ReadyPlanet.com


ถูกโกงเงิน


ผมได้ร่วมลงทุนกับเพื่อนทำธุรกิจแต่เพื่อนไม่มีเงินทุนผมจึงออกเงินแทนให้(หมายความว่าผมออกเงินคนเดียวทั้งหมดนั้นคือส่วนของผมและส่วนของเพื่อน) ต่อมาได้เลิกกิจการและยกกิจการให้เพื่อนทำต่อ(กิจการไม่ได้จดทะเบียน) ได้ทวงถามเงินคืนจากเพื่อนแต่เพื่อนไม่มีจ่าย จึงให้เพื่อนเขียนสัญญากู้ยืมไว้ พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชน  ให้เพื่อนส่งใช้เงินเป็นรายเดือน เพื่อนส่งให้แค่2 เดือน จากนั้นก้อไม่ส่ง ได้ยินมาว่าเขาไปปรึกษาทนายความ แล้วเขาก็ทำเรื่องหย่ากับเมียแต่เขาก็ยังอยู่ด้วยกัน(ประมาณว่าหย่าหนีหนี้ครับ) ก่อนที่จะหย่ารกิจที่เขาทำเขาได้จดทะเบียนเป็นชื่อเมียครับ.........

มีวิธีช่วยผมหรือเปล่าครับ

 



ผู้ตั้งกระทู้ เอ (mulee_pinky-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2011-08-10 15:59:41


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2215157)

กรณีไม่ใช่เรื่องการโกงหรอกครับ น่าจะเป็นผิดสัญญาร่วมลงทุนกัน เมื่อเขายอมรับการร่วมลงทุนแล้วและยอมทำสัญญากู้ยืมเงินเป็นการแปลงหนี้ใหม่ ย่อมผูกพันตามสัญญากู้ยืมเงิน อีกทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้ชำระหนี้มาแล้วถึง 2 งวด จึงมีหลักฐานว่าเป็นหนี้ที่สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมาย เมื่อไม่ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินจึงต้องฟ้องและขอให้บังคับคดีกันต่อไปครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-09-11 17:08:34


ความคิดเห็นที่ 2 (2215162)

สัญญากู้ยืมเงินจากมูลหนี้เดิมเป็นการแปลงหนี้ใหม่
การแปลงหนี้ใหม่จากหนี้เดิมมาเป็นหนี้เงินตามสัญญากู้ยืมเงินนั้น คู่สัญญาตามสัญญากู้ยืมเงินจะต้องเป็นคู่สัญญาในมูลหนี้เดิมจึงจะผูกพันกันได้ตามสัญญากู้ยืมเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7625/2552

          บริษัท ส. ที่โจทก์เป็นกรรมการได้มอบเงินให้บริษัท ซ. ที่จำเลยเป็นกรรมการเป็นค่าสินค้าที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยล่วงหน้า เงินจำนวนดังกล่าวไม่ใช่หนี้ตามข้อตกลงในฐานะส่วนตัวของโจทก์กับจำเลย แต่เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ส. กับจำเลยในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ซ. ต่อมาบริษัท ซ. จะต้องคืนเงินแก่บริษัท ส. แต่ได้ทำในรูปสัญญากู้ยืมที่จำเลยลงลายมือชื่อรับผิดต่อโจทก์ หนี้ที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์จึงเป็นหนี้ที่บริษัท ซ. มีต่อบริษัท ส. ไม่ใช่เป็นหนี้ของจำเลยในฐานะส่วนตัว สัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่มีมูลหนี้ต่อกัน

          โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โดยไม่ได้นำสืบว่าหนี้กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้ ทั้งจำเลยให้การว่าจำเลยไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์ จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์โดยไม่มีเจตนาผูกพันตามสัญญา จึงรับฟังไม่ได้ว่าหนี้กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้ตามที่โจทก์อ้าง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่า โจทก์จำต้องกล่าวในฟ้องถึงการแปลงหนี้ด้วยหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 4,950,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 4,000,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทสุนันทาฟาร์ม จำกัด และบริษัทกุ้งสยาม จำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการขายอาหาร เคมีภัณฑ์และเวชภัณฑ์สำรับการเลี้ยงสัตว์น้ำ จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทเซ้าท์อีสต์ อกริคัลเจอรัล แอนด์ คอมเมอร์เชียล จำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการผลิตจุลินทรีย์ในการเลี้ยงกุ้ง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 บริษัทสุนันทาฟาร์ม จำกัด โอนเงิน 5,000,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของบริษัทเซ้าท์อีสต์ อกริคัลเจอรัล แอนด์ คอมเมอร์เชียล จำกัด ที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาฉะเชิงเทรา และจำเลยลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการผู้จัดการของบริษัทเซ้าท์อีสต์ อกริคัลเจอรัล แอนด์ คอมเมอร์เชียล จำกัด รับว่าได้รับชำระเงินดังกล่าวไว้แล้ว วันที่ 9 กรกฎาคม 2544 จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ตกลงว่าจะชำระเงิน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ภายในวันที่ 26 ธันวาคม 2544 แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2544 จำเลยลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทเซ้าท์อีสต์ อกริคัลเจอรัล แอนด์ คอมเมอร์เชียล จำกัด สั่งจ่ายเช็คของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) จำนวนเงิน 4,000,000 บาท แก่บริษัทสุนันทาฟาร์ม จำกัด และลงลายมือชื่อรับว่าได้คืนเงินค่าชำระค่าสินค้าล่วงหน้าแก่บริษัทสุนันทาฟาร์ม จำกัด 4,000,000 บาท เป็นเช็คฉบับดังกล่าว แต่เมื่อเช็คฉบับดังกล่าวถึงกำหนด ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่า ก่อนทำสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้อง จำเลยเป็นหนี้ต้องคืนเงินที่โจทก์มอบให้แก่จำเลยเป็นค่าชำระค่าสินค้าล่วงหน้า 4,000,000 บาท แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่มีเงินคืนจึงทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้อง ให้โจทก์อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินแก่โจทก์ตามฟ้องนั้น ในข้อนี้โจทก์นำสืบว่า จำเลยเคยเสนอขายจุลินทรีย์ในการเลี้ยงกุ้งให้แก่โจทก์ซึ่งตรงกับความประสงค์ของบริษัทสุนันทาฟาร์ม จำกัด และบริษัทกุ้งสยาม จำกัด ที่ต้องการซื้อเพื่อนำไปใช้เองและขายต่อให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และต้องใช้เป็นจำนวนมาก แต่บริษัทเซ้าท์อีสต์ อกริคัลเจอรัล แอนด์ คอมเมอร์เชียล จำกัด ไม่มีเงินทุนพอในการผลิตสินค้าได้ปริมาณเท่าที่บริษัทสุนันทาฟาร์ม จำกัด และบริษัทกุ้งสยาม จำกัดต้องการ จำเลยจึงเสนอให้โจทก์ชำระเงินค่าสินค้าล่วงหน้า 5,000,000 บาท แล้วจำเลยจะทยอยส่งสินค้าให้แก่บริษัทสุนันทาฟาร์ม จำกัด และบริษัทกุ้งสยาม จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่ายเพียงผู้เดียวจนกว่าจะครบจำนวนเงินค่าสินค้าที่ชำระล่วงหน้า โจทก์ตกลงจึงโอนเงินของบริษัทสุนันทาฟาร์ม จำกัด เข้าบัญชีของบริษัทเซ้าท์อีสต์ อกริคัลเจอรัล แอนด์ คอมเมอร์เชียล จำกัด แต่จำเลยไม่สามารถส่งสินค้าตามปริมาณที่ตกลงได้ โดยส่งได้คิดเป็นราคาเพียง 1,000,000 บาทเศษ บริษัทสุนันทาฟาร์ม จำกัด ไม่ประสงค์จะซื้อสินค้าดังกล่าวอีกต่อไปและให้จำเลยมาทำข้อตกลงเรื่องหนี้ดังกล่าวซึ่งเมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้วบริษัทเซ้าท์อีสต์ อกริคัลเจอรัล แอนด์ คอมเมอร์เชียล จำกัด ยังคงค้างชำระเงินบริษัทสุนันทาฟาร์ม จำกัด 4,000,000 บาทเศษ แต่บริษัทเซ้าท์อีสต์ อกริคัลเจอรัล แอนด์ คอมเมอร์เชียล จำกัด ไม่มีเงินชำระ โจทก์จึงให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องมอบให้โจทก์ไว้ ส่วนจำเลยนำสืบว่า จำเลยไม่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ เหตุที่บริษัทสุนันทาฟาร์ม จำกัด มอบเงิน 5,000,000 บาท ให้แก่บริษัทเซ้าท์อีสต์ อกริคัลเจอรัล แอนด์ คอมเมอร์เชียล จำกัด เพื่อร่วมลงทุนในการผลิตจุลินทรีย์ในการเลี้ยงกุ้งและขยายกำลังการผลิตสินค้าตามปริมาณที่บริษัทสุนันทาฟาร์ม จำกัด ต้องการ และให้บริษัทสุนันทาฟาร์ม จำกัด เป็นตัวแทนผู้จัดจำหน่ายเพียงผู้เดียว บริษัทเซ้าท์อีสต์ อกรีคัลเจอรัล แอนด์ คอมเมอร์เชียล จำกัด จัดส่งสินค้าให้แก่บริษัทสุนันทาฟาร์ม จำกัด หลังจากนั้นบริษัทสุนันทาฟาร์ม จำกัด ไม่สั่งสินค้าอีก อ้างว่าสินค้าดังกล่าวไม่ได้ผลตามที่คาดหมาย เป็นเหตุให้สินค้าของบริษัทเซ้าท์อีสต์ อกริคัลเจอรัล แอนด์ คอมเมอร์เชียล จำกัด เหลือเป็นจำนวนมาก ทั้งไม่สามารถจัดจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่นได้ จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินให้โจทก์โดยไม่มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญากู้ยืมเงิน เห็นว่า แม้จะรับฟังได้ตามที่โจทก์อ้างว่า เงิน 5,000,000 บาท ที่โจทก์มอบให้จำเลยเป็นค่าสินค้าที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยล่วงหน้า มิใช่เป็นการร่วมลงทุนกับจำเลยก็ตาม แต่ปรากฏว่าข้อตกลงมอบเงินจำนวนดังกล่าวไม่ใช่เป็นข้อตกลงในฐานะส่วนตัวของโจทก์กับจำเลย แต่เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทสุนันทาฟาร์ม จำกัด กับจำเลยในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทเซ้าท์อีสต์ อกริคัลเจอรัล แอนด์ คอมเมอร์เชียล จำกัด หนี้ที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์จึงเป็นหนี้ที่บริษัทเซ้าท์อีสต์ อกริคัลเจอรัล แอนด์ คอมเมอร์เชียล จำกัด มีต่อบริษัทสุนันทาฟาร์ม จำกัด ไม่ใช่เป็นหนี้ของจำเลยในฐานะส่วนตัว สัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่มีมูลหนี้ต่อกัน ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยไว้โดยละเอียดว่า โจทก์ไม่มีมูลหนี้ตามฟ้องที่จะเรียกร้องจากจำเลยได้นั้น ชอบด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล และต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา โดยไม่จำต้องนำมากล่าวซ้ำอีก ส่วนที่โจทก์อ้างว่า จำเลยทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องให้โจทก์เป็นการแปลงหนี้จากค่าสินค้าที่โจทก์ชำระแก่จำเลยล่วงหน้ามาเป็นหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อยังไม่มีการชำระหนี้ถือว่าหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินมีผลสมบูรณ์ และโจทก์ไม่จำต้องกล่าวในฟ้องถึงการแปลงหนี้ดังกล่าว ก็มีสิทธิฟ้องเรียกร้องจากจำเลยได้นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 4,000,000 บาท โดยไม่ได้นำสืบว่าหนี้กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้ ทั้งจำเลยให้การว่าจำเลยไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์ จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์โดยไม่มีเจตนาผูกพันตามสัญญา จึงรับฟังไม่ได้ว่า หนี้กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้ตามที่โจทก์อ้าง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์จำต้องกล่าวในฟ้องถึงการแปลงหนี้ด้วยหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( สมควร วิเชียรวรรณ - ประทีป เฉลิมภัทรกุล - เรวัตร อิศราภรณ์ )


หมายเหตุ 

          1. คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ ส่วนจำเลยให้การว่าไม่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ แต่ทำสัญญากู้ไว้โดยไม่มีเจตนาผูกพันตามสัญญา มีปัญหาว่ามีประเด็นวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า หนี้เงินกู้เกิดจากการแปลงหนี้ได้หรือไม่

           การจะอุทธรณ์หรือฎีกาได้จะต้องเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และการจะถือว่าได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบจะต้องเป็นข้อที่เป็นประเด็นในคดี นั่นคือ มีการยกอ้างตั้งประเด็นในเรื่องนั้นไว้แล้วในคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (5) หากปัญหาใดมิได้มีการกล่าวตั้งประเด็นเอาไว้ในคำคู่ความย่อมจะทำให้ไม่อาจนำสืบถึงข้อเท็จจริงในปัญหานั้นได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง หรือแม้จะนำสืบไว้ก็ไม่อาจรับฟังได้ ต้องห้ามตามมาตรา 87 (1) และศาลจะนำปัญหาที่ไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทขึ้นวินิจฉัยไม่ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ต้องห้ามตามมาตรา 142 วรรคหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ปัญหาในข้อที่มิได้เป็นประเด็นพิพาทจึงไม่อาจอุทธรณ์หรือฎีกาได้ เพราะเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างมาก่อน ต้องห้ามตามมาตรา 225 วรรคหนึ่งและมาตรา 249 วรรคหนึ่ง เว้นแต่จะเป็นปัญหาในข้อความสงบเรียบร้อยตามมาตรา 225 วรรคสองและมาตรา 249 วรรคสอง

           2. อย่างไรก็ดี การจะถือว่าข้อใดเป็นข้อที่ได้ยกอ้างตั้งประเด็นไว้แล้วในคำคู่ความหาได้มีความหมายว่าจะต้องมีการระบุไว้โดยชัดแจ้งในคำคู่ความถึงข้อปัญหานั้นโดยตรงเท่านั้นไม่ หากมีการกล่าวในคำคู่ความ ไม่ว่าจะปรากฏในคำฟ้องหรือคำให้การในเรื่องใดแต่มีความหายครอบคลุมไปถึงเรื่องอื่น ข้อปัญหาในเรื่องอื่นที่ความในคำคู่ความกินความหมายรวมไปถึงก็ถือว่าอยู่ในประเด็นแห่งคดีที่จะนำสืบและยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ฎีกาได้ เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2405/2534 โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินค้าผ้าจากจำเลย จำเลยให้การว่าโจทก์ผิดสัญญาส่งผ้าให้จำเลยล่าช้าและไม่ครบถ้วน แม้จะไม่ปรากฏถ้อยคำว่า "สัญญาต่างตอบแทน" ไว้ในคำคู่ความเลยก็ตาม แต่ก็มีความหมายอยู่ในตัวแล้วว่าสัญญาซื้อขายผ้าตามฟ้องเป็นสัญญาต่างตอบแทน

           โดยนัยเดียวกัน การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกหนี้ตามสัญญากู้ มีปัญหาตามที่โจทก์อ้างในฎีกาว่าโจทก์จะฎีกาว่ามูลหนี้ตามสัญญากู้เกิดจากการแปลงหนี้ โดยที่โจทก์มิได้กล่าวไว้ในคำฟ้องว่าเป็นการแปลงหนี้ได้หรือไม่

           หากจะพิจารณาเฉพาะในปัญหาว่า การฟ้องเรียกหนี้เงินกู้ จะมีความหมายรวมถึงประเด็นแปลงหนี้ใหม่หรือไม่ คงต้องพิจารณาจากสภาพของสัญญากู้ยืมเงินเป็นสำคัญ เนื่องจากหนี้ที่เกิดจากสัญญากู้ยืมเงินหาจำต้องเกิดจากการตกลงกู้เงินกันเท่านั้นไม่ แต่อาจเกิดจากการแปลงหนี้จากมูลหนี้อื่นมาเป็นมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมได้ เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3209/2550 หนี้เดิมเป็นหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายแปลงหนี้ใหม่เป็นสัญญากู้ยืมเงินได้ หรือฎีกาที่ 4252/2528 จำเลยมีหนี้ที่จะต้องวางมัดจำแปลงมาเป็นหนี้เงินกู้ยืมได้ เป็นต้น

           ดังนั้น ตามฎีกาที่โจทก์อ้างว่ามูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเกิดจากการแปลงหนี้โดยโจทก์ไม่จำต้องกล่าวไว้ในคำฟ้องจึงรับฟังได้

           3. แม้โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้โดยฎีกาว่าหนี้เงินกู้เกิดจากการแปลงหนี้ก็ดี แต่ข้อเท็จจริงตามทางวินิจฉัยของศาลฎีการับฟังเป็นยุติแล้วว่าหนี้ดังกล่าวเป็นของบริษัท ส. ที่มีต่อบริษัท ซ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์และจำเลย การที่โจทก์เอาหนี้ของบริษัท ซ. มาแปลงเป็นหนี้ของจำเลยจึงไม่อาจกระทำได้ เพราะไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะวินิจฉัยว่าหนี้กู้ยืมเกิดจากการแปลงหนี้หรือไม่ก็ไม่อาจทำให้โจทก์ชนะคดีได้ นั่นคือ หากฟังไม่ได้ว่ามีการแปลงหนี้ โจทก์ก็แพ้คดีเพราะพิสูจน์ไม่ได้ตามข้ออ้าง หากฟังได้ว่าแปลงหนี้กับจำเลยก็ขาดนิติสัมพันธ์ข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางวินิจฉัยของศาลฎีกาแสดงว่า มูลหนี้ดังกล่าวไม่ผูกพันจำเลย ไม่ว่าวินิจฉัยไปในทางใดโจทก์ก็ไม่อาจชนะคดีในประเด็นนี้ได้ ข้อฎีกาข้อนี้ของโจทก์จึงไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในปัญหานี้จึงเป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง นั่นคือ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยนั่นเอง 

           นพพร โพธิรังสิยากร 
 
    

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-09-11 17:28:55


ความคิดเห็นที่ 3 (2215165)

การแปลงหนี้ใหม่จากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน

ปัญหาว่าการทำสัญญากู้ยืมเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคสาม นั้น เห็นว่า หนี้เดิมนั้นเป็นการตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน ฝ่ายจำเลยไม่มีเงินพอจะจ่ายในส่วนของเนื้อที่ดินที่เกินจำนวนประมาณ 10 ตารางวา จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อชำระหนี้ค่าที่ดินส่วนที่เกินมาดังกล่าว ถือว่าเป็นการแปลงสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่จากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาเป็นสัญญากู้ยืมเงินโดยผู้ให้กู้อยู่ในฐานะผู้จะขายเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3209/2550

          ป. กับโจทก์เป็นหุ้นส่วนในการขายที่ดินให้แก่จำเลย จำเลยไม่มีเงินชำระค่าที่ดินในส่วนของที่ดินที่เพิ่มขึ้น แต่จำเลยตกลงรับโอนกรรมสิทธิ์โดยลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินให้ผู้จะขายไว้ โดยระบุว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เท่ากับเป็นการกู้เงินจากผู้จะขายมาชำระราคาที่ดินในส่วนเนื้อที่ที่เกินไปจากสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิลงลายมือชื่อในสัญญากู้ในฐานะผู้ให้กู้ได้และผูกพันจำเลย

          หนี้เดิมเป็นการตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน ฝ่ายจำเลยไม่มีเงินพอจะจ่ายในส่วนของเนื้อที่ดินที่เกิน จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อชำระหนี้ค่าที่ดินส่วนที่เกิน ถือว่าเป็นการแปลงสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่จากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาเป็นสัญญากู้ยืมเงินโดยผู้ให้กู้อยู่ในฐานะผู้จะขายเช่นกัน การแปลงหนี้ใหม่ในครั้งนี้จึงมิได้เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ที่จะต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องจำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์
________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 140,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตกลงผ่อนชำระคืนเป็นรายเดือนเดือนละ 6,000 บาท จนกว่าจะครบ หลังทำสัญญาจำเลยผิดนัดไม่เคยชำระหนี้ให้โจทก์ ขอให้จำเลยชำระเงิน 201,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 140,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ เมื่อปี 2539 จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับนายประดิษฐ์ ยั่งยืน ในโครงการเพชรงามแพรกษา เนื้อที่ประมาณ 26 ตารางวา ในราคา 416,000 บาท เมื่อรวมกับค่าก่อสร้างเป็นเงิน 700,000 บาทเศษ ในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ นายประดิษฐ์แจ้งว่าที่ดินมีเนื้อที่เพิ่มอีกประมาณ 10 ตารางวา จำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มอีกตารางวาละ 26,000 บาท นายประดิษฐ์ได้ให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ไว้โดยมิได้มีการกู้ยืมเงินกันจริง สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางไม่สามารถบังคับได้ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 140,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท

          จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2539 จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินในโครงการจัดสรรหมู่บ้านเพชรงามแพรกษา เนื้อที่ประมาณ 26 ตารางวา ราคา 416,000 บาท เมื่อรวมค่าก่อสร้างเป็นเงิน 700,000 บาทเศษ โดยมีนายประดิษฐ์  ลงลายมือชื่อเป็นผู้จะขาย จำเลยและนางสาวศรีสุดา  ร่วมกันลงลายมือชื่อเป็นผู้จะซื้อตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.2 แต่เนื้อที่ดินตามโฉนดที่ดินประมาณ 36 ตารางวา เมื่อถึงวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 จำเลยไม่มีเงินชำระในส่วนของที่ดินที่เพิ่มขึ้น แต่จำเลยตกลงจะรับโอนกรรมสิทธิ์ โดยได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินให้ผู้จะขายไว้ โดยระบุว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 140,000 บาท กำหนดชำระงวดแรก 20,000 บาท ในวันที่ 3 ธันวาคม 2541 งวดที่ 2 ถึงงวดที่ 21 งวดละ 6,000 บาท ทุกวันที่ 3 ของเดือน ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน เอกสารหมาย จ.3 เมื่อได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้แล้ว ผู้จะขายจึงได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลย ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.3 จำเลยไม่ได้ชำระเงินกู้ตามสัญญาดังกล่าวแก่โจทก์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงิน เอกสารหมาย จ.3 หรือไม่ เพียงใด จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย เพราะมิใช่เป็นผู้จะขายที่ดิน ไม่มีสิทธิลงชื่อเป็นผู้ให้กู้จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์ แต่จำเลยกลับให้การและเบิกความว่า นายประดิษฐ์เป็นคนบอกให้จำเลยทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินให้ไว้แก่โจทก์ซึ่งจำเลยก็ได้ปฏิบัติตามโดยที่ไม่ได้โต้แย้งใด ๆ และยอมรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงที่จะซื้อจากผู้ขายหลังจากทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวแล้ว ประกอบกับนางสุกัญญา  พยานโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ได้เบิกความตอบทนายโจทก์ถามติงว่านายประดิษฐ์กับโจทก์เป็นหุ้นส่วนในการประกอบกิจการค้าขายบ้านด้วยกัน จึงเชื่อได้ว่าจำเลยเองก็ทราบว่านายประดิษฐ์กับโจทก์เป็นหุ้นส่วนในการขายที่ดินให้แก่จำเลยร่วมกัน การลงชื่อกู้เงินจากโจทก์จึงเท่ากับเป็นการกู้เงินจากผู้จะขายมาชำระราคาที่ดินในส่วนเนื้อที่ที่เกินไปจากสัญญาจะซื้อจะขายนั่นเอง โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิลงลายมือชื่อในสัญญากู้ในฐานะผู้ให้กู้ได้และผูกพันจำเลย ที่จำเลยฎีกาว่าการทำสัญญากู้ยืมเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคสาม นั้น เห็นว่า หนี้เดิมนั้นเป็นการตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน ฝ่ายจำเลยไม่มีเงินพอจะจ่ายในส่วนของเนื้อที่ดินที่เกินจำนวนประมาณ 10 ตารางวา จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อชำระหนี้ค่าที่ดินส่วนที่เกินมาดังกล่าว ถือว่าเป็นการแปลงสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่จากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาเป็นสัญญากู้ยืมเงินโดยผู้ให้กู้อยู่ในฐานะผู้จะขายเช่นกัน และจำเลยก็ทราบดีอยู่แล้วขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน การแปลงหนี้ใหม่ในครั้งนี้จึงมิได้เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้แต่อย่างใด แม้ตัวโจทก์และนายประดิษฐ์ จะมิได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ก็ตาม ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมารับฟังได้ว่าจำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.3 จริง และยังมิได้ชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยรับผิดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( บุญรอด ตันประเสริฐ - สมชัย จึงประเสริฐ - ชัชลิต ละเอียด )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-11 17:36:43


ความคิดเห็นที่ 4 (2215167)

การแปลงหนี้ใหม่ที่ทำให้หนี้เดิมระงับ

 จำเลยที่ 2 (ผู้ค้ำประกันเดิม) ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญากู้เงินกับโจทก์ขึ้นใหม่ เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ทำให้หนี้เดิมระงับ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันและไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้เงินที่ทำขึ้นใหม่ เนื่องจากในคดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญากู้เงินที่ทำขึ้นใหม่ การที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดในหนี้ที่ผู้กู้เดิมมีต่อโจทก์ โดยการทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญากู้เงินขึ้นใหม่ โดยจำเลยที่ 2 รับใช้หนี้ของผู้กู้ยืมตามสัญญากู้เดิม  ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ว่าต้องการจะให้หนี้ตามสัญญากู้เงินเดิมระงับไปโดยการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เงินเดิมระงับไปแล้ว จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน มิได้ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามสัญญากู้เงิน การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญากู้เงินจึงเป็นการพิพากษาเกินไปหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3833/2552
 
          การที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดใช้หนี้ที่ ป. มีต่อโจทก์ด้วยการทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญากู้เงินขึ้นใหม่ ทั้งสัญญากู้เงินฉบับใหม่และหนังสือรับสภาพหนี้ระบุจำนวนหนี้ใหม่โดยรวมต้นเงินกู้เดิมและดอกเบี้ยเข้าด้วยกัน ย่อมเห็นถึงเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ว่า ต้องการจะทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินเดิมระงับไปโดยการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ การแปลงหนี้ดังกล่าวโจทก์และจำเลยที่ 2 จะทำสัญญากันโดยลำพัง ไม่ต้องให้ ป. ลูกหนี้คนเดิมเข้าเกี่ยวข้องด้วยก็ได้ เพราะการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 ห้ามแต่เพียงว่าจะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมไม่ได้เท่านั้น เมื่อ ป. กู้เงินเพื่อให้จำเลยที่ 2 นำไปลงทุน กรณีจะทำโดยขืนใจ ป. ลูกหนี้เดิมย่อมไม่มี เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เงินระงับไปแล้ว จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 698

          โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน มิได้ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับใหม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญากู้เงิน จึงเป็นการพิพากษาเกินไปหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นสามีนางแป๋ และเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของนางแป๋ นางแป๋กู้เงินโจทก์จำนวน 200,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2538 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อครบกำหนดชำระหนี้นางแป๋เพิกเฉยไม่ชำระเงินตามสัญญา ต่อมานางแป๋ถึงแก่ความตาย โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 350,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ขอให้บังคับทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

          จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้บังคับทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลอดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ แต่สำหรับจำเลยที่ 1 ให้รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความจำนวน 2,000 บาท

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

          ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรร์ภาค 5 โจทก์ถึงแก่ความตาย นายชนาธิปหรือธงชัย ซึ่งเป็นบุตรยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งอนุญาต

          ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          จำเลยที่ 2 ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2536 นางแป๋ ภรรยาจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์จำนวน 50,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นางแป๋นำที่ดินโฉนดเลขที่ 52585 ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง จดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้เงินดังกล่าวและให้ถือเอาสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินด้วยตามเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม 2537 นางแป๋กู้เงินจากโจทก์อีกจำนวน 200,000 บาท สัญญากู้เงินระบุว่ายอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และตกลงว่าจะชำระเงินกู้คืนภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2538 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้เงินดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 เมื่อครบกำหนดชำระนางแป๋ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ต่อมาวันที่ 28 กรกฎาคม 2538 จำเลยที่ 2 ทำสัญญากู้เงินและหนังสือรับสภาพหนี้ จำนวน 300,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2542 นางแป๋ถึงแก่ความตาย โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้นางแป๋และจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ดังกล่าวแล้วแต่นางแป๋และจำเลยที่ 2 เพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนางแป๋ และจำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญากู้เงินกับโจทก์ขึ้นใหม่ตามเอกสารหมาย จ.5 เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ทำให้หนี้เดิมระงับ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันและไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้เงินที่ทำขึ้นใหม่ตามเอกสารหมาย จ.5 เนื่องจากในคดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญากู้เงินที่ทำขึ้นใหม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าคำฟ้องนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดในหนี้ที่นางแป๋มีต่อโจทก์ โดยการทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญากู้เงินขึ้นใหม่ โดยจำเลยที่ 2 รับใช้หนี้ของนางแป๋ ทั้งได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า เหตุที่สัญญากู้เงินและหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ระบุจำนวนเงิน 300,000 บาท นั้น เนื่องจากรวมต้นเงินกู้เดิม 250,000 บาท และดอกเบี้ยอีก 50,000 บาท เข้าด้วยกัน ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ว่าต้องการจะให้หนี้ตามสัญญากู้เงินเดิมระงับไปโดยการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ และการแปลงหนี้ดังกล่าวโจทก์และจำเลยที่ 2 ทำสัญญากันโดยลำพังไม่ต้องให้นางแป๋ลูกหนี้คนเดิมเข้าเกี่ยวข้องด้วยก็ได้เพราะการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 ห้ามแต่เพียงว่าจะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมไม่ได้เท่านั้น เมื่อได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่านางแป๋กู้เงินเพื่อให้จำเลยที่ 2 นำไปลงทุนด้วยแล้ว กรณีจะทำโดยขืนใจนางแป๋ลูกหนี้เดิมย่อมไม่มี เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.3 ระงับไปแล้ว จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 มิได้ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 จึงเป็นการพิพากษาเกินไปหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้ออื่นเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป”

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5

( อร่าม เสนามนตรี - พินิจ สายสอาด - อร่าม แย้มสอาด )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-11 17:51:36


ความคิดเห็นที่ 5 (2215169)

หนี้เดิมระงับเพราะการแปลงหนี้ใหม่

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่แปลงหนี้มาจากราคาที่ดินที่จำเลยซื้อจากโจทก์และตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยต่อสู้ว่าสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือรับสภาพหนี้เป็นเอกสารปลอม จำเลยไม่เคยรับเงินจากโจทก์ ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์และหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์หรือไม่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ให้จำเลยต้องรับผิดตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ว่าหนี้เดิมระหว่างโจทก์และจำเลยระงับเพราะการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ แต่จำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องการแปลงหนี้ใหม่ไว้ในคำให้การอุทธรณ์ของจำเลยว่าหนี้เดิมระงับเพราะการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  144/2550
 
          การอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งถึงรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในประเด็นแห่งคดีหรือปัญหาข้อกฎหมายว่ามีอยู่อย่างไร เพื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยคดีตามข้ออุทธรณ์ได้ถูกต้องตามประเด็นที่โต้เถียงกัน ซึ่งต้องพิจารณาจากคำฟ้องคำให้การและประเด็นข้อพิพาทในคดีเป็นสำคัญ ไม่ใช่พิจารณาจากข้อเท็จจริงและการนำสืบของคู่ความ

           โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่แปลงหนี้มาจากราคาที่ดินที่จำเลยซื้อจากโจทก์และตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยให้การว่าสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือรับสภาพหนี้เป็นเอกสารปลอม จำเลยไม่เคยรับเงินจากโจทก์ โจทก์เคยขายที่ดินให้แก่จำเลยและโจทก์รับเงินไปจากจำเลยแล้ว ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์และหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์หรือไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าหนี้เดิมระหว่างโจทก์และจำเลยระงับเพราะการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากจำเลยเป็น อ. และ อ. ชำระหนี้ 100,000 บาท ให้โจทก์ไปแล้วนั้น จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2540 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ 793,000 บาท โดยการแปลงหนี้จากราคาที่ดินที่จำเลยซื้อจากโจทก์ในวันเดียวกันมาเป็นหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน ตกลงชำระให้เสร็จภายในวันที่ 30 เมษายน 2540 แต่จำเลยชำระหนี้เพียงบางส่วน ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ 570,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ ตกลงชำระหนี้ให้เสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2541 แต่ครบกำหนดแล้ว จำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์คิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 252,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 822,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 570,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การว่า สัญญากู้ยืมเงินและหนังสือรับสภาพหนี้เป็นเอกสารปลอม จำเลยไม่เคยรับเงินจากโจทก์ จำเลยเคยทำหนังสือที่มีข้อความจำนวนเงิน 320,000 บาท เนื่องจากโจทก์เคยขายที่ดินให้จำเลย แต่ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โจทก์ได้รับเงินค่าที่ดินจากจำเลยไปเรียบร้อยแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 570,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 17 กรกฎาคม 2544) ต้องไม่เกิน 252,000 บาทตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาที่ต้องวินิจฉัยว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกอุทธรณ์โดยไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งถึงรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในประเด็นแห่งคดีหรือปัญหาข้อกฎหมายมีอยู่อย่างไร เพื่อศาลอุทธรณ์ ภาค 2 ได้วินิจฉัยคดีตามข้ออุทธรณ์ได้ถูกต้องตามประเด็นที่โต้เถียงกัน โดยพิจารณาจากคำฟ้องคำให้การและประเด็นข้อพิพาทในคดีเป็นสำคัญ ไม่ใช่พิจารณาจากข้อเท็จจริงและการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณา คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่แปลงหนี้มาจากราคาที่ดินที่จำเลยซื้อจากโจทก์และตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยให้การต่อสู้ว่าสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือรับสภาพหนี้เป็นเอกสารปลอม จำเลยไม่เคยรับเงินจากโจทก์ โจทก์เคยขายที่ดินให้แก่จำเลยและโจทก์รับเงินไปจากจำเลยแล้ว ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์และหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์หรือไม่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวโดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยซื้อที่ดินจากโจทก์ การชำระราคาค่าที่ดินโจทก์ให้จำเลยทำเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไว้ ต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้ดังกล่าว โจทก์จึงให้จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าหนี้เดิมระหว่างโจทก์และจำเลยระงับเพราะการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากจำเลยเป็นนางอรสา  และนางอรสาชำระหนี้ 100,000 บาท ให้โจทก์ไปแล้วนั้น เห็นว่า จำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องการแปลงหนี้ใหม่ไว้ในคำให้การอุทธรณ์ของจำเลยว่าหนี้เดิมระงับเพราะการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยให้โดยพิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( อร่าม เสนามนตรี - เปรมใจ กิติคุณไพโรจน์ - นพวรรณ อินทรัมพรรย์ )

         

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-11 18:09:00



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล