ReadyPlanet.com


อายุความหนี้


หนี้จำนองที่ขาดอายุความแล้ว..ต่อมา

ผมทำหนังสือถึงเจ้าหนี้เพื่อขอลดหนี้ และเจ้าหนี้ก็มีหนังสือแจ้งอนุมัติให้ลดหนี้และกำหนดวันชำระมาด้วย...

เช่นนี้..ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงหรือไม่อย่างไรครับ



ผู้ตั้งกระทู้ ชล (cholvi-at-yahoo-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2011-08-02 18:07:09


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2211595)

แม้หนี้จำนองจำนองจะขาดอายุความแล้ว แต่เจ้าหนี้จำนองเป็นเจ้าหนี้มีประกัน ทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องบังคับจำนองได้ นำทรัพย์ออกขายทอดตลาด หรือเอาทรัพย์จำนองหลุดได้

คำถามว่าอายุความสะดุดหยุดลงหรือไม่?

หนี้ที่ขาดอายุความแล้วไม่มีอายุความจะสะดุดหยุดลงได้ แต่คู่สัญญาอาจผูกพันกันตามสัญญาที่ทำกันใหม่ได้ เรียกว่า สัญญารับสภาพความรับผิด ตอบโดยสรุปก็คือ อายุความไม่สะดุดหยุดลง

 

มาตรา 745    ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-09-01 12:18:22


ความคิดเห็นที่ 2 (2211616)

 จำนองเป็นทรัพย์สิทธิซึ่งจะระงับสิ้นไปก็แต่โดย
มาตรา    744 อันจำนองย่อมระงับสิ้นไป
(1) เมื่อหนี้ที่ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นใดมิใช่เหตุอายุความ
(2) เมื่อปลดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือเป็นสำคัญ
(3) เมื่อผู้จำนองหลุดพ้น
(4) เมื่อถอนจำนอง
(5) เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองตามคำสั่งศาล อันเนื่องมาแต่การบังคับจำนองหรือถอนจำนอง
(6) เมื่อเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุด


ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จำนองมีสิทธิบังคับจำนองที่ดินที่จดทะเบียนจำนองประกันหนี้ตามฟ้องไว้ต่อโจทก์และโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้หนี้ตามสัญญากู้เงินซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ แต่จำนองเป็นทรัพย์สิทธิซึ่งจะระงับสิ้นไปก็แต่โดยกรณีต้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 ที่บัญญัติว่า เหตุจำนองระงับไว้ใน (1) ถึง (6) โจทก์จึงมีสิทธิบังคับเอาชำระหนี้จำนองได้ แต่ไม่อาจบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9494/2552
 

          สิทธิเรียกร้องในกรณีหนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ย่อมเกิดขึ้นนับแต่นั้น อายุความฟ้องเรียกเงินจำนวนที่ค้างจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) ซึ่งมีกำหนดอายุความห้าปี และเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2539 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2544 จึงเกินห้าปี ฟ้องโจทก์ย่อมขาดอายุความ และศาลฎีกาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แต่เป็นลูกหนี้ร่วมกับ จ. เจ้ามรดกที่มีจำเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมซึ่งให้การยกข้อต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1), 247

          หนี้ตามสัญญากู้เงินซึ่งเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ แต่จำนองเป็นทรัพย์สิทธิซึ่งจะระงับสิ้นไปก็แต่โดยกรณีต้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 744 ที่บัญญัติเหตุจำนองระงับไว้ใน (1) ถึง (6) โจทก์จึงมีสิทธิบังคับเอาชำระหนี้จำนองได้ แต่ไม่อาจบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีตามที่มาตรา 745 บัญญัติห้ามไว้เท่านั้น

          โจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองเท่านั้น และตามสัญญาจำนองกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ 13.75 ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงของคู่สัญญา จึงมิใช่เบี้ยปรับ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมาย เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อ้างมาในฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247
________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2537 นายจิมฮวด และจำเลยที่ 2 กู้ยืมเงินจากโจทก์ สาขาพระโขนง จำนวน 400,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี และยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ กำหนดผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เดือนละ 5,500 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 14 เมษายน 2537 งวดต่อไปทุกวันที่ 14 ของเดือนถัดไป และจะชำระหนี้ให้เสร็จภายใน 120 เดือน นับแต่วันทำสัญญา เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ นายจิมฮวดและจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 190971 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เป็นเงิน 400,000 บาท มีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอชำระหนี้ นายจิมฮวด และจำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชดใช้แก่โจทก์จนครบ นายจิมฮวดและจำเลยที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนด โดยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2539 เป็นเงิน 1,000 บาท วันดังกล่าว นายจิมฮวดและจำเลยที่ 2 ค้างชำระต้นเงิน 370,470.30 บาท ดอกเบี้ย 9,927.16 บาท รวมเป็นเงิน 380,397.46 บาท โจทก์ทราบว่านายจิมฮวดถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมของนายจิมฮวดได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ตั้งนางศุภวรรณ เป็นผู้จัดการมรดกศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางศุภวรรณเป็นผู้จัดการมรดกตามคำร้องขอโจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนอง แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองค้างชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 696,123.93 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 696,123.93 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีของต้นเงิน 370,470.30 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 190971 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด หากได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอชำระหนี้ขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

          ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางศุภวรรณ ผู้จัดการมรดกของนายจิมฮวด เข้าเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต

          จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ทราบถึงการตายของนายจิมฮวดตั้งแต่ปี 2538 นับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกิน 1 ปี จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม และจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับทรัพย์มรดกของนายจิมฮวด จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยร่วมให้การว่า คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) และมาตรา 1754 วรรคสาม โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยร่วม จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยร่วม โจทก์มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยเพียง 5 ปี และดอกเบี้ยมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนชอบที่จะปรับลดลง ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและกองมรดกของนายจิมฮวด ผู้ตายร่วมกันชำระต้นเงิน 370,470.30 บาท พร้อมดอกเบี้ย 9,927.16 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 370,470.30 บาท นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 190971 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองและกองมรดกออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ ให้จำเลยที่ 1 และกองมรดกของนายจิมฮวดรับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่ตน ให้จำเลยทั้งสองและกองมรดกของนายจิมฮวดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท

          จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกับจำเลยร่วมในฐานะผู้จัดการมรดกของนายจิมฮวด ผู้ตายชำระต้นเงิน 370,470.30 บาท พร้อมดอกเบี้ย 9,927.16 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 370,470.30 บาท นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้ตัดคำว่ากองมรดกของนายจิมฮวดออกจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นทุกแห่ง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกับจำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ ทั้งนี้ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมต้องไม่เกินไปจากทรัพย์มรดกของนายจิมฮวด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์

          จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า นายจิมฮวด และจำเลยที่ 2 ร่วมกันกู้เงินจำนวน 400,000 บาท จากโจทก์ สาขาพระโขนงกำหนดผ่อนชำระเงินกู้และดอกเบี้ยคืนเป็นรายงวด งวดละ 5,500 บาท ภายในวันที่ 14 ของแต่ละเดือนติดต่อกันรวม 120 งวด หากผิดนัดงวดในงวดหนึ่งยินยอมให้ถือว่าผิดนัดทุกงวด เริ่มงวดแรกวันที่ 14 เมษายน 2537 ตามสัญญากู้เงินลงวันที่ 14 มีนาคม 2537 เอกสารหมาย จ.9 กับนายจิมฮวดและจำเลยที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 190971 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เป็นประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าว ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันลงวันที่ 14 มีนาคม 2537 เอกสารหมาย จ.11 จากนั้นมีการผ่อนชำระตามสัญญาจนถึงครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2539 คงเหลือยอดหนี้เงินต้น 370,470.30 บาท ดอกเบี้ยค้างชำระจำนวน 9,927.16 บาท รวม 380,397.46 บาท ตามรายการเคลื่อนไหวภาระหนี้ของลูกค้าเอกสารหมาย จ.13 แต่นายจิมฮวดถึงแก่ความตายไปแล้วเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 โดยโจทก์เพิ่งทราบเมื่อต้นปี 2542 จำเลยที่ 1 เป็นมารดานายจิมฮวดจึงเป็นทายาทโดยธรรมของนายจิมฮวดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (2) จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยร่วมซึ่งเป็นน้องสาวของนายจิมฮวดเป็นผู้จัดการมรดก และศาลมีคำสั่งให้ตามคำร้องขอเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2539 ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 8 มีนาคม 2544 ไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 2 บอกกล่าวให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองตามเอกสารหมาย จ.2 แต่ไม่ได้รับชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมฎีกาขึ้นมาหลายประเด็น ศาลฎีกาเห็นควรหยิบยกประเด็นฎีกาว่าคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) ซึ่งมีกำหนดเวลา 5 ปี หรือไม่ ขึ้นวินิจฉัยเป็นประการแรก เห็นว่า เมื่อโจทก์ได้รับชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 18 มกราคม 2539 จึงต้องถือว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระงวดที่เหลือทั้งหมดตลอดมา สิทธิเรียกร้องในกรณีหนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ย่อมเกิดขึ้นนับแต่นั้นอายุความฟ้องเรียกเงินจำนวนที่ค้างจึงต้องบังคับตามมาตรา 193/33 (2) ดังกล่าวซึ่งมีกำหนดอายุความห้าปี และเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2539 ปรากฏว่าโจทก์เพิ่งฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2544 จึงเกินห้าปี ฟ้องโจทก์ย่อมขาดอายุความตามบทบัญญัติมาตรา 193/33 (2) และศาลฎีกาเห็นควรให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แต่เป็นลูกหนี้ร่วมกับนายจิมฮวดด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) 247 และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นฎีกาเกี่ยวกับอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ต่อไป ฎีกาของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมในข้อนี้ฟังขึ้น

          ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมในประการต่อไปมีว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จำนองมีสิทธิบังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 190971 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานคร ที่นายจิมฮวดและจำเลยที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ตามฟ้องไว้ต่อโจทก์และโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้หนี้ตามสัญญากู้เงินซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ แต่จำนองเป็นทรัพย์สิทธิซึ่งจะระงับสิ้นไปก็แต่โดยกรณีต้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 ที่บัญญัติว่า เหตุจำนองระงับไว้ใน (1) ถึง (6) โจทก์จึงมีสิทธิบังคับเอาชำระหนี้จำนองได้ แต่ไม่อาจบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปี ตามที่มาตรา 745 บัญญัติห้ามไว้เท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.2 ไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองจึงเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบตามมาตรา 728 แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมในข้อที่ว่าโจทก์มิได้บอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรม จึงไม่ถือว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบนั้น เป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมของนายจิมฮวดอยู่แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          สำหรับประเด็นฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ถือเป็นเบี้ยปรับ ชอบที่ศาลจะต้องปรับลดลงให้แก่ฝ่ายลูกหนี้นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองเท่านั้น และตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.11 กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้คืออัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงของคู่สัญญา อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          อนึ่ง โจทก์มีสิทธิบังคับเอาชำระหนี้จำนองสำหรับเงินต้นที่ค้างชำระจำนวน 370,470.30 บาท กับดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในสัญญาจำนองอัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี ย้อนหลังวันฟ้องขึ้นไป 5 ปี คือนับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2539 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จำนอง 370,470.30 บาท พร้อมดอกเบี้ย 9,927.16 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 370,470.30 บาท นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2539 จึงเป็นการพิพากษาให้จำเลยรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมาย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อ้างมาในฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247”

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายจิมฮวด จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมในฐานะผู้จัดการมรดกนายจิมฮวด ร่วมกันรับผิดชำระหนี้จำนองจำนวน 370,470.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 190971 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
 
( สมชาย จุลนิติ์ - มนตรี ยอดปัญญา - วีระพล ตั้งสุวรรณ )

 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-01 12:58:24


ความคิดเห็นที่ 3 (2211618)

 ผู้รับจำนองสามารถบังคับจำนองได้ไม่ว่าหนี้ที่ประกันจะขาดอายุความแล้วหรือไม่
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้ประธานยังไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่าห้าปีจากจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 บัญญัติว่า “ผู้รับจำนองจะบังคับจำนอง แม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้” ซึ่งหมายความว่า ผู้รับจำนองสามารถบังคับจำนองได้ไม่ว่าหนี้ที่ประกันจะขาดอายุความแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่ห้ามมิให้บังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีเท่านั้นหาใช่เฉพาะหนี้ที่ขาดอายุความดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระไม่เกินห้าปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1535/2551

          โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและบังคับจำนอง และขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 รับผิดในฐานะผู้รับโอนทรัพย์สินโดยจำนองติดไปซึ่งผู้รับจำนองยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยการบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 735 มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันไม่ได้ ต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) เมื่อจำเลยที่ 2 ยกอายุความเรื่องสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย

          ป.พ.พ. มาตรา 745 บัญญัติว่า “ผู้รับจำนองจะบังคับจำนอง แม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้” ซึ่งหมายความว่า ผู้รับจำนองสามารถบังคับจำนองได้ไม่ว่าหนี้ที่ประกันจะขาดอายุความแล้วหรือไม่ แต่ห้ามมิให้บังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีเท่านั้น ดังนั้น แม้หนี้ประธานยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ก็คงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระได้ไม่เกินห้าปี
________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ สาขาคลองตัน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2533 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 2,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราเอ็ม โอ อาร์ บวก 2 ต่อปี โจทก์มีสิทธิปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยและคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน สัญญามีกำหนด 12 เดือน เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ จำเลยที่ 1 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 21150 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนอง และจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองกับโจทก์อีก 2 ครั้ง รวมวงเงิน 36,000,000 บาท มีข้อตกลงว่า หากบังคับจำนองได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ยอมรับผิดในหนี้เงินส่วนที่ขาด หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินจำนองออกเป็นหลายแปลงคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 42693 ถึง 42699 และจำเลยที่ 1 ยังแบ่งแยกที่ดินแต่ละแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงย่อยแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 บางส่วน กล่าวคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 42693 แบ่งออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 61137, 61138, 61142 และ 61143 จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 61142 และ 61143 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 2 ที่ดินโฉนดเลขที่ 42694 แบ่งออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 61152, 61153, 61154, 61158 จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดิน 61152, 61153 และ 61154 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 3 ที่ดินโฉนดเลขที่ 42696 แบ่งออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 61162, 61163, 61164 และ 61165 จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 61162 และ 61163 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 4 และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 61164 และ 61165 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 5 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 42697 และ 42698 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ตามลำดับ โดยที่ดินโฉนดเดิมและที่แบ่งแยกยังคงผูกพันตามสัญญาจำนอง หลังจากทำสัญญา จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินในบัญชีมาตลอดจนมีหนี้เกินบัญชี และไม่นำเงินเข้าหักทอนบัญชี โจทก์จึงหักทอนบัญชี ยอดหนี้ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 เป็นเงิน 3,298,958.72 บาท ดอกเบี้ย 2,117,411.69 บาท รวมเป็นเงิน 5,416,370.41 บาท โจทก์บอกกล่าวให้ชำระหนี้ และบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว ขอให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงิน จำนวน 5,416,370.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.50 ต่อปี ของต้นเงิน 3,298,958.72 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป หากไม่ชำระขอให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระจนครบถ้วน

          จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การ

          จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น และคิดได้ไม่เกิน 5 ปี โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำนอง ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 5 ให้การว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยกับจำเลยที่ 1 เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับจำนอง ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 2,230,366.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2536 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2542 อัตราร้อยละ 12.50 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2542 ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2542 อัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2542 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2542 อัตราร้อยละ 11.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2542 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2542 อัตราร้อยละ 11.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2542 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2542 อัตราร้อยละ 11 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2542 ถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2542 อัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2542 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2542 และอัตราร้อยละ 10.50 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยในอัตราต่างๆ ดังกล่าวคำนวณตั้งแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 กรกฎาคม 2543) ย้อนหลัง 5 ปี เท่านั้น หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้ยึดที่ดินจำนองที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โฉนดเลขที่ 61142, 61143, 61152, 61153, 61154, 61162, 61163, 61164, 61165, 42697, 42698 ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และยึดที่ดินจำนองในส่วนที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์พร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดนำเงินมาชำระถ้าไม่พอชำระ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ขาดทอดตลาดนำเงินมาชำระจนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

          โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

          ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ สาขาคลองตัน และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 2,000,000 บาท มีกำหนด 12 เดือน ดอกเบี้ยอัตรา เอ็ม โอ อาร์ บวก 2 ต่อปี โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นและปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน โดยจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 21150 ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนขึ้นเงินจำนองอีก 2 ครั้ง รวมวงเงิน 36,000,000 บาท และมีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมรับผิดในหนี้เงินส่วนที่ขาด หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้แบ่งแยกที่ดินจำนองออกเป็นแปลงย่อยหลายแปลงเพื่อทำโครงการบ้านจัดสรร ชื่อโครงการหนึ่งทองวิลล่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ได้ซื้อบ้านทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินในโครงการดังกล่าวโดยจำนองติดไป เมื่อสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว มีประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า การที่จำเลยที่ 2 ผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองยื่นคำให้การยกอายุความเรื่องสิทธิเรียกร้องเรียกดอกเบี้ยค้างชำระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ จะมีผลถึงจำเลยที่ 1 ผู้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้เพราะขาดนัดยื่นคำให้การด้วยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและบังคับจำนอง และขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 รับผิดในฐานะผู้รับโอนทรัพย์สินโดยจำนองติดไปซึ่งผู้รับจำนองยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยการบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 735 มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันไม่ได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) บัญญัติว่า “...ห้ามมิให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ และให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันในบรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้นให้ถือว่าได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนอื่นๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทำไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่นๆ ...” ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ยกอายุความเรื่องสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้ประธานยังไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่าห้าปีจากจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 บัญญัติว่า “ผู้รับจำนองจะบังคับจำนอง แม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้” ซึ่งหมายความว่า ผู้รับจำนองสามารถบังคับจำนองได้ไม่ว่าหนี้ที่ประกันจะขาดอายุความแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่ห้ามมิให้บังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีเท่านั้นหาใช่เฉพาะหนี้ที่ขาดอายุความดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระไม่เกินห้าปี ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นฟ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเสียใหม่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม”

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ให้เป็นพับ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

( ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์ - สมศักดิ์ เนตรมัย - สถิตย์ ทาวุฒิ )

 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-01 13:02:56



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล