ReadyPlanet.com


ถูกส่งข้อความก่อกวน ทั้งทางโทรศัพท์ และ ทางอินเตอร์เนท (MSN)


สวัสดีคับ อยากเรียนถามว่าในกรณีตามหัวข้อนี้จะทำอย่างไรได้บ้าง เพราะแฟนผมโดนทั้งคำหยาบคาย ต่อว่าในทางเสียหาย โดยการส่งข้อความผ่านโทรศัพท์ และ ทางอินเตอร์เนท (MSN) ก่อกวนตลอด สร้างความไม่สบายใจเป็นอย่างมาเลยคับ

ขอความกรุณาแนะนำด้วยน๊ะคับ 



ผู้ตั้งกระทู้ นพพงศ์ :: วันที่ลงประกาศ 2011-08-18 13:54:07


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2219558)

ไปแจ้งความร้องทุกข์ดูนะครับ น่าจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550

มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1)(2) (3) หรือ (4)
มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตาม มาตรา 14

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-09-24 08:38:07


ความคิดเห็นที่ 2 (2219560)

บทความที่เกี่ยวข้อง

เรียนท่านผู้ใช้ อีเมล์และอินเทอร์เน็ต ที่เคารพทุกท่าน

        ทุกครั้งที่ท่าน รับ-ส่ง อีเมล์ กรุณาใช้วิจารณญาณด้วยว่า ข้อความ หรือ ภาพ นั้น จะเท็จ จะจริง หรือไม่ อย่างไรก็แล้วแต่

อาจก่อความเสียหายให้ ผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่
อาจสร้างความตื่นตระหนก ตกใจกลัว แก่คนทั่วไปหรือไม่
อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ สถาบัน หรือเป็นความผิดด้านการก่อการร้าย หรือไม่
มีเนื้อหา ภาพ อันเป็นลามก หรือไม่
        หากท่านคิดว่าใช่ แต่ก็ยัง เผยแพร่ ส่งต่อ (Forward) ยังไปพรรคพวก เพื่อนฝูง ญาติมิตร ด้วยกลัวว่า บุคคลเหล่านั้น อาจตกข่าว และท่านเองอาจคิด ภูมิใจ ไปว่า เป็นคนแรกๆที่รู้ข่าว และเอื้อเฟื้อต่อ ญาติมิตร หรือท่านอาจนำ ข้อความ หรือ ภาพ ที่ได้รับมานั้น นำไปเผยแพร่ลงใน เว็บบอร์ด ในเว็บไซต์ต่างๆ นั้น

        ท่านทราบหรือไม่ว่า ท่านอาจทำผิดกฎหมาย โดยรู้เท่าไม่ถึงการ และด้วยความไม่รู้ทางเทคนิค อาจนำภัย ไปสู่ พรรคพวก เพื่อนฝูง ที่ได้ส่งข้อความ ภาพ นั้น มายังท่านด้วยเพราะสามารถตรวจสอบได้ว่าง่ายว่า ใครส่งต่อไปหาใคร ใครได้รับแล้วส่งต่อไปหาใครต่อ....อาจต้องรับโทษ จำคุก ไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        เพราะ ตามกฎหมายใหม่ " พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550" ได้กำหนดโทษเกี่ยวกับ การนำเข้า/เผยแพร่เนื้อหาอันไม่เหมาะสม ไว้ดังนี้

        มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม 1,2,3 หรือ 4
สรุป

        ดังนั้น ทุกครั้งที่ท่านได้รับ อีเมล์ ข่าว เนื้อความ หรือ ภาพ มาจากอินเทอร์เน็ตก่อนที่ท่านจะเผยแพร่ ส่งต่อ(Forward) ยังไปพรรคพวก เพื่อนฝูง ญาติมิตร หรือท่านจะนำ ข้อความ หรือ ภาพ ที่ได้รับมานั้น ไปเผยแพร่ลงใน เว็บบอร์ด ในเว็บไซต์ต่างๆ นั้น

        กรุณาใช้วิจารณญาณ ก่อนด้วยว่า ไม่ว่า ข้อความ/ ภาพ นั้น จะเท็จ จะจริง หรือไม่อย่างไรก็ตาม

1. อาจก่อความเสียหายให้ ผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่
2. อาจสร้างความตื่นตระหนก ตกใจกลัว แก่คนทั่วไปหรือไม่
3. อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ สถาบัน หรือเป็นความผิดด้านการก่อการร้าย หรือไม่
4. มี เนื้อหา/ภาพ อันเป็นลามก หรือไม่
        ถ้าคิดแล้ว เห็นท่าจะไม่ค่อยดี ก็อย่า Forward ไปเลยครับ ไม่เช่นนั้นแล้ว ท่านและพรรคพวก เพื่อนฝูง ของท่าน อาจกระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการ ตาม พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (5)


ด้วยความเคารพ

พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน
ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ
กรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI กระทรวงยุติธรรม

        ถ้าท่านคิดว่า คำเตือนนี้ มีประโยชน์ต่อผู้อื่น ไม่มีโทษ กรุณา ส่งต่อ (Forward) ไปต่อๆ กันด้วยครับ ...ขอบพระคุณมากครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-24 08:41:24


ความคิดเห็นที่ 3 (2219565)

 

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่ใช้อยู่ในทุกวันนี้ ถูกเขียนขึ้นโดยมีข้อสันนิษฐานที่ค่อนข้างแปลกแยกจากธรรมชาติของการสื่อสารระหว่างกันในอินเทอร์เน็ต ดูเหมือนมันถูกเขียนขึ้นโดยความพยายามควบคุมอินเทอร์เน็ตอย่างสุดขั้ว และเขียนเพื่อหาใครสักคนมารับผิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้จนได้ เช่น การเขียนความผิดให้กว้างขวางที่สุด อย่างการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) มีโทษสูงสุดคือ จำคุกห้าปี

เป็นประเด็นถกเถียงว่า มาตรา 14 (1) ซึ่งมีการเขียนมูลความผิดอย่างกว้างขวางเช่นนี้ มีเจตนารมณ์ดั้งเดิมคือ เพื่อเล่นงานการปลอมตัวในอินเทอร์เน็ต (phishing) เท่านั้นหรือไม่

เมื่อมีการใช้คำที่ครอบคลุมการกระทำกว้างขวางเช่นนี้แล้ว ก็ทำให้เกิดการฟ้องร้องจำนวนมาก และซ้ำซ้อนกับฐานความผิดที่มีอยู่แล้วในกฎหมายฉบับอื่น เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท

หากจะตีความมาตรา 14 (1) อย่างตรงตัวแล้ว การเล่น April Fools (วันเมษาหน้าโง่) ในวันที่ 1 เมษายนของทุกปี นั้นอาจจะทำให้เว็บไซต์ระดับโลกอย่าง Google และ BBC, และอีกหลายสำนักข่าวต่างประเทศ ผิดกฎหมายไทย จนมีความผิดต้องโทษจำคุกสูงสุด 5 ปีตามมาตรา 14 (1) นี้กันไปหมด

แนวทางเช่นนี้ตามมาถึงมาตรา 15 ที่พูดถึงผู้ให้บริการที่ “จงใจสนับสนุนหรือยินยอม” ให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 โดยไม่ระบุว่าการกระทำเช่นไรจึงจะเป็นการ “จงใจ” ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามบ้านอาจจะถูกลูกค้าส่งข้อมูลอันเป็นการกระทำความผิดต่อผู้อื่นเป็นเวลานาน ก็อาจจะเป็นความจงใจได้หากเราปล่อยให้มีการตีความกันเอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเป็นผู้เสียหายเสียเอง

ผู้ให้บริการนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงผู้ให้บริการเว็บเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต, ผู้ให้บริการเซิร์ฟเวอร์, ตลอดจนผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูล หากแต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปัจจุบันกลับไม่มีแนวทางชัดเจนว่าผู้ให้บริการแต่ละประเภทจะต้องทำอย่างไรจึงจะแสดงตัวว่า ไม่ได้จงใจสนับสนุนข้อมูลเหล่านี้ แต่เป็นเพียงการให้บริการตามปรกติวิสัย

การปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติของอินเทอร์เน็ต ไม่ได้หมายถึงการยกเลิกการควบคุมทั้งหมด ไม่ได้หมายถึงอินเทอร์เน็ตที่จะไม่มีใครต้องรับผิดชอบอะไร หากแต่คือ การมีกฎระเบียบ ที่ทำให้ทุกคนรู้ถึงภาระรับผิดชอบของตัวเอง มีขอบเขตความรับผิดชอบที่ชัดเจน และตระหนักถึงความผิดหากไม่ทำตามความรับผิดชอบเหล่านั้น

ผมเชื่อว่า เราสามารถสนับสนุนให้มีกติกาที่ชัดเจนสำหรับผู้ให้บริการแต่ละประเภท โดยการออกกฎหมายลูก เพื่อจะได้มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับผู้ให้บริการแต่ละประเภทต่อไป

ยกตัวอย่างเช่นกระบวนการขอลบเนื้อหาออกจากเว็บ ที่ทุกวันนี้กลับไม่มีกระบวนการใดๆ บอกได้ หากเรามีกฎที่ลงรายละเอียดแยกตามประเภทผู้ให้บริการ เราอาจจะมีกฎที่ผู้ให้บริการเว็บจะต้องลบเนื้อหาที่พาดพิงต่อบุคคลในทางร้าย เมื่อได้รับคำร้องขอจากผู้เสียหาย โดยจะต้องปิดการเข้าถึงในเวลาที่กำหนด ผู้ให้บริการอาจจะต้องส่งต่อข้อมูลติดต่อ (เช่นอีเมล) ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อมีการดำเนินคดี ฯลฯ รวมไปถึงเราอาจจะกำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีบริการค้นหาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ถูกขโมยแล้วนำไปเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการ หรือโทรศัพท์ที่ถูกขโมยแล้วได้รับการแจ้งหมายเลขประจำเครื่องเอาไว้ กติกาเช่นนี้สามารถช่วยลดความยุ่งยากในการดำเนินคดี และช่วยลดอาชญากรรมได้ แต่กลับไม่มีการระบุไว้ในหน้าที่ของผู้ให้บริการแต่อย่างใดในทุกวันนี้

ผู้ออกกฎหมายไม่ควรคิดแต่ว่า กฎหมายที่ออกไปนั้นช่วยทำให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ง่ายหรือไม่ แต่ยังควรมองในแง่การคุ้มครองผู้เกี่ยวข้อง ผู้ให้บริการ ต้องมีช่องทางให้ผู้รับบริการอย่างสะดวกเมื่อผู้รับบริการต้องการ ตัวอย่างเช่น การกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องแสดงจุดติดต่อ เช่น อีเมล หรือหมายเลขโทรศัพท์อย่างเป็นมาตรฐาน ผู้ให้บริการเซิร์ฟเวอร์อาจจะต้องมีศูนย์แจ้งว่าหมายเลขไอพีใดควรติดต่อผู้ดูแลได้ผ่านทางช่องทางใด หากถูกโจมตีจากหมายเลขไอพีใดๆ ผู้เสียหายควรมีช่องทางติดต่อกับผู้ให้บริการหมายเลขไอพีนั้นๆ เพื่อแจ้งการโจมตีและขอให้ปิดบริการได้

เมื่อเราถูกละเมิดเล็กๆ น้อยๆ แทนที่เราจะต้องไปขึ้นดำเนินคดีซึ่งบางครั้งไม่คุ้มค่ากับผู้เสียหายเอง หากผู้รับบริการสามารถติดต่อผู้ให้บริการได้อย่างรวดเร็ว ด้วยกฎเกณฑ์ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องตอบสนองต่อเรื่องร้องเรียนต่างๆ อย่างรวดเร็ว และสามารถแก้ไขต่อการละเมิดนั้นได้อาจจะเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายมากกว่า

หากเป็นการละเมิดตัวบุคคลอาจจะต้องปิดการเข้าถึงข้อมูลภายในเวลาที่กำหนดหลังได้รับแจ้งแม้จะยังไม่มีการแจ้งความ หากเป็นกรณีที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นความผิดหรือไม่ เราอาจจะตั้งกฎให้ผู้ให้บริการต้องปิดการเข้าถึงเป็นช่วงเวลาหนึ่งก่อนที่ผู้เสียหายจะไปดำเนินคดีและอาศัยอำนาจเจ้าหน้าที่เพื่อขอให้ปิดการเข้าถึง หรือคงข้อมูลบันทึกการเข้าถึง (log) ของผู้ใช้นั้นๆ เอาไว้แม้การดำเนินการจะใช้เวลานานจนคำสั่งมาถึงเมื่อเลยเวลาที่กฎหมายกำหนดไปแล้ว

ผมมีความเชื่อว่าเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งนำไปสู่การตรวจสอบ, การถกเถียง, และการวิจารณ์นั้น สามารถอยู่ร่วมกับการรับผิดชอบ และการคุ้มครองสิทธิของทุกคนในสังคมที่อยู่ร่วมกันได้ เราสามารถสร้างกฎที่ไม่ทำให้เกิดความกลัวอย่างไม่จำเป็น แต่แก้ปัญหาและคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน โดยยังเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยและวิจารณ์อันเป็นส่วนสำคัญต่อสังคมประชาธิปไตยได้หากเราออกแบบกฎอย่างดีพอ

 
บทความโดย
วสันต์ ลิ่วลมไพศาล


 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-24 09:12:22


ความคิดเห็นที่ 4 (2219579)

คดีหมายเลขดำที่ :   อ.3729/2553    วันที่ฟ้อง :  12/11/2553   คดีหมายเลขแดงที่ :   อ.4242/2553   วันที่ออกแดง :  15/12/2553    
โจทก์ :   พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 สำนักงานอัยการสูงสุด
จำเลย :   นาย...
ข้อหา :   หมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา,นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อความอันเป็นเท็จโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
 

เมื่อระหว่างวันที่ 13 - 15 พฤษภาคม  2552  เวลากลางคืนหลังเที่ยงและเวลากลางวันต่อเนื่องกันตลอดมา วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยพิมพ์ข้อความและโฆษณาเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาท นายศิริชัย ... ผู้เสียหาย โดยส่งข้อความทางอินเตอร์เน็ต ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้นายศิริชัย ... ผู้เสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ นายศิริชัย  ผู้เสียหาย ผู้อื่น หรือประชาชน เหตุเกิดที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร  กรุงเทพมหานคร และทั่วราชอาณาจักร  เกี่ยวพันกัน  ขอให้ลงโทษตาม  ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 326, 328,พระราชบัญญัติว่า
ด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1)

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้ว เห็นว่าจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายใน 1 ปี ให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคม ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ภายในกำหนด 1 ปี กับให้ละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30./


ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-24 09:31:59



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล