ReadyPlanet.com


ที่ดินมีเจ้าของร่วมกันหกคน


ที่ดินมีเจ้าของร่วมกันหกคน สี่คนยอมตกลงขายแต่อีกสองคนไม่ตกลง มีคำถามสองข้อข้างล่างค่ะ
๑ สี่คนเป็นเสียงส่วนมากสามารถมีอำนาจขายที่ดินทั้งหมดได้ไหม
๒ ถ้าแบ่งขายแค่สี่ในหกส่วนสามารถทำได้ไหม
รบกวนช่วยไขปัญหาด้วย ขอบพระคุณค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ ณัฐพร :: วันที่ลงประกาศ 2011-04-14 21:03:45


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2169817)

1. สี่คนเป็นเสียงส่วนมากสามารถมีอำนาจขายที่ดินทั้งหมดได้ไหม

ตอบ   ไม่สามารถทำได้ครับ เพราะเป็นการขายทรัพย์ที่ดินทั้งแปลง จะทำได้ต่อเมื่อเจ้าของรวมเห็นชอบทุกคน --มาตรา 1358 ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของรวมมีสิทธิจัดการ ทรัพย์สินรวมกัน
ในเรื่องจัดการตามธรรมดา ท่านว่าพึงตกลงโดยคะแนนข้างมากแห่ง เจ้าของรวม แต่เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งในทางจัดการ ตามธรรมดาได้ เว้นแต่ฝ่ายข้างมากได้ตกลงไว้เป็นอย่างอื่น แต่เจ้าของรวม คนหนึ่ง ๆ อาจทำการเพื่อรักษาทรัพย์สินได้เสมอ
ในเรื่องจัดการอันเป็นสารสำคัญ ท่านว่าต้องตกลงกันโดยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนข้างมากนั้นต้องมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งแห่ง ค่าทรัพย์สิน
การเปลี่ยนแปลงวัตถุที่ประสงค์นั้น ท่านว่าจะตกลงกันได้ก็แต่เมื่อเจ้าของรวมเห็นชอบทุกคน

2. ถ้าแบ่งขายแค่สี่ในหกส่วนสามารถทำได้ไหม

ตอบ   สามารถทำได้ครับเป็นการขาเฉพาะส่วนของตนแต่จะแบ่งขายไม่ได้ครับเพราะกรรมสิทธิ์ของแต่ละคนครอบไปถึงที่ดินทั้งแปลง การแบ่งส่วนที่เจ้าของรวมคนอื่นไม่ตกลงเห็นชอบด้วยจึงทำไม่ได้ครับ

 

กรรมสิทธิ์รวม
                 
 
มาตรา 1356  ถ้าทรัพย์สินเป็นของบุคคลหลายคนรวมกัน ท่านให้ใช้บทบัญญัติในหมวดนี้บังคับ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
 
มาตรา 1357  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน
 
มาตรา 1358  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของรวมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินรวมกัน
ในเรื่องจัดการตามธรรมดา ท่านว่าพึงตกลงโดยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวมแต่เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ อาจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งในทางจัดการตามธรรมดาได้ เว้นแต่ฝ่ายข้างมากได้ตกลงไว้เป็นอย่างอื่น แต่เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ อาจทำการเพื่อรักษาทรัพย์สินได้เสมอ
ในเรื่องจัดการอันเป็นสาระสำคัญ ท่านว่าต้องตกลงกันโดยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนข้างมากนั้นต้องมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์สิน
การเปลี่ยนแปลงวัตถุที่ประสงค์นั้น ท่านว่าจะตกลงกันได้ก็แต่เมื่อเจ้าของรวมเห็นชอบทุกคน
 
มาตรา 1359  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก แต่ในการเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนนั้น ท่านว่าต้องอยู่ในบังคับแห่งเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 302 แห่งประมวลกฎหมายนี้
 
มาตรา 1360  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ
ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิได้ดอกผลตามส่วนของตนที่มีในทรัพย์สินนั้น
 
มาตรา 1361  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ จะจำหน่ายส่วนของตน หรือจำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้
แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน
ถ้าเจ้าของรวมคนใดจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันทรัพย์สินโดยมิได้รับความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน แต่ภายหลังเจ้าของรวมคนนั้นได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินแต่ผู้เดียวไซร้ ท่านว่านิติกรรมนั้นเป็นอันสมบูรณ์
 
มาตรา 1362  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ จำต้องช่วยเจ้าของรวมคนอื่นๆ ตามส่วนของตนในการออกค่าจัดการ ค่าภาษีอากร และค่ารักษา กับทั้งค่าใช้ทรัพย์สินรวมกันด้วย
 
มาตรา 1363  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุที่ประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร ก็เรียกให้แบ่งไม่ได้
สิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินนั้น ท่านว่าจะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้
ท่านว่าเจ้าของรวมจะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้
 
มาตรา 1364  การแบ่งทรัพย์สินพึงกระทำโดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวม หรือโดยขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน
ถ้าเจ้าของรวมไม่ตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไรไซร้ เมื่อเจ้าของรวมคนหนึ่งคนใดขอ ศาลอาจสั่งให้เอาทรัพย์สินนั้นออกแบ่ง ถ้าส่วนที่แบ่งให้ไม่เท่ากันไซร้ จะสั่งให้ทดแทนกันเป็นเงินก็ได้ ถ้าการแบ่งเช่นว่านี้ไม่อาจทำได้หรือจะเสียหายมากนักก็ดี ศาลจะสั่งให้ขายโดยประมูลราคากันระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาดก็ได้
 
มาตรา 1365  ถ้าเจ้าของรวมต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อบุคคลภายนอกในหนี้อันเกี่ยวกับทรัพย์สินรวม หรือในหนี้ซึ่งได้ก่อขึ้นใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมดั่งว่านั้นก็ดี ในเวลาแบ่งเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ จะเรียกให้เอาทรัพย์สินรวมนั้นชำระหนี้เสียก่อน หรือให้เอาเป็นประกันก็ได้
ถ้าเจ้าของรวมคนหนึ่งต้องรับผิดต่อเจ้าของรวมคนอื่นในหนี้ ซึ่งเกิดจากการเป็นเจ้าของรวม หรือในหนี้ซึ่งได้ก่อขึ้นใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมดั่งว่านั้นก็ดี ในเวลาแบ่ง เจ้าของรวมผู้เป็นเจ้าหนี้จะเรียกให้เอาส่วนซึ่งจะได้แก่ลูกหนี้ของตนในทรัพย์สินรวมนั้นชำระหนี้เสียก่อน หรือให้เอาเป็นประกันก็ได้
สิทธิที่กล่าวมาข้างต้นนี้อาจใช้แก่ผู้รับโอน หรือผู้สืบกรรมสิทธิ์ในส่วนของเจ้าของรวมนั้น
ถ้าจำเป็นจะต้องขายทรัพย์สินรวมไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติมาตราก่อนมาใช้บังคับ
 
มาตรา 1366  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ ต้องรับผิดตามส่วนของตนเช่นเดียวกับผู้ขายในทรัพย์สินซึ่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ ได้รับไปในการแบ่ง
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2011-04-17 11:28:32


ความคิดเห็นที่ 2 (2402603)

เจ้าของรวมคนอื่นมิได้ยินยอมด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2875/2528

ที่ดินมีโฉนดซึ่ง พ. มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับพี่น้องคนอื่นและมิได้ มีการแบ่งแยกว่าส่วนของใครอยู่ตอนไหนและ มีเนื้อที่เท่าใดผู้มีชื่อในโฉนด ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันจึงยังเป็นเจ้าของรวมอยู่ตามส่วนที่ตนถือกรรมสิทธิ์

โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินกับ พ.โดยระบุว่าที่ดินตามเนื้อที่ ที่ตกลงซื้อขายกันนี้อยู่ทางทิศตะวันออกของที่ดินแปลงใหญ่จึงเป็น การซื้อขายตัวทรัพย์ซึ่งมิใช่เป็นการ ขายกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของพ. จะกระทำได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคนเมื่อยังมิได้ มีการแบ่งที่ดินเป็นส่วนสัดการที่พ. เอาตัวทรัพย์มาทำสัญญาจะขาย ให้โจทก์โดยเจ้าของรวมคนอื่นมิได้ยินยอมด้วย จึงไม่มีผลผูกพัน เจ้าของรวมคนอื่นและโจทก์จะฟ้องบังคับตามสัญญามิได้

____________________________________________________

 

กรรมสิทธิ์รวมของเจ้าของรวมแต่ละคนย่อมครอบไปเหนือที่ดินทั้งแปลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4134/2529

สัญญาซื้อขายมีข้อความว่า จำเลยทั้งสี่แบ่งขายที่พิพาทเนื้อที่ 3 งาน45.6 ตารางวา ด้านทิศตะวันตก อันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงใหญ่ให้แก่โจทก์ในราคา 43,125 บาทและมอบที่ดินส่วนนี้ให้โจทก์ในวันทำสัญญาโดยโจทก์ชำระราคาให้ 20,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระภายใน 9 เดือนดังนี้ เห็นได้ว่าการซื้อขายที่พิพาทได้ทำเป็นหนังสือและมีการชำระหนี้บางส่วนแล้ว แต่ยังมีหนี้ที่โจทก์จำเลยจะปฏิบัติต่อกันอีกคือ โจทก์ต้องชำระราคาส่วนที่เหลือ และจำเลยต้องไปรังวัดแบ่งแยกที่ดินที่ขายตามจำนวนเนื้อที่ในสัญญาและจดทะเบียนโอนให้โจทก์อีก สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย ไม่ใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ไม่เป็นโมฆะ

โจทก์นำสืบว่าการชำระราคาส่วนที่เหลือจะกระทำเมื่อจำเลยจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้ อันเป็นการนำสืบเงื่อนไขรายละเอียดข้อตกลงในการปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือโจทก์จึงนำสืบได้ไม่เป็นการสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94

จำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงที่จำเลยทั้งสี่ทำสัญญาแบ่งขายให้โจทก์ร่วมกับบุคคลอื่นด้วย แต่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินดังกล่าวมิได้บรรยายส่วนของตนไว้ และมิได้แบ่งแยกว่าส่วนของใครอยู่ตอนใด แต่ละคนจึงมีส่วนเท่า ๆ กัน กรรมสิทธิ์รวมของเจ้าของรวมแต่ละคนย่อมครอบไปเหนือที่ดินดังกล่าวทั้งหมดจนกว่าจะมีการแบ่งแยก การที่จำเลยทั้งสี่ตกลงขายที่ดินโดยระบุเจาะจงตรงส่วนด้านตะวันตกของที่ดินเป็นการขายตัวทรัพย์ ซึ่งรวมถึงส่วนที่มิใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสี่ จึงต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมทุกคนก่อน มิฉะนั้นสัญญาจะซื้อขายไม่มีผลผูกพันเจ้าของรวมซึ่งมิได้เป็นคู่สัญญาด้วย

เมื่อเจ้าของรวมที่มิได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ มิได้ถูกฟ้องหรือเข้ามาเป็นคู่ความในคดี ทั้งไม่ยอมขายที่ดินส่วนที่จำเลยทั้งสี่ตกลงขายให้โจทก์ด้วย หากศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่แบ่งแยกและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนที่ขายให้โจทก์ตามคำขอของโจทก์ ผลของการบังคับคดีย่อมไม่ผูกพันเจ้าของรวมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและมิได้เข้ามาเป็นคู่ความให้จำต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลศาลจึงไม่อาจบังคับจำเลยทั้งสี่ตามคำขอของโจทก์ได้

 

สำนักงานทนายความ

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2013-08-20 14:12:52



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล