ReadyPlanet.com


คำสั่งคณะปฏิวัติ


 อยากทราบว่า "คำสั่งของคณะปฏิวัติหรือคณะกรรมการปฏิรูปทางการเมือง เป็นกฎหมายหรือไม่ และเพราะอะไรคะ

 



ผู้ตั้งกระทู้ Parjaree :: วันที่ลงประกาศ 2011-06-16 15:34:00


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2187620)

คณะปฏิวัติหรือรัฐประหาร เมื่อได้ยึดอำนาจการปกครองของประเทศแล้วย่อมถือว่าเป็นรัฎฐาธิปัตย์ หรือผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ดังนั้นคำสั่งคณะปฏิวัติ(คณะที่ยึดอำนาจ) ประเทศไทยถือว่าเป็นกฎหมาย

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-06-18 06:38:01


ความคิดเห็นที่ 2 (2187621)

ในการรัฐประหารในหลายครั้งที่ผ่านมาของไทย ได้มีการพยายามอธิบายจากทั้งนักเนติบริกรและนักรัฐศาสตร์บริการว่าคณะรัฐประหารคือ รัฏฐาธิปัตย์ย่อมมีอำนาจสูงสุด แม้แต่ศาลก็มิอาจก้าวล่วงไปพิจารณาพิพากษาเอาผิดแก่คณะรัฐประหารได้ ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าคณะปฏิวัติ คณะปฏิรูป รสช. คมช. ฯลฯ ที่ยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดก็ตาม มิหนำซ้ำยังยอมรับประกาศ หรือคำสั่งและรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารเหล่านั้นตราออกมา ไม่ว่าจะผ่าน ส.ส.ร.หรือไม่ก็ตามว่าชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผิดจากหลักการปกครองในนานาอารยประเทศทั้งหลายที่กฎหมายของคณะรัฐประหารเหล่านั้นไม่ได้รับการยอมรับหรือให้การรับรองรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเหล่านั้น

 คำว่า รัฏฐาธิปัตย์ (soverign) นั้น ใน ทางรัฐศาสตร์ หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ส่วนจะเป็นใครก็สุดแท้แต่ว่าเป็นผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินหรือของบ้านเมืองใด มีระบอบการปกครองอย่างไร ถ้าเป็นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฏฐาธิปัตย์ คือ พระมหากษัตริย์ส่วนใน ทางนิติศาสตร์ หมายถึง ผู้ทำให้เกิดกฎหมายดังที่ จอห์น ออสติน (John Austin) อธิบายว่ากฎหมาย คือ คำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ ฉะนั้น อำนาจของรัฏฐาธิปัตย์ ก็คือ การมีอำนาจอธิปไตยนั่นเอง ซึ่งก่อให้เกิดผลดังนี้ คือ

1. ผลของการมีอำนาจอธิปไตยทำให้ รัฏฐาธิปัตย์ อยู่ในฐานะสูงสุดในแผ่นดิน และไม่ต้องเชื่อฟังผู้อื่นอีก แต่ในระบอบประชาธิปไตยนั้น อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เมื่อประชาชนแต่ละคนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนแต่ละคนย่อมเป็น รัฏฐาธิปัตย์ โดยไม่มีประชาชนคนใดอยู่ในฐานะสูงสุด โดยไม่ต้องฟังคำสั่งผู้อื่น 

2. ผลต่อมาในด้านกฎหมายระหว่างประเทศ อันเป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐย่อมไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย เพราะเมื่อรัฐต่างๆ มีฐานะเท่าเทียมกันก็ไม่มีรัฏฐาธิปัตย์ใดมีอำนาจบังคับบัญชารัฏฐาธิปัตย์อื่นได้ และจะเอาผิดหากมีการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศก็มิได้ ความผูกพันระหว่างรัฐต่อรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศ จึงเป็นเรื่องถ้อยทีถ้อยอาศัยและรัฏฐาธิปัตย์นั้นๆ ต้องให้ความยินยอมที่สละอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้แก่ผู้อื่น อาทิเช่น ศาลโลก เป็นต้น 

ในยุคก่อนเชื่อกันว่าอำนาจสูงสุดเป็นของพระผู้เป็นเจ้า เพราะทรงเป็น "ที่สุดของสิ่งที่สุดทั้งปวง" (The Absoluteness) จึงไม่มีข้อจำกัดขัดขวางของอำนาจของพระองค์ แต่อย่างใด ต่อมาเชื่อกันว่าพระสันตะปาปาทรงเป็นใหญ่ เพราะได้รับอำนาจมาจากพระเจ้าเป็นองค์อธิปัตย์อยู่เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย แต่อำนาจของอธิปัตย์องค์นี้ย่อมถูกจำกัด เพราะพระสันตะปาปาจะออกกฎหมายใดให้ขัดหรือแย้งกับกฎของพระผู้เป็นเจ้ามิได้ ต่อมากษัตริย์ทั้งหลายได้ปฏิเสธอำนาจของพระสันตะปาปา โดยอ้างว่าตนเองได้รับอำนาจจากพระเจ้ามาโดยตรง กษัตริย์ทั้งหลายจึงมีชื่อเรียกว่าพระเจ้านั่น พระเจ้านี่ นั่นเอง อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากษัตริย์เป็นรัฏฐาธิปัตย์แต่ก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่เกิดจากความยินยอม หรือการยอมรับนับถือของประชาชน ฉะนั้น กษัตริย์จะใช้อำนาจผิดทำนองคลองธรรมมิได้ เพราะถ้าใช้อำนาจผิดทำนองคลองธรรม ราษฎรก็จะเสื่อมศรัทธา และคลายความจงรักภักดี ซึ่งอาจนำไปสู่การล้มล้างอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ในที่สุด 

 เมื่อเปรียบเทียบมุมมองของทั้งสองศาสตร์แล้ว จะเห็นว่ามุมมองทางด้านรัฐศาสตร์นั้น นักรัฐศาสตร์ทั้งหลายต่างก็ยอมรับใน ลัทธิประชาธิปไตย (popular sovereign) ที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรือในอีกชื่อหนึ่ง ก็คือ ทฤษฎีสัญญาประชาคม (social contract theory) ที่มีรากฐานมาจากความคิดที่ว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างรัฐ โดยที่ประชาชนตกลงยินยอมให้ผู้ปกครองใช้อำนาจอธิปไตยแทนตนตามเจตจำนงของประชาชน หากผู้ปกครองละเมิดเจตจำนงของประชาชน ประชาชนมีสิทธิถอดผู้ปกครองได้ตามวิถีทางประชาธิปไตย มิใช่การแย่งชิงอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชนโดยการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจแล้วออกกฎหมายมาบังคับเอากับประชาชน  แต่ในมุมมองทางด้านนิติศาสตร์หรือทางกฎหมายนั้น กลับตรงกันข้ามกับมุมมองทางรัฐศาสตร์ โดยคำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505 ยอมรับว่าคณะรัฐประหารเป็น รัฏฐาธิปัตย์ คือ"ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อใน พ.ศ. 2501 คณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชน ก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยคำแนะนำ และยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร หรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม ฉะนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 ซึ่งประกาศคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติบังคับแก่ประชาชนดังกล่าว จึงเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในการปกครองในลักษณะเช่นนั้นได้ จำเลยจึงอาศัยอำนาจตามประกาศฉบับนี้ทำการจับกุมควบคุมโจทก์ได้โดยชอบ" และถือเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายที่เชื่อถือสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน 

 อย่างไรก็ตาม นายกีรติ กาญจนรินทร์ ผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย ได้ออกมาปฏิเสธการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยเมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา นายกีรติ กาญจนรินทร์ ได้มีคำวินิจฉัยส่วนตัวในคำพิพากษาที่ อม. 9/2552 ว่า 

"การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ การได้อำนาจในการปกครองประเทศ โดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ย่อมเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย"

"หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ"

"คปค. เป็นคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 จึงเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยดังเหตุผลข้างต้น ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็น รัฏฐาธิปัตย์ แม้จะได้รับการนิรโทษกรรมภายหลังก็ตาม หาก่อให้เกิดอำนาจที่จะสั่งการหรือกระทำการใดอย่างรัฏฐาธิปัตย์ไม่"

ถึงแม้ว่าคำวินิจฉัยส่วนตัวนี้จะไม่มีผลต่อคำพิพากษาเพราะเป็นเสียงข้างน้อย แต่มีผลกระทบมหาศาลต่อมุมมองของนักกฎหมายและผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย ฉะนั้นผู้ที่กำลังคิดที่จะทำรัฐประหารหรือผู้ที่โหยหารัฐประหาร พึงสำเหนียกว่าผู้ที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหารมิใช่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ในมุมมองนักรัฐศาสตร์ และมีแนวโน้มที่จะมิใช่รัฏฐาธิปัตย์ในมุมมองของนักนิติศาสตร์อีกต่อไป แต่จะเป็นได้ก็เพียง "โจราธิปัตย์" เท่านั้นเอง และอาจถูกกุดหัวได้ทุกเมื่อ แม้ว่าจะทำรัฐประหารสำเร็จก็ตาม

 

 

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ค้นหาข้อมูล วันที่ตอบ 2011-06-18 06:46:43



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล