ReadyPlanet.com


ไม่ได้แจ้งเลิก ห้างหุ้นส่วน จะมีหมดอายุของตัวมันเองหรือเปล่า


ไม่ได้แจ้งเลิกห้างหุ้นส่วน นานแล้ว เป็นเวลา 6 ปีมี จดหมายจาก ศสก ส่งมาเกี่ยวกับไม่ได้ส่งบัญชี แต่ ห้างหุ้นส่วนไม่ได้ดำเนินการอะไร เลยและไม่ได้แจ้งปิด ห้างหุ้นส่วนนี้จะถูกตัดชื่อออกเองหรือ เปล่าและ อีกนานแค่ไหนจึงจะหมดอายุความของห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้ดำเนินการอะไรเลยหรือเปล่า จะหาอ่านกฎหมายพวกนี้ได้ที่ไหนครับ
 



ผู้ตั้งกระทู้ พีท :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-25 17:01:34


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2206482)

มีบทความที่เป็นประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับคำถามจึงขออนุญาตคัดลอกมาให้อ่านกันครับ

 

เรื่องที่ 1156 ทนายสอนน้อง ...เรื่อง สงสัยการบังคับคดีกับบริษัทร้าง


               ระหว่างที่ตามีล้อมวงนั่งกินข้างกับกำนันแสงนั้น แม้ว่ากำนันจะได้อธิบายเรื่องระยะเวลาการบังคับคดีให้ตามีฟังแล้วก็ตาม  แต่ตามมีก็ยังอดสงสัยไม่ได้ แกเอ่ยถามกำนันแสงขึ้นว่า กำนันครับ หากไอ้บริษัทที่ร้างนี้ นายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนแล้ว ถือว่าไม่มีสภาพบุคคล ซึ่งในการส่งคำบังคับก็จะส่งไม่ได้ ปิดหมายก็ไม่ได้  เพราะไม่มีบริษัทอยู่แล้ว ในความคิดของผม เราต้องไปยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้นายทะเบียนจดทะเบียนนิติบุคคลขึ้นมาใหม่ เพื่อดำเนินกระบวนการตามกฎหมายต่อไปใช่หรือไม่
               อืม.. !!! คืออย่างนี้นะตามี… กรณีบริษัทร้างหรือการที่นายทะเบียนทำการขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียน แม้ตามกฎหมายให้ถือว่าเป็นกรณีที่บริษัทเลิกกัน แต่มิได้ทำให้บริษัทดังกล่าวสิ้นสภาพการเป็นนิติบุคคลในทันที บริษัทร้างหรือบริษัทที่ถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนยังคงมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1249  ดังนั้น แม้บริษัทใดเป็นบริษัทร้างแต่ยังไม่มีการชำระบัญชีไม่ว่าจะนานเท่าใดก็ยังถือว่ามีสภาพนิติบุคคล อาจเป็นโจทก์ฟ้องคดี ถูกฟ้องเป็นจำเลย ถูกกรมสรรพากรประเมินให้เสียภาษีอากร กระทั่งอาจถูกยึดทรัพย์หรือบังคับคดีได้ (หากยังมีทรัพย์สินเหลืออยู่) เมื่อยังเป็นนิติบุคคล ที่ตั้งหรือภูมิลำเนาตามกฎหมายจึงต้องยึดถือเอาที่เดิมที่เคยปรากฎทางทะเบียน การส่งเอกสารโดยเฉพาะเอกสารจากศาลเช่น หมายเรียกสำเนาคำฟ้อง หมายคำบังคับ ไปตามภูมิลำเนาดังกล่าวจึงถือว่าได้มีการส่งโดยชอบแล้ว สุดท้ายหากยังไม่สามารถส่งได้ก็ยังสามารถแถลงต่อศาลขอส่งโดยการประกาศหนังสือพิมพ์ก็ได้
               ในส่วนที่ถามเกี่ยวกับเรื่องการขอให้นายทะเบียนจดทะเบียนนิติบุคคลขึ้นมาใหม่เพื่อที่จะดำเนินการทางกฎหมายต่อไปนั้น ฉันเห็นว่าไม่น่าจะทำได้ เพราะตามที่กล่าวข้างต้นว่านิติบุคคลเดิมยังคงสภาพอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี การขอให้นิติบุคคลกลับมามีสภาพอีกครั้งอาจทำได้โดย บริษัทเอง ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ร้องต่อศาลให้สั่งให้นายทะเบียนจดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าในทะเบียนตามเดิมได้ ภายใต้เงื่อนไขว่า ขณะที่ขีดชื่อออกจากทะเบียนบริษัทยังประกอบกิจการอยู่และ/หรือ เพื่อความเป็นธรรมควรให้บริษัทกลับคืนมาขึ้นทะเบียนอีก
               อ๋อ.. !!! มันเป็นอย่างนี้หรอกเหรอครับกำนัน ?
               ก็ใช่นะสิ  อ้าว รีบกินต่อเถอะ เดี๋ยวฉันต้องไปแจกข้าวหอมมะลิพันธุ์ใหม่ให้กับชาวบ้าน

คมสัน   พิทยาภา (ทนายความ)

                                     

 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-08-16 19:48:32


ความคิดเห็นที่ 2 (2206487)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1538/2550
 

          บริษัทซึ่งเป็นลูกหนี้ถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง ทำให้ผู้ร้องซึ่งได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากเจ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีแก่บริษัทดังกล่าวได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้รู้สึกว่าต้องเสียหายมิเป็นธรรมเพราะการที่บริษัทลูกหนี้ถูกขีดชื่อจากนายทะเบียน แม้ผู้ร้องจะมีสิทธิยื่นฟ้องกรรมการของบริษัทดังกล่าวในฐานะผู้ชำระบัญชีให้ชำระหนี้ของบริษัทได้ เพราะผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 ก็ตาม ก็หาเป็นการตัดสิทธิของเจ้าหนี้ของบริษัทที่รู้สึกว่าต้องเสียหายมิเป็นธรรมเพราะการที่บริษัทลูกหนี้ถูกขีดชื่อจากทะเบียน จะยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้บริษัทดังกล่าวกลับจดชื่อคืนเข้าสู่ทะเบียนเพื่อดำเนินการเรียกร้องหนี้สินจากบริษัทโดยตรงไม่
________________________________

          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า บริษัทแค็ปปิตอล เพาเวอร์ จำกัด เป็นลูกหนี้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไทยเม็กซ์ จำกัด (มหาชน) โดยมีทรัพย์สินมาจำนองเป็นหลักประกัน ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในบรรดาสินทรัพย์สินเชื่อธุรกิจและหลักประกันแห่งหนี้ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไทยเม็กซ์ จำกัด (มหาชน) มาจากการจำหน่ายสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งกระทำโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ที่นำออกจำหน่ายเพื่อชำระบัญชีของสถาบันการเงินที่ถูกกระทรวงการคลังสั่งปิดกิจการผู้ร้องได้ทวงถามให้บริษัทแค็ปปิตอล เพาเวอร์ จำกัด ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองแล้วแต่ยังไม่ได้รับการชำระหนี้ ผู้ร้องประสงค์จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับชำระหนี้และบังคับจำนองแก่บริษัทแค็ปปิตอล เพาเวอร์ จำกัด แต่ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากบริษัทดังกล่าวถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดชื่อออกจากนายทะเบียนเป็นบริษัทร้าง เป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครจดชื่อบริษัทดังกล่าวคืนสู่ทะเบียน

          ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวนแล้ว มีผู้คัดค้าน
          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

          ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า มีเหตุสมควรที่ศาลจะสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครกลับจดชื่อบริษัทแค็ปปิตอล เพาเวอร์ จำกัด ให้คืนสถานะเป็นนิติบุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246 (6) หรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในบรรดาสินทรัพย์สินเชื่อธุรกิจและหลักประกันแห่งหนี้ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไทยเม็กซ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทแค็ปปิตอล เพาเวอร์ จำกัด มาจำนวน 131,320,148.75 บาท ผู้ร้องทวงถามให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองแก่บริษัทแค็ปปิตอล เพาเวอร์ จำกัด แล้ว ต่อมาผู้ร้องได้ตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2545 ทำให้ผู้ร้องไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีแก่บริษัทดังกล่าวได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้รู้สึกว่าต้องเสียหายมิเป็นธรรมเพราะการที่บริษัทลูกหนี้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน และเมื่อพิเคราะห์แล้วเห็นว่าเป็นการยุติธรรมในการที่จะให้บริษัทดังกล่าวได้กลับคืนขึ้นทะเบียนเพื่อให้ผู้ร้องดำเนินการเรียกร้องหนี้สินจากบริษัทดังกล่าวได้โดยตรง แม้ผู้ร้องจะมีสิทธิยื่นฟ้องกรรมการของบริษัทดังกล่าวในฐานะผู้ชำระบัญชีให้ชำระหนี้ของบริษัทได้เพราะผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของบริษัทเสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1250 ก็ตาม ก็หาเป็นการตัดสิทธิของเจ้าหนี้ของบริษัทที่รู้สึกว่าต้องเสียหายมิเป็นธรรมเพราะการที่บริษัทลูกหนี้ถูกขีดชื่อจากทะเบียน จะยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้บริษัทดังกล่าวกลับจดชื่อคืนเข้าสู่ทะเบียนเพื่อดำเนินการเรียกร้องหนี้สินจากบริษัทโดยตรงไม่ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น”

          พิพากษากลับ ให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครกลับจดชื่อบริษัทแค็ปปิตอล เพาเวอร์ จำกัด ให้คืนสถานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246 (6)

( ปัญญารัตน์ วิระยะวานิช - สมศักดิ์ เนตรมัย - มานัส เหลืองประเสริฐ )

 
  

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-08-16 20:07:40



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล