ReadyPlanet.com


การจดทะเบียนเข้าชื่อหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือคณะบุคคล ระหว่างสมรสถือเป็นสินสมรสหรือไม่


ระหว่างสมรส  คู่สมรสได้ตั้งบริษัทฯ และถือหุ้นอยู่  ไม่ทราบว่า การมีหุ้นส่วนในบริษัท หรือคณะบุคคลใด จะถือเป็นสินสมรสหรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ โชคดี :: วันที่ลงประกาศ 2011-08-03 12:35:46


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2211807)

โดยหลักแล้ว ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสย่อมเป็นสินสมรส ไม่ว่าจะได้เปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอย่างอื่นก็ตาม

ในกรณีนำเงินที่เป็นสินสมรสไปซื้อหุ้นในบริษัท หุ้นนั้นก็ย่อมเป็นสินสมรส ไม่เปลี่ยนแปลง

มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
(2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดย การให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
(3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
 

ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-09-01 22:33:06


ความคิดเห็นที่ 2 (2211810)

ฟ้องขอแบ่งสินสมรส ซึ่งหุ้นก็เป็นสินสมรสด้วย

โจทก์จำเลยคงมีสินสมรสที่โจทก์ประสงค์จะขอแบ่ง ได้แก่ เงินสดจากการขายที่ดินอันเป็นสินสมรสจำนวน 18,500,000 บาท เงินสดที่ฝากไว้กับธนาคารผู้มีชื่อ พร้อมดอกเบี้ยในนามนายปัญจวัชรและในนามจำเลยเป็นเงิน 19,000,000 บาท หุ้นด้อยสิทธิของธนาคารผู้มีชื่อจำนวน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย รวมทั้งที่ดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5690/2552
 

            การที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากันเพื่อประโยชน์ในการเสียภาษีแต่ยังคงอยู่กินและอุปการะเลี้ยงดูกันเสมือนมิได้หย่ากันเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้ระหว่างกัน การหย่าดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 คำฟ้องของโจทก์ที่อ้างว่าการหย่าเป็นโมฆะและขอแบ่งทรัพย์ที่ทำมาหาได้ จึงเป็นการขอเข้าจัดการสินสมรสร่วมกับจำเลยซึ่งโจทก์มีสิทธิร้องขอได้ตราบเท่าที่โจทก์และจำเลยยังคงมีฐานะเป็นสามีภริยากันอยู่ และกรณีนี้มิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่จะต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/9

________________________________

          โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยแบ่งเงินค่าขายที่ดินแปลงต่าง ๆ พร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องเป็นจำนวนเงิน 7,950,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จสิ้นแล้ว และแบ่งเงินค่าดอกเบี้ยที่ได้รับจากธนาคารให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 4,800,000 บาท ให้จำเลยแบ่งเงินจำนวน 9,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จสิ้น และแบ่งเงินค่าดอกเบี้ยตามจำนวนที่เป็นจริงให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ให้จำเลยโอนสิทธิในหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นเงิน 5,000,000 บาท แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ดำเนินการขายให้ใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และแบ่งเงินค่าดอกเบี้ยที่ได้รับจากธนาคารให้แก่โจทก์เป็นเงิน 2,500,000 บาท และให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 79424 ตำบลหนองบอน อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากตกลงกันไม่ได้ให้ประเมินราคากันระหว่างโจทก์ จำเลย หากตกลงกันยังไม่ได้ให้นำออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินแบ่งกัน

          จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง         

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งเงินให้โจทก์จำนวน 5,000,000 บาท และให้จำเลยโอนแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 79424 ตำบลหนองบอน อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร เนื้อที่ 146 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 55/242 หมู่ที่ 5 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากแบ่งไม่ได้ให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท คำขออื่นให้ยก

          โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของโจทก์มีว่า สิทธิเรียกร้องขอให้แบ่งทรัพย์ตามฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากันโดยแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้ระหว่างกัน ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการลดจำนวนภาษี ย่อมเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 ดังนั้นคำฟ้องของโจทก์ที่ขอแบ่งทรัพย์ซึ่งทำมาหาได้ จึงเป็นการขอเข้าจัดการสินสมรสร่วมกับจำเลย ซึ่งโจทก์มีสิทธิร้องขอได้ตราบเท่าที่โจทก์และจำเลยยังคงมีฐานะเป็นสามีภริยากันอยู่ และกรณีนี้มิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่จะต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/9 คดีโจทก์หาใช่ขาดอายุความตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาไม่ ฎีกาของโจทก์ในประการนี้ฟังขึ้น

          คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่เหลือว่า จำเลยต้องแบ่งทรัพย์ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ข้อนี้เบื้องแรกเห็นได้ว่า ตามท้องสำนวนโจทก์ยินยอมให้จำเลยจัดการสินสมรสเพียงผู้เดียวตลอดมา จนกระทั่งปี 2543 โจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยมีภริยาอีกคน โจทก์จึงขอให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์ และศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าการที่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมแบ่ง ถือว่าจำเลยจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1484 (1) โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลสั่งแยกสินสมรสได้ตามมาตรา 1484 วรรคสอง และ 1492  และในประการนี้โจทก์อ้างในคำฟ้องว่าหลังจากจดทะเบียนการหย่ากันแล้ว โจทก์จำเลยคงมีสินสมรสที่โจทก์ประสงค์จะขอแบ่ง ได้แก่ เงินสดจากการขายที่ดินอันเป็นสินสมรสจำนวน 18,500,000 บาท เงินสดที่ฝากไว้กับธนาคารผู้มีชื่อ พร้อมดอกเบี้ยในนามนายปัญจวัชรและในนามจำเลยเป็นเงิน 19,000,000 บาท หุ้นด้อยสิทธิของธนาคารผู้มีชื่อจำนวน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย รวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 79424 เนื้อที่ 146 ตารางวา พร้อมบ้าน โดยโจทก์นำสืบว่าเป็นสินสมรสที่จำเลยรวบรวมมาจากเงินที่รับจ้างแสดงภาพยนตร์และจากการขายบ้านพร้อมที่ดินที่ซื้อหาได้มาระหว่างที่สมรสกัน ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า จำเลยแบ่งเงินที่รวบรวมไว้ดังกล่าวให้แก่บุตรสาว 3 คน คนละ 5,000,000 บาท ให้แก่บุตรชาย 10,000,000 บาท และซื้อที่ดินให้บุตรทุกคน คนละ 1 แปลง สำหรับที่ดิน 3 แปลง ที่ยกให้บุตรสาวซึ่งแปลงหนึ่งมีบ้านเลขที่ 1025/1 ซอยอุดมสุข 31 ปลูกอยู่ด้วย เพิ่งขายไปในปี 2547 เป็นเงินราคาประมาณ 18,000,000 - 19,000,000 บาท ความข้อนี้ตรงกับที่นางสาวปฏาจารีบุตรสาวของโจทก์จำเลยพยานโจทก์เบิกความยอมรับไว้ทั้งยังรับรองด้วยว่าพยานกับพี่สาวอีก 2 คน ดังกล่าวได้รับเงินราคาขายที่ดินไปครบถ้วนแล้ว เช่นเดียว กับที่โจทก์เองก็เบิกความยอมรับว่าจำเลยมอบเงินให้โจทก์ส่งไปให้นายปัญจวัชรที่ประเทศสหรัฐอเมริกาหลายครั้งรวมประมาณ 10,000,000 บาท จริง ดังนั้น ทั้งเงินค่าซื้อที่ดินและเงินสดที่ยกให้บุตรทั้งสี่คนรวมแล้วประมาณ 40,000,000 บาท จึงเป็นการยกสินสมรสให้บุตรโดยความยินยอมของโจทก์ นอกจากนี้บัญชีเงินฝากต่าง ๆ ดังกล่าวจำเลยก็ปิดบัญชีหมดแล้ว ที่สำคัญโจทก์นำสืบไม่ได้ว่ายังคงเหลือตัวเงินจริงเท่าใด จำเลยให้การว่า เงินสดจำนวน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยซึ่งได้รับจากธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) สาขาสุขุมวิท 101/1 เป็นเงินที่ได้มาจากการทำมาหาได้ของจำเลยหลังจากจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ แต่ศาลวินิจฉัยว่าการหย่าเป็นโมฆะ จึงต้องฟังว่าเงินดังกล่าวและดอกเบี้ยอีก 660,000 บาท เป็นสินสมรส ต้องนำมาแบ่งแก่กัน สำหรับหุ้นด้อยสิทธิของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จำนวน 10,000,000 บาท นั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2546 จำเลยไปไถ่ถอนในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 อันเป็นการไถ่ถอนก่อนครบกำหนดและไม่แบ่งแก่โจทก์ ย่อมเป็นการจัดการสินสมรสโดยไม่ชอบ เช่นเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเข้าจัดการสินสมรสในส่วนนี้ได้ จำเลยต้องแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง แต่ตามรายการโอนเงินค่าหุ้นและดอกเบี้ยเข้าบัญชีที่โจทก์เสนอแสดง ไม่ปรากฏรายการโอนดอกเบี้ย 5,000,000 บาท เข้าบัญชีตามที่โจทก์เบิกความ จึงไม่อาจบังคับในส่วนของดอกเบี้ยได้ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 79424 ตำบลหนองบอน อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร พร้อมบ้านเลขที่ 55/242 หมู่ที่ 5 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร จำเลยซื้อที่ดินมาในปี 2541 และปลูกสร้างบ้านในปี 2544 ถึง 2545 เมื่อศาลวินิจฉัยว่าการหย่าเป็นโมฆะ ที่ดินพร้อมบ้านหลังดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสของโจทก์จำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิใส่ชื่อร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมได้ ฎีกาในประการนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

          พิพากษากลับ ให้จำเลยแบ่งเงินแก่โจทก์ 7,830,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง (วันที่ 28 ตุลาคม 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยโอนแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 79424 ตำบลหนองบอน อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร เนื้อที่ 146 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 55/242 หมู่ที่ 5 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ให้โจทก์กึ่งหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลเป็นพับ

( พินิจ สายสอาด - เปรมใจ กิติคุณไพโรจน์ - กีรติ กาญจนรินทร์ )

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง - นางอัจฉรา วริวงศ์
ศาลอุทธรณ์ - นางสาวประภาพรรณ อุดมจรรยา

    

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-01 22:41:12



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล