ReadyPlanet.com


คดีพยายามฆ่า แต่มีสาเหตุที่สามารถแจ้งความได้ ช่วยหน่อยนะค่ะ


ช่วยหน่อยนะค่ะ คือ
ตอนนี้แฟนโดนคดีพยายามฆ่า เนื่องจากไปฟันผู้เสียหายที่หน้าบ้าน หูขาด และมีบาดแผลที่แขนสองข้าง ผู้เสียหายเลยแจ้งคดีพยายามฆ่า แต่สาเหตุที่ทำไปเพราะผู้เสียหายเป็นอาจารย์สักยันต์ เปิดตำหนัก ซึ่งได้ทำการลวนลามผู้หญิงหลายคนแล้ว รวมทั้งดิฉันด้วย ดิฉันเลยเล่าให้แฟนฟัง แฟนเลยกระทำการแบบนั้น แบบนี้เราควรจะทำอย่างไรค่ะ ดิฉันต้องแจ้งความรึป่าว แล้วโทษจะหนักแค่ไหนค่ะ แล้วการซื้อหลักทรัพย์คืออะไร ตำรวจเข้าเรียกมา25000 แล้วจะช่วยได้รึป่าวค่ะ ช่วยตอบด้วยค่ะ หมดหนทางแล้ว
ตอนนี้ก้อเหมือนโดนทางผู้เสียหายรังแก ขอบคุณค่ะ

 เพราะผู้เสียหายให้การกับตำรวจว่า จำเลยทำไปเพราะเสพยา และได้ขายยาด้วย ซึ่งไม่เป็นความจริง ขอบคุณค่ะ

 



ผู้ตั้งกระทู้ เดือดร้อนมากค่ะ :: วันที่ลงประกาศ 2011-04-19 22:47:42


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2170913)

ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4461/2565

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน และฐานพาอาวุธปืนตาม ป.อ. มาตรา 80, 288, 371 และ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชนตาม ป.อ. มาตรา 376 ด้วย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าว ทั้งการกระทำความผิดตามมาตรา 376 ก็มิใช่การกระทำซึ่งรวมอยู่ในความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง อันศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 376 เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก อันเป็นการไม่ชอบ

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 80, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบปลอกกระสุนปืนของกลาง นับโทษของจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกหรือระยะเวลาการฝึกอบรมของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1/2562 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4/2562 ของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรสงคราม

จำเลยให้การรับสารภาพข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และข้อหาพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุเกิน 18 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 4 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 เดือน ฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน ปรับ 3,000 บาท รวมจำคุก 8 เดือน และปรับ 3,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน และปรับ 1,500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นและยกคำขอให้นับโทษต่อ ริบปลอกกระสุนปืนของกลาง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นกับฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี 8 เดือน ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 8 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควรเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ทางนำสืบและคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกฐานพยายามฆ่าผู้อื่น 4 ปี 5 เดือน 10 วัน ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 4 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 2 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 11 เดือน 10 วัน ไม่ปรับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยมีอาวุธปืนพกและกระสุนปืนขนาด .45 (11 มม.) จำนวนเท่าใดไม่ปรากฏชัด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตแล้วจำเลยพาอาวุธปืนดังกล่าวไปในที่เกิดเหตุ จากนั้นจำเลยใช้อาวุธปืนยิงในที่เกิดเหตุรวม 4 นัด หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจที่เกิดเหตุ พบปลอกกระสุนปืน ขนาด .45 (11 มม.) ตกอยู่ในที่เกิดเหตุ 4 ปลอก จึงยึดเป็นของกลาง

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสองตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ เห็นว่า ที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความอ้างว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ยืนอยู่กับกลุ่มของนายปานฉัตร ได้ยินเสียงร้องให้ผู้เสียหายที่ 1 ระวังปืน ผู้เสียหายที่ 1 มองไปที่กลุ่มวัยรุ่นเห็นจำเลยชักอาวุธปืนออกจากเอวเล็งไปทางผู้เสียหายที่ 1 แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนยิงไปทางผู้เสียหายที่ 1 และขณะวิ่งหลบหนีก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอีก 4 นัด แต่ผู้เสียหายที่ 1 กลับเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ผู้เสียหายที่ 1 ได้ยินเสียงร้องจึงหันไปเห็นจำเลยใช้สองมือถืออาวุธปืน ผู้เสียหายที่ 1 ตกใจจึงวิ่งหลบหนีไปในทันที ทั้งบริเวณที่เกิดเหตุค่อนข้างมืด สามารถมองเห็นกันได้ชัดในระยะห่างไม่เกิน 2 เมตร แต่ขณะนั้นจำเลยยืนอยู่ห่างไปประมาณ 10 เมตร ผู้เสียหายที่ 1 ไม่อาจยืนยันว่าจำเลยเล็งอาวุธปืนไปทางผู้เสียหายที่ 1 หรือผู้ใด ที่ผู้เสียหายที่ 1 อ้างว่าจำเลยถืออาวุธปืนเล็งไปทางผู้เสียหายที่ 1 จึงน่าเชื่อว่าเกิดจากความเข้าใจของผู้เสียหายที่ 1 เอง ส่วนที่ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่า เห็นจำเลยถืออาวุธปืนเล็งไปทางผู้เสียหายที่ 1 เมื่อผู้เสียหายที่ 1 วิ่งหลบหนี จำเลยก็วิ่งตามแล้วใช้อาวุธปืนยิงไป 4 นัด ก็ปรากฏตามภาพถ่ายประกอบสำนวนว่า หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจที่เกิดเหตุ พบปลอกกระสุนปืน ขนาด 11 มม. รวม 4 ปลอก ตกอยู่บนถนนหน้ากุฏิชี โดยกระสุนปืนดังกล่าวตกอยู่ในบริเวณเดียวกัน หากจำเลยวิ่งตามผู้เสียหายที่ 1 แล้วจึงใช้อาวุธปืนยิง ปลอกกระสุนปืนคงไม่ตกอยู่ในบริเวณเดียวกันเช่นนี้ จึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงทั้ง 4 นัด โดยยืนอยู่ในที่เดิม มิได้วิ่งไล่ตามผู้เสียหายที่ 1 แล้วใช้อาวุธปืนยิงไป 4 นัด ดังที่ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความ ทั้งผู้เสียหายที่ 2 ยังเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ขณะเสียงปืนดังขึ้นนัดแรก ผู้เสียหายที่ 2 ยังไม่ทราบว่าเป็นเสียงปืนจากทิศทางใด เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ถูกผลักล้มลง ก็ได้ยินเสียงปืนนัดที่สอง และเนื่องจากบริเวณที่เกิดเหตุค่อนข้างมืด มองเห็นเพียงเงาคน ผู้เสียหายที่ 2 จึงไม่แน่ใจว่าจำเลยเล็งอาวุธปืนไปทางผู้เสียหายที่ 1 หรือเล็งไปตามทางที่ผู้เสียหายที่ 1 วิ่งหลบหนีหรือไม่ คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยมุ่งที่จะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 โดยตรงแต่อย่างใดเช่นกัน โดยเฉพาะจำเลยกับผู้เสียหายทั้งสองต่างไม่รู้จักกันมาก่อน เพียงเหตุที่พวกของจำเลยมีเหตุวิวาทกับพวกของผู้เสียหายทั้งสองยังมิใช่เป็นเหตุถึงขนาดจูงใจให้จำเลยคิดฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง ทั้งขณะเกิดเหตุผู้เสียหายทั้งสองกับพวกยืนรวมกันเป็นกลุ่มอยู่ด้านหนึ่ง ส่วนจำเลยกับพวกยืนเป็นกลุ่มอยู่อีกด้านหนึ่ง หากจำเลยมีเจตนาที่จะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสองกับพวก ก็สามารถใช้อาวุธปืนยิงใส่กลุ่มของผู้เสียหายในขณะนั้น อันจะทำให้กระสุนปืนยิงถูกผู้เสียหายทั้งสองหรือผู้หนึ่งผู้ใดในกลุ่มได้โดยง่าย แต่จำเลยก็หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ กลับได้ความว่าเมื่อมีเสียงร้องให้ผู้เสียหายที่ 1 ระวังปืน กลุ่มของผู้เสียหายทั้งสองก็วิ่งหลบหนีในทันที จากนั้นจึงมีเสียงปืนดังขึ้น แสดงว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงหลังจากผู้เสียหายที่ 1 กับพวกต่างวิ่งหลบหนีกันแล้วเจือสมตามที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า หลังจากผู้เสียหายที่ 1 วิ่งหลบหนีแล้ว จำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงไปบริเวณที่ไม่มีคนรวม 4 นัด พยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยสถานเบาในความผิดฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 376 หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน และฐานพาอาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 288, 371 และพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 376 ด้วย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าว ทั้งการกระทำความผิดตามมาตรา 376 ก็มิใช่การกระทำซึ่งรวมอยู่ในความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง อันศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำตามที่พิจารณาได้ความได้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 376 เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก อันเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่ามีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาในความผิดฐานนี้หรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ส่วนปัญหาว่ามีเหตุสมควรรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่นั้น เห็นว่า อาวุธปืนเป็นอาวุธร้ายแรงสามารถใช้ยิงทำอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นได้โดยง่าย ทั้งการที่จำเลยพาอาวุธปืนพร้อมกระสุนปืนติดตัวไปที่เกิดเหตุซึ่งมีเหตุทะเลาะวิวาท ก็นับเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการที่จำเลยอาจใช้อาวุธปืนดังกล่าวกระทำความผิดร้ายแรงอื่นได้ ประกอบกับปรากฏตามรายการประวัติการกระทำความผิดว่า ขณะยังเป็นเยาวชน จำเลยเคยกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันมาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่จำเลยก็ไม่เข็ดหลาบ กลับมากระทำความผิดในลักษณะที่ร้ายแรงขึ้นกว่าเดิม ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงยังไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และไม่ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 376 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7



 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-04-20 15:50:38



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล