ReadyPlanet.com


ปรึกษาเรื่องหนี้สิน เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องได้หรือไม่


ดิฉัน ได้ทำธุรกิจส่วนตัวค่ะ สานต่อธุรกิจของครอบครัว ซึ่งดิฉันจะรับสินค้าจากร้านค้าส่ง โดยเอาสินค้ามาก่อน แล้วจ่ายชำระเงินทีหลัง ทางร้านค้าส่งจะให้เครดิตดิฉัน 30 วันค่ะ ซึ่งร้านค้าส่งที่ดิฉันไปรับสินค้ามามีอยู่ สองร้านค่ะ ให้เครเหมือนกัน เมื่อประมาณต้นปีดิฉันมีปัญหาทางการเงิน เรื่อยมา ทำให้ไม่ได้จ่ายชำระหนี้ร้านค้าส่งเจ้าแรก เป็นเงิน 500000 บาท  และเจ้าที่สองเป็นเงิน 250000 เช่นกัน

ร้านค้าส่งเจ้าแรกได้เรียกดิฉันไปคุย แล้วให้เซ้นต์รับสภาพหนี้ ยอดเงินรวม 220000 บาท กำหนดจ่าย 5 งวด ระยะเวลาห่างกัน 10 วัน ซึ่งดิฉันได้จ่ายงวดแรก ไปแล้ว ร้านค้าส่งที่สองก็โทรมานัดให้ดิฉันไปเซ้นต์รับสภาพลูกหนี้

   จึงขอเรียนถามดังนี้ค่ะ

1. กรณีนี้ถือเป็นคดีแพ่ง หรือ คดีอาญาค่ะ ร้านค้าส่งสามรถฟ้องร้องได้ไหมค่ะ

2.  กรณีนี้ถ้าดิฉันไม่เซนต์รับสภาพลูกหนี้ ได้หรือไม่ค่ะ ทางร้านค้าส่งแจ้งว่าถ้าดิฉันไม่ไปจะเอาตำรวจเข้ามาค่ะ ถ้าดิฉันเซ้นต์รับสภาพลูกหนี้ไปแล้วมีผลอย่างไรบ้างค่ะทางกฎหมาย

3. หลังจากที่ดิฉันเซ้นต์รับสภาพหนี้กับร้านค้าแรก ทางร้านได้แจ้งดิฉันว่า ถ้าดิฉันไม่ส่งให้ครบทุกงวด จะดำเนินคดี แล้วเอาติดคุกเลย ห้ามประกันตัว อยากทราบว่าทางร้านค้ามีสิทธิหรือเปล่าค่ะ

4. กรณีที่ดิฉันเซ้นรับสภาพหนี้กับเจ้าแรก และได้ชำระหนี้งวดแรกไปแล้ว แต่งวดที่สอง ดิฉันไม่สามารถชำระได้ เนื่องจากจนปัญญาไม่รู้จะหาเงินแสนได้จากไหนภายในระยะเวลา 10 วัน ทางร้านจะเอาผิดแล้วดำเนินคดีกับดิฉันได้หรือไม่ค่ะ จะติดคุกหรือไม่ค่ะ

รบกวนด้วยนะค่ะ

          



ผู้ตั้งกระทู้ มะนาว :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-27 17:31:29


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2208641)

1. กรณีนี้ถือเป็นคดีแพ่ง หรือ คดีอาญาค่ะ ร้านค้าส่งสามรถฟ้องร้องได้ไหมค่ะ

ตอบ  เป็นเรื่องผิดสัญญาซื้อขาย เป็นคดีแพ่งครับ ไม่มีโทษจำคุก

2.  กรณีนี้ถ้าดิฉันไม่เซนต์รับสภาพลูกหนี้ ได้หรือไม่ค่ะ ทางร้านค้าส่งแจ้งว่าถ้าดิฉันไม่ไปจะเอาตำรวจเข้ามาค่ะ ถ้าดิฉันเซ้นต์รับสภาพลูกหนี้ไปแล้วมีผลอย่างไรบ้างค่ะทางกฎหมาย

ตอบ  ทางเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิบังคับให้คุณเซนหนังสือรับสภาพหนี้ได้ และตำรวจก็จะไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ให้ได้ครับ แต่ถ้าได้ลงชื่อไปแล้วมีผลทำให้เป็นหลักฐานว่าคุณเป็นหนี้จริงเท่านั้น แม้คุณไม่ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ ทางฝ่ายเจ้าหนี้เขาก็ฟ้องได้อยู่แล้ว แต่ถ้ามีหนังสือรับสภาพหนี้ประกอบในคดีทำให้การสืบพยานเรื่องเป็นหนี้กันจริงหรือไม่ ง่ายขึ้น พูดง่าย ๆ ก็คือหนังสือรับสภาพหนี้ผูกมัดคุณไม่ให้ต่อสู้คดีว่าไม่ได้เป็นหนี้กันจริงครับ

3. หลังจากที่ดิฉันเซ้นต์รับสภาพหนี้กับร้านค้าแรก ทางร้านได้แจ้งดิฉันว่า ถ้าดิฉันไม่ส่งให้ครบทุกงวด จะดำเนินคดี แล้วเอาติดคุกเลย ห้ามประกันตัว อยากทราบว่าทางร้านค้ามีสิทธิหรือเปล่าค่ะ

ตอบ  ตามคำตอบข้อ 1 ครับ เจ้าหนี้ต้องนำคดีไปฟ้องต่อศาลเพื่อตั้งสิทธิของเขาว่าเขาเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา มีสิทธิที่จะตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึด หรืออายัดเงิน เพื่อชำระหนี้ต่อไปได้ แต่ไม่มีโทษจำคุกตามที่เขาขู่ไว้ครับ

4. กรณีที่ดิฉันเซ้นรับสภาพหนี้กับเจ้าแรก และได้ชำระหนี้งวดแรกไปแล้ว แต่งวดที่สอง ดิฉันไม่สามารถชำระได้ เนื่องจากจนปัญญาไม่รู้จะหาเงินแสนได้จากไหนภายในระยะเวลา 10 วัน ทางร้านจะเอาผิดแล้วดำเนินคดีกับดิฉันได้หรือไม่ค่ะ จะติดคุกหรือไม่ค่ะ

ตอบ คดีผิดสัญญาซื้อขายมีอายุความ 2 ปี ครับ  คำตอบตามขัอ 1 - 3 น่าจะเป็นประโยชน์กับคำถามข้อ 4 นี้นะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-08-23 14:58:14


ความคิดเห็นที่ 2 (2208644)

ผิดสัญญาซื้อขาย รับสภาพหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3135/2547

          ก่อนยื่นคำขอรับชำระหนี้คดีนี้เจ้าหนี้ได้ฟ้องบริษัท ส. และลูกหนี้เป็นจำเลยในข้อหาผิดสัญญาซื้อขาย รับสภาพหนี้ และใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ โดยฟ้องว่า บริษัท ส. ผิดสัญญาไม่ชำระค่าสินค้าให้เจ้าหนี้ ซึ่งต่อมาบริษัท ส. ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ว่าเป็นหนี้ค่าสินค้าพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 38,065,534.81 บาท และขอผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือน แต่ก็ผิดนัดชำระหนี้และปรากฏว่าก่อนหน้านี้ลูกหนี้ได้ว่าจ้างบริษัท ส. ดังกล่าว ก่อสร้างและติดตั้งระบบภายในอาคารของลูกหนี้ โดยมีการส่งมอบงานแก่ลูกหนี้ 3 งวด รวมทั้งสิ้น 76 ครั้ง คิดเป็นเงิน 127,000,000 บาท และบริษัท ส. รับสมอ้างว่าได้รับค่าจ้างจำนวนดังกล่าวไปจากลูกหนี้แล้วซึ่งไม่เป็นความจริง เจ้าหนี้จึงแจ้งให้บริษัท ส. ใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องลูกหนี้ให้ชำระหนี้ดังกล่าวเพื่อจะได้นำมาชำระหนี้ค่าสินค้าแก่เจ้าหนี้ แต่บริษัท ส. เพิกเฉยทำให้เจ้าหนี้เสียหายและเสียประโยชน์ ขอให้บังคับบริษัท ส. และลูกหนี้ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 38,065,534.81 บาท พร้อมดอกเบี้ย บริษัท ส. และลูกหนี้ให้การต่อสู้คดี แต่ระหว่างการพิจารณาคดีลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะลูกหนี้ชั่วคราว และต่อมาได้พิพากษาให้บริษัท ส. ชำระหนี้ดังกล่าวแก่เจ้าหนี้ คดีถึงที่สุด ดังนี้ การที่เจ้าหนี้ได้ฟ้องบริษัท ส. และลูกหนี้เป็นจำเลยในคดีแพ่งแทนการขอให้ศาลออกหมายเรียกให้บริษัท ส. เข้ามาในคดีในการใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้ ก็ถือได้ว่าเจ้าหนี้ได้ดำเนินการตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 ที่มุ่งหมายให้ลูกหนี้เข้ามาในคดีเพื่อรักษาสิทธิของตนแล้ว และการที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในนามตนเองแทนบริษัท ส. เป็นกระบวนการที่สืบเนื่องมาจากการที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัท ส. ซึ่งเป็นลูกหนี้นั่นเอง เมื่อบริษัท ส. ไม่มีทรัพย์สินที่เจ้าหนี้จะบังคับมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ และบริษัท ส. ก็มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ด้วย จึงเป็นกรณีที่บริษัท ส. เพิกเฉยไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์ เจ้าหนี้จึงใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัท ส. ในนามตนเองขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ตามจำนวนหนี้ที่บริษัท ส. เป็นหนี้เจ้าหนี้

          คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2543 และมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2544 โดยตั้งบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจอาร์เธอร์แอนเดอร์เซ่น จำกัด เป็นผู้บริหารแผนเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2544

          เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการโดยใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นลูกหนี้ในมูลหนี้ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างและติดตั้งระบบภายในอาคารโรงงาน เป็นเงิน 60,333,872.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 38,065,534.81 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระเสร็จสิ้น รายละเอียดปรากฏตามบัญชีแนบท้ายคำขอรับชำระหนี้

          เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/29 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 แล้ว ปรากฏว่าผู้ทำแผนและธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้ โดยผู้ทำแผนโต้แย้งว่ามูลหนี้ที่ขอรับชำระหนี้เป็นมูลหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ซึ่งไม่เกี่ยวกับลูกหนี้ ส่วนธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โต้แย้งว่ายอดหนี้ที่ขอรับชำระไม่ถูกต้อง

          เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/32 วรรคสอง (1)

          เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้ศาลมีคำสั่งกลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้

          เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง

          ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งแก้คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 38,065,534.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 34,192,725.30 บาท นับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จและให้ได้รับชำระหนี้ในส่วนของค่าฤชาธรรมเนียม โดยมีค่าทนายความ 300,000 บาท ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3154/2543 ของศาลจังหวัดสงขลา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

          เจ้าหนี้และลูกหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “...มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของลูกหนี้ว่า เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ในนามของตนเองขอรับชำระหนี้จากลูกหนี้ซึ่งเป็นลูกหนี้ของบริษัทดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 ได้หรือไม่ เห็นว่า ก่อนยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้เจ้าหนี้ได้เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด และลูกหนี้เป็นจำเลย ในข้อหาผิดสัญญาซื้อขาย รับสภาพหนี้ และใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ต่อศาลจังหวัดสงขลาเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 868/2541 ซึ่งมีมูลหนี้เดียวกับที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ กล่าวคือ เจ้าหนี้ฟ้องว่าบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ได้ซื้อสินค้าประเภทเหล็ก อุปกรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเหล็กและออกซิเจนไปจากเจ้าหนี้ รวมเป็นเงิน 34,192,725.30 บาท แต่บริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ต่อมาวันที่ 24 มกราคม 2540 บริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ว่าเป็นหนี้ค่าสินค้าพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 38,065,534.81 บาท และขอผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือน เดือนละ 100,000 บาท แต่ก็ผิดนัดไม่ชำระหนี้อีก และปรากฏว่าเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 ลูกหนี้ได้ว่าจ้างบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ก่อสร้างและติดตั้งระบบภายในอาคารของลูกหนี้ รวมค่าก่อสร้างและแรงงานเป็นเงิน 149,000,000 บาท โดยแบ่งชำระเป็นงวดรวม 4 งวด ตามผลสำเร็จของงาน บริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ได้ส่งมอบงานแก่ลูกหนี้ 3 งวด รวม 76 ครั้ง คิดเป็นเงิน 127,000,000 บาท และบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด รับสมอ้างว่าได้รับค่าจ้างจำนวนดังกล่าวไปจากลูกหนี้แล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะลูกหนี้ยังมิได้ชำระค่าจ้างจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด เจ้าหนี้จึงแจ้งให้บริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องลูกหนี้ให้ชำระหนี้จำนวนดังกล่าว เพื่อจะได้นำมาชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่เจ้าหนี้ แต่บริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด เพิกเฉย ทำให้เจ้าหนี้เสียหายและเสียประโยชน์ ขอให้บังคับบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด และลูกหนี้ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 38,065,534.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 34,192,725.30 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่เจ้าหนี้ บริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด และลูกหนี้ให้การต่อสู้คดี แต่ในระหว่างพิจารณาคดีลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ศาลจังหวัดสงขลาจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะลูกหนี้ชั่วคราว ต่อมาศาลจังหวัดสงขลามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2543 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3154/2543 ให้บริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ชำระเงินจำนวน 38,065,534.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีของต้นเงิน 34,192,725.30 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 2 มีนาคม 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่เจ้าหนี้ และให้บริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนเจ้าหนี้ โดยกำหนดค่าทนายความ 300,000 บาท คดีถึงที่สุด เจ้าหนี้จึงนำมูลหนี้ที่บริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด เป็นหนี้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมายื่นขอรับชำระหนี้จากลูกหนี้ในนามของตนเองแทนบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 ซึ่งผู้ทำแผนมิได้โต้แย้งว่าบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด มิได้เป็นหนี้เจ้าหนี้ตามที่เจ้าหนี้กล่าวอ้าง เพียงแต่โต้แย้งว่าเป็นมูลหนี้ระหว่างบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด กับเจ้าหนี้ซึ่งไม่เกี่ยวกับลูกหนี้ ส่วนปัญหาว่าบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด เป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้หรือไม่ ปรากฏว่าในวันที่ 4 ตุลาคม 2543 ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดสอบสวนพยานหลักฐานของเจ้าหนี้ประกอบคำขอรับชำระหนี้ ผู้รับมอบอำนาจผู้ทำแผนและผู้รับมอบอำนาจธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้มาพบเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พร้อมกับผู้รับมอบอำนาจเจ้าหนี้ และผู้รับมอบอำนาจผู้ทำแผนยอมรับต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าลูกหนี้เป็นหนี้บริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ตามบัญชีรายชื่อเจ้าหนี้จำนวน 109,628,625.70 บาท โดยแยกเป็นมูลหนี้ค่าทรัพย์สิน คือ ค่าเครื่องจักร ค่าตกแต่งอาคารโรงงาน จำนวน 77,037,891.64 บาท และมูลหนี้อื่น ๆ จำนวน 32,590,734.06 บาท ทั้งยอมรับว่า บริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จำนวนดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจือสมพยานหลักฐานของเจ้าหนี้ที่นำสืบในชั้นสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าลูกหนี้เป็นหนี้บริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ในมูลหนี้ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง และติดตั้งระบบภายในอาคารโรงงานเป็นเงิน 149,000,000 บาท และบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ได้ส่งมอบงานแก่ลูกหนี้แล้วรวม 76 ครั้ง คิดเป็นเงิน 127,000,000 บาท แต่ลูกหนี้ยังไม่ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด โดยเจ้าหนี้ได้ส่งสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างและหลักฐานการส่งมอบงานเป็นพยานต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วยซึ่งตรงกับที่เจ้าหนี้ได้ฟ้องบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด กับลูกหนี้เป็นจำเลย ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3154/2543 ของศาลจังหวัดสงขลา แม้จำนวนหนี้ที่ผู้ทำแผนยอมรับว่าลูกหนี้เป็นหนี้บริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด จะไม่ตรงกับเจ้าหนี้อ้าง ก็เป็นเพียงรายละเอียดเพราะข้อสำคัญที่ว่าลูกหนี้เป็นหนี้บริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ตามที่เจ้าหนี้อ้างจริง และเห็นได้ว่าการที่เจ้าหนี้ได้ฟ้องบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด และลูกหนี้เป็นจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3154/2543 ของศาลจังหวัดสงขลา ถือได้ว่าเจ้าหนี้ได้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 234 ที่บัญญัติว่า “เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นั้นจะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีนั้นด้วย” แล้ว เพราะการที่เจ้าหนี้ฟ้องบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นลูกหนี้แทนการขอให้ศาลหมายเรียกให้บริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด เข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ก็ถือได้ว่ามีการเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าวซึ่งประสงค์ให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสรักษาสิทธิของตนแล้ว และการที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในนามของตนเองแทนบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด เป็นกระบวนการสืบเนื่องมาจากที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นลูกหนี้นั่นเอง และตามทางนำสืบของเจ้าหนี้ในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ได้ความว่าบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ไม่มีทรัพย์สินที่เจ้าหนี้จะบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ทั้งผู้ทำแผนก็ยอมรับว่าบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ด้วย จึงเป็นกรณีที่บริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นลูกหนี้เพิกเฉยไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุเจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์เพราะหากบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ในฐานะเจ้าหนี้ของลูกหนี้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการแล้ว เจ้าหนี้ก็สามารถบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่บริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ได้มาจากการขอรับชำระหนี้ได้ ที่ศาลล้มละลายกลางเห็นว่าเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ในนามของตนเองขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของลูกหนี้ฟังไม่ขึ้น

          คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของลูกหนี้และเจ้าหนี้ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ได้เพียงใด โดยลูกหนี้อุทธรณ์ว่า เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้โดยการใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ไม่ว่าจำนวนใด ๆ ส่วนเจ้าหนี้อุทธรณ์เฉพาะดอกเบี้ยว่าตนมีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดสงขลา มิใช่อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 235 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเงินเต็มจำนวนที่ยังค้างชำระแก่ลูกหนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนก็ได้...” และวรรคสอง บัญญัติว่า “แต่อย่างไรก็ดี ท่านมิให้เจ้าหนี้ได้รับมากไปกว่าจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนนั้นเลย” เช่นนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ขอรับชำระหนี้จากลูกหนี้ได้ตามจำนวนหนี้ที่บริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด เป็นหนี้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดสงขลารวมถึงดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจำนวนหนี้ที่บริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด เป็นหนี้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว ยกเว้นดอกเบี้ยให้ได้รับเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงเท่ากับว่าเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้น้อยกว่าที่บริษัทสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด เป็นหนี้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ตามที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของลูกหนี้ฟังไม่ขึ้น

          อนึ่ง ศาลล้มละลายกลางมิได้มีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 38,065,534.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 34,192,725.30 บาท นับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2541 จนกว่าจะได้รับชำระหนี้เสร็จจากลูกหนี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในชั้นนี้ให้เป็นพับ    

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2011-08-23 15:10:04



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล