ReadyPlanet.com


ผู้เคยพลาดผิด(พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ2550)


ผมเคยถูกศาลพิพากษาจำคุก6เดือนปรับ10000บาทโทษจำคุกรอลงอาญา2ปี เมื่อปี2544 ผมสมัครงานทางที่ทำงานให้ผมตรวจสอบประวัติที่สถานีตำรวจท้องที่นั้น ผมจะได้อานิสงค์ พรบ.ล้างมลทิล2550 หรือไม่ครับ แล้วประวัติที่ สน.ผมจะยังมีอยู่หรือเปล่าครับ



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้เคยพลาดผิด :: วันที่ลงประกาศ 2011-08-22 13:25:26


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2219662)

พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550

มาตรา 4 ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ

จากข้อเท็จจริงที่ให้มานั้นคุณได้รับประโยชน์จาก พรบ.ล้างมลทิน ฯ 2550 แล้วครับ แต่สำหรับประวัติอาชญากรเท่าที่เคยพบเห็นเขาไม่ได้ล้างประวัติให้เป็นศูนย์ (0) นะครับ คือประวัติยังมีอยู่แต่มีหมายเหตุว่าให้ตรวจสอบ พรบ. ล้างมลทินฯ 2550 ด้วยอะไรประมาณนี้ครับจำไม่ได้

ดังนั้นเมื่อกฎหมายให้ถือว่าคุณมิได้เคยถูกลงโทษในความผิดมาก่อน กรณีจึงถูกล้างมลทินแล้ว แต่เป็นดุลพินิจของนายจ้างว่าจะจ้างคุณหรือไม่ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-09-24 13:46:01


ความคิดเห็นที่ 2 (2219667)

การล้างมลทินมีผลเป็นการล้างมลทินเฉพาะโทษที่ผู้ต้องโทษได้รับเท่านั้น มิได้มีผลเป็นการลบล้างการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้ถูกลงโทษนั้นด้วย

กรมการปกครองหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (เรื่องเสร็จที่ 77/2552) สรุปความได้ว่า นายสมจิต มหาคาม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 13 ตำบลเสอเพลอ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดว่า กระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งศาลได้พิพากษาลงโทษ และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 12 กันยายน 2544 ซึ่งจังหวัดอุดรธานีมีความเห็นว่า นายสมจิต เป็นผู้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้ใหญ่บ้านตามมาตรา 12 (11) และ (15) แห่ง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 และไม่เข้าข่ายเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับการล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ พ.ศ. 2550

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) มีความเห็นว่า โดยที่มาตรา 12 (11) แห่ง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ฯบัญญัติคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านไว้ว่า ต้องไม่เป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า กระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายตามที่กำหนด

ดังนั้น จึงไม่ต้องพิจารณาว่าบุคคลนั้นจะมีโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ เพียงแต่บุคคลดังกล่าวถูกศาลพิพากษาว่ากระทำความผิดก็ต้องถือว่า เป็นผู้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นผู้ใหญ่บ้าน

นายสมจิต จึงเป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า กระทำความผิดตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการขาดคุณสมบัติแล้ว

สำหรับประเด็นที่ว่า นายสมจิตได้รับการล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินฯหรือไม่นั้น เห็นว่า การล้างมลทินมีผลเป็นการล้างมลทินเฉพาะโทษที่ผู้ต้องโทษได้รับเท่านั้น มิได้มีผลเป็นการลบล้างการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้ถูกลงโทษนั้นด้วย โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ แต่มิได้มีบทบัญญัติใดที่กำหนดให้ลบล้างพฤติกรรมการกระทำความผิดด้วย ซึ่งจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผ่านมาก็ได้พิพากษาไว้ตามแนวทางดังกล่าวเช่นเดียวกัน

เมื่อปรากฏว่า นายสมจิต ถูกศาลพิพากษาว่า กระทำความผิดฯ ให้ลงโทษปรับและจำคุก 6 เดือน โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี จึงไม่ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ

สำหรับกรณีที่นายสมจิตถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนวันที่ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งได้เพิ่มการเสียสิทธิในกรณีที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็นลักษณะต้องห้ามของการสมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน นายสมจิตจะมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายที่เกิดขึ้นในภายหลังหรือไม่

เห็นว่า พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ฯ บัญญัติว่า ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านต้องไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างเสียสิทธิหรือถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยไม่ได้กำหนดวันเริ่มต้นเอาไว้เป็นพิเศษ ดังนั้น เมื่อนายสมจิตยังอยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้ใหญ่บ้าน

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-24 14:04:09


ความคิดเห็นที่ 3 (2223060)

ผู้ที่ถูกปลดออก ไล่ออก ให้ออก ในกรณีทุจริตต่อหน้าที่ มากว่าสิบปี ในปัจจุบัน ทำงานส่วนตัวเป็นคนที่ช่วยเหลือสังคม  เป็นแบบอย่างที่ดีในปัจจุบัน จึงไม่สามารถสมัคร เลือกตั้ง อปท.ได้เลย  อย่างนี้ออก พรบ.ล้างมลทินมาก็ไม่ได้ช่วยอะไรกับคนกลุ่มนี้เลย   พรบ.เลือกตั้งสมาชิกฯ 2545  ม.45 (7)เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ    และ พรบ.สภา อบต. 2537 ม.9(๒) ไม่เป็นผู้มีพฤติกรรมในทางทุจริต  ควรกำหนดเวลา  ถ้าไม่แก้ไข คนกลุ่มนี้เลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต บางคนเกิดความพิดพลาดแบบไม่ตั้งใจก็มีเยอะ  โดนตั้งกรรมการสอบวินัยถ้าไม่ใช่พวกนาย อุทธรณ์อย่างไรก็ไม่มีผล  จะเป็นการรินรอนสิทธิเสรีภาพตาม กฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่  ช่วยแสดงความคิดเห็นหน่อยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น หัวอกเดียวกัน วันที่ตอบ 2011-10-05 23:11:23


ความคิดเห็นที่ 4 (2246517)

 อยากแก้ พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ตรง บกพร่องศีลธรรมอันดี  เข้าชื่อเสนอแก้ พรบ ได้มั๊ย แก้ พรบ.ล้างมลทินด้วยได้ยิ่งดี

ผู้แสดงความคิดเห็น เรียนแทบตายสุดท้ายก็.... วันที่ตอบ 2012-01-20 00:48:34


ความคิดเห็นที่ 5 (2263226)

ผมเคยถูกต้องคดีอาญา ปี 2549 คดีบุกรุกยามวิกาล ผมอยากรู้ว่า  พ.ร.บ ล้างมลทิน ปี 2550 จะช่วยล้างได้ไหมคับ

และจะมีสิทธิสอบตำรวจได้ไหมคับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น หนุ่ม วันที่ตอบ 2012-03-27 18:23:18


ความคิดเห็นที่ 6 (2303082)

คุณทนายครับกระผมมีเรื่องจะสอบถามว่าขณะนี้กระผมมีโทษทางวินัยร้ายแรง(ชู้สาว)ครับโดนคำสั่งปลดออกจากราชการครับตั้งแต่ธันวาคม 2554  ครับ จนถึงปัจจุบันนี้แล้ว  กระผมยังมีสิทธิที่จะขอกลับเข้ารับราชการตำรวจอีกครั้งได้มั้ยมีสิทธิอยู่ในข่ายล้างมลทิลตาม พ,ร,บ,2550 [บ้างเปล่าครับ)รบกวนขอคำปรึกษาบ้างนะคะ ขอบคุณครับท่าน (แต่ยังมีสิทธิได้รับบำเหน็ดอยู่นะครับ)

ผู้แสดงความคิดเห็น ganok วันที่ตอบ 2012-09-24 09:40:13


ความคิดเห็นที่ 7 (2303218)

ผมเคยมีประวัติ ขับรถในขณะเมาสุรา 2551 จะมีผลต่อการบรรจุปลัดอำเภอ2555หรือเปล่า ช่วยให้ความเห็นทีครับ

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น รอความหวัง วันที่ตอบ 2012-09-24 16:17:29


ความคิดเห็นที่ 8 (3598822)

จำเลยไม่ได้รับการล้างมลทิน ตาม พ.ร.บ.ล้างมลทิน

จำเลยกระทำผิดในระหว่างได้รับการพักการลงโทษเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขแห่งการพักการลงโทษตาม พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 มาตรา 43 กฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 ข้อ 93 (1) และ 94 (ก) จำเลยไม่ได้รับประโยชน์ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 มาตรา 5 จำเลยจึงมิใช่ผู้ซึ่งพ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติล้างมลทินฯ ใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ มาตรา 4

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  22241/2555

พนักงานอัยการคดีศาลแขวงสมุทรปราการ     โจทก์
นายสุรัตน์  _________________________จำเลย
 
ป.อ. มาตรา 92
พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550
พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 มาตรา 43, 58
พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 มาตรา 5
 
            การที่จำเลยกระทำผิดอาญาคดีนี้ขึ้นอีกในระหว่างได้รับการพักการลงโทษเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขแห่งการพักการลงโทษตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2478 มาตรา 43 กฎกระทรวงหมาดไทยออกตามความในมาตรา 58 แพ่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 ข้อ 93 (1) และ 94 (ก) และจำเลยไม่ได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 มาตรา 5 จำเลยจึงมิใช่ผู้ซึ่งพ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 อันเป็นวันที่ พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ได้รับการล้างมลทิน ตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4
 
________________________________
 
            โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 92 และเพิ่มโทษตามกฎหมาย
          จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 1 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ลงโทษจำคุก 3 เดือน เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 4 เดือน

          จำเลยฎีกา
            ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายวีระศักดิ์ ผู้เสียหาย และจำเลยซึ่งประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้างอยู่วินเดียวกัน เกิดเหตุชกต่อยและยื้อแย่งเลื่อยกัน ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลฉีกขาดที่ฝ่ามือซ้าย นิ้วชี้และนิ้วกลางมือขวาตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความและโจทก์ยังมีนายสมศักดิ์เป็นพยานเบิกความ เห็นว่า ทั้งผู้เสียหายและนายสมศักดิ์เบิกความเกี่ยวกับเหตุการณ์ชกต่อยทั้งสองครั้งและเหตุการณ์ที่จำเลยคว้าเลื่อยจากรถเข็นของเทศบาลที่ผ่านมาแล้วใช้ทำร้ายผู้เสียหายสอดคล้องตรงกัน เพียงแต่นายสมศักดิ์ไม่ได้เบิกความถึงถ้อยคำที่ผู้เสียหายและจำเลยโต้ตอบกันซึ่งอาจจะเป็นเพราะความเป็นญาติกับทั้งสองฝ่ายเกรงจะกระทบความสัมพันธ์จึงไม่เบิกความถึง แต่เมื่อพิจารณาคำเบิกความของผู้เสียหายแล้วจะเห็นได้ว่าผู้เสียหายเบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งผู้เสียหายมีส่วนก่อเหตุไม่ว่าจะเป็นการกระทำหรือคำพูดยั่วยุท้าทายที่พูดออกมาล้วนสอดคล้องกับเหตุการณ์และลักษณะรูปร่างของผู้เสียหาย ซึ่งได้ความจากการตอบทนายจำเลยถามค้านว่าผู้เสียหายรูปร่างใหญ่กว่าจำเลย เชื่อได้ว่าผู้เสียหายเบิกความเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและคำพูดโต้ตอบระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยตามความเป็นจริง จำเลยคงแต่อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความลอย ๆ คำเบิกความของจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อย ไม่อาจฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พฤติการณ์ที่ผู้เสียหายกับจำเลยทะเลาะโต้เถียงกันในการรับผู้โดยสารแล้วเกิดการต่อสู้ชกต่อยกัน เมื่อมีคนเข้าห้ามให้แยกจากกันแล้ว ผู้เสียหายยังพูดจาท้าทายจำเลยว่าเอาอีกไหม จำเลยตอบว่าเอาอีก การตอบเช่นนั้นพร้อมกับเข้าชกต่อยกับผู้เสียหายและต่อเนื่องมาจนถึงการคว้าเลื่อยจากรถเข็นแล้วใช้ทำร้ายผู้เสียหาย แสดงให้เห็นว่าจำเลยสมัครใจเข้าต่อสู้วิวาทกับผู้เสียหาย จำเลยจึงไม่อาจอ้างได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยใช้เลื่อยทำร้ายผู้เสียหายจนมีบาดแผลที่ฝ่ามือซ้ายยาว 9 เซนติเมตร ลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ และมีบาดแผลฉีกขาดอันเกิดจากการยื้อแย่งเลื่อยที่นิ้วชี้และนิ้วกลางมือขวายาวแผลละ 1 เซนติเมตร แพทย์ลงความเห็นว่าต้องใช้เวลารักษา 15 วัน ตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ถือได้ว่าจำเลยทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แล้ว ส่วนฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยพ้นโทษตามคำพิพากษาแล้วจึงได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 การเพิ่มโทษจำเลยไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่จำเลยกระทำผิดอาญาคดีนี้ขึ้นอีกในระหว่างได้รับการพักการลงโทษเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขแห่งการพักการลงโทษตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 มาตรา 43 กฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 ข้อ 93 (1) และ 94 (ก) จำเลยไม่ได้รับประโยชน์ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 มาตรา 5 จำเลยจึงมิใช่ผู้ซึ่งพ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติล้างมลทินฯ ใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
          พิพากษายืน
 
 
( กฤษฎิ์จิรัฐ คุณาจิรภรณ์ - อภิรัตน์ ลัดพลี - ธงชัย เสนามนตรี )
 
ศาลแขวงสมุทรปราการ - นายวังเดิม สู่ทรัพย์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นางรัชนี สุขใจ
 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 0859604258 วันที่ตอบ 2014-03-26 20:18:19



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล