ReadyPlanet.com


เงินค้ำประกัน


อยากถามหน่อยครับตาม กฏหมาย ตอนที่ลาออกจากงานเงินค้ำประกันต้องคืนให้พนักงานภายในกี่วันอะครับ ขอถามเป็นความรู้หน่อยครับ ท่านผู้รู้



ผู้ตั้งกระทู้ นิต :: วันที่ลงประกาศ 2014-08-29 17:48:47


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3713639)

นายจ้างจะเรียกหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างไม่ได้เว้นแต่โดยลักษณะหรือสภาพของงานนั้น ลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งการทำงานของลูกจ้างอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ งานดังกล่าวนี้ ได้แก่
1. งานสมุห์บัญชี
2. งานพนักงานเก็บและหรือจ่ายเงิน
3. งานควบคุมหรือรับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุมีค่า คือ เพชร พลอย เงิน ทองคำ ทองคำขาวและไข่มุก
4. งานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของนายจ้าง หรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง
5. งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน
6. งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ
7. งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่าทรัพย์ ให้เช่าซื้อ ให้กู้ยืม รับฝากทรัพย์ จำนอง รับจำนำ เก็บของในคลังสินค้า รับประกันภัย รับโอน หรือรับจดส่งเงิน หรือการธนาคาร ทั้งนี้ เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงิน หรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่านั้น

หลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานมี 3 ประเภท

 ได้แก่ เงินสด ทรัพย์สินและการค้ำประกันด้วยบุคคล ซึ่งในกรณีเป็นเงินสดจำนวนเงินประกันที่นายจ้างมีสิทธิเรียกหรือรับได้ต้องไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับและเมื่อรับเงินแล้ว นายจ้างต้องนำไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินอื่น โดยจัดให้บัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคนและแจ้งชื่อธนาคารหรือสถาบันการเงิน ชื่อบัญชีและเลขที่บัญชีให้ลูกจ้างทราบเป็นหนังสือภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับเงินประกัน ในกรณีเป็นทรัพย์สิน ได้แก่ สมุดเงินฝากประจำธนาคารและหนังสือค้ำประกันของธนาคารต้องมีมูลค่าไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ โดยนายจ้างต้องเป็นผู้เก็บรักษาหลักประกันไว้และห้ามมิให้นายจ้างแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือกระทำการใดๆ เพื่อให้ลูกจ้างแก้ไข เปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของนายจ้าง หรือของบุคคลอื่นและในกรณีการค้ำประกันด้วยบุคคล วงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับโดยนายจ้างต้องจัดทำหนังสือสัญญาค้ำประกัน 3 ฉบับและให้นายจ้าง ลูกจ้างและผู้ค้ำประกันเก็บไว้ฝ่ายละฉบับ หรือในกรณีทนายจ้างเรียก หรือรับหลักประกันหลายประเภทรวมกัน เมื่อคำนวณจำนวนมูลค่าของหลักประกันทุกประเภทรวมกันแล้วก็ต้องไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับด้วย ในกรณีที่นายจ้างเรียก หรือรับหลักประกันดังกล่าว เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออก หรือ
สัญญาประกันสิ้นอายุ นายจ้างต้องคืนเงินเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ภายใน 7 วัน มีประเด็นถามว่า หากนายจ้างไปกำหนดเป็นระเบียบภายในของนายจ้างเอง ในเรื่องระเบียบการค้ำประกันพนักงานโดยกำหนดว่าจะคืนเงินประกันการทำงานแก่พนักงานที่ลาออกภายใน 1 หรือ 2 เดือนจะได้หรือไม่ เป็นการขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ในเรื่องนี้ได้เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาตัดสินไว้ว่า เมื่อประกาศดังกล่าวขัดต่อมาตรา 10 วรรคสอง ที่กำหนดให้นายจ้างคืนเงินประกันการทำงานให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ลูกจ้างลาออก อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่อาจอ้างสิทธิตามประกาศดังกล่าวได้จึงต้องคืนเงินประกันการทำงานภายใน 7 วัน นับแต่วันที่พนักงานลาออก  เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5331/2550

วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ปรากฏว่า จำเลยได้หักเงินประกันการทำงานจากโจทก์ไว้ 20,000 บาท โดยจำเลยได้มีประกาศเรื่องระเบียบการค้ำประกันพนักงาน กำหนดการคืนเงินประกันการทำงานแก่พนักงานที่ลาออกภายใน 4 เดือน หลังจากวันทำงานสุดท้ายและประกาศเรื่องระเบียบการค้ำประกันพนักงาน กำหนดการคืนเงินประกันการทำงานแก่พนักงานที่ลาออกภายใน 6 เดือน หลังจากวันทำงานสุดท้าย ซึ่งจำเลยอ้างสิทธิตามประกาศดังกล่าว จึงยังไม่คืนเงินประกันการทำงานแก่โจทก์ แต่เมื่อประกาศดังกล่าวขัดต่อมาตรา 10 วรรคสอง ที่กำหนดให้นายจ้างคืนเงินประกันการทำงานให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ลูกจ้างลาออก อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยไม่อาจอ้างสิทธิตามประกาศดังกล่าวได้ จำเลยจึงต้องคืนเงินประกันการทำงานให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่โจทก์ลาออก เมื่อโจทก์ยื่นใบลาออกในวันที่ 11 มีนาคม 2546 และมีผลในวันที่ 30 เมษายน 2546 จำเลยจึงต้องคืนเงินประกันการทำงานภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2546 เมื่อจำเลยไม่คืนจึงต้องเสียดอกเบี้ยในเงินประกันการทำงานให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2546 อันเป็นวันผิดนัด
ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่คืนแก่โจทก์ในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่งและมาตรา 10 วรรคสอง พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในเงินประกันการทำงานอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

 การที่จะเรียก หรือรับหลักประกันของนายจ้างนั้น เป็นสิทธิที่นายจ้างจะเรียกหรือรับได้ เพียงแต่ต้องพิจารณาว่าอยู่ในเงื่อนไขให้เรียกได้ตามข้อกฎหมายหรือไม่ เมื่อเรียก หรือรับมาแล้วจะต้องดำเนินการนำไปฝากไว้ที่ไหน อย่างไร ในกรณีเป็นเงินสดนั้น จะห้ามไว้โดยเด็ดขาดเลยว่านายจ้างจะเก็บไว้เองไม่ได้ ต้องนำไปฝากธนาคาร หรือสถาบันการเงินเพียงอย่างเดียว เมื่อกรณีพนักงานลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ต้องคืนเงินนั้นพร้อมดอกเบี้ยและต้องภายใน 7 วัน นับแต่วันที่พนักงานท่านนั้นพ้นจากการเป็นพนักงานไปแล้ว

ข้อมูลโดย นายพรเทพ ทวีกาญจน์ ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย บริษัท ซี.พี. พลาซ่า จำกัด

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2014-09-28 15:25:19


ความคิดเห็นที่ 2 (3713646)

มาตรา 10  ภายใต้บังคับมาตรา 51 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหาย ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่นหรือการค้ำประกันด้วยบุคคลจากลูกจ้าง เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงิน หรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้  ทั้งนี้ ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับหลักประกันจากลูกจ้าง ตลอดจนประเภทของหลักประกัน จำนวนมูลค่าของหลักประกัน และวิธีการเก็บรักษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืนหลักประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลา ออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2014-09-28 15:54:01



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล