ReadyPlanet.com


เกี่ยวกับพินัยกรรม


พอดีว่าตาของหนูได้โอนโฉนดที่ดินให้กับแม่หนูพร้อมกับพินัยกรรมฉบับที่1   (แต่เป็นสำเนา)   แล้วพี่ของแม่หนูก็เอาตัวจริงไปเก็บไว้แล้วบอกเดี๋ยวค่อยมาเอา    พอตาของหนูใกล้เสียลุงบอกว่าตาได้ ทำพินัยกรรมฉบับที่2ไว้   หลังจากนั้นพี่ของแม่หนูก็ได้บอกว่าตาได้ทำพินัยกรรมฉบับที่2แล้ว      โดยที่แม่หนูหรือพี่น้องคนอื่นๆไม่ได้รับรู้    แล้วพี่ของแม่หนูก็ได้บอกว่าพินัยกรรมฉบับที่2ได้แบ่งให้ทั้งหมด3คน   ทั้งๆที่คนอื่นๆไม่เคยเห็นพินัยกรรมฉบับใหม่  และโฉนด    อยากทราบว่าที่ดินในพินัยกรรมฉบับแรกจะเป็นของแม่หนูหรือไม่หรือว่าจะเปลี่ยนไปตามพินัยกรรมฉบับที่2     (ที่ดินนั้นตาได้โอนให้แม่หนูแล้ว)



ผู้ตั้งกระทู้ กาญ :: วันที่ลงประกาศ 2011-08-07 09:56:26


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2213304)

ตาเป็นเจ้าของที่ดิน เมื่อได้โอนไปให้บุคคลใดในขณะมีชีวิตย่อมเป็นการจำหน่ายทรัพย์ของตนในขณะมีชีวิต หากเคยได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินเป็นอย่างไรก็เป็นอันไร้ผลใช้บังคับไม่ได้เพราะตัวทรัพย์ตามพินัยกรรมได้จำหน่ายหรือโอนไประหว่างมีชีวิตแล้ว

เกี่ยวกับเรื่องพินัยกรรมนั้นเมื่อได้ทำพินัยกรรมฉบับหลังย่อมทำให้เงื่อนไขในพินัยกรรมฉบับแรกสิ้นผลไปครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-09-06 09:47:56


ความคิดเห็นที่ 2 (2213307)

มาตรา 1696 ถ้าผู้ทำพินัยกรรมได้โอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สิน อันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมใดด้วยความตั้งใจ ข้อกำหนด พินัยกรรมนั้นเป็นอันเพิกถอนไป
 

วิธีเดียวกันนี้ให้ใช้บังคับ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมได้ทำลายทรัพย์สิน นั้นด้วยความตั้งใจ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2011-09-06 09:56:28


ความคิดเห็นที่ 3 (2213309)

ข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอันเพิกถอนไป

ส่วนปรากฏว่าก่อนนางไป๋ตาย นางไป๋ได้โอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่นางแม้นกึ่งหนึ่ง กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1696 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าผู้ทำพินัยกรรมได้โอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมใดด้วยความตั้งใจ ข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอันเพิกถอนไป"ดังนั้นข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินจำนวนกึ่งหนึ่งที่ยกให้นางแม้นเป็นอันเพิกถอนไปคงเหลือที่ดินจำนวนกึ่งหนึ่งตกเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยตามเจตนารมณ์ของผู้ทำพินัยกรรมโดยการแบ่งตามสัดส่วนคือจำเลยได้ 59 ส่วน โจทก์ทั้งสองได้คนละ 25 ส่วนของที่เหลือหรือได้รับที่ดินน้อยลงคนละกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ระบุในพินัยกรรม คิดแล้วจำเลยได้ที่ดิน 2 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวาโจทก์ได้ที่ดินคนละ 1 ไร่ 1 งาน มิใช่แบ่งให้จำเลยได้ที่ดินครบ 5 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ก่อนเมื่อมีที่ดินเหลือจึงตกเป็นของโจทก์ทั้งสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5720/2541

          แม้คำฟ้องโจทก์ในช่องจำเลยจะมิได้ระบุว่า จำเลย มีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกก็ตาม แต่ก็ได้บรรยายโดย รายละเอียดว่า เมื่อจำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยกระทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยมิได้จัดการโอนมรดก ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามพินัยกรรม แต่กลับโอนเป็นของจำเลย แต่ผู้เดียวในชั้นสืบพยานโจทก์ทั้งสองก็นำสืบว่า ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ดังนี้ ถือได้ว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก จึงเป็นคดี เกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งมีอายุความ 5 ปี นับแต่จัดการมรดก สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง หาใช่คดีมรดกซึ่งมีอายุความ 1 ปีไม่ โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2536 ยังไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ จำเลยโอนที่ดินมรดกมาเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว แม้จะถือว่าวันดังกล่าวจัดการมรดกเสร็จสิ้นก็ตาม คดีก็ยังไม่ขาดอายุความ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับที่ดิน และบ้านซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองหมาย จล.3 แต่สิทธิในที่ดินโฉนดเลขที่ 4779 โจทก์ที่ 1มีสิทธิได้รับลดลงกึ่งหนึ่งเท่านั้น จำเลยมิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์เกี่ยวกับที่ดินและบ้านซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองหมาย จล.3 ดังนั้นที่ดินและบ้านซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง หมาย จล.3 จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยย่อม ไม่มีสิทธิฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก ตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองหมาย จล.3 ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2252 เดิมมีเนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ป. เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายการเมือง ขอยกให้จำเลย 5 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ส่วนที่เหลือยกให้โจทก์ทั้งสองคนละเท่า ๆ กัน หมายความว่า ยกให้โจทก์คนละ 2 ไร่ 2 งาน เมื่อคำนวณเป็นสัดส่วนแล้วจำเลยจะได้ที่ดิน 59 ส่วน โจทก์จะได้ที่ดินคนละ 25 ส่วนแต่ก่อน ป. ตาย ป. ได้โอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่ ม.กึ่งหนึ่ง กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1696 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินจำนวนกึ่งหนึ่งที่ยกให้ ม. เป็นอันเพิกถอนไปคงเหลือที่ดินจำนวนกึ่งหนึ่งตกเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยตามเจตนารมณ์ของผู้ทำพินัยกรรมโดยการแบ่งตามสัดส่วนคือจำเลยได้ 59 ส่วน โจทก์ทั้งสองได้คนละ 25 ส่วน ของที่เหลือ หรือได้รับที่ดิน น้อยลงคนละกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ระบุในพินัยกรรม คิดแล้วจำเลยได้ที่ดิน 2 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวาโจทก์ได้ที่ดินคนละ 1 ไร่ 1 งาน มิใช่แบ่งให้จำเลยได้ที่ดินครบ 5 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ก่อน เมื่อมีที่ดิน เหลือจึงตกเป็นของโจทก์ทั้งสองไม่

          โจทก์ฟ้องว่า นางไบ๋ สมบุญธรรม เจ้ามรดกเป็นย่าของโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2534นายสิงห์ สมบุญธรรม บิดาของโจทก์ทั้งสองตายไปก่อนนางไป๋ นางไป๋ขณะมีชีวิตได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองไว้ 3 ฉบับ ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2252 และ 4779และบ้านทรงไทย 3 หลังแฝด เลขที่ 153 หมู่ที่ 2 ให้แก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยผู้เป็นบุตร หลังจากนางไป๋ตายจำเลยได้หลอกลวงนำโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวไปจากความครอบครองของนางแม้น สมบุญธรรม มารดาของโจทก์ทั้งสองแล้วยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางไป๋ต่อศาลชั้นต้นโดยเบิกความเท็จว่า นางไป๋ไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงพร้อมบ้านดังกล่าวเป็นชื่อของตนคนเดียวโดยไม่แบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองตามพินัยกรรมจำเลยกระทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกต้องถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินเฉพาะส่วนของนางไป๋ตามที่ดินโฉนดเลขที่ 2252และ 4779 ตำบลวัดโคก อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาทแล้วโอนให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยพร้อมบริวารออกจากบ้านเลขที่ 153 หมู่ที่ 2 และส่งมอบบ้านหลังดังกล่าวให้กับโจทก์ทั้งสองด้วย

          จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการโอนที่ดินเฉพาะส่วนของนางไป๋ สมบุญธรรม ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2252และโฉนดที่ดินเลขที่ 4779 และให้จำเลยจัดการโอนที่ดินตามโฉนดดังกล่าวทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ทั้งสองตามส่วนในพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองหมาย จล.2 และ จล.3 เพียงคนละกึ่งหนึ่งของสิทธิตามพินัยกรรมนั้น ๆ กับให้จำเลยส่งมอบบ้านด้านทิศตะวันตก 1 หลังให้แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมทั้งให้จำเลยและบริวารออกไปจากบ้านหลังนั้นด้วย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยเป็นประการแรกว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่เห็นว่า แม้คำฟ้องโจทก์ในช่วงจำเลยจะมิได้ระบุว่าจำเลยมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกก็ตาม แต่ก็ได้บรรยายโดยรายละเอียดว่าเมื่อจำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยกระทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยมิได้จัดการโอนมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสองตามพินัยกรรมแต่กลับโอนเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียวเมื่อวันที่29 เมษายน 2534 ทั้งในชั้นสืบพยานโจทก์ทั้งสองก็นำสืบว่าฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ดังนี้ถือได้ว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ซึ่งมีอายุความ 5 ปี นับแต่จัดการมรดกสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสองหาใช่คดีมรดกซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตามที่จำเลยฎีกาไม่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2536ยังไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยโอนที่ดินมรดกมาเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว แม้จะถือว่าวันดังกล่าวจัดการมรดกเสร็จสิ้นก็ตามคดีก็ยังไม่ขาดอายุความ

          ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการต่อไปว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองหมาย จล.2 และ จล.3 หรือไม่ เพียงใด คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับที่ดินและบ้านซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองหมาย จล.3เพียงแต่สิทธิในที่ดินโฉนดเลขที่ 4779 นั้น โจทก์ที่ 1มีสิทธิได้รับลดลงกึ่งหนึ่งเท่านั้น จำเลยมิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์เกี่ยวกับที่ดินและบ้านซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองหมาย จล.3 แต่อย่างใด ดังนั้นที่ดินและบ้านซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองหมาย จล.3 จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัย จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองหมาย จล.3 ต่อมาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาส่วนนี้

          คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยชั้นนี้เฉพาะพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองหมาย จล.2 เท่านั้น ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ได้เถียงกันว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2252 ตำบลวัดโคกอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เดิมมีเนื้อที่ 10 ไร่3 งาน 60 ตารางวา นางไป๋ได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองหมาย จล.2 ระบุว่า ขอยกให้จำเลย 5 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวาส่วนที่เหลือยกให้โจทก์ทั้งสองคนละเท่า ๆ กัน ซึ่งหมายความว่ายกให้โจทก์คนละ 2 ไร่ 2 งาน เมื่อคำนวณเป็นสัดส่วนแล้วจำเลยจะได้ที่ดิน 59 ส่วน โจทก์จะได้ที่ดินคนละ 25 ส่วนปรากฏว่าก่อนนางไป๋ตาย นางไป๋ได้โอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่นางแม้นกึ่งหนึ่ง กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1696 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าผู้ทำพินัยกรรมได้โอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมใดด้วยความตั้งใจ ข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอันเพิกถอนไป"ดังนั้นข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินจำนวนกึ่งหนึ่งที่ยกให้นางแม้นเป็นอันเพิกถอนไปคงเหลือที่ดินจำนวนกึ่งหนึ่งตกเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยตามเจตนารมณ์ของผู้ทำพินัยกรรมโดยการแบ่งตามสัดส่วนคือจำเลยได้ 59 ส่วน โจทก์ทั้งสองได้คนละ 25 ส่วนของที่เหลือหรือได้รับที่ดินน้อยลงคนละกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ระบุในพินัยกรรม คิดแล้วจำเลยได้ที่ดิน 2 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวาโจทก์ได้ที่ดินคนละ 1 ไร่ 1 งาน มิใช่แบ่งให้จำเลยได้ที่ดินครบ 5 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ก่อนเมื่อมีที่ดินเหลือจึงตกเป็นของโจทก์ทั้งสอง ดังที่จำเลยฎีกา

          พิพากษายืน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-06 10:02:29



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล