ReadyPlanet.com


เกี่ยวกับมรดกคับ


 เรื่องมันเป็นแบบนี้ครับอาจารย์ คือ ตากับยายผมท่านเสียไปได้ประมาณ20 ปีเเล้ว

เขาเลยให้ลุงเป้นคนจัดการมรดก  แต่ลุงเขาไม่แบ่งมรดกให้น้องๆ แบบนี้ จะฟ้องได้ไหมคับ หรือว่าควรทำอย่างไรดี

เพราะว่า ตากับยายท่านก็เสียไปตั้ง20ปีเเล้ว 

ผมถามแม่ แม่ก็บอกว่าจ้างทนายไว้เเล้ว ทนายรับเงินไปหมื่นหนึ่ง ตั้งเเต่ปีใหม่ 

จนบัดนี้ยังไม่เห็นหัวเลยครับ

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ ความรู้น้อย :: วันที่ลงประกาศ 2011-08-12 04:16:05


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2216204)

ต้องดูที่ทรัพย์ของตากับยายครับมามีที่มาที่ไปอย่างไร เบื้องต้นต้องดูว่า ทรัพย์ที่พูดถึงมีชื่อใครเป็นเจ้าของ ตา กับยาย ใครเสียชีวิตก่อนกันจะได้แบ่งมรดกได้ถูกต้อง และปัจจุบันนี้ผู้จัดการมรดกได้ดำเนินการอะไรไปแล้วจะได้เรียบเรียงและให้คำแนะนำได้ถูกต้อง

ระยะเวลาที่ผ่านมา 20 ปี นั้นมัวไปทำอะไรอยู่ทำไมถึงจะมาคิดได้ในตอนนี้ แล้วใครเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินอย่างไรบ้าง

ถ้าผู้จัดการมรดกไม่ยอมแบ่งตามหน้าที่ก็สามารถร้องขอถอดถอนผู้จัดการมรดก หรือฟ้องผู้จัดการมรดกได้ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-09-14 13:26:11


ความคิดเห็นที่ 2 (2216209)

ฟ้องขอแบ่งมรดกและกรรมสิทธิ์รวม

การที่ทายาทได้ครอบครองที่ดินมรดกเป็นสัดส่วนตามสิทธิของทายาทแล้ว ถือได้ว่ามรดกมีการแบ่งปันให้แก่ทายาทไปแล้วแม้จะยังไม่ได้โอนทางทะเบียนก็ตาม ดังนั้นปัญหาเรื่องอายุความย่อมไม่อาจอ้างเอาเป็นประโยชน์ได้อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7667/2552
 

          นับแต่วันที่ ส. ตาย ทายาทของ ส. คือโจทก์ จำเลย และ อ. ได้ครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัด อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง แล้ว และถือได้ว่าการแบ่งปันมรดกเสร็จสิ้นแล้วนับแต่วันที่ได้มีการครอบครองเป็นส่วนสัด จึงไม่มีปัญหาเรื่องคดีโจทก์ขาดอายุความมรดก 1 ปี ตามมาตรา 1754 หรือไม่
________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 3964 เนื้อที่ 24 ไร่ 1 งาน 5 ตารางวา มีชื่อนางประทวน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยแบ่งแยกจากที่ดินเดิม โจทก์กับนายปลิว สามีเช่าที่ดินดังกล่าวจากนางประทวนเพื่อทำนาก่อนแบ่งแยกโฉนด โจทก์กับนายปลิวปลูกบ้านเลขที่ 60 ทางเหนือสุดของที่ดินติดกับคลองหน้าไม้ โจทก์ นายปลิวและบุตรพักอาศัยในบ้านและทำนาที่เช่าตลอดมา ต่อมานายปลิวถึงแก่ความตาย โจทก์และบุตรทำนาที่เช่าต่อมาโดยตลอดจนกระทั่งปี 2521 นางประทวนบอกขายที่ดินแก่โจทก์ โจทก์ตกลงซื้อที่ดินโดยใส่ชื่อนายสำราญ บุตรโจทก์กับจำเลยภริยานายสำราญเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ปี 2532 ถึง 2533 มีการแบ่งแยกที่ดินและขายที่ดินส่วนที่อยู่ทางตอนใต้ของที่ดินไปบางส่วน คงเหลือที่ดินในส่วนที่อยู่ทางตอนเหนือตามโฉนดเลขที่ 3964 เนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน 5 ตารางวา โจทก์ นายสำราญและจำเลยต่างครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัด โจทก์กับนายอุดม บุตรโจทก์อีกคนหนึ่งอยู่บ้านเลขที่ 60 ทางตอนเหนือสุดของที่ดินโฉนดเลขที่ 3964 ติดกับคลองหน้าไม้ จำเลยกับนายสำราญปลูกเรือนอยู่ทางตอนใต้ของที่ดินเป็นบ้านเลขที่ 60/3 วันที่ 2 สิงหาคม 2536 นายสำราญถึงแก่ความตาย โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมและในฐานะมารดาซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายสำราญมีสิทธิรับมรดกของนายสำราญ จึงร้องขอให้ศาลตั้งนายอุดม เป็นผู้จัดการมรดกของนายสำราญ เมื่อนายอุดมได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก นายอุดมแจ้งจำเลย บุตรจำเลยและโจทก์เพื่อตกลงแบ่งปันมรดกตามส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 3964 จำเลยและบุตรไม่โต้แย้งคัดค้านสิทธิของโจทก์ซึ่งได้ครอบครองที่ดินและได้ปลูกบ้านเลขที่ 60 หมู่ที่ 7 แต่อย่างใด แต่จำเลยไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและไม่แบ่งปันมรดกให้แก่โจทก์ นายอุดมมีหนังสือนัดให้จำเลยไปดำเนินการโอนมรดก จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยนำโฉนดที่ดินเลขที่ 3964 ตำบลหน้าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ไปยื่นคำขอโอนมรดกที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี โดยให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งในส่วนของนายสำราญ เจ้ามรดกหนึ่งในสามส่วนและได้รับที่ดินในส่วนที่โจทก์ปลูกบ้านเลขที่ 60 รวมเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา หากจำเลยไม่ไปยื่นคำขอโอนมรดกที่ดิน ให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินให้โจทก์เพื่อไปขอรับโอนมรดก หากจำเลยไม่ไปขอใช้คำสั่งศาลเพื่อแสดงเจตนาแทนจำเลย

          จำเลยให้การว่า ที่ดินมรดกพิพาทมีชื่อจำเลยและนายสำราญ สามีร่วมกัน แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวจำเลยใช้เงินส่วนตัวซื้อแล้วใส่ชื่อนายสำราญแทนจำเลยด้วยครึ่งหนึ่งเพื่อให้เกียรติ นายสำราญไม่ได้มีเจตนาเป็นเจ้าของแต่อย่างใด โจทก์มิได้ครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัด โจทก์ขออาศัยที่ดินพิพาทอยู่เป็นเนื้อที่ 50 ตารางวา แผนที่ของโจทก์ไม่ถูกต้องเพราะจำเลย (ที่ถูกน่าจะเป็นโจทก์) อาศัยอยู่เฉพาะมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือ หากที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนายสำราญ ฟ้องโจทก์ก็ขาดอายุความแล้วเพราะมิได้ฟ้องเรียกร้องภายใน 1 นับแต่วันที่โจทก์ทราบว่านายสำราญถึงแก่ความตายโจทก์มิได้มีส่วนในการครอบครองที่ดินพิพาทอย่างทายาท จึงไม่ใช่เป็นทายาทผู้มีส่วนครอบครองทรัพย์มรดก ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยนำโฉนดที่ดินเลขที่ 3964 ตำบลหน้าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ไปยื่นคำขอโอนมรดกที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี โดยให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งในส่วนของนายสำราญ เจ้ามรดกจำนวนหนึ่งในสามคิดเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา โดยโจทก์ได้รับส่วนแบ่งในส่วนที่ดินทางด้านทิศเหนือตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งเป็นส่วนที่ดินทางด้านทิศเหนือตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งเป็นส่วนที่โจทก์ปลูกบ้านเลขที่ 60 หมู่ที่ 7 ตำบลหน้าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี หากจำเลยไม่ไปยื่นคำขอโอนมรดกที่ดิน ให้จำเลยส่งมอบโฉนดให้แก่โจทก์เพื่อโจทก์ไปขอรับมรดก หากจำเลยไม่ไปให้ถือคำสั่งศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

          จำเลยอุทธรณ์

          ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 โจทก์ถึงแก่ความตาย นายอุดม บุตรของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งอนุญาต

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาเป็นประการแรกว่า ที่ดินพิพาทจำเลยใช้เงินส่วนตัวซื้อ จึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลย แต่ข้อเท็จจริงตามสำนวนศาลชั้นต้นวินิจฉัยและพิพากษาประเด็นนี้แล้วว่า ที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยและนายสำราญถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันคนละครึ่ง เมื่อนายสำราญถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมที่ดินพิพาทส่วนของนายสำราญย่อมตกทอดไปยังทายาท 3 คน คือ โจทก์ จำเลยและนางอุไรวรรณ จำเลยมิได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ประเด็นข้อพิพาทนี้จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะยกประเด็นนี้ขึ้นวินิจฉัยอีก ก็หาใช่ประเด็นข้อพิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่ ในชั้นฎีกานี้จึงต้องถือว่า ฎีกาข้อนี้ของจำเลยเป็นประเด็นที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

          คดีมีปัญหาต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยเพียง 2 ประการ คือ ทายาทของนายสำราญคือโจทก์ จำเลยและนางอุไรวรรณ ได้มีการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทที่เป็นทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัดหรือไม่ และคดีโจทก์ขาดอายุความมรดก 1 ปี แล้วหรือไม่ ซึ่งสามารถวินิจฉัยไปด้วยกันได้ เพราะประเด็นอายุความขึ้นอยู่กับผลการวินิจฉัยฎีกาประการแรกที่ว่ามีการครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดระหว่างทายาทหรือไม่ โจทก์นำสืบโดยมีนายอุดม บุตรโจทก์และเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ รวมทั้งเป็นผู้จัดการมรดกของนายสำราญ เจ้ามรดกเจ้าของที่ดินพิพาท กับนางบุญช่วย เบิกความทำนองเดียวกันว่า หลังจากนายสำราญถึงแก่ความตาย ทายาทของนายสำราญ 3 คน คือ โจทก์ จำเลยและนางอุไรวรรณ ได้แบ่งปันส่วนที่ดินพิพาทโดยให้โจทก์ได้ส่วนแบ่งทางด้านทิศเหนือ จำเลยได้ส่วนแบ่งด้านทิศใต้และนางอุไรวรรณได้ส่วนแบ่งด้านทิศใต้เช่นกัน สาเหตุที่แบ่งที่ดินดังกล่าวเนื่องจากที่ดินทางด้านทิศเหนือมีบ้านของโจทก์และทางด้านทิศใต้มีบ้านของจำเลย และโจทก์ยังมีร้อยเอกประมาณ หัวหน้าสำนักงานทนายความซึ่งเป็นผู้ดำเนินการยื่นคำร้องขอตั้งนายอุดมเป็นผู้จัดการมรดกเบิกความว่า หลังจากศาลมีคำสั่งตั้งนายอุดมเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว พยานได้ไปดูที่ดินพิพาทตามที่โจทก์แจ้งให้ทราบตามแผนที่เอกสารหมาย จ.4 และได้พบกับจำเลยเมื่อสอบถามแล้วจำเลยยืนยันและชี้แนวเขตที่ดินพิพาทเช่นเดียวกับที่โจทก์แจ้งไว้ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.4 โดยมีศาลพระภูมิอยู่ตรงแนวเขตที่ดิน พยานวัดเนื้อที่ดินของโจทก์ได้ 2 ไร่เศษ ในวันดังกล่าวพยานนัดหมายกับจำเลยให้ไปแบ่งแยกโฉนดที่ดินที่สำนักงานที่ดินประมาณปลายเดือนพฤษภาคม 2543 แต่จำเลยไม่ไปตามนัด ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความว่า ที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.1 เดิมโจทก์ทำนาอยู่โดยเช่าจากนางประทวน ต่อมานางประทวนจะขายที่ดินพิพาท โจทก์ไม่มีเงินซื้อ จำเลยจึงนำที่ดินพิพาทไปจำนองกับนายฮง เมื่อมารดาจำเลยขายที่ดินได้และให้เงินจำเลย 100,000 บาท จำเลยจึงไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากนายฮงบ้านที่โจทก์ปลูกเดิมอยู่บนที่ดินอีกแปลงหนึ่งของนางประทวนที่อยู่ติดต่อทางเหนือของที่ดินพิพาท ซึ่งนางประทวนได้ขายให้แก่นางสนั่น เมื่อนางสนั่นให้โจทก์รื้อบ้านออกจากที่ดิน จำเลยจึงให้โจทก์มาปลูกบ้านในที่ดินพิพาทบนเนื้อที่ประมาณ 50 ตารางวา ทางด้านทิศเหนือ พื้นที่ดินนอกเหนือจากนั้นจำเลยเข้าทำประโยชน์โดยทำนาเต็มพื้นที่ ต่อมาจำเลยขายที่ดินไป 10 ไร่ คงเหลือที่ดินพิพาท 14 ไร่เศษ จำเลยเปลี่ยนมาทำสวนแทน โดยปลูกมะม่วงและกล้วย จำเลยทำถนนจากบ้านซึ่งปลูกอยู่ทางทิศใต้ของที่ดินพิพาทกว้างประมาณ 3 วา ยาวประมาณ 30 วา ออกไปสู่ถนนริมคลองซึ่งอยู่ทางเหนือของที่ดินพิพาทโดยโจทก์มิได้คัดค้าน หลังจากนายสำราญตาย โจทก์ไม่เคยทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท และจำเลยไม่เคยตกลงแบ่งที่ดินพิพาทกับโจทก์ เห็นว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามปากสอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญโดยเฉพาะร้อยเอกประมาณพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการร้องขอตั้งนายอุดมเป็นผู้จัดการมรดกขอนายสำราญที่เบิกความว่าได้ไปสอบถามจำเลยตามที่โจทก์แจ้งแล้ว จำเลยยืนยันว่ามีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดตามแผนที่เอกสารหมาย จ.4 จริง นอกจากนี้ ยังมีพยานจำเลยคือนางแจ๋ว เบิกความตอบคำถามค้านพยานโจทก์ว่า เคยเห็นทนายความฝ่ายโจทก์ไปรังวัดที่ดินพิพาทในกรอบเส้นสีแดงตามแผนที่เอกสารหมาย จ.4 ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยโต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด หลังจากนายสำราญตายแล้วพยานเห็นโจทก์ปลูกต้นไม้และเก็บผลประโยชน์ในพื้นที่กรอบเส้นสีแดง ส่วนจำเลยก็ยุ่งเกี่ยวแต่เฉพาะที่ดินพิพาทในกรอบเส้นสีน้ำเงิน ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทในกรอบเส้นสีแดงเลย ส่วนที่จำเลยเบิกความโดยมีนางสนั่นเบิกความสนับสนุนว่าบ้านเดิมของโจทก์ปลูกอยู่บนที่ดินที่นางสนั่นซื้อจากนางประทวน เมื่อนางสนั่นซื้อแล้วได้ให้โจทก์รื้อถอนบ้านออกไป จำเลยจึงอนุญาตให้โจทก์เข้ามาปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทเพื่อใช้อยู่อาศัยในพื้นที่ประมาณ 50 ตารางวานั้น กลับปรากฏตามคำเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ของนางแจ๋วว่าบ้านเลขที่ 60 ซึ่งโจทก์อยู่มาตั้งแต่ต้นนั้นไม่เคยมีการย้ายไปที่ใดเลยคำเบิกความของพยานจำเลยจึงขัดกันเอง ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่า รับฟังได้ว่า อย่างช้าที่สุดนับแต่วันที่นายสำราญ ทายาทของนายสำราญคือโจทก์ จำเลยและนางอุไรวรรณได้มีการครอบครองทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัด โดยโจทก์ครอบครองที่ดินในกรอบเส้นสีแดงตามแผนที่เอกสารหมาย จ.4 เนื้อที่ดิน 2 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง แล้ว ซึ่งถือได้ว่าการแบ่งปันมรดกเสร็จสิ้นแล้วนับแต่วันที่ได้มีการครอบครองเป็นส่วนสัด กรณีจึงไม่มีปัญหาเรื่องคดีโจทก์ขาดอายุความมรดก 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 หรือไม่ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองในประเด็นข้อพิพาททั้งสองนี้ชอบแล้ว”

          พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,000 บาท แทนโจทก์

( สุรศักดิ์ กิตติพงษ์พัฒนา - ปัญญารัตน์ วิระยะวานิช - วรพจน์ วิไลชนม์ )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-09-14 13:50:57



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล