ReadyPlanet.com


ส่งเอกสารถึงเจ้านาย กล่าวหาเรื่องชู้สาว ฟ้องร้องหมิ่นประมาทได้หรือไม่


ดิฉันถูกอดิตคนรักที่ไม่ได้เจอกันกว่า 20 ปีกลับมาติดต่อ คล้ายๆ จะคืนดี แต่ดิฉันตัดบทไปตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่ติดต่อทางอีเมล์ และไม่เคยตอบเมล์เขาอีก แต่เขาส่งมาตลอด อ่านบ้าง ไม่อ่านบ้าง ทิ้งบ้าง เก็บเลยบ้าง (โดยไม่อ่าน เพราะอ่านแล้วจะไม่สบายใจ) ต่อมาช่วงหลัง เขาหาว่าดิฉันมีความสัมพันธ์กับผู้ใต้บังคับบัญชาของดิฉัน หรือแม้แต่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดิฉันไปลงบันทึกประจำวันเมื่อเขาบุกมาที่ทำงานดิฉัน ล่าสุดเขาส่งสำเนาอีเมล์ที่ส่งหาดิฉันทั้งหมด รวมทั้งสำเนาบันทึกประจำวันที่เขาไปแจ้งกับตำรวจ แก้ต่างที่ดิฉันไปแจ้งไว้ก่อนว่าเขาจะทำร้าย เพราะเขียนว่าให้ระวังภัยจะมาถึงตัว เขาบอกกับเจ้าหน้าที่ว่าไม่ใช่ภัยจากเขา แต่เป็นภัยจากหนุ่มที่ดิฉันมีสัมพันธ์ด้วย ดิฉันสามารถใช้สำเนาที่เขาส่งมาถึงเจ้านายดิฉัน (เขาลงชื่อ และรับรองสำเนาถูกต้องทุกแผ่น) ได้ไหมคะ เพราะว่ากับบุคคลที่สาม ทำให้ดิฉันเสียหาย ขอบคุณค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ Third :: วันที่ลงประกาศ 2011-08-01 21:57:57


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2211201)

ผมไม่ได้อ่านข้อความจึงสรุปเลยไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณเสียหายก็น่าจะนำเอกสารหลักฐานไปปรึกษากับทางตำรวจดูนะครับ ถ้าเข้าข่ายหมิ่นประมาท ตำรวจเขาก็ดำเนินการให้ต่อไปอยู่แล้วครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-08-31 10:29:29


ความคิดเห็นที่ 2 (2211208)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6321/2551
 

          โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยและครอบครัวให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวโจทก์และ ด. มาตั้งแต่อดีตตลอดมา และกรณีมีข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยกันอยู่ ดังนั้นการที่จำเลยเขียนจดหมายโดยกล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือของจำเลยและครอบครัวแก่ครอบครัวของโจทก์มาในอดีต และความเป็นมาของที่ดินที่โจทก์อ้างว่าได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง แม้จะมีข้อความที่อ้างว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ แต่เมื่อพิจารณาจดหมายทั้งฉบับประกอบกับจำเลยส่งจดหมายให้เฉพาะบรรดาพี่น้องเพื่อปรึกษาในการดำเนินการให้โจทก์คืนที่ดินแก่จำเลย ซึ่งมีลักษณะเป็นเพียงการตัดพ้อต่อว่าโจทก์เท่านั้น ทั้งพฤติการณ์ของจำเลยไม่มีเจตนาใส่ความให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 22 ที่แก้ไขแล้ว โจทก์อุทธรณ์สรุปได้ความว่า โจทก์มีความเห็นว่าการพิจารณาว่าจำเลยมีเจตนาใส่ความหรือไม่ เพียงแต่พิจารณาดูว่าจำเลยคิด ตกลงใจ และกระทำตามที่ตกลงใจในเรื่องการใส่ความ คือการเขียนและส่งจดหมายที่มีข้อความหมิ่นประมาทไปยังบุคคลที่สามก็ครบองค์ประกอบในความผิดฐานนี้ คือการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามในประการที่น่าจะทำให้ผู้ถูกใส่ความเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังแล้ว ไม่จำเป็นต้องพิจารณาไปถึงว่าจำเลยมุ่งหมายเพื่อจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ อันเป็นเจตนาพิเศษ เพราะเป็นเพียงผลที่คาดหมายว่าน่าจะเกิด ซึ่งข้อเท็จจริงยุติแล้วว่าจำเลยได้ส่งจดหมายที่มีข้อความตามฟ้องให้แพร่หลายแก่บุคคลที่สาม และข้อความดังกล่าวพิเคราะห์ตามมาตรฐานของวิญญูชนทั่วไป น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังได้ เมื่อบุคคลที่สามได้รับทราบถึงข้อความและรู้ว่าจำเลยกล่าวถึงใครแล้ว แม้บุคคลที่สามจะเป็นพี่น้องของจำเลยก็ตามและไม่อาจถือว่าจำเลยกระทำเพื่อป้องกันส่วนได้เสียของตนโดยชอบด้วย ป.อ. มาตรา 329 เพราะที่ดินพิพาทยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่าเป็นของบุคคลใด ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ดังนี้ เท่ากับโจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วมาวินิจฉัยโดยปรับเข้ากับตัวบทกฎหมายไม่ถูกต้อง โดยปัญหาที่ศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยในคดีนี้เพียงว่า ข้อความตามฟ้องนั้นเป็นการใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 22 ที่แก้ไขแล้ว
________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน 2542 ถึงวันที่ 7 ธันวาคม 2542 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยใส่ความโจทก์กับพวกโดยจัดทำจดหมายมีข้อความตอนหนึ่งว่า “...พี่ป๊อกแม่แมวร่วมมือกับโหน่ง (คำว่าพี่ป๊อกแม่แมว หมายถึงโจทก์ ซึ่งเป็นมารดาของนางสาววาทินีหรือแมว) ...ให้ข้อมูลเท็จแก่ศาล...” และมีข้อความอีกตอนหนึ่งว่า “...แม่ของพวกเขา (พี่ป๊อกและหลานบางคน) นอกจากไม่สำนึกในบุญคณแล้ว ยังเนรคุณโกงเสียอีก... น่าขายหน้าจริง ๆ นามสกุลสินธุโสภณ...คงเสียคราวนี้...” โดยจำเลยจัดส่งจดหมายดังกล่าวไปยังบุคคลที่สามหลายคนในประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังเพราะอาจทำให้บุคคลที่สามเข้าใจได้ว่าโจทก์เป็นคนไม่ดี เป็นคนโกหก ไม่สำนึกในบุญคุณและยังเนรคุณจำเลย และเป็นคนโกง ซึ่งความจริงแล้วเนื่องจากโจทก์ได้ร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินของจำเลย โดยเสนอพยานหลักฐานและเบิกความต่อศาลจนศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลย โดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์มิได้เนรคุณจำเลยเพราะเป็นสิทธิของโจทก์ เนื่องจากสามีของโจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวจากจำเลย แต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 332 ให้ทำลายจดหมายหมิ่นประมาทโจทก์และให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายวัน 7 ฉบับ ติดต่อกัน 7 วัน โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา

          ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมาย เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยและครอบครัวให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวโจทก์และนายดำรงมาตั้งแต่อดีตตลอดมา และกรณีมีข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยกันอยู่ ดังนั้น การที่จำเลยเขียนจดหมายโดยกล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือของจำเลยและครอบครัวแก่ครอบครัวของโจทก์มาในอดีตและความเป็นมาของที่ดินที่โจทก์อ้างว่าได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง แม้จะมีข้อความที่อ้างว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ แต่เมื่อพิจารณาจดหมายทั้งฉบับประกอบกับจำเลยส่งจดหมายให้เฉพาะบรรดาพี่น้องเพื่อปรึกษาในการดำเนินการให้โจทก์คืนที่ดินแก่จำเลยซึ่งมีลักษณะเป็นเพียงการตัดพ้อต่อว่าโจทก์เท่านั้น ทั้งพฤติการณ์ของจำเลยไม่มีเจตนาใส่ความให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง คดีต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ที่แก้ไขแล้ว โจทก์อุทธรณ์สรุปได้ความว่า โจทก์มีความเห็นว่าการพิจารณาว่าจำเลยมีเจตนาใส่ความหรือไม่ เพียงแต่พิจารณาดูว่าจำเลยคิด ตกลงใจ และกระทำตามที่ตกลงใจในเรื่องของการใส่ความ คือการเขียนและส่งจดหมายที่มีข้อความหมิ่นประมาทไปยังบุคคลที่สามก็ครบองค์ประกอบในความผิดฐานนี้ คือการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามในประการที่น่าจะทำให้ผู้ถูกใส่ความเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังแล้ว ไม่จำเป็นต้องพิจารณาไปถึงว่าจำเลยมุ่งหมายเพื่อจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชังหรือไม่อันเป็นเจตนาพิเศษ เพราะเป็นเพียงผลที่คาดหมายว่าน่าจะเกิด ซึ่งข้อเท็จจริงยุติแล้วว่าจำเลยได้ส่งจดหมายที่มีข้อความตามฟ้องให้แพร่หลายแก่บุคคลที่สาม และข้อความดังกล่าวพิเคราะห์ตามมาตรฐานของวิญญชนทั่วไปน่าจะทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชังได้เมื่อบุคคลที่สามได้รับทราบถึงข้อความและรู้ว่าจำเลยกล่าวถึงใครแล้ว แม้บุคคลที่สามจะเป็นพี่น้องของจำเลยก็ตาม และไม่อาจถือว่าจำเลยกระทำเพื่อป้องกันส่วนได้เสียของตนโดยชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 เพราะที่ดินพิพาทยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่าเป็นของบุคคลใด ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ดังนี้ เท่ากับโจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วมาวินิจฉัยโดยปรับเข้ากับตัวบทกฎหมายไม่ถูกต้อง โดยปัญหาที่ศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยในคดีนี้มีเพียงว่า ข้อความตามฟ้องนั้นเป็นการใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ที่แก้ไขแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

          พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
 

( พิสิฐ ฐิติภัค - พีรพล พิชยวัฒน์ - ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว )

 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-08-31 10:42:51



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล