุตรบุญธรรม  บุตรที่รับมาจดเป็นบุตรบุญธรรมโดยกฎหมายเรียบร้อยแล้วสามารถเบิกค่าเล่าเรียนได้หรือไม่โดยใช้สิทธิของดิฉัน

ตอบ - สามารถเบิกได้ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ปทิตตา วันที่ตอบ 2011-03-21 08:19:41


ความคิดเห็นที่ 3 (2401006)

จดทะเบียนรับรองบุตร
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องจดทะเบียนรับรองบุตร (เด็กหญิง ป.) ผู้เยาว์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง (มารดา)ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรต่อศาล เพราะไม่ได้ไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรผู้เยาว์ต่อนายทะเบียนเพื่อให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนรับรองบุตรเป็นหนังสือไปยังผู้คัดค้านและผู้เยาว์ เมื่อผู้คัดค้านคลอดบุตรผู้เยาว์ ผู้ร้องไม่ช่วยอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่บุตร ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้คัดค้านแต่เพียงผู้เดียว ผู้คัดค้านเลี้ยงดูผู้เยาว์มาโดยตลอด ไม่มีความจำเป็นที่ผู้ร้องจะจดทะเบียนรับรองบุตรอีก ขอให้ยกคำร้อง

มีชื่อบิดาในสูติบัตรไม่เป็นการรับรองบุตร

คำถาม  กรณีในสูติบัตรบุตร มีชื่อของบิดาปรากฏอยู่ว่าเป็นบิดาของเด็กแสดงว่าตอนแจ้งเกิดบิดาได้เซ็นชื่อรับรองบุตรแล้วใช่ไหม 
ตอบ  กรณีมีชื่อบิดาในสูติบัตรบุตร ยังไม่ถือว่าเป็นการรับรองบุตรของบิดาตามกฎหมาย การรับรองบุตร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 บัญญัติว่า บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตร     ชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก...
ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล
เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียน ต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้
จะเห็นได้ว่า จากกฎหมายดังกล่าว การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตร หรือการรับรองบุตรนั้น มีขั้นตอนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย  โดยบิดาต้องไปขอให้นายทะเบียนจดทะเบียนขอรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ต้องได้รับความยินยอมของบุตรและมารดา เมื่อบุตรมีอายุ 4 เดือน ตามกฎหมายถือว่าบุตรยังไม่อาจให้ความยินยอมได้ กรณีนี้จึงต้องให้ศาลมีคำพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรของบิดา  แล้วจึงนำ
คำพิพากษาไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียน จึงจะเป็นการรับรองบุตรตามกฎหมาย 
  
คำถาม  ถ้าไม่ได้เซ็นรับรองบุตรแต่มีชื่อบิดาปรากฏอยู่ในสูติบัตรและทะเบียนบ้านคนเกิดสามารถเรียก ค่าเลี้ยงดูจากบิดาได้ไหมค่ะ (ไม่ได้จดทะเบียนสมรส) ตอนนี้บุตรอายุ 4 เดือน จำเป็นต้องฟ้องศาลไหมค่ะ
ตอบ การที่จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดาได้ จะต้องปรากฏว่า เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น   แม้จะเป็นบิดาตามความเป็นจริงก็ตาม ฉะนั้นหากประสงค์จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากบิดา   มารดาหรือบุตรจะต้องฟ้องบิดาขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายโดยศาลมีคำพิพากษา หรือจดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง จึงจะมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากบิดาได้ โดยฟ้องบิดาต่อศาลเยาวชนและครอบครัวที่มีเขตอำนาจให้มีคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรต่อไป
 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2013-08-15 21:43:07


ความคิดเห็นที่ 4 (2401007)

สิทธิเยี่ยมบุตร หรือสิทธิที่จะติดต่อกับบุตร

มาตรา 1584/1  บิดาหรือมารดาย่อมมีสิทธิที่จะติดต่อกับบุตรของตนได้ตามควรแก่พฤติการณ์ ไม่ว่าบุคคลใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองก็ตาม

สิทธิที่จะติดต่อกับบุตร(เยี่ยมบุตร)

เมื่อบิดาหรือมารดาเลิกกันหรือหย่าขาดจากกันไปแล้ว มีผลให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจปกครองบุตร และได้ประพฤติขัดขวางไม่ให้ผู้ที่ไม่มีอำนาจปกครองบุตรและบุตรได้พบกัน  จนทำให้เกิดมีคดีต่าง ๆ ตามมาของคู่หย่าที่การสมรสสิ้นสุดไปแล้วได้ เช่น การเข้าไปหาบุตรในบ้านของอีกฝ่ายหนึ่งจนถูกแจ้งความว่าบุกรุก  หรือบางครั้งเข้าไปแล้วมีการกีดกันเกิดการกระทบกระทั่ง  จนถึงทะเลาะทุบตีทำร้ายกันในบ้านของเขาจนเกิดเป็นคดีทำร้ายร่างกาย หรือทำให้เสียทรัพย์   ซึ่งมีหลายคดีที่อีกฝ่ายหนึ่งถูกลงโทษเป็นผู้บุกรุก ทั้ง ๆ ที่เข้าไปเพื่อหาบุตรผู้เยาว์  เพราะผู้เป็นเจ้าของบ้านไม่ยินยอมให้เข้าไป  หรือเข้าไปแล้วและเจ้าของบอกให้ออกไปแล้วไม่ยอมออก    

ดังนั้นหากผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรหรือผู้ปกครองบุตร  ทำการขัดขวางมิให้บิดาหรือมารดาแล้วแต่กรณีซึ่งไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรหรือถูกถอนอำนาจปกครองบุตรติดต่อกับบุตรได้   อาจร้องขอให้หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานภาคเอกชนซึ่งที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสิทธิเด็ก    ช่วยเป็นสื่อกลางในการเจรจา เพื่อใช้สิทธิติดต่อกับบุตร    หรือถ้าหากว่าเจรจาด้วยวิธีใดก็ไม่ได้ผล วิธีสุดท้ายคือการฟ้องหรือร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้บังคับตามสิทธิ   

ในกรณีที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรจะนำบุตรไปอยู่ต่างประเทศ  ซึ่งจะทำให้คู่สมรสที่เลิกกันและไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ไม่อาจใช้สิทธิที่จะติดต่อเยี่ยมเยียนบุตรได้โดยสะดวกนั้น   ในแนวทางที่ปฏิบัติกันมายังคงถือว่าการนำบุตรไปอยู่ต่างประเทศ ยังไม่ถือว่าเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิของผู้ที่ไม่มีอำนาจปกครองบุตรได้พบปะกับบุตร  เพราะบุตรผู้เยาว์ต้องถือภูมิลำเนาของผู้ใช้อำนาจปกครอง  บิดาหรือมารดาซึ่งไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรจะมาร้องขอต่อศาล ให้มีคำสั่งห้ามมิให้นำบุตรออกนอกราชอาณาจักรไม่ได้  หนทางแก้ไขคือหากเห็นว่าเป็นการกีดกันและทำให้ตนและบุตรได้รับผลกระทบมาก  ผู้ที่ถูกถอนอำนาจปกครองต้องร้องขอต่อศาลขอให้ศาลคืนอำนาจปกครองให้แก่ตนดังเดิม โดยให้ศาลถอนอำนาจปกครองของบิดาหรือมารดาที่ได้รับอำนาจปกครองบุตรเสีย   ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ถูกถอนอำนาจปกครองบุตรไม่มีสิทธินำเด็กออกไปอยู่ต่างประเทศได้ 

อย่างไรก็ตาม การที่เด็กควรจะอยู่ในอำนาจปกครองของบิดาหรือมารดานั้น  ต้องมีการพิสูจน์ให้เห็นกันว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ดูแลเด็กได้มากกว่ากัน  ซึ่งมิใช่พิจารณาแต่เพียงฐานะทางการเงินเท่านั้น   เพราะบิดาหรือมารดาซึ่งไม่มีอำนาจปกครองบุตรยังมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องส่งเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้แก่บุตรจนกว่าเด็กจะบรรลุนิติภาวะเพราะการหย่าไม่ได้ทำให้อำนาจหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูของบิดามารดาที่มีต่อบุตรผู้เยาว์หลุดพ้นไปด้วย   

ดังนั้นอาจจะต้องพิจารณาจาก เวลาหรือการดูและเอาใจใส่จะเป็นสิ่งสำคัญเพื่อประกอบการพิจารณาว่าบุตรที่บิดามารดาเลิกกันนั้น ควรมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจปกครองบุตรจากที่ทั้งคู่เคยตกลงกันไว้หรือที่ศาลเคยวินิจฉัยไว้เดิมหรือไม่  

อย่างไรก็ตามโดยสรุปการที่บิดามารดาเลิกหรือหย่ากันแม้จะไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรก็ตามยังมีสิทธิตามกฎหมายในอันที่จะติดต่อกับบุตรได้เสมอ  .

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2013-08-15 21:46:11



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล