ReadyPlanet.com


การนับระยะเวลา


มีเรื่องรบกวนพี่ๆช่วยตอบหน่อยครับ
ตัวอย่าง นาย ก. กูเงินนาย ข. วันที่ 1 มค 54 จำนวน100,000บาท ยอมจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระอีก 30 วัน นับจากวันกู้

คำถาม 1) การนับวันครบกำหนดชำระให้นับวันถัดไปคือเริ่มนับจากวันที่ 2 มค 54 โดยจะถึงกำหนดชำระวันที่ 31 มค 54 ถูกต้องไหมครับ
2) การคิดดอกเบี้ยเริ่มคิด และสิ้นสุดที่วันใด เริ่มคิดจากวันที่ 1 มค 54 (วันกู้) เลยหรือไม่ หรือเริ่มจากวันที่ 2 มค 54 และวันที่ทำการชำระ ต้องคิดดอกเบี้ยด้วยหรือไม่ เช่น หากถึงกำหนดชำระวันที่ 31 มค 54 ก็ให้คิดดอกเบี้ย ในวันที่ 31 มค 54 ด้วย ถูกไหมครับ หรือคิดสิ้นสุดที่วันที่ 30 มค 54
3) หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนเป็น กำหนดชำระกันหนึ่งปี วันที่จะถึงกำหนดชำระคือวันที่ 1 มค 55 ถูกไหมครับ

4) หากเป็นการจำนองกัน กำหนดชำระ 1 ปี การนับวันนับแบบเดียวกับข้อ 3) หรือไม่

ปล.ผมขอยกมาตราและฎีกาประกอบจะขอบคุณมากเลยครับ



ผู้ตั้งกระทู้ akkojung :: วันที่ลงประกาศ 2011-08-28 09:26:14


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2221733)

มาตรา 193/3   ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวันให้เริ่มต้นนับในขณะที่เริ่มการนั้น
 

ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่ เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-10-01 18:00:15


ความคิดเห็นที่ 2 (2221737)

การนับระยะเวลามิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วย

จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นสามสิบวันนับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดแล้ว ศาลเห็นว่า โจทก์ได้รับแจ้งคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2542 และนำคดีมาฟ้องวันที่ 7 กรกฎาคม 2542 ซึ่งการนับระยะเวลานั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสองบัญญัติว่า "ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวันสัปดาห์เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน" ดังนั้นวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงเป็นวันครบสามสิบวันพอดี เป็นการฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  757/2544

          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคท้ายประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2518 มาตรา 17 ให้อำนาจศาลที่จะนำพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบเองได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม การที่ ศาลภาษีอากรกลางเรียกพยานอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบโดยพยานเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินภาษีโจทก์เพื่อให้การกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีเป็นไปโดยถูกต้องเที่ยงธรรมจึงชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแล้วแม้โจทก์จะมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานภายในกำหนดและไม่มีสิทธิ นำพยานเข้าสืบก็ตาม

           โจทก์ได้รับแจ้งคำชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่จากกรุงเทพมหานครจำเลย เมื่อวันที่ 7มิถุนายน 2542 และนำคดีมาฟ้องวันที่ 7 กรกฎาคม 2542 ซึ่งการนับ ระยะเวลานั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสองบัญญัติว่า "ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวันสัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับ วันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน" ดังนั้นวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้อง จึงเป็นวันครบสามสิบวันพอดี เป็นการฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง

           หนี้ที่กรุงเทพมหานครจำเลยต้องชำระคืนแก่โจทก์เป็นหนี้เงิน ปกติโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งการที่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 39วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าศาลตัดสินให้ลดค่าภาษี ท่านให้คืนเงินส่วนที่ลดนั้นภายในสามเดือน โดยไม่คิดค่าอย่างใด" จึงเป็นบทยกเว้นความรับผิดเกี่ยวกับดอกเบี้ยที่จะต้องชำระแก่โจทก์แต่มีระยะเวลาเพียงสามเดือน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้ว จำเลยยังไม่ชำระ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีได้
________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2541 พนักงานเก็บภาษีสำนักงานเขตคลองเตยของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งรายการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีของทรัพย์สินในอาคารชุดมโนรมย์ ตั้งอยู่เลขที่ 3354/4และ 3354/43 ถนนพระราม 4 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานครของโจทก์ที่ให้ผู้อื่นเช่าประจำปีภาษี 2541 โดยอาคารชุดเลขที่ 3354/4ประเมินค่ารายปีจำนวน 984,000 บาท ค่าภาษีจำนวน 41,000 บาทอาคารชุดเลขที่ 3354/43 ประเมินค่ารายปีจำนวน 1,763,040 บาทค่าภาษี จำนวน 220,380 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ประเมินค่ารายปีจากอัตราค่าเช่าเดิมของปีที่ล่วงมาแล้วเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงอัตราค่าเช่าทั้งปีที่โจทก์ได้รับจริง ซึ่งโจทก์ให้ผู้อื่นเช่าได้ค่าเช่าดังนี้ อาคารชุดเลขที่ 3354/4 โจทก์ได้รับค่าเช่าจำนวน328,000 บาท อาคารชุดเลขที่ 3354/43 โจทก์ได้รับค่าเช่าจำนวน531,600 บาท โจทก์เห็นว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปีและค่าภาษีไม่ถูกต้องโดยเรียกเก็บค่าภาษีจากโจทก์เกินไปจำนวน 172,130 บาท จึงได้ยื่นคำร้องต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 ขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2541ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2542 โจทก์ได้รับแจ้งคำชี้ขาดจากจำเลยที่ 2 โดยชี้ขาดให้โจทก์ชำระค่าภาษีตามค่ารายปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินโจทก์นำเงินไปชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามที่จำเลยที่ 1 ประเมินครบถ้วนแล้วขอให้พิพากษาเพิกถอนการประเมินของจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2541 และเพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนค่าภาษีที่เรียกเก็บเงินเกินไปจำนวน172,130 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยไม่ยอมชำระคืนตามกฎหมาย

          จำเลยทั้งสองให้การว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ชอบแล้วและโจทก์ฟ้องคดีเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้การประเมินตามใบแจ้งการประเมินเล่มที่ 13 เล่มที่ 62 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 และใบแจ้งคำชี้ขาดเล่มที่ 21 เลขที่ 29 ลงวันที่ 19 เมษายน 2542โดยให้กำหนดค่ารายปีของโรงเรือนเลขที่ 3354/4 เป็นเงิน 927,875.98บาท (ที่ถูกคือ 309,291.92 บาท) ค่ารายปีของโรงเรือนเลขที่ 3354/43เป็นเงิน 927,875.98 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าภาษีให้โจทก์จำนวน 106,734 บาท ภายในสามเดือนนับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันครบกำหนดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของอาคารชุดเลขที่ 3354/4 และ 3354/43ถนนพระราม 4 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13กรกฎาคม 2541 พนักงานเก็บภาษีของจำเลยที่ 1 แจ้งรายการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีของอาคารชุดดังกล่าวประจำปีภาษี 2541 แก่โจทก์โดยอาคารชุดเลขที่ 3354/4 ประเมินค่ารายปีจำนวน 328,000 บาทค่าภาษีจำนวน 41,000 บาท อาคารชุดเลขที่ 3354/43 ประเมินค่ารายปีจำนวน 1,763,040 บาท ค่าภาษีจำนวน 220,380 บาท โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ จำเลยที่ 2 พิจารณาแล้วมีคำชี้ขาดให้โจทก์ชำระค่าภาษีตามค่ารายปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมิน ก่อนคดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลภาษีอากรกลางขอให้เพิกถอนการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ประเมินค่ารายปีและค่าภาษีประจำปี 2540 ของอาคารชุดทั้งสองห้องดังกล่าวกับอาคารอื่นของโจทก์ตามคดีหมายเลขดำที่ 71/2541 คดีหมายเลขแดงที่ 52/2542 ของศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและกำหนดค่ารายปีของอาคารชุดเลขที่ดังกล่าวหลังละ 927,875.98 บาท ศาลฎีกาพิพากษายืน

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อแรกมีว่าการที่ศาลภาษีอากรกลางเรียกพยานมาสืบเองเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคท้าย ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2518 มาตรา 17 ให้อำนาจศาลที่จะนำพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบเองได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ดังนั้นที่ศาลภาษีอากรกลางเรียกพยานอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบโดยพยานทั้งหมดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินภาษีโจทก์ เพื่อให้การกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีเป็นไปโดยถูกต้องเที่ยงธรรมจึงชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแล้ว แม้โจทก์จะมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานภายในกำหนดและไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบก็ตามกรณีหาอาจถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปดังจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ไม่ คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยทั้งสองอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้

          ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อต่อไปมีว่าโจทก์ฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ปัญหาข้อนี้ว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นสามสิบวันนับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดแล้ว เห็นว่า โจทก์ได้รับแจ้งคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 7มิถุนายน 2542 และนำคดีมาฟ้องวันที่ 7 กรกฎาคม 2542 ซึ่งการนับระยะเวลานั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสองบัญญัติว่า "ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวันสัปดาห์เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน" ดังนั้นวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงเป็นวันครบสามสิบวันพอดี เป็นการฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นข้อสุดท้ายตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมีว่า ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วยเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า หนี้ที่จำเลยทั้งสองต้องชำระแก่โจทก์เป็นหนี้เงิน ปกติโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งการที่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 39 วรรคสองบัญญัติว่า "ถ้าศาลตัดสินให้ลดค่าภาษี ท่านให้คืนเงินส่วนที่ลดนั้นภายในสามเดือน โดยไม่คิดค่าอย่างใด" จึงเป็นบทยกเว้นความรับผิดเกี่ยวกับดอกเบี้ยของจำเลยทั้งสองที่จะต้องชำระแก่โจทก์ แต่มีระยะเวลาเพียงสามเดือนเท่านั้น เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้ว จำเลยทั้งสองยังไม่ชำระ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่จำเลยทั้งสองได้ ดังนั้นที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าภาษีแก่โจทก์ภายในสามเดือนนับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงชอบแล้ว"
          พิพากษายืน

( ทองหล่อ โฉมงาม - ณรงค์ศักดิ์ วิจิตรสาระวงศ์ - ทวีวัฒน์ แดงทองดี )


หมายเหตุ 

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดความรับผิดอันเนื่องมาจากการที่ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดส่วนพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 39 วรรคสองที่กำหนดให้คืนเงินส่วนที่ลดนั้นภายใน 3 เดือนนั้น แสดงว่าเป็นบทบัญญัติที่กำหนดระยะไว้เป็นคุณแก่กรุงเทพมหานครที่มีสิทธิไม่ต้องคืนเงินก่อน3 เดือนได้ จึงถือว่าหนี้ดังกล่าวยังไม่ถึงกำหนดชำระจนกว่าจะพ้นกำหนด3 เดือน ระหว่างระยะเวลาดังกล่าวจึงไม่ถือว่ากรุงเทพมหานครซึ่งเป็นลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด กรุงเทพมหานครจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ในระหว่าง 3 เดือนนั้นกรณีมิใช่ว่ากรุงเทพมหานครตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ศาลตัดสินแต่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 39 วรรคสองได้บัญญัติยกเว้นความรับผิดในดอกเบี้ยไว้ จึงคิดดอกเบี้ยในระหว่างนั้นไม่ได้ดังที่ศาลฎีกาวินิจฉัยแต่อย่างใด

           ไพโรจน์ วายุภาพ
 
 
  

                

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-10-01 18:29:57



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล