ReadyPlanet.com


ปรึกษาปัญหาที่ดิน


เรื่องมันเริ่มขึ้นมาประมาณ 7-8ปีที่แล้ว ลุงและยายได้นำที่ดินไปขาย โดยทำสัญญาไว้ (ไม่แน่ใจว่ามีพยานหรือเปล่า เขาไม่ให้ดูสัญญา) ณ อบต. ที่ดิน 1 ไร่ 2 งาน ราคา

3,000บาท
ต่อมาอีกสองปี ยายได้โอนที่ดินทั้งหมดเป็นชื่อของแม่ โดยไม่ได้บอกคนที่ซื้อไป เพราะต้องการนำที่ไปวางไว้กับ ธกส. แม่ได้นำที่ดินไปวางไว้กับ ธกส.เพื่อกู้เงินมา และแม่ได้พัฒนาที่ดิน

แปลงนั้นมาเรื่อยๆ ตอนนี้ปลูกลำไย ได้ผลผลิตดี ทางผู้ซื้อได้มาทวงสิทธิ์ให้
โอนที่ดินให้ แต่ติดตรงที่ที่ดินอยู่ที่ ธกส. ไม่สามารถโอนให้ได้ เค้าบอกจะฟ้องข้อหายักยอกทรัพย์ ถ้าไม่โอนให้
อยากถามว่า
 1. เขาสามารถฟ้องข้อหายักยอกทรัพย์ได้หรือไม่
 2. ที่ดินส่วนนี้เป็นสิทธิ์ครอบครองของใคร
 3. ถ้าฟ้องร้องเราจะมีสิทธิ์ชนะคดีหรือไม่
 4. เอกสารซื้อขายสมบูรณ์หรือไม่ ในเมื่อไม่มีลายเซ็นต์ของเจ้าหน้าที่ (เพราะถ้ามีคงโอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้) แต่ไม่แน่ใจว่ามีพยานหรือเปล่า เขาไม่ให้ดูสัญญาที่ทำกันไว้

ถ้าคิดดูในทางของผู้ซื้อ เขามีสิทธิ์เนื่องจากเขาจ่ายเงินให้เราแล้วและสัญญาได้รับความยินยอมทั้งสองฝ่ายครบ



ผู้ตั้งกระทู้ chaiyon :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-27 20:57:24


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2208670)

1. เขาสามารถฟ้องข้อหายักยอกทรัพย์ได้หรือไม่

ตอบ  การยักยอกนั้นต้องเป็นการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นแล้วไม่ยอมคืน แต่ในกรณีตามที่ถามมานั้นไม่ปรากฏว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่นแต่ประการใด เพราะเป็นชื่อของลุบงและยายซึ่งผู้ซื้อจะอ้างความเป็นเจ้าของไม่ได้เพราะการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งหมายความว่าต้องไปโอนกันที่สำนักงานที่ดิน เมื่อไม่ไปโอนกันดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะ

มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่น เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคล ที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์ สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียง กึ่งหนึ่ง

2. ที่ดินส่วนนี้เป็นสิทธิ์ครอบครองของใคร

ตอบ ก็เป็นสิทธิของเจ้าของที่ดินที่มีชื่อในโฉนดที่ดิน

 3. ถ้าฟ้องร้องเราจะมีสิทธิ์ชนะคดีหรือไม่

ตอบ ต้องได้เห็นคำฟ้องเสียก่อนครับว่าเขามีหลักฐานอะไรบ้าง?

4. เอกสารซื้อขายสมบูรณ์หรือไม่ ในเมื่อไม่มีลายเซ็นต์ของเจ้าหน้าที่ (เพราะถ้ามีคงโอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้) แต่ไม่แน่ใจว่ามีพยานหรือเปล่า เขาไม่ให้ดูสัญญาที่ทำกันไว้

ตอบ ควรนำเอกสารหลักฐานไปปรึกษาทนายความดีกว่าครับ

โทร 085 9604258

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-08-23 16:41:16


ความคิดเห็นที่ 2 (2208680)

 ความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4823/2552

          โจทก์ประกอบกิจการให้เช่าซื้อรถแท็กซี่ มีเจ้าของรถแท็กซี่นำรถมาร่วมกิจการกับโจทก์โดยใช้ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถและมอบให้โจทก์นำรถแท็กซี่ออกให้เช่าซื้อ แต่สัญญาเช่าซื้อทำกันระหว่างเจ้าของรถแท็กซี่กับผู้เช่าซื้อ กำหนดชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายวัน ในการนี้ โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บค่าเช่าซื้อแทน จำเลยที่ 1 เก็บค่าเช่าซื้อไว้แล้วไม่ส่งให้โจทก์ เบียดบังเอาเงินค่าเช่าซื้อที่รับไว้แทนโจทก์ไปโดยทุจริต จึงมีความผิดฐานยักยอก และแม้เงินดังกล่าวจะมิใช่ของโจทก์ แต่โจทก์ต้องส่งเงินดังกล่าวให้แก่เจ้าของรถหลังจากหักค่าใช้จ่ายของโจทก์แล้ว โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง
________________________________

          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, มาตรา 83 และมาตรา 91

          ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
          จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ประกอบกิจการให้เช่าซื้อรถแท็กซี่ มีผู้นำรถมาเข้าร่วมกิจการดังกล่าวกับโจทก์รวมทั้งรถแท็กซี่ทั้ง 12 คัน ในคดีนี้ โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้ติดตามจัดเก็บค่าเช่าซื้อแทนโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ช่วยเก็บค่าเช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบค่าเช่าซื้อส่วนหนึ่งให้แก่โจทก์ โจทก์จึงร้องทุกข์และฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องและโจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่ โจทก์มีนางสาวปิยาภาเป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ เดิมโจทก์ประกอบธุรกิจให้เช่ารถแท็กซี่ ต่อมาปี 2539 เปลี่ยนธุรกิจเป็นให้เช่าซื้อรถแท็กซี่ มีเจ้าของรถแท็กซี่นำรถมาร่วมกิจการดังกล่าวกับโจทก์เฉพาะคดีนี้จำนวน 12 คัน โดยมอบให้โจทก์นำรถแท็กซี่ออกให้เช่าซื้อ ในการนี้เจ้าของรถแท็กซี่ให้โจทก์ใช้ชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่สัญญาเช่าซื้อทำกันระหว่างเจ้าของรถแท็กซี่กับผู้เช่าซื้อ กำหนดชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายวัน โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บค่าเช่าซื้อแทน จำเลยที่ 1 มอบให้จำเลยที่ 2 ไปเก็บค่าเช่าซื้อโดยจะบันทึกการรับเงินในสมุดของผู้เช่าซื้อ และจำเลยที่ 2 ยังต้องลงในสมุดบัญชีของโจทก์พร้อมกับนำค่าเช่าซื้อส่งให้โจทก์ทุกวัน พยานเป็นผู้รวบรวมเงินไว้เมื่อถึงสิ้นเดือนจะหักค่าใช้จ่ายแล้วเฉลี่ยเงินส่วนที่เหลือให้แก่เจ้าของรถทุกคัน ในข้อนี้โจทก์มีนายวรเชษฐ์และนายอุเทนเจ้าของและผู้เช่าซื้อรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน 7ท-1376 กรุงเทพมหานคร นางทิพย์สุดาและนายอุ่นเจ้าของและผู้เช่าซื้อรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน 7ท-9049 กรุงเทพมหานคร กับนายสุพลผู้เช่าซื้อรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน 7ท-1185 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายจงเป็นเจ้าของเป็นพยานเบิกความยืนยันถึงทางปฏิบัติระหว่างโจทก์ เจ้าของรถแท็กซี่และจำเลยทั้งสอง ตามคำเบิกความของนางสาวปิยาภา โดยค่าเช่าซื้อส่วนที่นายอุเทนชำระให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 12,600 บาท และส่วนที่นายอุ่นชำระให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 10,200 บาท กับส่วนที่นายสุพลชำระให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 22,800 บาทนั้น จำเลยทั้งสองไม่ได้ส่งให้กับโจทก์ ประกอบกับค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 รับจากผู้เช่าซื้อจำนวน 17 ครั้ง ตามสมุดบันทึกของผู้เช่าซื้อทั้ง 12 เป็นเงินจำนวนถึง 112,200 บาท ซึ่งเป็นค่าเช่าซื้อที่รับจากผู้เช่าซื้อระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม 2541 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2541 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งค่าเช่าซื้อดังกล่าวที่รับไว้แทนโจทก์ให้แก่โจทก์เป็นรายวัน นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังเบิกความรับว่า เมื่อประมาณปี 2541 โจทก์เร่งรัดให้จำเลยที่ 1 เก็บค่าเช่าซื้อ บ่งชี้ให้เห็นว่าโจทก์โดยนางสาวปิยาภาพบความผิดปกติในเรื่องดังกล่าว อันนำไปสู่การตรวจสอบการชำระค่าเช่าซื้อตามสมุดบันทึกของผู้เช่าซื้อ จนพบว่าจำเลยที่ 1 รับค่าเช่าซื้อไว้แล้วไม่ส่งให้โจทก์ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ส่อเจตนาว่าจะไม่ส่งค่าเช่าซื้อที่รับไว้แทนโจทก์ดังกล่าวให้โจทก์ อันเป็นการเบียดบังเอาเงินค่าเช่าซื้อที่รับไว้แทนโจทก์ไปโดยทุจริต จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานยักยอกตามฟ้อง การที่จำเลยที่ 1 นำค่าเช่าซื้อที่รับไว้ไปแจ้งความและได้รับคำแนะนำจากเจ้าพนักงานตำรวจว่าให้นำไปฝากธนาคารก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 พ้นผิด และแม้เงินดังกล่าวจะมิใช่เงินของโจทก์ แต่โจทก์ก็ต้องส่งเงินดังกล่าวให้เจ้าของรถหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำความผิดจนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่ามีส่วนได้เสียจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ทั้งยังได้ความจากจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งระงับไม่ให้จำเลยที่ 2 นำค่าเช่าซื้อที่เก็บมาได้ส่งให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ย่อมต้องกระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้าง พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอฟังว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล แต่ในส่วนของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

          พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวม 17 กระทง จำคุก 17 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

( พิษณุ ดำรงเกียรติวัฒนา - พิทยา บุญชู - สิทธิชัย พรหมศร )

ศาลแขวงพระนครใต้ - นางชื่นอารี ชุ่มจิตร
ศาลอุทธรณ์ - นายปกรณ์ วงศาโรจน์

         

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-08-23 16:59:22


ความคิดเห็นที่ 3 (2208682)

ผู้มีชื่อในทะเบียนที่ดินเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
มาตรา 1373 ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ปรากฏว่าที่ดินพิพาทระบุว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองแต่ผู้เดียว โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นำสืบในคดีนี้ย่อมตกแก่ผู้ร้องที่จะต้องนำสืบให้ได้ความตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6113/2550
 

          ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ซึ่งระบุชื่อจำเลยแต่ผู้เดียวเป็นเจ้าของ กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ที่บัญญัติว่า "ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง" เมื่อผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องมีสิทธิครอบครองร่วมด้วยครึ่งหนึ่ง ทั้งที่ปรากฏว่าที่ดินพิพาทระบุว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองแต่ผู้เดียว โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นำสืบในคดีย่อมตกแก่ผู้ร้องที่จะต้องนำสืบให้ได้ความตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง
________________________________


          คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1446 ตำบลพระแท่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 2 งาน 63 ตารางวา พร้อมบ้าน 2 หลัง ที่อยู่ในที่ดินพิพาท หลังแรกเลขที่ 123/1 หลังที่สองไม่มีเลขที่ หมู่ที่ 6 ตำบลพระแท่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินของจำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา

          ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นางแก้ว โพธิ์ทอง ซึ่งเป็นมารดาของผู้ร้องและจำเลยได้ยกที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1446 ตำบลพระแท่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ให้แก่ผู้ร้องกับจำเลยคนละครึ่ง แต่ใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยตกลงว่าจะใส่ชื่อผู้ร้องในภายหลังและผู้ร้องได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ขอให้ศาลมีคำสั่งให้กันส่วนของผู้ร้อง

          โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
          ผู้ร้องอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
         ผู้ร้องฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทพร้อมบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินร่วมกับจำเลยคนละครึ่งหรือไม่ ผู้ร้องเบิกความถึงเหตุผลแห่งการที่ที่ดินพิพาทระบุชื่อจำเลยเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนางแก้วซึ่งเป็นมารดาของผู้ร้องและจำเลย ต่อมานางแก้วประสงค์จะยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องกับจำเลยคนละครึ่ง แต่เนื่องจากต้องการนำที่ดินไปจำนองธนาคารจึงใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของคนเดียวก่อน จำเลยจึงได้ทำหนังสือให้สัญญาไว้ว่าจะต้องใส่ชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของรวมในภายหลัง เห็นว่า แม้ผู้ร้องจะมีนางแก้วและจำเลยมาเบิกความรับรองข้อตกลงก็ตามแต่พยานผู้ร้องทุกคนดังกล่าวล้วนเป็นเครือญาติใกล้ชิดและมีส่วนได้เสียโดยตรงในคดีนี้ทั้งสิ้น จึงมีน้ำหนักน้อย อีกทั้งยังปรากฏว่ามีบุคคลที่ได้ลงชื่อเป็นพยานในข้อตกลงอีก 2 คน คือ นายสนอง สุขภิญโญ และนายเล็ก สุทธิบุตร แต่ผู้ร้องก็หาได้นำบุคคลทั้งสองมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลไม่ และในประการสำคัญที่สุด คือ ข้ออ้างตามทางนำสืบของพยานผู้ร้องที่พยานผู้ร้องทั้งสามคนเบิกความตรงกันว่าเหตุที่ต้องใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของคนเดียวก่อนเนื่องจากจะต้องนำที่ดินพิพาทไปจำนองธนาคารนั้น แม้ผู้ร้องจะพยายามนำสืบว่าทำขึ้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2537 อันเป็นเวลาภายหลังวันที่นางแก้วยกที่ดินพิพาทให้จำเลยเพียงวันเดียว ดังที่ปรากฏในสารบัญจดทะเบียนหลัง น.ส.3 ก. ที่ระบุว่าการจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยกระทำในวันที่ 17 ตุลาคม 2537 และต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2537 จำเลยก็ได้นำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรซึ่งสอดคล้องตรงกันกับข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องพยายามนำสืบต่อศาลก็ตามแต่ข้อนำสืบดังกล่าวก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะสนับสนุนให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียวก่อนแต่อย่างใด เพราะแม้หากจะใส่ชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทด้วย ทั้งจำเลยและผู้ร้องก็สามารถนำที่ดินพิพาทไปจำนองกับธนาคารหรือโจทก์ได้เว้นแต่ว่าผู้ร้องและจำเลยจะตั้งใจสมคบกันที่จะฉ้อฉลธนาคารรวมทั้งโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้มาแต่ต้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็ต้องถือว่าผู้ร้องมีเจตนาที่จะใช้สิทธิโดยไม่สุจริตมาตั้งแต่แรก เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ที่บัญญัติว่า "ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต" ผู้ร้องย่อมไม่อาจอ้างการฉ้อฉลหรือกระทำโดยไม่สุจริตดังกล่าวมาร้องขอความยุติธรรมจากศาลได้พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบดังที่ได้วินิจฉัยมาจึงขัดต่อเหตุผลและมีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ ส่วนที่ผู้ร้องอ้างในฎีกาว่า คดีนี้โจทก์มิได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานของผู้ร้องศาลล่างทั้งสองชอบที่จะต้องฟังข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของผู้ร้องนั้น เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ซึ่งระบุชื่อจำเลยแต่ผู้เดียวเป็นเจ้าของ กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ที่บัญญัติว่า "ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง" เมื่อผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องมีสิทธิครอบครองร่วมด้วยครึ่งหนึ่ง ทั้งที่ปรากฏว่าที่ดินพิพาทระบุว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองแต่ผู้เดียว โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นำสืบในคดีนี้ย่อมตกแก่ผู้ร้องที่จะต้องนำสืบให้ได้ความตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง เมื่อพยานหลักฐานของผู้ร้องดังที่ได้วินิจฉัยมาไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยครึ่งหนึ่งดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างแล้ว แม้โจทก์จะมิได้นำพยานมาสืบหักล้าง ศาลก็ไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องนำสืบได้ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาต้องกันให้ยกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษายืน

( ธานิศ เกศวพิทักษ์ - นินนาท สาครรัตน์ - วีระศักดิ์ นิศามณี )

มาตรา 1373 ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-08-23 17:02:07


ความคิดเห็นที่ 4 (2208693)

หนังสือสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับนางฮามีด๊ะเป็นสัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์ที่มีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด การทำสัญญาซื้อขายกันเอง จึงตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3970/2548

          ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า หนังสือสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับ ฮ. เป็นสัญญาขายฝากที่มีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด การทำสัญญาซื้อขายกันเองเป็นโมฆะ โจทก์ไม่อาจกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในบ้านที่ซื้อขายกันตามสัญญาขายฝากดังกล่าวได้ ส่วนหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่กรมประชาสงเคราะห์ตกลงยอมให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ มีลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สิน ซึ่งเป็นบุคคลสิทธิ โจทก์ไม่อาจบังคับผู้อื่นนอกจากคู่สัญญาได้ จำเลยครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทอยู่ก่อนโดยโจทก์ยังมิได้เข้าครอบครองที่ดินและบ้านพิพาท ถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิตามสัญญาเช่าของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่โจทก์ฎีกาว่า อ. ผู้ให้จำเลยเช่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาท มิได้รับโอนสิทธิและได้รับอนุญาตจากกรมประชาสงเคราะห์การครอบครองของ อ. จึงเป็นการครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น การเข้าอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์นั้น มิได้เป็นการโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่วินิจฉัยมาแต่อย่างใด เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

          สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับ ฮ. เป็นสัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอย่างหนึ่ง จึงต้องทำตามแบบตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมตกเป็นโมฆะ

          ขณะที่ ฮ. โอนสิทธิในบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ และกรมประชาสงเคราะห์ทำหนังสืออนุญาตให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในที่ดินและบ้านดังกล่าว โจทก์ไม่อาจเข้าครอบครองทำประโยชน์ได้เนื่องจากจำเลยครอบครองอยู่ แสดงว่าโจทก์ไม่เคยเข้าไปยึดถือครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทเลย โจทก์ย่อมไม่ได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 การที่จำเลยยังคงครอบครองและทำประโยชน์อยู่ในบ้านและที่ดินอยู่นั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ อันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ ห้ามมิให้เข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป และให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์

          จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
          โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

          ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า ที่ดินพิพาทในนิคมสร้างตนเองธารโต จังหวัดยะลา อยู่ในความครอบครองดูแลของกรมประชาสงเคราะห์ และได้จัดสรรให้ราษฎรเข้าไปจับจองใช้ประโยชน์ ซึ่งแต่เดิมนางฮามีด๊ะ เป็นผู้ได้รับจัดสรรและใช้ประโยชน์ปลูกสร้างบ้านเลขที่ 68 บนที่ดินพิพาทและได้ให้จำเลยครอบครองเปิดร้านขายอาหาร ต่อมานางฮามีด๊ะได้โอนบ้านดังกล่าวพร้อมสิทธิในที่ดินให้แก่โจทก์ และกรมประชาสงเคราะห์ได้ทำหนังสืออนุญาตให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 68 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว แต่โจทก์ไม่อาจเข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากจำเลยยังคงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ และศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า หนังสือสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับนางฮามีด๊ะเป็นสัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์ที่มีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด การทำสัญญาซื้อขายกันเอง จึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมไม่อาจกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในบ้านที่ซื้อขายกันตามสัญญาขายฝากดังกล่าวได้ ส่วนหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่กรมประชาสงเคราะห์ตกลงยอมให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ มีลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเพียงบุคคลสิทธิ อันเป็นสิทธิเหนือบุคคลผู้เป็นคู่สัญญาเท่านั้น โจทก์ไม่อาจบังคับบุคคลอื่นนอกจากคู่สัญญาได้ เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทตามฟ้องอยู่ก่อน โดยโจทก์ยังมิได้เข้าครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทตามสัญญาเช่า จึงยังไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินและบ้านพิพาท ถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิตามสัญญาเช่าของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่โจทก์ฎีกาว่า นายอูมา ผู้ให้จำเลยเช่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทมิได้รับโอนสิทธิและได้รับอนุญาตจากกรมประชาสงเคราะห์ การครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทของนายอูมา จึงเป็นการครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้นการเข้าอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์นั้น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่ได้วินิจฉัยมาดังกล่าวข้างต้นเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

          ส่วนที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่อยู่ในแนวเขตนิคมสร้างตนเอง กรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งเป็นที่ดินของทางราชการ การทำสัญญาซื้อขายบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว จึงไม่ต้องจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่เพียงแต่ส่งมอบการครอบครองและได้ปฏิบัติมาตามระเบียบหรือกฎเกณฑ์ที่ทางราชการได้กำหนดก็เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายและถือว่าผู้นั้นมีสิทธิแล้วนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติจากคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ว่า สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับนางฮามีด๊ะเป็นสัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอย่างหนึ่ง จึงต้องอยู่ภายในบังคับแห่งแบบของสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมตกเป็นโมฆะ อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดบัญญัติว่าการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินของทางราชการ ได้รับยกเว้นไม่ต้องทำตามแบบของมาตรา 456 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวข้างต้นด้วย

          ส่วนที่โจทก์ฎีกาในปัญหาประการต่อมาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินและบ้านพิพาทแล้วนั้น เห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา 1367 บัญญัติถึงหลักเกณฑ์การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองว่า บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังและโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาโต้เถียงรับฟังเป็นยุติว่า ขณะที่นางฮามีด๊ะโอนสิทธิในบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ และกรมประชาสงเคราะห์ทำหนังสืออนุญาตให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในที่ดินและบ้านดังกล่าว โจทก์ไม่อาจเข้าครอบครองทำประโยชน์ได้ เนื่องจากจำเลยครอบครองอยู่ แสดงว่าโจทก์เพียงแต่ได้รับโอนสิทธิจากผู้ได้รับสิทธิจากกรมประชาสงเคราะห์เท่านั้น แต่โจทก์ยังไม่เคยเข้าไปยึดถือครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทเลย โจทก์ย่อมยังไม่ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในบ้านและที่ดินพิพาทตามมาตรา 1367 ดังกล่าวข้างต้น ข้อกล่าวอ้างตามฎีกาของโจทก์แม้จะรับฟังได้ว่ากรมประชาสงเคราะห์ได้ทำหนังสืออนุญาตให้โจทก์เข้าใช้ประโยชน์ในบ้านและที่ดินดังกล่าวถูกต้องตามระเบียบราชการแล้วก็ตาม ก็มีผลเพียงว่าโจทก์มีสิทธิที่จะเข้าไปครอบครองใช้ประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาทแล้วเท่านั้น แต่ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้เข้าครอบครองใช้ประโยชน์ โจทก์ย่อมยังไม่ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในบ้านและที่ดินพิพาทตามฟ้อง การที่จำเลยยังคงครอบครองและทำประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาทอยู่นั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิดังกล่าวของโจทก์ อันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( ธานิศ เกศวพิทักษ์ - วิชัย วิวิตเสวี - เกรียงชัย จึงจตุรพิธ )

ศาลจังหวัดยะลา - นายพัฐวิศ สังข์วรษา
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 - นายสุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์

  

 

สำนักงานทนายความ 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-08-23 17:23:02



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล