ReadyPlanet.com


สอบถามเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าทางทะเล กรณีสายเรือล้มละลาย


เรียนปรึกษา

เนื่องจากบริษัท C เป็นบริษัท Freight Forwarding ซึ่งเป็นตัวกลางในการจองระวางเรือ กับบริษัท B ซึ่ง ตัวแทนสายเรือ A ในประเทศไทย   โดยสายเรือ A จริงๆนั้น มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ  ต่อมาสายเรือ A ได้ล้มละลาย โดยตู้สินค้ายังไปไม่ถึงปลายทางที่บริษัท C จองไว้   แต่ไปค้างอยู่ที่ท่าเรือประเทศภูมิลำเนาของสายเรือ A   โดยสายเรือ A ได้ทำจดหมายแจ้งว่า หากต้องการจะนำตู้สินค้าไปยังปลายทางที่จองไว้ ก็ให้ทางลูกค้าดำเนินการหาผู้ขนส่งรายไปต่อไปเอง   ทั้งนี้ทางบริษัท C ได้ชำระค่าระวางเรือให้กับบริัษัท B  และบริษัท B ก็ได้ออกใบตราส่งให้บริษัท C (ซึ่งบริษัท C ได้ส่งให้ลูกค้า คือผู้ส่งของแล้ว)    ดังนั้นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ    

 



ผู้ตั้งกระทู้ alopicia (alopicia-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-11 13:19:06


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2197934)

บริษัท บี และบริษัท เอ ต้องร่วมกันรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นครับ บริษัท ซี ก็ถือว่าเป็นตัวแทนของ บริษัท บี และ บริษัท เอ ด้วย จึงต้องร่วมรับผิดต่อ ผู้ส่ง (shipper) ด้วย

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-21 13:41:18


ความคิดเห็นที่ 2 (2198417)

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1536/2523
 
 

          จำเลยเป็นตัวแทนบริษัทเจ้าของเรือมอบใบสั่งให้ส่งมอบสินค้าให้บุคคลอื่นไปรับสินค้าทั้ง ๆ ที่โจทก์ยังมิได้สลักหลังโอนใบตราส่งจำเลยประมาทเลินเล่อจ่ายสินค้าไปโดยปราศจากคำสั่งของโจทก์ดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดฐานละเมิดจำเลยจะอ้างไม่ได้ว่าเป็นเรื่องรับขนต้องใช้ศาลและกฎหมายของประเทศผู้ขนส่งกับจะอ้างว่าเป็นเรื่องที่จำเลยทำในฐานะตัวแทนไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวก็ไม่ได้เช่นกัน
________________________________

          ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 242,556 บาท กับดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "จำเลยย่อมทราบดีว่าใบตราส่งที่ถูกต้องนั้นจำต้องมีลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ลงกำกับไว้ เพราะในระหว่างนั้นสินค้ายังเป็นของโจทก์อยู่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเอกสารหมาย จ.7 มีการปลอมแปลงลายมือชื่อพนักงานผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ขึ้นในภายหลังโดยพนักงานของโจทก์ยังมิได้สลักหลังไว้แต่ประการใด ที่จำเลยกล่าวในฎีกาว่าโจทก์เป็นฝ่ายประมาทในการที่ได้ประทับตราของธนาคารและสลักหลังการโอนให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชัยยนต์ ลงในใบตราส่งทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้อนุมัติให้โอน และยังปล่อยให้ใบตราส่งมาตกอยู่ในมือของห้างหุ้นส่วนดังกล่าวแล้วนำมาขอรับสินค้าจากจำเลยไปได้ เห็นว่า นางฉันทนา วงศ์โสภณหัวหน้าส่วนปฏิบัติการเอกสารขาเข้าของโจทก์เบิกความในเรื่องนี้ว่า ที่โจทก์ประทับตราและเขียนคำว่า ช. ชัยยนต์ ไว้ในด้านหลังเอกสารหมาย จ. 7 ไว้ก่อน ก็เพื่อเตรียมไว้ในการที่จะอนุมัติให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชัยยนต์และผู้มีอำนาจได้ลงชื่อเป็นผู้อนุมัติ ดังนั้น การที่โจทก์ได้ประทับตราและเขียนชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชัยยนต์ ไว้ในด้านหลังของเอกสารหมาย จ.7 โดยที่ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ยังมิได้ลงชื่อสลักหลัง จึงเป็นเพียงเตรียมไว้ล่วงหน้าเพื่อความรวดเร็วให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นการชอบแล้ว การที่ใบตราส่งฉบับนี้หายไปก็ไม่ปรากฏจากการนำสืบของคู่ความฝ่ายใดที่จะส่อแสดงว่าโจทก์มีส่วนผิดหรือประมาทเลินเล่อ เพราะใบตราส่งที่จำเลยได้มายังมิได้ลงชื่อสลักหลังโดยสมบูรณ์ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดแต่ผู้เดียว

          จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชัยยนต์ ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์ไปขอยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อพ้นกำหนดเวลา2 เดือนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย จนเป็นเหตุให้ศาลยกคำขอรับชำระหนี้ของโจทก์ นอกจากนี้ความผูกพันของบริษัทรับขนส่งทางเรือตามใบตราส่งจะต้องบังคับตามกฎหมายทะเล เมื่อกฎหมายทะเลยังไม่มีก็ต้องนำบทบัญญัติเรื่องรับขนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 615 บัญญัติว่า ถ้าได้ทำใบตราส่งให้แก่กัน ท่านว่าของนั้นจะรับมอบเอาไปได้ต่อเมื่อเวนคืนใบตราส่ง การที่โจทก์ปล่อยให้ใบตราส่งมาอยู่ในมือของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชัยยนต์ โจทก์จะให้จำเลยรับผิดหาได้ไม่ทั้งใบตราส่งหมาย จ.7 ยังมีข้อตกลงในเรื่องอำนาจศาล คือต้องใช้กฎหมายของประเทศผู้ขนส่งเป็นเครื่องตัดสินข้อพิพาท ซึ่งหมายความว่าจะต้องใช้ศาลยุติธรรมและกฎหมายแห่งประเทศรัสเซีย เพราะบริษัทที่ออกใบตราส่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศรัสเซีย จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของบริษัทฟาอีสเทอนชิปปิ้ง จำเลยได้ทำไปในฐานะตัวแทน เห็นว่า ในเรื่องห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชัยยนต์ ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและศาลยกคำขอรับชำระหนี้ของโจทก์ แม้จะเป็นความจริงก็ไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยฐานละเมิดในคดีนี้ได้ ส่วนเรื่องที่จะต้องใช้บทบัญญัติว่าด้วยการรับขนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าใบตราส่งยังไม่สมบูรณ์และจำเลยเป็นผู้ที่จะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิด จึงไม่ใช่เรื่องรับขนดังจำเลยฎีกา และที่อ้างว่าจะต้องใช้ศาลและกฎหมายของประเทศผู้ขนส่ง ทั้งจำเลยกระทำไปในฐานะตัวแทนย่อมไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวนั้นเห็นว่า โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยในเรื่องรับขนดังกล่าวมาแล้ว แต่โจทก์ฟ้องจำเลยกล่าวหาว่าจำเลยเป็นผู้กระทำละเมิดโดยตรงต่อโจทก์ในการที่จำเลยประมาทเลินเล่อจ่ายสินค้าไปโดยปราศจากคำสั่งของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยจึงต้องรับผิดเป็นส่วนตัวในเรื่องละเมิด แม้จำเลยจะเป็นตัวแทนเจ้าของเรือผู้ขนส่งที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศรัสเซียจำเลยก็ไม่อาจปฏิเสธในผลแห่งละเมิดที่ตนได้ก่อขึ้นโดยตรงได้"

          พิพากษายืน
( วิถี ปานะบุตร - อำนัคฆ์ คล้ายสังข์ - ไพบูลย์ เพียรรู้จบ ) 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-07-23 08:11:38



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล