ReadyPlanet.com


ลักทรัพย์ในที่พิพาท


เรื่องมีอยู่ว่าแม่ผมครอบครองที่ดินมาตั้งแต่ปี 2523 แต่ตอนที่เขาขอออกโฉนดแม่ไปคัดค้านแต่ไม่ได้ไปดำเนินคดีทางศาล จนท.ที่ดินก็ออกโฉนดให้ผู้ขอเมื่อปี 2546 แต่แม่ผมและครอบครัวก็ทำกินมาโดยตลอด แต่ไม่ได้อยู่อาศัยในที่ดินแต่จ้างให้คนดูแลและปลูกต้นสักไว้ ต่อมาเจ้าของฟ้องขับไล่แม่ พี่ชาย น้องสาว แต่ไม่ยอมฟ้องผม ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุญาตฏีกา ต่อมาปี 48 เจ้าของฟ้องขับไล่ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ศาลพิพากษาขับไล่และพิพากษาว่าที่ดินเป็นของโจทก์ คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ และครอบครัวผมก็วางหลักประกันการขอทุเลาต่อในชั้นอุทธรณ์ด้วย ตัวผมซึ่งไม่ได้ถูกฟ้องด้วยทุกคดี แต่ได้เข้าทำประโยชน์ร่วมกับครอบครัวมาโดยตลอด เหตุเกิดในขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์  ผมได้เข้าไปตัดต้นสักที่ตายและโค่นลงแล้วมาทำฟืนกับเพื่อน 1 ตน  คนเฝ้าสวนไปแจ้งความข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ดดยใช้ยานพาหนะ อย่างนี้ผมจะผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ครับ ในชั้นพิจารณาผมจะปฏิเสธหรือจะรับว่าเอาไปจริงแต่เข้าใจว่าเป็นของครอบครัวของผม ขอคำแนะนำด้วยครับ



ผู้ตั้งกระทู้ ชาวบ้านตาดำๆ :: วันที่ลงประกาศ 2011-08-23 21:01:07


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2219846)

ศาลพิพากษาขับไล่และพิพากษาว่าที่ดินเป็นของโจทก์

คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความและบริวารจนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือฎีกามาเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ตามปกติแล้วการฟ้องคดีเพื่อขับไล่บุคคลซึ่งอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ จะมีคำขอบังคับให้ขับไล่จำเลยและบริวาร ดังนั้นแม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องคุณก็ตาม แต่คุณก็ถือว่าเป็นบริวารของจำเลย หากคุณมีข้อโต้แย้งหรือเพื่อขอให้ศาลรับรองสิทธิของคุณ ๆ อาจยื่นคำร้องสอดขอเป็นจำเลยร่วมก็ได้ หรืออาจยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษว่าไม่ใช่บริวารของจำเลยได้

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตาคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าที่ดินเป็นของโจทก์ มีต้นสักซึ่งเป็นทรัพย์ที่อยู่ในที่ดินของโจทก์ และคุณเอาไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ก็มีความผิดฐานลักทรัพย์ได้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ทรัพย์นั้นไม่ใช่ของโจทก์อย่างไร ก็เป็นเรื่องในทางคดีครับ หากศาลเชื่อว่าคุณไม่ทราบว่าเป็นของโจทก์ โดยเข้าใจว่าเป็นของครอบครัวคุณตามที่อ้าง และศาลเชื่อดังว่าจริง ก็อาจขาดเจตนาในการลักทรัพย์ได้ แต่ตามความเห็นของผมแล้ว พฤติการณ์ไม่อาจอ้างให้ศาลเชื่อได้ครับ

มาตรา 145 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่า ด้วยการอุทธรณ์ฎีกาและการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมี คำสั่งนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งจนถึงวันที่คำพิพากษาหรือ คำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี

ถึงแม้ศาลจะได้กล่าวไว้โดยทั่วไปว่าให้ใช้คำพิพากษาบังคับแก่ บุคคลภายนอก ซึ่งมิได้เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาล ด้วยก็ดี คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นย่อมไม่ผูกพันบุคคลภายนอก เว้นแต่ที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 142(1) มาตรา 245 และ มาตรา 274 และในข้อต่อไปนี้
(1) คำพิพากษาเกี่ยวด้วยฐานะหรือความสามารถของบุคคล หรือคำพิพากษาสั่งให้เลิกนิติบุคคล หรือคำสั่งเรื่องล้มละลายเหล่านี้ บุคคลภายนอกจะยกขึ้นอ้างอิง หรือจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกก็ได้
(2) คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใด ๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-09-25 13:34:10


ความคิดเห็นที่ 2 (2219852)

 แม้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันที่ยังไม่ถึงที่สุดเพราะผู้ร้องอุทธรณ์นั้น คำสั่งดังกล่าวก็ผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่ความจนกว่าคำสั่งนั้นจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข กลับหรืองดเสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 191/2541

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-25 14:15:45


ความคิดเห็นที่ 3 (2219854)

 อยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทในฐานะบริวารของจำเลย

 ที่ดินและบ้านพิพาทที่โจทก์นำยึดบังคับคดีเป็นของโจทก์นายเหียนอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทในฐานะบริวารของจำเลยไม่ได้มีอำนาจพิเศษที่จะครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทโดยอาศัยสิทธิความเป็นเจ้าของได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  957/2552
 
          คดีก่อนสามีผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีโดยอ้างเหตุอย่างเดียวกับผู้ร้องแต่ไม่มีพยานมาไต่สวน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าสามีผู้ร้องอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทในฐานะบริวารของจำเลยไม่ได้มีอำนาจพิเศษที่จะครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทโดยอาศัยสิทธิความเป็นเจ้าของได้ การยื่นคำร้องของสามีผู้ร้องถือเป็นการจัดการทรัพย์สินบ้านพิพาทซึ่งถือว่าเป็นสินสมรสหรือกรรมสิทธิ์รวมระหว่างสามี ผู้ร้องกับผู้ร้องในนามของผู้ร้องด้วย ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความดังกล่าวจึงมีผลผูกพันผู้ร้อง ทั้งตามคำร้องผู้ร้องก็มิได้อ้างอำนาจพิเศษนอกเหนือจากที่สามีผู้ร้องอ้าง กรณีจึงต้องถือว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยและไม่มีสิทธิมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีได้อีก
_____

            คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 2561 ตำบลสระโบสถ์ อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างคือบ้านเลขที่ 86 และ 86/1 เป็นของโจทก์ ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านดังกล่าว จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดประกาศขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท

          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีดังกล่าว
          โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง

          ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้อง เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดไต่สวนและมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
          ผู้ร้องอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          ผู้ร้องฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องก่อนว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการบังคับคดีได้หรือไม่ เห็นว่า ก่อนหน้านี้นายเหียน ซึ่งเป็นสามีผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดี โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกันกับผู้ร้อง แต่เมื่อถึงวันนัดไต่สวนคำร้องนายเหียนไม่มีพยานไปไต่สวนให้ฟังได้ตามคำร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง นายเหียนมิได้อุทธรณ์คดีถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าที่ดินและบ้านพิพาทที่โจทก์นำยึดบังคับคดีเป็นของโจทก์นายเหียนอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทในฐานะบริวารของจำเลยไม่ได้มีอำนาจพิเศษที่จะครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทโดยอาศัยสิทธิความเป็นเจ้าของได้ นายเหียนเป็นสามีผู้ร้อง การยื่นคำร้องของนายเหียนถือเป็นการจัดการทรัพย์สินบ้านพิพาทซึ่งถือว่าเป็นสินสมรสหรือกรรมสิทธิ์รวมระหว่างนายเหียนกับผู้ร้องในนามของผู้ร้องด้วย ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความดังกล่าวจึงมีผลผูกพันผู้ร้อง ทั้งตามคำร้องผู้ร้องก็มิได้อ้างอำนาจพิเศษนอกเหนือจากที่นายเหียนอ้าง กรณีจึงต้องถือว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยและไม่มีสิทธิมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีต่อจากนายเหียนได้อีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( ณรงค์ ธนะปกรณ์ - ปัญญารัตน์ วิระยะวานิช - วรพจน์ วิไลชนม์ )

ศาลจังหวัดลพบุรี - นางงามจิตร อ้นยาง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายชาตรี สุริยะวิจิตรวงศ์

                 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-25 14:21:08


ความคิดเห็นที่ 4 (2219857)

 แสดงอำนาจพิเศษว่าไม่ใช่บริวารของจำเลย

   เมื่อผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษว่าไม่ใช่บริวารของจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการบังคับคดีบ้านของผู้ร้องทั้งสองเท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่าผู้ร้องทั้งสองไม่เป็นบริวารของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คดีระหว่างโจทก์และผู้ร้องทั้งสองจึงเป็นคดีเกี่ยวกับการบังคับวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยผู้ถูกฟ้องขับไล่ซึ่งอยู่บนอสังหาริมทรัพย์และคดีระหว่างโจทก์จำเลยเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งคู่ความในคดีฟ้องขับไล่นั้นต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1244/2552

          โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกจากที่ดินและบ้านซึ่งปลูกสร้างในที่ดินพร้อมเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 36,000 บาท จำเลยไม่ยื่นคำให้การ และโจทก์บรรยายฟ้องว่าที่ดินและบ้านดังกล่าวหากให้ผู้อื่นเช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละ 4,500 บาท คดีของโจทก์จึงเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท โจทก์และจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง

          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษว่าไม่ใช่บริวารของจำเลย ศาลชั้นต้นงดการไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง และมีคำสั่งให้เพิกถอนการบังคับคดีบ้านของผู้ร้อง เท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่าผู้ร้องไม่เป็นบริวารของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คดีระหว่างโจทก์และผู้ร้องจึงเป็นคดีเกี่ยวกับการบังคับวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยผู้ถูกฟ้องขับไล่ซึ่งอยู่บนอสังหาริมทรัพย์และคดีระหว่างโจทก์จำเลยเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาทซึ่งคู่ความในส่วนของคดีฟ้องขับไล่นั้นต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม มาตรา 248 วรรคสอง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นไม่ว่าศาลจะฟังว่าบุคคลดังกล่าวสามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้หรือไม่ คดีในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริงตามมาตรา 248 วรรคสาม

______

          คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2549 โดยจำเลยและบริวารยอมรับว่าอยู่อาศัยในที่ดิน น.ส.3 เล่ม 1 หน้า 158 สารบบเลขที่ 209 ตำบลห้วยชน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี และบ้านเลขที่ 65/1 ซึ่งเป็นบ้านเลขที่เดียวกันกับบ้านเลขที่ 65/3 และปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว จำเลยขอเช่าที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นต้นไปโดยชำระค่าเช่าเป็นงวด หากผิดนัดงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมด ให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที จำเลยชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์เพียง 2 งวด ศาลชั้นต้นจึงตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่โจทก์ขอ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี ณ บ้านเลขที่ 65/3 เพื่อแจ้งให้ผู้ที่ไม่ใช่บริวารของจำเลยยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายใน 8 วัน

          ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า ที่ดินและบ้านดังกล่าวเป็นของผู้ร้องทั้งสอง ผู้ร้องทั้งสองไม่ได้อาศัยโจทก์จำเลยอยู่ในที่ดินและบ้านดังกล่าว ผู้ร้องทั้งสองไม่ใช่บริวารของจำเลย นายทองใบได้ยกที่ดินและบ้านดังกล่าวให้ผู้ร้องทั้งสองในฐานะบุตรสาวและบุตรเขยผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินและบ้านดังกล่าวโดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ จนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับคดีให้ผู้ร้องทั้งสองออกไปจากที่ดินและบ้านดังกล่าว ขอให้ยกคำขอบังคับคดีของโจทก์

          โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า นายทองใบ เป็นบิดาของจำเลยและผู้ร้องที่ 1 ได้ยกที่ดินและบ้านดังกล่าวให้แก่จำเลย ต่อมาจำเลยได้ยอมให้ผู้อื่นถือกรรมสิทธิ์รวมและจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์จนกระทั่งจำเลยได้นำที่ดินและบ้านดังกล่าวซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าวมาขายให้แก่โจทก์ การยกให้ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะและเป็นเท็จ ผู้ร้องทั้งสองเป็นบริวารของจำเลยและไม่มีสิทธิแสดงอำนาจพิเศษขอให้ยกคำร้อง

          ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นให้โจทก์และผู้ร้องทั้งสองจัดทำแผนที่พิพาทซึ่งโจทก์และผู้ร้องทั้งสองยอมรับว่าแผนที่พิพาทที่เจ้าพนักงานที่ดินจัดทำถูกต้องและโจทก์รับว่าบ้านเลขที่ 65/3 อยู่นอกเขตที่ดินของโจทก์

          ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดการไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งว่าแม้โจทก์และจำเลยจะรับว่า บ้านเลขที่ 65/1 กับ 65/3 เป็นบ้านหลังเดียวกันที่ปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คำพิพากษาดังกล่าวมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความ จึงใช้ยันผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ และสามารถพิสูจน์ได้ว่าบ้านเลขที่ 65/3 ของผู้ร้องทั้งสองไม่ได้อยู่ในที่ดินของโจทก์ จึงเพิกถอนการบังคับคดีบ้านดังกล่าวค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ

          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกจากที่ดินและบ้านซึ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าวพร้อมเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 36,000 บาท จำเลยไม่ยื่นคำให้การ และโจทก์บรรยายฟ้องว่าที่ดินและบ้านดังกล่าวหากให้ผู้อื่นเช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละ 4,500 บาท คดีของโจทก์จึงเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท โจทก์และจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษว่าไม่ใช่บริวารของจำเลย โดยนายทองใบยกที่ดินและบ้านดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องทั้งสองในฐานะบุตรสาวและบุตรเขย และศาลชั้นต้นงดการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง และมีคำสั่งให้เพิกถอนการบังคับคดีบ้านของผู้ร้องทั้งสองเท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่าผู้ร้องทั้งสองไม่เป็นบริวารของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คดีระหว่างโจทก์และผู้ร้องทั้งสองจึงเป็นคดีเกี่ยวกับการบังคับวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยผู้ถูกฟ้องขับไล่ซึ่งอยู่บนอสังหาริมทรัพย์และคดีระหว่างโจทก์จำเลยเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งคู่ความในคดีฟ้องขับไล่นั้นต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นไม่ว่าศาลจะฟังว่าบุคคลดังกล่าวสามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้หรือไม่ คดีเกี่ยวกับการบังคับวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสาม ที่โจทก์ฎีกาว่า ผู้ร้องทั้งสองไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษในบ้านเลขที่ 65/1 หรือ 65/3 การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านนั้นไม่จำเป็นต้องปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์ โจทก์ก็สามารถเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านได้ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสาม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

          อนึ่ง คดีระหว่างผู้ร้องทั้งสองกับโจทก์เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 13,175 บาท จึงเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เกินมา สมควรสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินแก่โจทก์”

          พิพากษายกฎีกาของโจทก์ ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท และคืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่โจทก์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ

( มนูพงศ์ รุจิกัณหะ - ประทีป เฉลิมภัทรกุล - สมควร วิเชียรวรรณ )

 
           

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-25 14:37:05


ความคิดเห็นที่ 5 (2219861)

 ผู้ร้องจึงเป็นเพียงบริวารของจำเลย มิใช่ผู้แสดงอำนาจพิเศษ

    ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิการเช่าอาคารพิพาท เพราะผู้ที่จะโอนสิทธิการเช่าให้ผู้ร้องนั้นต้องเป็นบริษัทโกลเด้นเกตพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เท่านั้น ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่เกี่ยวข้องเป็นคู่ความในคดีนี้ ผู้ร้องจึงเป็นเพียงบริวารของจำเลย มิใช่ผู้แสดงอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) ผู้ร้องจึงต้องออกไปจากอาคารพิพาทในฐานะบริวารของจำเลย

มาตรา 296จัตวา ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแจ้งต่อเจ้าพนักงาน บังคับคดีว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารยังไม่ออกไปตามคำ บังคับของศาล ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) รายงานต่อศาลเพื่อมีคำสั่งจับกุมและกักขังลูกหนี้ตาม คำพิพากษาหรือบริวารดังกล่าวนั้น และศาลมีอำนาจสั่งจับกุมและ กักขังได้ทันที ในกรณีนี้ให้นำ มาตรา 300 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
(2) เมื่อศาลมีคำสั่งให้จับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบริวารตาม (1) แล้ว หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวาร หลบหนี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการ มาตรา 296ตรี โดยอนุโลม
(3) ปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันปิดประกาศ ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลา ดังกล่าว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2573/2552

          บริษัท ก. เป็นผู้ได้รับโอนสิทธิการเช่ามาจากการรถไฟแห่งประเทศไทยและได้โอนสิทธิการเช่าและส่งมอบอาคารให้แก่โจทก์ ดังนั้น การที่ผู้ใดจะกล่าวอ้างว่าได้รับโอนสิทธิการเช่าจึงต้องรับโอนสิทธิมาจากบริษัท ก. เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นผู้ได้รับโอนสิทธิการเช่ามาจากบริษัท ก. ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิการเช่าอาคารพิพาท ส่วนหนี้สินที่มีการชำระและค้างชำระกันระหว่างโจทก์กับผู้ร้องนั้น หากมีการชำระหรือค้างชำระกันจริงก็ยังไม่ก่อให้เกิดสิทธิการเช่า เพราะผู้ที่จะโอนสิทธิการเช่าให้ผู้ร้องนั้นต้องเป็นบริษัท ก. เท่านั้น ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่เกี่ยวข้องเป็นคู่ความในคดีนี้ ผู้ร้องจึงเป็นเพียงบริวารของจำเลย มิใช่ผู้แสดงอำนาจพิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ผู้ร้องจึงต้องออกไปจากอาคารพิพาทในฐานะบริวารของจำเลย

_________

          คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากอาคารเลขที่ A-9 หรือ 51 ตำบลอรัญประเทศ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 75,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 19 พฤษภาคม 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารออกไปจากอาคารพิพาท

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องมิใช่บริวารของจำเลยแต่ผู้ร้องได้ซื้อสิทธิการเช่าจากโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิขับไล่ผู้ร้องออกจากอาคารพิพาทดังกล่าว

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์ไม่เคยขายสิทธิการเช่าอาคารพิพาทแก่ผู้ร้อง ไม่เคยให้ผู้ร้องชำระค่างวดแทนและไม่เคยได้รับเงินจำนวน 400,000 บาท จากผู้ร้องและผู้ร้องอาศัยสิทธิอยู่ในอาคารพิพาทเพราะเป็นภริยาจำเลย ซึ่งเช่าอาคารพิพาทจากโจทก์ เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ขับไล่จำเลย ผู้ร้องในฐานะบริวารจึงต้องออกจาอาคารพิพาทด้วย

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้งดการบังคับคดีขับไล่ผู้ร้องออกจากอาคาร A-9 หรือ 51 ตำบลอรัญประเทศ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า อาคารพิพาทเลขที่ A-9 หรือ 51 ตำบลอรัญประเทศ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โจทก์เป็นผู้ซื้อสิทธิการเช่าจากบริษัทโกลเด้นเกตพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในราคา 1,000,000 บาทเศษ ต่อมาได้ให้จำเลยซึ่งเป็นสามีของผู้ร้องเช่าประกอบกิจการประดับยนต์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2542 โดยคิดค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท ต่อมาภายหลังจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าเมื่อประมาณเดือนเมษายน 2544 โจทก์จึงได้ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอาคารพิพาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากอาคารพิพาท คดีถึงที่สุดแล้ว

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยหรือไม่ ผู้ร้องนำสืบว่า เดือนมีนาคม 2544 ผู้ร้องตกลงขอซื้ออาคารจากโจทก์ในราคา 670,000 บาท ส่วนที่เหลือผู้ร้องจะผ่อนชำระให้แก่บริษัทโกลเด้นเกตพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้ร้องชำระเงินให้โจทก์แล้ว 400,000 บาท ยังคงค้างชำระเงินให้โจทก์อีก 270,000 บาท ซึ่งจะชำระให้ในวันที่โจทก์โอนสิทธิการเช่า และผู้ร้องตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าเงินที่ค้างชำระจำนวน 270,000 บาท นั้น จนปัจจุบันผู้ร้องยังไม่ได้ชำระให้แก่โจทก์และยังไม่ได้แจ้งให้โจทก์ดำเนินการโอนสิทธิการเช่าให้แก่ผู้ร้อง ส่วนโจทก์มีนางสาวสุชาดา ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทโกลเด้นเกตพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด มาเบิกความว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อสิทธิการเช่าไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเคยมาติดต่อขอโอนสิทธิจากพยาน บริษัทโกลเด้นเกตพร็อพเพอร์นี้ จำกัด ได้โอนสิทธิการเช่าและส่งมอบอาคารให้แก่โจทก์ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 ในสำนวนคดีหลัก เอกสารดังกล่าวซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 บริษัทโกลเด้นเกตพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งเป็นผู้โอนสิทธิการเช่าได้รับสิทธิดังกล่าวมาจากการรถไฟแห่งประเทศไทย และระบุว่าโจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิการเช่า ดังนั้นการที่ผู้ใดจะกล่าวอ้างว่าได้รับโอนสิทธิการเช่าจึงต้องรับโอนสิทธิมาจากบริษัทโกลเด้นเกตพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เท่านั้น ไม่ปรากฏเลยว่าผู้ร้องเคยมาติดต่อขอโอนสิทธิการเช่าจากบริษัทโกลเด้นเกตพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งถ้าผู้ร้องกล่าวอ้างว่าได้ซื้อสิทธิการเช่ามาจากโจทก์แล้ว ผู้ร้องก็ชอบที่จะมาติดต่อขอรับโอนสิทธิในการเช่าจากบริษัทโกลเด้นเกตพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ข้อนี้จึงเป็นข้อพิรุธที่ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าผู้ร้องได้รับโอนสิทธิการเช่าจากโจทก์ ซึ่งผู้ร้องก็ได้เบิกความเองว่าผู้ร้องยังไม่ได้ไปเจรจาเพื่อขอให้โจทก์โอนสิทธิการเช่าให้ เนื่องจากผู้ร้องยังขาดชำระเงินจำนวน 270,000 บาท แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องทราบดีอยู่แล้วว่าโจทก์ยังไม่ได้โอนสิทธิการเช่าให้ผู้ร้อง เนื่องจากผู้ร้องยังค้างชำระเงินจำนวน 270,000 บาท อยู่ เท่ากับผู้ร้องยอมรับว่าสิทธิการเช่ายังเป็นของโจทก์ และอีกประการหนึ่งตราบใดที่ผู้ร้องยังมิได้สัญญาโอนสิทธิการเช่าและส่งมอบอาคารตามเอกสารหมาย จ.2 ในสำนวนหลักมาแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องเป็นผู้รับโอนสิทธิการเช่าจากบริษัทโกลเด้นเกตพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิการเช่าอาคารพิพาท ส่วนหนี้สินที่มีการชำระและค้างชำระกันระหว่างโจทก์กับผู้ร้องนั้น หากมีการชำระหรือค้างชำระจริงก็ยังไม่ก่อให้เกิดสิทธิการเช่า เพราะผู้ที่จะโอนสิทธิการเช่าให้ผู้ร้องนั้นต้องเป็นบริษัทโกลเด้นเกตพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เท่านั้น ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่เกี่ยวข้องเป็นคู่ความในคดีนี้ ผู้ร้องจึงเป็นเพียงบริวารของจำเลย มิใช่ผู้แสดงอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) ผู้ร้องจึงต้องออกไปจากอาคารพิพาทในฐานะบริวารของจำเลย อีกประการหนึ่งการที่ผู้ร้องนำสืบว่ายังค้างชำระเงินให้โจทก์ 270,000 บาท แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็พิพากษาต้องกันให้งดการบังคับคดีขับไล่ผู้ร้องออกจากอาคารจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่จำต้องชำระเงิน 270,000 บาท ให้แก่โจทก์อีกต่อไป เพราะศาลพิพากษาให้งดการบังคับคดีแล้ว โจทก์ก็จะไม่สามารถบังคับคดีต่อไปได้ โดยผลของคำพิพากษาซึ่งไม่น่าจะเป็นธรรมกับโจทก์ ด้วยเหตุผลดังกล่าวศาลฎีกาจึงไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง ให้ผู้ร้องใช่ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท

( สมศักดิ์ อเนกพุฒิ - ศิริชัย จิระบุญศรี - พิศาล อัยยะวรากูล )

 
         

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-25 14:57:35



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล