ReadyPlanet.com


ตกลงให้ที่ดินกันเอง (แลกเปลี่ยนที่ดิน)


ข้าพเจ้ามีที่ดินที่ไม่ได้ติดกับทางสาธารณะ (ที่ตาบอด) และได้ตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินกับ นาย ก. โดยให้ที่ดินของข้าพเจ้าบางส่วนติดกับทางสาธารณะ และบางส่วนข้าพเจ้าได้ถอยร่นให้กับนาย ก. โดยตกลงเปลี่ยนกันปากเปล่ามีผู้ใหญ่บ้าน และคนเฒ่าแก่ในหมู่บ้านเป็นพยานแต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน และไม่นานข้าพเจ้าได้สร้างบ้านค่อมโฉนดของตัวเองและของ นาย ก. ซึ่งทั้งสองฝ่ายเข้าใจว่าได้เปลี่ยนกันแล้วไม่มีใครทักท้วง ต่อมา นาย ก. ได้ให้ทีดินมรดกกับนาง ข. ซึ่งเป็นลูก และนาย ก. ก็เสียชีวิต ข้าพเจ้าอยู่อาศัยในบ้านหลังที่สร้างมาโดยคิดว่าเป็นที่ของตนตามตกลงเปลี่ยนกันแล้วเป็นเวลา กว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งตอนนี้ได้ขอให้นาง ข. ไปโอนกรรมสิทธิ์ให้ถูกต้อง(ต่างฝ่ายต่างโอนให้กันและกัน) ต่อเจ้าพนักงานให้ถูกต้อง แต่นาง ข. ไม่ยอมไปโอนให้ ข้าพเจ้าต้องดำเนินการอย่างไร จะฟ้องได้หรือไม่  ขอบคุณล่วงหน้าที่ให้ความกรุณาตอบคำถาม



ผู้ตั้งกระทู้ ปัญญา :: วันที่ลงประกาศ 2011-08-08 21:30:08


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2214549)

การแลกเปลี่ยนที่ดินเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรม ถ้าไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นโมฆะ

ตามข้อเท็จจริงที่เล่ามานั้น ได้ความว่าหลังจากมีการแลกเปลี่ยนกันแล้วผู้ถามได้เข้าครอบครองที่ดินที่แลกเปลี่ยนกันนับเป็นเวลา 20 ปีแล้ว จึงขอแสดงความเห็นดังนี้ครับ

การแลกเปลี่ยนที่ดินเป็นโมฆะ แต่การครอบครองดังกล่าวได้กระทำโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกิน 10 ปี ต้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้วครับ แม้ที่ดินดังกล่าวผู้ตายคู่สัญญาจะมีการยกให้กับบุตรแล้วก็ตาม แต่เป็นการยกให้ที่ไม่มีค่าตอบแทนประการหนึ่งด้วย

เห็นว่าทางคุณน่าจะไปยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าได้กรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ 0859604258 วันที่ตอบ 2011-09-09 13:42:54


ความคิดเห็นที่ 2 (2214550)

 การให้ที่ดินที่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ เมื่อส่งมอบการครอบครองและผู้รับให้ได้ครอบครองด้วยความสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของเกิน 10 ปี เป็นการครอบครองปรปักษ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  203/2552
 

          ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1311 ซึ่งมีชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ การที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่าได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยรับการยกให้มาจาก จ. มารดา เมื่อการโอนให้ดังกล่าวมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การให้จึงตกเป็นโมฆะ ที่ผู้ร้องทั้งสองครอบครองทำประโยชน์อยู่ในที่ดินพิพาทต่อมา ผู้ร้องทั้งสองจึงอ้างได้ว่าเป็นการครอบครองอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทด้วยความสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของ ซึ่งก็คือการครอบครองปรปักษ์นั่นเอง
________________________________

        ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 1311 ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงทรา เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา เป็นของนางหวาด ซึ่งเป็นยายของผู้ร้องที่ 2 นางหวาดยกที่ดินเนื้อที่ประมาณ 1 งานเศษ ให้แก่นางจ้อย ซึ่งเป็นมารดาของผู้ร้องที่ 2 เมื่อปี 2505 ผู้ร้องที่ 2 แต่งงานกับผู้ร้องที่ 1 นางจ้อยจึงยกที่ดินให้ ผู้ร้องทั้งสองได้ปลูกบ้านเลขที่ 36/1 หมู่ที่ 13 ปลูกต้นไม้และขุดคูน้ำกั้นเป็นแนวเขตโดยครอบครองอย่างสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้ว เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2503 นางหวาดขายที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวแก่นางโถม โดยนางโถมทราบดีว่ามีที่ดินส่วนหนึ่งเป็นของมารดาของผู้ร้องที่ 2 ที่ไม่ได้ขาย หลังจากนางโถมถึงแก่ความตาย นายเสริม เป็นผู้จัดการมรดก นายเสริมและทายาททุกคนของนางโถมทราบดีว่าผู้ร้องทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินและมิได้โต้แย้งคัดค้าน ผู้ร้องทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้มีคำสั่งแสดงว่าที่ดินเนื้อที่ 1 งานเศษเฉพาะส่วนทางด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 1311 ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งสองโดยการครอบครองปรปักษ์และให้ใส่ชื่อผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนในโฉนดที่ดินดังกล่าวด้วย

          ผู้คัดค้านทั้งเจ็ดยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทั้งเจ็ดเป็นบุตรของนายเสริม ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว นางหวาด ขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1311 ทั้งแปลงให้แก่นางโถม โดยมิได้ยกที่ดินเฉพาะส่วนที่พิพาทให้แก่นางจ้อยอีกทั้งนางจ้อยไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ผู้ร้องทั้งสองมิได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาท ในระหว่างที่นายเสริมเป็นผู้จัดการมรดกนั้น ผู้ร้องที่ 2 และมารดาได้มาขออนุญาตปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาท ขอให้ยกคำร้องขอ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินเนื้อที่ 1 งาน 71 ตารางวาของที่ดินโฉนดเลขที่ 1311 ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ภายในกรอบเส้นสีม่วงตามแผนที่ดินวิวาทฉบับที่ 3 เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งสองโดยการครอบครองปรปักษ์ให้ผู้คัดค้านทั้งเจ็ดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

          ผู้คัดค้านทั้งเจ็ดอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          ผู้คัดค้านทั้งเจ็ดฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่าผู้ร้องทั้งสองครอบครองทำประโยชน์โดยการปลูกต้นไม้และปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินส่วนหนึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 1311 ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา มีชื่อนายเสริม ผู้จัดการมรดกของนางโถมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งเจ็ดว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งสองโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ผู้ร้องทั้งสองนำสืบว่า ผู้ร้องทั้งสองได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทจากนางจ้อย มารดาของผู้ร้องทั้งสอง โดยนางจ้อยได้รับการยกให้มาจากนางหวาด ยายของผู้ร้อ งที่ 2 ซึ่งเป็นที่ดินทางด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 1311 ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ประมาณ 1 งานเศษ เดิมมีบ้านของนางหล่ำ หรือเสืออ่วม ปลูกอาศัยอยู่ก่อน ต่อมาบุตรของนางหล่ำรื้อบ้านย้ายออกไปแล้ว ผู้ร้องทั้งสองจึงเข้ามาอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทปลูกต้นไม้พืชสวนและพืชไร่และปลูกบ้านเลขที่ 36/1 หมู่ที่ 13 เมื่อปี 2505 ผู้ร้องทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัคค้านตามสำเนาทะเบียนบ้าน ภาพถ่ายที่ดินพิพาท ปรากฏตามแผนที่วิวาทในกรอบเส้นสีม่วง ส่วนผู้คัดค้านทั้งเจ็ดนำสืบว่า นางโถมมารดาของผู้ค้ดค้านทั้งเจ็ดซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 1311 มาจากนางหวาด เมื่อปี 2503 โดยซื้อมาหมดทั้งแปลงรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วย ต่อมานางโถมถึงแก่ความตาย นายเสริมเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องทั้งสองได้เข้ามาอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยได้รับอนุญาตจากนายเสริมสามีของนางโถม เห็นว่า ผู้ร้องทั้งสองมีนายประวิทย์กำนันตำบลบางวัว นางโสภา นางทิน และนางสาวจำนันท์ เพื่อนบ้านใกล้เคียงเบิกความสนับสนุนว่า ผู้ร้องทั้งสองได้เข้ามาปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทติอต่อกันมาเป็นเวลาประมาณ 30 ปี โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ซึ่งข้อนี้ฝ่ายผู้คัดค้านทั้งเจ็ดก็ยอมรับว่าผู้ร้องทั้งสองได้เข้ามาครอบครองปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทมาเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปี จริง แต่อ้างว่านายเสริมสามีของนางโถมเป็นผู้อนุญาตให้ผู้ร้องทั้งสองเข้ามาปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาท แต่คำกล่าวอ้างของฝ่ายผู้คัดค้านทั้งเจ็ดไม่มีหลักฐานสนับสนุนคงเป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอยๆ เมื่อพิจารณาถึงสภาพบ้านของผู้ร้องทั้งสองที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท ก็เป็นบ้านที่ปลูกอย่างมั่นคงถาวร ครึ่งตึกครึ่งไม้ และได้ขอเลขที่บ้านเป็นบ้านเลขที่ 36/1 หมู่ที่ 13 ตามสำเนาทะเบียนบ้าน ทั้งได้ความจากนายแม้นเสืออ่วม อายุ 77 ปี บุตรของนางหล่ำซึ่งเคยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทพยานฝ่ายผู้คัดค้านทั้งเจ็ดว่า เดิมบิดามารดาของตนปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาท หลังจากบิดามารดาถึงแก่ความตายแล้ว น้องชายของพยานได้รื้อบ้านออกไปจากที่ดิน แล้วผู้ร้องทั้งสองได้เข้ามาปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทบริเวณเดียวกัน พยานไม่ทราบว่าผู้ร้องทั้งสองเข้ามาอยู่ในที่ดินพิพาทโดยได้รับอนุญาตจากผู้ใด และได้ความจากนางจ้อย อายุ 60 ปี ซึ่งเคยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1311 เช่นกัน เบิกความเป็นพยานผู้คัดค้านทั้งเจ็ดว่าเหตุที่พยานต้องรื้อบ้านออกไปเนื่องจากบุตรของนางโถมบอกให้รื้อออกไป ส่วนบ้านที่ผู้ร้องทั้งสองปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทบุตรของนางโถมไม่เคยไล่ให้ออกไป การที่ผู้ค้ดค้านทั้งเจ็ดไม่เคยไล่ผู้ร้องทั้งสองให้ออกไปจากที่ดินพิพาทจึงสนับสนุนคำเบิกความของผู้ร้องทั้งสองว่า ผู้ร้องทั้งสองเข้ามาปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทด้วยความสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของโดยมารดาของผู้ร้องที่ 2 ยกให้ พยานหลักฐานของผู้ร้องทั้งสองมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของผู้คัดค้านทั้งเจ็ด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ร้องทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทติดต่อกันมาเกินกว่า 10 ปี ด้วยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของ ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งสองโดยการครอบครองปกปักษ์ ที่ผู้คัดค้านทั้งเจ็ดฎีกาว่าที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่าได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทมาจากนางจ้อยมารดา และนางจ้อยได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทมาจากนางหวาดยายของผู้ร้องที่ 2 อีกทอดหนึ่งนั้นเป็นการอ้างว่าผู้ร้องทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาแล้ว มิใช่เป็นการครอบครองปรปักษ์นั้น ข้อนี้เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1311 ซึ่งมีชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ การที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่าได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยรับการยกให้มาจากนางจ้อยมารดา เมื่อการโอนให้ดังกล่าวมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การให้จึงตกเป็นโมฆะ ที่ผู้ร้องทั้งสองครอบครองทำประโยชน์อยู่ในที่ดินพิพาทต่อมา ผู้ร้องทั้งสองจึงอ้างได้ว่าเป็นการครอบครองอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทด้วยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของ ซึ่งก็คือการครอบครองปรปักษ์นั่นเอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ผู้ร้องทั้งสองชนะคดีมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งเจ็ดฟังไม่ขึ้น”

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( ณรงค์ ธนะปกรณ์ - ปัญญารัตน์ วิระยะวานิช - สุรศักดิ์ กิตติพงษ์พัฒนา )

 

       

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-09 13:46:09


ความคิดเห็นที่ 3 (2214551)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และการได้มาเช่นว่านั้น ตามมาตรา 1299 แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยนิติกรรม
การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม
        สำหรับการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยนิติกรรมนั้น ได้มีบัญญัติไว้ในวรรคแรกของ มาตรา 1299 ว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่มิฉะนั้นไม่บริบูรณ์ ส่วนการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมนั้น ได้มีบัญญัติไว้ในวรรคสองของมาตรา 1299 ว่าถ้ายังมิได้จดทะเบียน จะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนมิได้ และจะยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน และโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้

        การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยนิติกรรมนั้นมีความหมายกว้างมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นการได้มาโดยการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ จำนอง หรือตีใช้หนี้ก็ถือเป็นการได้มาโดยนิติกรรมทั้งสิ้น แต่การได้มาดังกล่าวนั้นมิใช่ว่าจะนำมาตรา 1299 วรรคแรกไปใช้ได้เสมอไป ต้องพิจารณาถึงบทบัญญัติที่บังคับไว้เกี่ยวกับวิธีการได้มาเป็นเรื่อง ๆ ไป เช่น หากเป็นการได้มาโดยการซื้อขายก็ดูตามมาตรา 456 ได้มาโดยการแลกเปลี่ยนก็ดูตามมาตรา 519 และ 456 ได้มาโดยการให้ก็ดูตามมาตรา 525 ได้มาโดยการจำนองก็ดูตามมาตรา 714 ดังนี้เป็นต้น ซึ่งเมื่อบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การได้มานั้นย่อมเป็นโมฆะหรือไม่ สมบูรณ์แล้วก็ต้องเป็นไปตามนั้น จะอ้างว่าการได้มานั้นเพียงไม่บริบูรณ์ตามมาตรา 1299 วรรคแรกหาได้ไม่ หากไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ เช่น การได้อสังหาริมทรัพย์โดยลูกหนี้ตีใช้หนี้ก็ดี การได้ทรัพยสิทธิในบรรพ 4 ทั้งหมด เช่น การได้มาซึ่งภารจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน หรือสิทธิเหนือพื้นดินก็ดี ย่อมจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 1299 วรรคแรกทั้งสิ้น

        ข้อควรสังเกตสำหรับมาตรา 1299 วรรคแรก ก็คือ การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ย่อมทำให้การได้มานั้นเพียงไม่บริบูรณ์ ในฐานะเป็นทรัพย์สิทธิที่จะใช้ยันต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น แต่ยังคงบริบูรณ์ในฐานะเป็นบุคคลสิทธิที่จะบังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญาอยู่ (คำพิพากษาฎีกาที่ 367/2495, 914/2503, 760/2507 และ 655/2508) เช่น ก. ยอมให้ ข. เดินผ่านที่ดินของตนไปสู่ถนนหลวงโดยไม่มีกำหนดเวลา แต่มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนี้ถือว่า ข. ไม่ได้ทรัพยสิทธิ เป็นการจำยอมในที่ดินของ ข. แต่ ข. ก็ยังมีบุคคลสิทธิตามสัญญาในอันที่จะเดินผ่านที่ดินของ ก. อยู่ เพียงแต่ว่าเมื่อข้อตกลงมิได้กำหนดเวลาไว้ ก. จะบอกเลิกข้อตกลงนั้นเสียเมื่อใดก็ได้ หรือหาก ก. โอนที่ดินต่อไปให้ ค. ค. จะไม่ยอมให้ ข. เดินผ่านที่ดินนั้นเลยก็ได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่า ค. สุจริตหรือไม่ หรือเสียค่าตอบแทนหรือไม่ เพราะสิทธิที่ ข. จะเดินผ่านที่ดินของ ก. นั้น เมื่อมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมเป็นเพียงบุคคลสิทธิใช้บังคับบุคคลภายนอกมิได้เลย แม้ว่าบุคคลภายนอกจะไม่สุจริตหรือไม่เสียค่าตอบแทนก็ตาม แต่ทายาทหรือผู้สืบสิทธิ (คำพิพากษาฎีกาที่ 442/2486) และเจ้าหนี้สามัญ (คำพิพากษาฎีกาที่ 456 ถึง 458/2491) ของคู่สัญญาหาใช่บุคคลภายนอกไม่ ฉะนั้น ทายาทผู้สืบสิทธิหรือเจ้าหนี้สามัญของคู่สัญญาจึงย่อมถูกบังคับตามสิทธิและหน้าที่ ซึ่งมีอยู่ตามสัญญาอันเป็นบุคคลสิทธินั้นด้วย

        มาตรา 1299 วรรคแรก นี้ น่าจะใช้แต่เฉพาะการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยนิติกรรมระหว่างเอกชนด้วยกันเท่านั้น เพราะหากเป็นการที่รัฐหรือองค์การของรัฐ เช่น เทศบาลเป็นผู้ได้มาแล้ว แม้จะเป็นการได้มาโดยนิติกรรม ก็มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยอยู่หลายเรื่องว่า หาจำต้องจดทะเบียนไม่ (คำพิพากษาฎีกาที่ 506/2490, 1042/2484 และ 583/2483) เช่น การยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะไม่ว่าจะยกให้แก่รัฐหรือเทศบาลก็ไม่จำต้องจดทะเบียนอย่างการโอนให้เอกชน

        สำหรับการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมนั้น หากจะให้บริบูรณ์ก็ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้ที่เช่นกัน แต่ถ้ามิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็หาใช่จะไม่บริบูรณ์เสียเลยไม่ ยังถือว่าการได้มานั้นบริบูรณ์ใช้ยันระหว่างคู่กรณีได้ และบริบูรณ์ใช้ยันบุคคลภายนอกผู้ซึ่งได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไปโดยไม่สุจริต หรือโดยไม่เสียค่าตอบแทนได้ เพียงแต่มีส่วนไม่บริบูรณ์อยู่บ้างเฉพาะจะเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนมิได้ และจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้อสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไปโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนทั้งได้จดทะเบียนสิทธินั้นโดยสุจริตมิได้เท่านั้น

        มาตรา 1299 วรรคสองนี้ ประสงค์จะคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้สุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิการได้มาโดยสุจริต ให้มีสิทธิดีกว่าผู้ที่ได้อสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งมิได้จดทะเบียนการได้มาเท่านั้น มิได้ประสงค์จะคุ้มครองให้มีสิทธิดีกว่าเจ้าของอันแท้จริงในอสังหาริมทรัพย์ หรือในทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เพราะอำนาจกรรมสิทธิ์ของเจ้าของนั้นย่อมจะยิ่งใหญ่กว่าอำนาจอื่น เป็นอำนาจที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ในอันที่จะใช้สอย จำหน่าย ได้ดอกผล ติดตามและเอาคืนจากผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ขัดขวางมิให้ผู้ใดเข้ามาเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้นผู้ที่ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือทรัพยสิทธิเกี่ยวแก่ทรัพย์สินจากผู้ที่มิใช่เจ้าของ หรือผู้ที่ไม่มีอำนาจโอนให้ได้แล้ว ผู้นั้นย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าเจ้าของ เหตุนี้จึงเกิดหลักกฎหมายว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน กล่าวคือ หากผู้โอนไม่มีอำนาจที่จะโอนให้ได้แล้ว ผู้รับโอนก็ไม่ได้อะไรมา ทั้งนี้โดยไม่ต้องพิจารณาว่า ผู้รับโอนจากผู้ไม่มีอำนาจโอนนั้นจะสุจริต หรือเสียค่าตอบแทนหรือไม่ เว้นแต่กรณีจะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 1329 ถึง มาตรา 1332 แม้มาตรา 1299 วรรคสองจะเป็นข้อยกเว้นอันหนึ่งของหลักกฎหมายที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนก็ตาม แต่ก็เป็นข้อยกเว้นที่ใช้เฉพาะกับผู้ได้มาโดยทางอื่น นอกจากนิติกรรมเท่านั้น หาได้เป็นข้อยกเว้นที่จะนำมาใช้กับเจ้าของอันแท้จริงไม่ ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาต่อไปนี้

        คำพิพากษาฎีกาที่ 1315/2493 มีผู้ปลอมโฉนดที่ดินของเขา แล้วเอาไปจำนองโดยเจ้าของที่ดินมิได้ประมาทเลินเล่อ ดังนี้ผู้รับจำนองไม่ได้ทรัพยสิทธิอย่างใดในที่ดินนั้น จะยกมาตรา 1299 มาอ้างอิงมิได้ เจ้าของที่ดินมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองได้

        คำพิพากษาฎีกาที่ 230/2501 จำเลยเอาโฉนดของโจทก์โอนเป็นของตน โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม กรรมสิทธิ์ยังเป็นของโจทก์อยู่ จำเลยไม่มีสิทธิเอาไปจำนอง ผู้รับจำนองไม่มีสิทธิตามสัญญาจำนอง

        คำพิพากษาฎีกาที่ 683/2507 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่าได้ให้จำเลยที่ 1 ดูแลจัดให้คนเช่า จำเลยที่ 1 เอาที่ดินนั้นไปขายให้จำเลยที่ 2 โดยทำสัญญาซื้อขายกันที่อำเภอ จำเลยที่ 2 รับโอนไว้โดยสุจริต ดังนี้จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้สิทธิในที่ดินตามมาตรา 1299, 1300

        คำพิพากษาฎีกาที่ 996 – 997/2509 ขอออกโฉนดทับที่ดินของผู้อื่น และเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดให้โดยไม่มีอำนาจ โฉนดที่ออกมาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้มีชื่อในโฉนดไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามโฉนดนั้น แม้จะโอนให้ผู้ใดต่อไป ผู้รับโอนก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ เมื่อโฉนดออกมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ได้กรรมสิทธิ์ทางทะเบียนจะนำมาตรา 1299 วรรคสองมาใช้ยันเจ้าของเดิมมิได้

        คำพิพากษาฎีกาที่ 325/2514 จำเลยเอาที่ดินมือเปล่าของผู้ร้องไปออก น.ส. 3 เป็นของตน แล้วจำนองไว้กับโจทก์ เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอน น.ส. 3 โดยฟังว่าที่ดินเป็นของผู้ร้องแล้วเช่นนี้ แม้ศาลจะมิได้พิพากษาให้เพิกถอนจำเลย และแม้จะฟังว่าโจทก์รับจำนองไว้โดยสุจริตก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิบังคับจำนอง

        มีผู้เข้าใจว่า มาตรา 1299 วรรคสอง นี้ใช้เฉพาะสำหรับได้อสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีชื่อทางทะเบียนเท่านั้น แต่ถ้อยคำตามตัวบทหาเป็นเช่นนั้นไม่ อสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าประเภทใด หรือทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ชนิดใดก็ตามย่อมจะต้องอยู่ในความหมายของมาตรา 1299 ทั้งสิ้น ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ 1101/2504 ที่ว่าที่ดินมือเปล่า ถ้าผู้โอนและผู้รับโอนประสงค์จะทำการโอนโดยผลของนิติกรรมก็ต้องทำนิติกรรมให้ถูกต้องตามแบบดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1299 วรรคแรก และคำพิพากษาฎีกาที่ 326/2495 ที่ว่าการได้ที่นามือเปล่ามาโดยการครอบครอง ถ้าไม่จดทะเบียนการได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง จะยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้

        การได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมนั้น หมายถึงการได้มาโดยมิได้เกิดจากนิติกรรม ตามแนวคำพิพากษาฎีกาพอจะวางหลักได้ว่า หมายถึงการได้มาโดยผลแห่งกฎหมายประการหนึ่ง เช่น การได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 หรือ การได้ภารจำยอมโดยอายุความตามมาตรา 1401 และ 1382 และหมายถึงการได้มาโดยการรับมรดกไม่ว่าจะเป็นการรับมรดกในฐานะเป็นทายาทโดยธรรม หรือเป็นผู้รับพินัยกรรมประการหนึ่ง และหมายถึงการได้มาโดยคำพิพากษาของศาลอีกประการหนึ่ง

        สำหรับการได้มาโดยการรับรองมรดกนั้น ได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 1619/2506 วินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 ทายาทย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกตั้งแต่เจ้ามรดกตาย แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธินั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ก็ตาม ก็มีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้เช่าทรัพย์มรดกนั้นได้ และคำพิพากษาฎีกาที่ 1812/2506 วินิจฉัยว่า เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายที่ดินที่ระบุไว้ในพินัยกรรมย่อมตกได้แก่ผู้รับพินัยกรรมทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1673 โดยมิต้องทำการรับมรดกและเข้าครอบครองที่ดินนั้น โดยเหตุนี้เจ้าของที่ดินเช่นว่านี้จึงมีอำนาจฟ้องให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์และขับไล่ผู้อาศัยได้

        การได้มาในฐานะเป็นผู้รับพินัยกรรมนั้น มีความเห็นแย้งว่าน่าจะเป็นการได้มาโดยนิติกรรม เพราะเป็นการได้มาจากพินัยกรรมซึ่งเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง แต่เป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว ความเห็นเช่นนี้ก็มีเหตุผลอยู่ แต่การรับมรดกในฐานะเป็นผู้รับพินัยกรรมนี้ แม้จะเริ่มต้นด้วยนิติกรรมแต่ผลที่ได้รับย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ กล่าวคือ ผู้รับพินัยกรรมจะได้รับมรดกก็ต่อเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายแล้วเท่านั้น ผู้ทำพินัยกรรมจะให้ทรัพย์มรดกตกได้แก่ผู้รับพินัยกรรมก่อนคนตายหาได้ไม่ ผลแห่งการที่ได้รับทรัพย์มรดกของผู้รับพินัยกรรมจึงน่าจะถือว่าเป็นผลตามกฎหมายมากกว่า ถ้าถือว่าเป็นการได้มาโดยนิติกรรมแล้ว หากเป็นอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 1299 วรรคแรก มิฉะนั้นไม่บริบูรณ์ ใช้ยันต่อบุคคลภายนอกไม่ได้เลย เช่นจะฟ้องขับไล่ผู้ที่อยู่ในที่ดินอันเป็นมรดกก็มิได้ แต่ก็ได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 1619/2506 และ 1812/2506 วินิจฉัยไว้แล้วว่า มีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้เช่าหรือผู้อาศัยซึ่งที่ดินอันเป็นมรดกนั้นได้ จึงน่าจะปรับเข้ากับมาตรา 1299 วรรคสอง คือใช้ยันบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

        การได้มาโดยคำพิพากษานั้นได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 352/2488 วินิจฉัยว่า คำพิพากษาซึ่งแสดงให้บุคคลได้สิทธิหรือมีสิทธิอย่างใดนั้น บุคคลนั้นย่อมได้สิทธิหรือมีสิทธิตามคำพิพากษาโดยบริบูรณ์ แม้เป็นอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่ต้องจดทะเบียนเสียก่อน การจดทะเบียนเป็นแต่เพียงทรัพยสิทธิที่จะใช้ยันบุคคลภายนอกได้เท่านั้น

        สำหรับการได้มาโดยคำพิพากษาของศาลนี้น่าจะต้องเป็นคำพิพากษาที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดโดยศาลเอง มิใช่โดยคำพิพากษาที่พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเป็นเพียงการยอมรับบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นนิติกรรมเท่านั้น จึงถือว่าการได้มาโดยคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเป็นการได้มาโดยนิติกรรม มิใช่โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม

        มีข้อสังเกตว่า สำหรับการได้มาทางอื่นนอกจากนิติกรรมนั้น หากเป็นการได้ภารจำยอมโดยการครอบครองตามมาตรา 1401 และ 1382 แล้ว แม้จะมิได้จดทะเบียนการได้มาตามมาตรา 1299 วรรคสอง ก็ใช้ยันบุคคลผู้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในภารยทรัพย์นั้นได้ แม้ว่าบุคคลภายนอกนั้นจะสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ตาม ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 800/2502 ซึ่งให้เหตุผลว่ามาตรา 1299 วรรคสอง ใช้เฉพาะกับทรัพยสิทธิของบุคคลภายนอกซึ่งเป็นทรัพยสิทธิอันเดียวกับสิทธิที่ยังมิได้จดทะเบียนเท่านั้น ภารจำยอมเป็นการโอนสิทธิ แต่ทรัพยสิทธิในภารยทรัพย์ที่บุคคลภายนอกได้ไปเป็นกรรมสิทธิ์ อันถือว่าเป็นทรัพยสิทธิต่างประเภทกัน

        แต่อย่างไรก็ตาม หลักตามคำพิพากษาฎีกาที่ 800/2502 นี้ก็ยังมีผู้ไม่เห็นด้วยอยู่เหมือนกัน.

 

__________________________________

 

ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
คำพิพากษาฎีกาที่ 814/2554
ช.ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทแก่ อ. เมื่อ ช. ตายที่ดินพิพาทตกเป็นของ อ. ต่อมา อ.ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของตนทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งห้า เมื่อ อ.ตาย ที่ดินพิพาทตกเป็นของโจทก์ทั้งห้า แม้ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ช. จำเลยที่ 1 ก็เพียงแต่มีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกของ ช. แทนทายาททุกคนเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาททุกคน ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทที่ตกเป็นของโจทก์ทั้งห้าไปขายโดยทายาทผู้ได้รับมรดกไม่ยินยอม การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งห้า แม้จำเลยที่ 2 แม้จะซื้อที่ดินโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ทั้งห้าย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทคืนอันเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 กรณีไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 เพราะการจะเป็นเรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลได้ จำเลยที่ 1 ผู้โอนต้องมีสิทธิโอนอยู่แล้ว และการโอนทำให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ


ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน(ซื้อรถยนต์จากผู้กระทำความผิด)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1344/2535
          เมื่อจำเลยรับซื้อรถยนต์พิพาทจากบุคคลซึ่งฉ้อโกงรถยนต์พิพาทจากโจทก์ จำเลยย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาท เพราะผู้ขายรถยนต์พิพาทไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์นั้น เข้าหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยซื้อรถดังกล่าวจากผู้ที่ฉ้อโกงเอามาขายที่ร้านของจำเลยในบริเวณชุมนุมการค้ารถยนต์ไม่ใช่ซื้อจากร้านค้าใดร้านค้าหนึ่งที่อยู่ในชุมนุม การค้ารถยนต์นั้น จึงไม่ใช่เป็นการซื้อในท้องตลาด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ดังนั้น จำเลยจะสุจริตหรือไม่ ก็ไม่เป็นเหตุให้ได้รับความคุ้มครองตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยจึงต้องคืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยขายรถยนต์แก่บุคคลภายนอกไปแล้วไม่อาจคืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ได้ จำเลยจึงต้องใช้ราคารถแก่โจทก์ตามราคาที่โจทก์ซื้อมาพร้อมด้วยค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถและค่าเสื่อมสภาพรถคันพิพาท

 

          

              (รูปภาพสำหรับ - สำนักงานทนายความ, และ ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ 0859604258 วันที่ตอบ 2011-09-09 13:46:51


ความคิดเห็นที่ 4 (2392323)

บริการของ สำนักงานกฎหมายพีศิริ ทนายความ
สำนักงานกฎหมายพีศิริทนายความ ก่อตั้งโดย ทนายความ ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ  รับว่าความคดีแพ่ง คดีอาญา คดีผู้บริโภคและคดีอื่นๆ ทุกคดี รับเป็นที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย รับเป็นทนายความแก้ต่างต่อสู้คดี ข้อตกลง ตลอดจนข้อสัญญาต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจ ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ยื่นคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดก ฟ้องเรียกเงินผิดสัญญากู้ยืมเงิน ผิดสัญญาจ้างทำของ  ฟ้องหย่า ฟ้องเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในคดีครอบครัว ฟ้องเรียกบุตรคืน ฟ้องถอนอำนาจปกครองผู้เยาว์ ฟ้องหย่าและเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู ฟ้องหย่าและขอแบ่งสินสมรส ฟ้องหย่าและเรียกค่าทดแทนจากหญิงที่แสดงตนว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับคู่สมรส ฟ้องหย่าและเรียกค่าเลี้ยงชีพ ฟ้องขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่เพียงผู้เดียว ฟ้องให้จดทะเบียนรับรองบุตร ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร ฟ้องขอให้ศาลมีว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ฟ้องขอเปลี่ยนอำนาจปกครองบุตร ฟ้องให้คู่หย่าปฏิบัติตามบันทึกท้ายทะเบียนหย่า ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตามบันทึกท้ายทะเบียนหย่า ฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์สินตามบันทึกท้ายทะเบียนหย่า  ฟ้องเรียกค่าทดแทนผิดสัญญาหมั้นเรียกสินสอดคืน ฟ้องบอกเลิกสัญญาหมั้นเรียกของหมั้นคืน ฟ้องคู่สมรสขอแยกกันอยู่ชั่วคราว ฟ้องขอให้จดทะเบียนใส่ชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนละครึ่ง ยื่นคำร้องต่อศาลขออนุญาตแทนการให้ความยินยอมขายที่ดินสินสมรส ฟ้องขอเพิกถอนการให้ที่ดินสินสมรส  ฟ้องขอใส่ชื่อเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินสินสมรส  ฟ้องขอใส่ชื่อเป็นเจ้าของร่วมในบัญชีธนาคาร  ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนสมรสซ้อน   ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร ฟ้องบิดาขอให้รับเด็กเป็นบุตรและเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูรวมมาด้วย  ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่าผู้ร้องเป็นบุตรเพื่อรับบำเหน็จตกทอดจากทางราชการ  ฟ้องไม่รับเด็กเป็นบุตรเนื่องจากเป็นหมันไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้  ฟ้องคดีขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม  ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแทนการให้ความยินยอมของมารดาในการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม  ยื่นคำร้องขอตั้งผู้ปกครอง  ขอให้ศาลแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองเด็ก  คดีขอให้ศาลสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครอง ติดต่อทนายความได้เลย ฟ้องหย่าคิดถึงทนายความลีนนท์ ติดต่อทนายความลีนนท์ ได้ที่หมายเลข 0859604258

 

 

 

ทนายความคดีครอบครัว ทนายความฟ้องหย่า

สำนักงานทนายความ โดย  ทนายความ ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ รับฟ้องคดีครอบครัว เช่น

ฟ้องหย่าโดยความยินยอม  

ฟ้องหย่าตามบันทึกข้อตกลง

ฟ้องหย่าให้โจทก์แต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง

ฟ้องหย่าให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

ฟ้องหย่าเรียกค่าเลี้ยงชีพ

ฟ้องหย่าเรียกคืนของหมั้น

ฟ้องหย่าแบ่งสินสมรส

ฟ้องหย่าอ้างเหตุอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่น

ฟ้องหย่าอ้างเหตุเป็นชู้หรือมีชู้

ฟ้องหย่าอ้างเหตุร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ

 __________________________________________________________

 

 

 

 

 

 

 

รายชื่อสำนักงานทนายความ,และ ทนายความ

สำนักงานกฎหมายและบัญชี อินเตอร์ คอนซัลแตนท์
หมวดหมู่ : ทนายความ
บริการ-ทางด้านกฎหมาย ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย รับว่าความทั่วราชอาณาจักร  กฎหมาย บัญชี ทนายความ, จดทะเบียนบริษัท,
ที่อยู่ - 399/48 ซอยทองหล่อ 21 สุขุมวิท 55 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม 10110

บริษัท กฎหมายเมืองทอง จำกัด
หมวดหมู่ : ทนายความ
บริการ-รับว่าความทั่วราชอาณาจักร,รับจัดตั้งบริษัท,รับทำบัญชีและยื่นภาษี,งานรับเหมาก่อสร้างและการให้บริการรักษาความปลอดภัย(รปภ.)
ที่อยู่ -อาคารซี 3 อิมแพคเมืองทองธานี ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด นนทบุรี 11120

บริษัท ศักยภาพกฎหมายและธุรกิจ จำกัด
หมวดหมู่ : ทนายความ
บริการทวงถามจัดเก็บหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ - ฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา คดีล้มละลาย ฯลฯ
ที่อยู่ - 267/4-5 ซอยลาดพร้าว 101 แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กทม 10310

สำนักงานกฎหมาย อัมรา สามนกฤษณะ ทนายความ
หมวดหมู่ : ทนายความ
ที่อยู่ -  135/27 หมู่ 12 หมู่บ้านลิขิต 7 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี สมุทรปราการ 10540
บริการ - ปรึกษาคดี ประกันตัวผู้ต้องหา ทำบัญชี จดทะเบียนบริษัท รับว่าความทั่วราชอาณาจักร

บริษัท ติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
หมวดหมู่ : ทนายความ
ที่อยู่ - สนง ศุภาลัย แกรนด์ ทาวเวอร์ ถนนพระราม 3 แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กทม 10120
บริการ - ที่ปรึกษากฎหมาย (Legal Advice)


ห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักงานสหนนท์กฎหมายและธุรกิจ
หมวดหมู่ : ทนายความ
ที่อยู่ - 155/131-3 ซอยรัตนาธิเบศร์ 18 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี นนทบุรี 11000
บริการ - รับว่าความทั่วราชอาณาจักร เร่งรัดติดตามหนี้สิน เช็คเด้ง, เงินกู้, ตั้งผู้จัดการมรดก, บังคับคดี, อุทธรณ์, ฏีกา ด้านกฎหมาย

ดนัยและเพื่อน สนง ทนายความ
หมวดหมู่ : ทนายความ
ที่อยู่ - 15 สมเด็จเจ้าพระยา 4 แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กทม 10600
บริการ - ดนัย และเพื่อน สำนักงาน ทนายความ ให้บริการทางด้านกฎหมาย ทนายความ งานด้านบัญชีครบวงจร จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ 0859604258 วันที่ตอบ 2013-07-26 17:43:16



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล