ReadyPlanet.com


ที่ดินเป็นมรดกตา ขอคำแนะนำด้วยครับ


หลังจากคุณแม่ผมได้หย่ากับคุณพ่อมานานกว่า 1 ปี แล้วคุณตาได้แบ่งที่ดินให้ลูก 6 คนเท่า ๆ กัน และมีที่ดินหนึ่งแปลงเป็นของแม่ผมซึ่งเป็นมรดกจากตา จากนั้นแม่ได้แต่งงานงานใหม่ และจดทะเบียนสมรส ต่อจากนัน 1 ปีกว่าได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้กับน้าสาว แล้วนำเงินไปซื้อที่ดินอีกแปลงหนึ่งได้ชื่อในเอกสารเป็นชื่อแม่และนามสกุลเป็นของพ่อเลี้ยง จากนั้นคุณแม่ได้เสียชีวิตไป อยากถามว่ามรดกที่ดินแปลงนี้จะตกเป็นของใครบางครับ ขอคำแนะนำด้วยครับ



ผู้ตั้งกระทู้ ธนกฤษ :: วันที่ลงประกาศ 2011-04-18 21:10:21


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2170358)

ที่ดินเป็นมรดกของแม่ตกได้แก่ทายาทของแม่ครับ ทายาทเท่าที่ให้ข้อเท็จจริงมาคือ บุตร และสามีชอบด้วยกฎหมาย

แต่ในทางปฏิบัติสามีอาจอ้างว่าเป็นสินสมรสได้เพราะได้มาระหว่างสมรส แต่หากพิสูจน์ที่มาว่าเปลี่ยนมาจากสินส่วนตัว ย่อมยังคงเป็นสินส่วนตัวต่อไป

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-04-18 22:22:59


ความคิดเห็นที่ 2 (4550830)

 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากบ้านพิพาทและเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ที่ดินพิพาทที่ซื้อจากนางธัญกมลมีบ้านหลังเล็ก ๆ เลขที่ 47/1 ซึ่งมีแต่หลังคาและพื้นบ้านกว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ 6 เมตร แต่ไม่มีฝาบ้าน เมื่อเดือนสิงหาคม 2556 พยานมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ไปติดต่อว่าจ้างนายธงชัย ผู้รับเหมาให้มาก่อสร้างบ้าน โรงจอดรถ คอกวัว และศาลาริมน้ำในที่ดินพิพาท เป็นค่าแรง 190,000 บาท และค่าวัสดุก่อสร้าง 700,000 บาท บ้านสร้างเสร็จเดือนกันยายน 2556 ส่วนโรงจอดรถ คอกวัว และศาลาริมน้ำสร้างเสร็จเดือนมกราคม 2557 พยานเป็นผู้ชำระเงินทั้งหมดให้แก่นายธงชัย โดยถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และมีนายธงชัย เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ติดต่อว่าจ้างพยานไปก่อสร้างบ้านในที่ดินพิพาท พยานคิดค่าแรง 70,000 บาท สร้างเสร็จประมาณวันที่ 27 กันยายน 2556 และเดือนธันวาคม 2556 พยานได้สร้างโรงจอดรถ คอกวัว และศาลาริมน้ำให้โจทก์ ค่าแรง 120,000 บาท สร้างเสร็จเดือนมกราคม 2557 พยานได้รับเงินค่าจ้างทั้งหมดจากโจทก์สอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ที่ยืนยันว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อวัสดุก่อสร้างและชำระเงินค่าจ้างก่อสร้างบ้าน โรงจอดรถ คอกวัว และศาลาริมน้ำทั้งหมดให้แก่นายธงชัย โดยถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากส่วนตัวของโจทก์ ทั้งจำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่า เงินที่นำมาซื้อที่ดินพิพาทและก่อสร้างบ้านเป็นเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ซึ่งเปิดไว้ก่อนที่โจทก์จะมาอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 และโจทก์เป็นผู้มีสิทธิเบิกถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวเพียงผู้เดียว แสดงว่านอกจากโจทก์ใช้เงินสินส่วนตัวของโจทก์ที่มีมาก่อนจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ยังใช้เงินสินส่วนตัวของโจทก์ก่อสร้างบ้าน โรงจอดรถ คอกวัว และศาลาริมน้ำด้วย จำเลยทั้งสองคงมีแต่คำเบิกความของจำเลยที่ 1 เพียงลอย ๆ ว่า เงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ดังกล่าวเป็นเงินที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำมาหาได้ร่วมกัน โดยจำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุน จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าถมดิน ปลูกบ้าน สร้างคอกวัว และทำคันรอบบ่อเลี้ยงปลาเป็นเงินกว่า 3,000,000 บาท ดังที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ ยิ่งกว่านั้นยังได้ความจากจำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านอีกว่า ก่อนอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 100,000 กว่าบาท เป็นหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 59/2556 ของศาลชั้นต้น 400,000 บาท และเป็นหนี้อื่น ๆ อีกประมาณ 800,000 บาท รวมเป็นหนี้กว่า 1,300,000 บาท จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะมีฐานะการเงินพอที่จะปลูกสร้างบ้านพิพาทได้ โจทก์มีพยานบุคคลและพยานเอกสารประกอบด้วยเหตุผลมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ใช้เงินสินส่วนตัวของโจทก์ก่อสร้างบ้าน โรงจอดรถ คอกวัว และศาลาริมน้ำในที่ดินพิพาทของโจทก์ แม้เป็นการก่อสร้างในระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันก็จะถือว่าบ้านพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสหาได้ไม่ บ้านพิพาทย่อมเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1472 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากบ้านพิพาทและเรียกค่าเสียหายได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-09 12:16:51



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล