ReadyPlanet.com


ยังไม่ได้แบ่งมรดก


อยากรบกวนท่านทนายหน่อยคะ  พอดีพ่อและแม่เสียชีวิตตั้งแต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะแล้วมีผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นญาติคะ  จนตอนนี้อายุ 31 ปีแล้ว ( แต่งงานแล้ว ) เขายังไม่แบ่งมรดกให้คะ พอไปถามแล้วเขาอ้างว่าจะดูแลให้ เพราะเป็นของพ่อและแม่ ตอนนี้แบ่งมาแค่เงินเท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนเดิมไม่มีดอกผลเลยคะ  ไม่ทราบว่าจะทำยังไงดีเพื่อจะให้ได้มรดกมาคะ



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้ที่ต้องการทางออก :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-14 09:19:12


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2199842)

ผู้จัดการมรดกเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทตราบใดที่ผู้จัดการมรดกยังมิได้แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท ย่อมต้องถือว่าการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น อายุความยังไม่เริ่มต้นนับ คุณในฐานะทายาทจึงมีสิทธิฟ้องผู้จัดการมรดกขอให้แบ่งทรัพย์มรดกได้และยังไม่ขาดอายุความ

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-27 16:30:24


ความคิดเห็นที่ 2 (2199857)

ผู้จัดการมรดกไม่แบ่งมรดกให้ทายาท

หน้าที่ของผู้จัดการมรดกก็คือต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทโดยธรรม จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทตามพินัยกรรม ตราบใดที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ยังมิได้แบ่งปันที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง ย่อมต้องถือว่าการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น อายุความยังไม่เริ่มต้นนับ ฟ้องของโจทก์ทั้งสองยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2752/2543

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-27 16:55:39


ความคิดเห็นที่ 3 (2199862)

อายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดกเริ่มนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง

ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เป็นอายุความทั่วไปที่ทายาทเรียกเอาทรัพย์มรดก ส่วนมาตรา 1733 วรรคสอง เป็นอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดก คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสองหาใช่อายุความตามมาตรา 1754 ดังจำเลยทั้งสองฎีกาไม่ ซึ่งอายุความเริ่มนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4606/2540

  โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรมอย่างไร โดยจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์อย่างไร พร้อมทั้งมีคำขอบังคับ ซึ่งได้แสดงโดยแจ้งชัดถึงสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสองแล้ว การที่คำขอบังคับของโจทก์มิได้ระบุถึงข้อกำหนดห้ามโอนตามพินัยกรรมไว้ด้วยนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

           สำหรับเรื่องค่าใช้จ่ายในการแบ่งและโอนทรัพย์มรดกซึ่งกำหนดให้ บ. ทายาทผู้รับพินัยกรรมเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายนั้น เมื่อปรากฏว่าได้มีการแบ่งแยกเสร็จเรียบร้อยก่อนบ. ถึงแก่กรรมและ บ. ได้จ่ายใช้จ่ายในการแบ่งแยกด้วยทั้งข้อกำหนดดังกล่าวนั้นเป็นเงื่อนไขในการรับมรดกเฉพาะตัวของ บ. ซึ่งจะมีผลต่อ บ. และผู้รับมรดกแทนที่อันเป็นทรัพย์มรดกคนละส่วนกับของโจทก์ จึงมิใช่ข้อขัดข้องที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกจะยกขึ้นอ้างว่าไม่สามารถโอนทรัพย์มรดกให้โจทก์ได้

           แม้โจทก์จะมิได้ระบุข้อกำหนดห้ามโอนไว้ในฟ้องด้วยก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะเป็นเรื่องวิธีการโอนตามพินัยกรรม ซึ่งในการโอนย่อมจะจดแจ้งเงื่อนไขตามพินัยกรรมนั้นได้ หาทำให้คำฟ้องนั้นเสียไปไม่ การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเงื่อนไขการโอนไว้ด้วย ก็ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

           อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เป็นอายุความทั่วไปที่ทายาทเรียกเอาทรัพย์มรดก ส่วนมาตรา 1733 วรรคสอง เป็นอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดก คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจึงต้องใช้อายุความตามมาตรา 1733 วรรคสอง หาใช่อายุความตามมาตรา 1754ซึ่งอายุความเริ่มนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงไม่

           รายการแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141(3) เป็นการสรุปคำฟ้องและคำให้การของจำเลยเท่านั้น เพราะรายละเอียดปรากฏอยู่ในคำฟ้องและคำให้การแล้ว ซึ่งคำพิพากษาจะต้องมีคำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดีและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง และเมื่อศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยถึงข้อที่จำเลยอ้างว่าขาดหายไปจากคำให้การด้วยแล้ว จึงไม่ทำให้คำพิพากษาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

           ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้ถึงแก่ความตายลง กรณีจึงเป็นเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการจัดการทรัพย์มรดกเฉพาะรายพิพาทคดีนี้ ศาลฎีกาจึงตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียว

          โจทก์ฟ้องว่า นางสาวบุตรี  ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1634เฉพาะที่ตั้งตึกเลขที่ 188 พร้อมด้วยตึกแถวเลขที่ 188 ถนนวานิช 1 ให้แก่โจทก์ ซึ่งต่อมาจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวบุตรีได้ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวออกเป็นแปลงย่อยเรียบร้อยแล้ว โดยส่วนที่เป็นมรดกตกได้แก่โจทก์นั้นเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 11324 และ 14077 แต่จำเลยทั้งสองมิได้ดำเนินการโอนทรัพย์มรดกของนางสาวบุตรีให้แก่โจทก์ตามพินัยกรรม ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวบุตรีร่วมกันส่งมอบโฉนดและโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11324 และ 14077พร้อมตึกเลขที่ 188 ให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสอง

          จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนางสาวบุตรี และต่อมามีคำสั่งของศาลชั้นต้นตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวบุตรี ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยทั้งสองได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในพินัยกรรม ซึ่งกำหนดให้ทำการแบ่งแยกที่ดินที่จะโอนให้แก่ผู้รับพินัยกรรมเสียก่อนแล้วจึงจะทำการโอนที่ดินและทรัพย์สินตามพินัยกรรม แต่เนื่องจากยังดำเนินการขอรังวัดและแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1634 และ 1635 ยังไม่เสร็จสิ้นจึงไม่สามารถโอนที่ดินทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของนางสาวบุตรีได้ นอกจากนี้นายแพทย์บรรจง  ทายาทซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการแบ่งปันทรัพย์มรดกได้ถึงแก่กรรม ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการขอตั้งผู้จัดการมรดกฟ้องโจทก์ขาดอายุความ และที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 14077 และ11324 ขัดกับข้อกำหนดตามพินัยกรรม เพราะโจทก์มีสิทธิได้รับที่ดินโฉนดที่แบ่งแยกจากโฉนดเลขที่ 1634 คือโฉนดเลขที่ 11324 เพียงโฉนดเดียว ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวบุตรี ร่วมกันโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11324 และ 14077 พร้อมทั้งตึกเลขที่ 188 ให้แก่โจทก์ ตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรม หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวบุตรี  ร่วมกันโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11324 และ 14077 พร้อมทั้งตึกเลขที่ 188 ให้แก่โจทก์โดยจดแจ้งข้อห้ามโอนในระหว่างมีชีวิตตามที่ระบุในพินัยกรรมด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          จำเลยทั้งสองฎีกา

          ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกถึงแก่ความตาย เมื่อการจัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัว ศาลฎีกาจึงไม่อาจตั้งผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ได้ และศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อ 1 ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรมอย่างไร โดยจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์อย่างไร พร้อมทั้งมีคำขอบังคับซึ่งได้แสดงโดยแจ้งชัดถึงสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง แล้ว การที่คำขอบังคับของโจทก์มิได้ระบุถึงข้อกำหนดห้ามโอนตามพินัยกรรมไว้ด้วยนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อ 2 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของนางสาวบุตรีผู้ทำพินัยกรรมตามที่ฟ้องเพียงใด และจำเลยทั้งสองจะต้องโอนทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์หรือไม่ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง เห็นว่าการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1634 และ 1635 นั้น กระทำเพื่อโอนให้แก่ทายาทตามพินัยกรรม ซึ่งตามข้อกำหนดในพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.1 กำหนดให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 1634 กับการแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 1635 ต่างแยกต่างหากจากกันโดยในข้อ 3.3 ระบุว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 1634 เฉพาะที่ตั้งตึกเลขที่ 188 ถนนวานิช 1 เข้าไปในซอยที่จะออกซอยท่านเลื่อนฤทธิ์ยกให้โจทก์เป็นสินส่วนตัวนั้น ในการจัดการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1634 เพื่อแบ่งปันให้ทายาทดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกต่างเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 1634 ตามเอกสารหมาย จ.4 ปัจจุบันแบ่งแยกรังวัดเสร็จเรียบร้อยแล้วตามแผนที่ท้ายโฉนดไม่ต้องมีการแบ่งแยกเพิ่มเติมอีก ดังนั้น จึงไม่มีเหตุขัดข้องในการโอนแต่อย่างใด สำหรับปัญหาที่ว่าการแบ่งตามพินัยกรรมข้อ 3.5 นั้น จะถือแนวเขตอย่างไรเข้าไปจนสุดที่ถึงกำแพงตึกเลขที่ 186 ซึ่งปัจจุบันเป็นทางเดินเข้าออกอยู่ในการแบ่งแยกตามข้อกำหนดดังกล่าวในครั้งแรก จำเลยทั้งสองได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1634 เป็นที่ดินแปลงย่อย 3 แปลงคือ โฉนดเลขที่ 11322, 11323 และ 11324 ในปี 2518 โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 11324ตามเอกสารหมาย จ.8 คือ ที่ดินที่ตั้งของตึกเลขที่ 188 แต่จำเลยที่ 2 เบิกความว่า ในปี 2522 ได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1634 ออกเป็นอีก 2 โฉนด คือที่ดินตามเอกสารหมาย จ.9 เป็นบริเวณทางเดิน ส่วนที่ดินตามเอกสารหมาย จ.10 เป็นด้านหลังของอาคารเลขที่ 188 เหตุที่แบ่งเพิ่มเนื่องจากจำเลยที่ 1 ว่า การแบ่งแยกในปี 2518 ไม่ถูกต้อง ดังนั้นในการแบ่งเพิ่มเติมดังกล่าว คือ แบ่งที่ดินส่วนที่เป็นทางเดินออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 14078 ตามเอกสารหมาย จ.9 และแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 11324 ตามเอกสารหมาย จ.8ในส่วนด้านหลังอาคารเลขที่ 188 ออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 14077 ตามเอกสารหมายจ.10 สำหรับอาคารเลขที่ 131 และ 133 อยู่ทางด้านใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 1634ตามรูปแผนที่เอกสารหมาย ล.5 ที่ดินโฉนดเลขที่ 14077 และ 14078 จึงเป็นที่ดินในส่วนที่ลากเส้นตามแนวตึกเลขที่ 133 ไปยังตึกเลขที่ 186 นั่นเอง โดยแนวเส้นด้านขวาของตึกเลขที่ 133 ตัดในส่วนด้านหลังของตึกเลขที่ 188 เป็นโฉนดเลขที่ 14077 และตัดในส่วนทางเดินเป็นโฉนดเลขที่ 14078 ส่วนแนวเส้นด้านซ้ายของตึกเลขที่ 133ซึ่งเป็นแนวเส้นระหว่างตึกเลขที่ 131 และ 133 ตัดเป็นส่วนด้านซ้ายเป็นที่ว่างหลังตึกเลขที่ 131 เป็นโฉนดเลขที่ 11322 และ ด้านขวาเป็นตึกเล็กหลังตึกเลขที่ 133 เป็นโฉนดเลขที่ 11323 จึงเห็นได้ว่าหากแบ่งเขตที่ดินตามเขตสิ่งปลูกสร้างของตึกเลขที่ 188 ซึ่งปลูกสร้างมาตั้งแต่ก่อนทำพินัยกรรมจะต้องแบ่งตามที่ดินโฉนดเลขที่ 11324 เดิมคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 11324 ปัจจุบันรวมกับที่ดินโฉนดเลขที่ 14077 แบ่งแยกออกมาโดยตามพินัยกรรมข้อ 3.3 ก็ระบุไว้อย่างแจ้งชัดแล้วว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 1634 เฉพาะที่ตั้งตึกเลขที่ 188 อันต้องถือตามแนวเขตสิ่งปลูกสร้างซึ่งตรงกับสภาพความเป็นจริงจะให้ตัดส่วนด้านหลังตึกซึ่งเป็นบันไดทางขึ้นชั้นสอง ห้องน้ำ และห้องครัวในส่วนโฉนดเลขที่ 14077 ออกจากตัวตึกเดิมได้อย่างไรนั้น เห็นว่า การแบ่งครั้งแรกเป็นโฉนดเลขที่11322, 11323 และ 11324 ถูกต้องตรงตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมข้อ 3.3 และ ข้อ 3.5และยังตรงตามสภาพที่อยู่อาศัยซึ่งก่อสร้างแต่ดั้งเดิมอีกด้วย สำหรับเรื่องค่าใช้จ่ายในการแบ่งและโอนซึ่งกำหนดให้นายแพทย์บรรจงเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายนั้น ปรากฏว่าได้มีการแบ่งแยกเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ปี 2522 แล้วก่อนนายแพทย์บรรจงถึงแก่กรรมย่อมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายไปเรียบร้อยแล้ว โดยหม่อมหลวงชมัย  ภริยานายแพทย์บรรจงเบิกความว่า ก่อนถึงแก่กรรมนายแพทย์บรรจงได้จ่ายค่าใช้จ่ายในการแบ่งแยกด้วย โดยจำเลยที่ 2 มาเบิกค่าใช้จ่ายในการแบ่งแยกจากนายแพทย์บรรจงและนำใบเสร็จมามอบให้ตามเอกสารหมาย จ.28 แต่อย่างไรก็ดี ข้อกำหนดดังกล่าวนั้นเป็นเงื่อนไขในการรับมรดกเฉพาะตัวของนายแพทย์บรรจงซึ่งจะมีผลต่อนายแพทย์บรรจงและผู้รับมรดกแทนที่อันเป็นทรัพย์มรดกคนละส่วนกับของโจทก์ จึงมิใช่ข้อขัดข้องที่จำเลยทั้งสองจะยกขึ้นอ้างว่าไม่สามารถโอนทรัพย์มรดกให้โจทก์ได้ ส่วนที่ฟ้องโจทก์ไม่ระบุถึงข้อกำหนดห้ามโอนในพินัยกรรมไว้ด้วยจะทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่าแม้โจทก์จะมิได้ระบุข้อกำหนดห้ามโอนดังกล่าวไว้ในฟ้องด้วยก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องวิธีการโอนตามพินัยกรรม ซึ่งในการโอนย่อมจะจดแจ้งเงื่อนไขตามพินัยกรรมนั้นได้ หาทำให้คำฟ้องนั้นเสียไป ศาลอุทธรณ์จึงกำหนดเงื่อนไขการโอนไว้ด้วยได้ ไม่เป็นการเกินคำขอ

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เป็นอายุความทั่วไปที่ทายาทเรียกเอาทรัพย์มรดก ส่วนมาตรา 1733 วรรคสอง เป็นอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดก คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสองหาใช่อายุความตามมาตรา 1754 ดังจำเลยทั้งสองฎีกาไม่ ซึ่งอายุความเริ่มนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

          ส่วนปัญหาในข้อสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ศาลชั้นต้นสรุปคำให้การจำเลยขาดหายไป ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทำเป็นหนังสือและต้องกล่าวหรือแสดง...(3) รายการแห่งคดี (4) เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง(5) คำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดีตลอดทั้งค่าฤชาธรรมเนียม ดังนั้น ในรายการแห่งคดีเป็นการสรุปคำฟ้องและคำให้การของจำเลยเท่านั้น เพราะรายละเอียดปรากฏอยู่ในคำฟ้องและคำให้การแล้ว ซึ่งคำพิพากษาจะต้องมีคำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดี และเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยถึงข้อที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าขาดหายไปจากคำให้การด้วยแล้ว จึงไม่ทำให้คำพิพากษาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

          อนึ่ง ปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้ถึงแก่ความตายลง กรณีจึงเป็นเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการจัดการทรัพย์มรดกเฉพาะรายพิพาทคดีนี้ จึงเห็นสมควรตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียว

          พิพากษายืน

( ทวิช กำเนิดเพ็ชร์ - ทองเลื่อน พูลพิพัฒน์ - ชลอ ทองแย้ม )

มาตรา 1711 ผู้จัดการมรดกนั้นรวมตลอดทั้งบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล

มาตรา 1713 ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้อง ต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดั่งต่อไปนี้
(1) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหาย ไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขต หรือเป็นผู้เยาว์
(2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัด การ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก
(3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วย ประการใด ๆ
      (วรรคสอง)-การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งตาม ข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่ข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อ ประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และโดยคำนึงถึงเจตนาของ เจ้ามรดกแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร

มาตรา 1715 ผู้ทำพินัยกรรมจะตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนให้เป็นผู้ จัดการมรดกก็ได้
          (วรรคสอง)-เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้จัดการมรดก หลายคน แต่ผู้จัดการเหล่านั้นบางคนไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียว ผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการมรดกได้ โดยลำพัง แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้

มาตรา 1733 การให้อนุมัติ การปลดเปลื้องความรับผิดหรือข้อตกลง อื่น ๆ อันเกี่ยวกับรายงานแสดงบัญชีการจัดการมรดกดั่งที่บัญญัติไว้ ใน มาตรา 1732 นั้น จะสมบูรณ์ต่อเมื่อรายงานแสดงบัญชีนั้นได้ส่ง มอบล่วงหน้าแก่ทายาทพร้อมด้วยเอกสารอันเกี่ยวกับการนั้นไม่น้อย กว่าสิบวันก่อนแล้ว

   (วรรคสอง)-คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง

มาตรา 1736 ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดก หรือผู้รับพินัยกรรมที่ ปรากฏตัว ยังไม่ได้รับชำระหนี้ หรือส่วนได้ตามพินัยกรรมแล้วทุกคน ให้ถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ

 (วรรคสอง)-ในระหว่างเวลาเช่นว่านั้น ผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ใน ทางจัดการตามที่จำเป็นได้ เช่นฟ้องคดีหรือแก้ฟ้องในศาลและอื่น ๆ อนึ่งผู้จัดการมรดกต้องทำการทุกอย่างตามที่จำเป็น เพื่อเรียกเก็บ หนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดกภายในเวลาอันเร็วที่สุดที่จะทำได้ และเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกได้รับชำระหนี้แล้ว ผู้จัดการมรดกต้องทำ การแบ่งปันมรดก

มาตรา 1754 ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

            (วรรคสอง)-คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม

    (วรรคสาม)-ภายใต้บังคับแห่ง มาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียก ร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้า                                

(วรรคสี่)-หนี้ นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

  (วรรคห้า)-ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้อง ร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-27 17:20:45



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล