ReadyPlanet.com


ขอความรู้เกี่ยวกับถนนส่วนบุคคล(เจ้าของรวม)


ถนนส่วนบุคคลแปลงนี้มีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน 5 คน (เป็นพี่น้องกัน)  1 ใน 5   ขายที่ดินแปลงของตนเอง ให้กับบุคคลภายนอก   ถามว่า ผู้ซื้อสามารถใช้ถนนร่วมกับพี่น้องที่เหลือ 4 คนได้เลยหรือไม่

ถ้าใช้ได้เลย ผู้ซื้อสามารถเอาที่เข้าธนาคารได้หรือไม่

พี่น้อง 4 คนสามารถเรียกร้องค่าตอบแทนจากผู้ซื้อได้หรือไม่  สามารถปิดถนนได้หรือไม่ 

 



ผู้ตั้งกระทู้ ฉลาดน้อย (plean_cheun-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-28 17:33:09


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2209483)

เขาซื้อที่ดินแปลงอื่นไม่ได้ซื้อที่ดินแปลงที่เป็นถนน ดังนั้นจึงไม่มีสิทธิใช้ถนนได้ เว้นแต่จะได้ซื้อกรรมสิทธิ์ของเจ้าของรวมคนที่ขายที่ดินแปลงของผู้ซื้อพ่วงไปด้วยกันจึงมีสิทธิใช้ในฐานะเจ้าของรวมครับ

เรื่องการเข้าธนาคาร คุณคงหมายถึงการจำนอง ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเจ้าของกรรมสิทธิ์ ส่วนเจ้าหนี้เขาจะรับจำนองหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเท่าที่ได้ยินมานั้น ทางธนาคารก็ไม่ค่อยปล่อยสินเชื่อแก่ที่ดินตาบอดครับ

สามารถปิดถนนได้ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-08-25 22:40:37


ความคิดเห็นที่ 2 (2209484)

เจ้าของรวมมีสิทธิขายส่วนของตนได้

เจ้าของรวมมีสิทธิที่จะขายทรัพย์สินในส่วนของตนให้ใครก็ได้และไม่ถือว่าการขายนั้นเป็นการก่อให้เกิดภาระติดพันแก่ตัวทรัพย์นั้น และการขายส่วนของตนก็ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมคนอื่น ๆ แต่การใช้สิทธิต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1454/2551
 

          โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมจำหน่ายกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์แก่บริษัท ม. มิใช่เป็นการก่อให้เกิดภาระติดพันแก่ตัวทรัพย์สิน เพราะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องรับความยินยอมจากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของรวม

          โจทก์จำหน่ายกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์แก่บริษัท ม. เพื่อให้บริษัทดังกล่าวมีสิทธิใช้ที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของรวม ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งที่จะกระทำได้
________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 16423 เนื้อที่ 311 ตารางวา ร่วมกับจำเลยทั้งสอง ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นถนนที่โจทก์และจำเลยทั้งสองใช่ร่วมกัน เมื่อประมาณต้นเดือนกรกฎาคม 2543 โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อนำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์แก่บริษัทโมเดิร์นเฟรม จำกัด แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 16423 ตำบลหลักสอง อำเภอหนองแขม (ภาษีเจริญ) กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมส่งมอบหรือไม่สามารถส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์ได้ ให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ถ้าโฉนดที่ดินสูญหายหรือถูกทำลาย ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนให้แก่โจทก์โดยจำเลยเสียค่าใช้จ่าย

          จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองและโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 16423 กรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกและเป็นภาระจำยอมของที่ดินโฉนดเลขที่ 83631, 83630, 49593 เจ้าของรวมไม่มีสิทธิก่อภาระผูกพันใดๆ เพิ่มอีก โจทก์ไม่เคยแจ้งเรื่องการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์แก่บริษัทโมเดิร์นเฟรม จำกัด ให้เจ้าของรวมคนอื่นทราบ เมื่อโจทก์นำโฉนดที่ดินไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของตนให้แก่บริษัทโมเดิร์นเฟรม จำกัด แล้วบริษัทดังกล่าวจะอนุญาตให้ผู้อื่นใช้ทางพิพาทด้วยเป็นการก่อภาระผูกพันในที่ดินพิพาทเพิ่มขึ้น จำเลยทั้งสองจึงไม่จำต้องส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินเลขที่ 16423 ตำบลหลักสอง อำเภอหนองแขม (ภาษีเจริญ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 311 ตารางวา แก่โจทก์ ถ้าโฉนดดังกล่าวสูญหายหรือถูกทำลายให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ

          จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท
          จำเลยที่ 1 ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 16423 ตำบลหลักสอง อำเภอหนองแขม (ภาษีเจริญ) กรุงเทพมหานคร เอกสารหมาย จ.1 เดิมมีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ มีชื่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และนายจรูญ ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ต่อมาเมื่อปี 2531 มีการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม โดยโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 83631 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 49593 และนายจรูญเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 83630 คงเหลือที่ดินพิพาทเนื้อที่ 311 ตารางวา ซึ่งมีสภาพเป็นถนนคอนกรีตใช้เป็นทางเข้าออกของที่ดิน 3 แปลงดังกล่าว ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2543 นายจรูญขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินพิพาทไว้ จำเลยที่ 2 เคยฟ้องโจทก์และนายจรูญขอให้จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทแก่ตนหนึ่งในสามส่วน คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้อง ปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาเอกสารหมาย ล.3 ต่อมาโจทก์ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 83631 แก่บริษัทโมเดิร์นเฟรม จำกัด ซึ่งโจทก์มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2543 โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์เพื่อนำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์แก่บริษัทดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ปรากฏตามหนังสือบอกกล่าวและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ จะจำหน่ายส่วนของตน หรือจำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้” และความในวรรคสองบัญญัติว่า “แต่ทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย จำนำ จำนองหรือก่อให้เกิดภาระติดพันได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน” การที่โจทก์จำหน่ายกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์แก่บริษัทโมเดิร์นเฟรม จำกัด มิใช่เป็นการก่อให้เกิดภาระติดพันแก่ตัวทรัพย์สิน ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ที่สามารถกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องรับความยินยอมจากจำเลยทั้งสอง ปัญหาประการต่อมาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า บริษัทโมเดิร์นเฟรม จำกัด จะนำที่ดินพิพาทไปหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นการทำให้เสียสิทธิแก่จำเลยที่ 1 และเจ้าของรวมคนอื่นนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ” การที่โจทก์จำหน่ายกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์แก่บริษัทโมเดิร์นเฟรม จำกัด เพื่อให้บริษัทดังกล่าวมีสิทธิใช้ที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของรวม จึงเป็นสิทธิของเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ ที่จะกระทำได้ ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ก็บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต จำเลยที่ 1 หามีสิทธิขัดขวางการจำหน่ายกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์นั้นชอบแล้ว”

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( อิศเรศ ชัยรัตน์ - สถิตย์ ทาวุฒิ - พงษ์ศักดิ์ วีระเสถียร )

 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-08-25 22:41:08



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล