ReadyPlanet.com


คนยืมรถมาใช้ให้เราขับให้แล้วรถไปประสบอุบัติเหตุ


คนอื่นยืนรถมา แล้วใช้ให้เราขับรถให้ แต่ขับรถไปประสบอุบัติเหตุมีคนเจ็บ(โดยที่คนยืมก็อยู่ในรถด้วย และเป็นพี่ชายของเจ้าของรถไปยืมรถมาให้เพื่อนขับไปตจวและไปประสบอุบัติเหตุ) อยากถามว่า คนขับต้องรับผิดหรือไม่ แล้วถ้าเป็นคดีความมีคนประสบอุบัติเหตุบางคนไม่พอใจในเงินประกันที่ได้แจ้งความเอาผิดกับคนขับรถ คนขับ(ซึ่งเหมือนกับตัวแทนของคนที่ยืมรถมา)จะมีทางสู้คดีอย่างไรบ้างครับ



ผู้ตั้งกระทู้ หมอนทอง :: วันที่ลงประกาศ 2011-09-16 22:00:23


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2225501)

ขอเรียนให้ทราบว่า การยืมรถยนต์ มาให้ขับกับการขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ได้รับความเสียหายเป็นคนละเรื่องกันนะครับ ดังนั้นผู้ขับขี่ก็ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นครับ ไม่มีทางแก้ต้วครับ แต่ถ้าผู้ขับขี่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ตัวการ จ้าง วาน ใช้ มีส่วนในการควบคุมดูแลยานพาหนะด้วยก็ต้องรับผิดร่วมกันและรับผิดคนละครึ่งครับ

มาตรา 437    บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ อย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหาย นั้นเอง
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-10-15 18:37:34


ความคิดเห็นที่ 2 (2225516)

ตัวการ จ้าง วาน ใช้ให้ขับรถและนั่งไปด้วยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายด้วย

ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยได้เป็นตัวการ จ้าง วาน ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวและเกิดเหตุรถชนกันในคดีนี้ ดังนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นเจ้าของรถ แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ควบคุมดูแลรถจักรยานยนต์โดยนั่งไปด้วยขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่รถชนกันและมีผู้ถึงแก่ความตายและรับอันตรายสาหัสต่อผู้ประสบภัยดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5544/2552

 บริษัทไทยศรีนครซูริคประกันภัย จำกัด     โจทก์
 

          ตามข้อ 18 แห่งกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ระบุให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินที่จ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยคืนจากผู้เอาประกันภัยได้ จะต้องเป็นกรณีที่ “ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดต่อผู้ประสบภัย” เท่านั้น ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุโดยจำเลยที่ 2 เป็นตัวการ จ้าง วาน ใช้ และไปประสบเหตุ แต่ในทางนำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยได้เป็นตัวการจ้าง วาน ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวและเกิดเหตุรถชนกัน ดังนี้แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นเจ้าของรถ แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ควบคุมดูแลรถจักรยานยนต์โดยนั่งไปด้วยขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่รถชนและมีผู้ถึงแก่ความตายและรับอันตรายสาหัสต่อผู้ประสบภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ข้อ 18 ที่ให้สิทธิโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินที่จ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยคืนได้แต่โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิไล่เบื้ยเอาแก่ผู้ที่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนทำให้เกิดเหตุรถชนขึ้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ.2540 มาตรา 31 แก้ไขเพิ่มเติม

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน เพชรบูรณ์ ฉ-0628 ไว้จากจำเลยที่ 2 เจ้าของรถ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มีกำหนดระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2541 มีเงื่อนไขกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถว่า หากผู้ขับรถจักรยานยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไม่มีใบอนุญาตขับขี่และโจทก์ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ประสบภัยแล้ว ผู้เอาประกันภัยและผู้ขับรถจักรยานยนต์ซึ่งโจทก์ถือว่าเป็นผู้เอาประกันภัย ต้องใช้ค่าเสียหายทั้งหมดแก่โจทก์ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2540 จำเลยที่ 1 โดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่ได้ขับรถจักรยานยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยตามที่จำเลยที่ 2 ตัวการใช้บนถนนสายเพชรบูรณ์ - ดงมูลเหล็ก ด้วยความประมาทเฉี่ยวชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-7343 เพชรบูรณ์ ที่แล่นสวนทางเป็นเหตุให้นายชัยยุทธ ที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับถึงแก่ความตายและจำเลยที่ 1 รับอันตรายสาหัส โจทก์ต้องจ่ายค่าปลงศพผู้ตาย 80,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 95,000 บาท จำเลยทั้งสองต้องใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์ตามเงื่อนไขกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 มกราคม 2541 ที่โจทก์จ่ายเงินดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,968 บาท รวมเป็นเงิน 101,968 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 101,968 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 95,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยที่ 1 ให้การว่า เงื่อนไขกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถตามคำฟ้องไม่มีอยู่จริง หากมีอยู่จริงก็ชอบที่โจทก์จะปฏิเสธจ่ายค่าปลงศพผู้ตายเพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่โจทก์จ่ายค่าปลงศพผู้ตาย โดยรู้อยู่ว่าไม่มีความผูกพันต้องชำระ โจทก์ต้องว่ากล่าวเอาจากทายาทของผู้ตาย จำเลยที่ 1 มีสิทธิรับค่ารักษาพยาบาลจากโจทก์จึงไม่ต้องคืนให้โจทก์ นอกจากนี้ เหตุเกิดจากความประมาทของนายอรุณ ผู้ขับรถยนต์ที่เกิดชนกันขึ้น จำเลยที่ 1 คงรับผิดเพียงกึ่งหนึ่ง ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิใช่เจ้าของรถจักรยานยนต์ตามคำฟ้องและมิได้เป็นผู้ทำให้เกิดความเสียหาย จึงไม่ต้องรับผิดตามเงื่อนไขกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ใช้เงิน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

          ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า ตามวันเวลาที่เกิดเหตุรถชนกันในคดีนี้ จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน เพชรบูรณ์ ฉ-0628 โดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่ และจำเลยที่ 2 เป็นผู้เอาประกันภัยไว้ต่อโจทก์ เกิดเหตุชนกับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-7343 เพชรบูรณ์ ซึ่งนายอรุณ เป็นผู้ขับ โดยทั้งสองฝ่ายต่างประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายชัยยุทธ ผู้นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ถึงแก่กรรม และจำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส โจทก์ได้จ่ายเงินตามข้อกำหนดในกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถให้แก่ทายาทของนายชัยยุทธ จำนวน 80,000 บาท และจำเลยที่ 1 จำนวน 15,000 บาท

          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์มีสิทธิตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ข้อ 18 เรียกให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 80,000 บาท ที่โจทก์จ่ายให้แก่ทายาทนายชัยยุทธคืนแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามข้อ 18 แห่งกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถดังกล่าวระบุให้โจทก์ก็มีสิทธิเรียกเงินที่จ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยคืนจากผู้เอาประกันภัยได้ จะต้องเป็นกรณีที่ “ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดต่อผู้ประสบภัย” เท่านั้น ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุโดยจำเลยที่ 2 เป็นตัวการ จ้าง วาน ใช้และไปประสบเหตุคดีนี้ แต่ในทางนำสืบของโจทก์ นายนิโรจน์ ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ เบิกความตอบซักถามว่า จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถไปขับและตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า นายนิโรจน์ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 จะได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 หรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า จากคำเบิกความพยานโจทก์ดังกล่าวไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยได้เป็นตัวการ จ้าง วาน ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวและเกิดเหตุรถชนกันในคดีนี้ ดังนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นเจ้าของรถ แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ควบคุมดูแลรถจักรยานยนต์โดยนั่งไปด้วยขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่รถชนกันและมีผู้ถึงแก่ความตายและรับอันตรายสาหัสต่อผู้ประสบภัยดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการใช้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์และเกิดเหตุชนกันขึ้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฉะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย ต้องรับผิดต่อผู้ประสบภัย กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ข้อ 18 ที่ให้สิทธิโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 80,000 บาท คืนได้ แต่โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ที่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนทำให้เกิดเหตุรถชนกันขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 มาตรา 31 แก้ไขเพิ่มเติม ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ

            

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-10-15 20:27:24



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล