ReadyPlanet.com


ละเมิดค่าเสียหาย(ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ)


 จำเลยตกลงจะจ่ายเงินค่าเสียหายให้ในวันที่ 5ของทุกเดือนโดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร  ตกลงทำสัญญาประนีประนอมต่อกันที่ศาลแล้วแต่ในวันที่6ได้ตรวจสอบบัญชีแล้วไม่มีเ้งินเข้าขั้นตอนต่อไปฝ่ายโจทก์จะต้องทำอย่างไรครับ



ผู้ตั้งกระทู้ ไพฑูรย์ :: วันที่ลงประกาศ 2011-09-14 11:32:19


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2225397)

สืบทรัพย์ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและตั้งเจ้าพนักงานบังคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความต่อไป

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-10-15 11:47:13


ความคิดเห็นที่ 2 (2225402)

ผิดนัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเหตุให้ต้องออกหมายบังคับคดีหรือไม่

โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยอ้างว่า จำเลยผิดนัดไม่ผ่อนชำระหนี้งวดวันที่...นั้น ข้อเท็จจริงของโจทก์จำเลย ในวันครบกำหนดตามสัญญาฯเป็นวันเสาร์ซึ่งหยุดราชการ แต่จำเลยก็นำเงินเข้าบัญชีโจทก์ในวันจันทร์ซึ่งเป็นวันเปิดทำการวันแรกทันที การนับระยะเวลาตามมาตรา 193/8 "ถ้าวันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณี ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ดังนั้น การที่จำเลยนำเงินเข้าบัญชีของโจทก์ทันทีในวันแรกที่เปิดทำการไม่ถือว่าจำเลยผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ล่วงพ้นกำหนดและตกเป็นผู้ผิดนัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5752/2553
 
          แม้ภายหลังจากที่จำเลยยื่นคำร้องขอเพิกถอนหมายบังคับคดีแล้ว จำเลยยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอีกคดีหนึ่งอายัดทรัพย์สินของจำเลยว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวอายัดซ้ำกับคดีของโจทก์ เป็นการดำเนินการในคดีอื่นอีกคดีหนึ่งภายหลังจากที่จำเลยยื่นคำร้องในคดีนี้เพื่อรักษาประโยชน์ของตนเองในฐานะที่เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวมิใช่การดำเนินการในคดีนี้ จึงมิใช่กรณีที่จำเลยได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หรือเป็นการให้สัตยาบันแก่การกระทำนั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเห็นว่าศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีไม่ถูกต้อง จำเลยจึงมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม

          จำเลยนำเงินเข้าบัญชีโจทก์ในวันจันทร์ที่ 1 กันยายน 2551 อันเป็นวันเปิดทำการวันแรกทันที ซึ่งการนับระยะเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8 บัญญัติว่า ถ้าวันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณี ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ดังนั้น การที่จำเลยนำเงินเข้าบัญชีของโจทก์ทันทีในวันแรกที่เปิดทำการจึงไม่ถือว่าจำเลยผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ล่วงพ้นกำหนดและตกเป็นผู้ผิดนัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีจึงเป็นการไม่ชอบ แม้โจทก์จะอ้างว่าธนาคารเปิดทำการในวันเสาร์อาทิตย์ ไม่อาจเป็นข้อยกเว้นของกฎหมายได้ และแม้จะมีข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่า ในงวดที่สามและที่สี่จำเลยยังคงนำเงินเข้าบัญชีโจทก์เกินกำหนด ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นในภายหลัง ไม่ทำให้การออกหมายบังคับคดีที่ไม่ชอบกลับกลายเป็นหมายบังคับคดีที่ถูกต้องตามกฎหมายไปได้ กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงไม่มีเหตุที่จะออกหมายบังคับคดีได้

          คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยยินยอมจะชำระค่าสินค้า 75,000 บาท และค่าทนายความอีก 2,000 บาท แก่โจทก์ ตกลงผ่อนชำระเดือนละไม่น้อยกว่า 15,000 บาท ให้เสร็จสิ้นภายใน 5 งวด เริ่มชำระงวดแรกภายในวันที่ 30 กรกฎาคม 2551 และงวดต่อไปทุกภายในวันที่เดียวกับการชำระงวดแรก โดยจะชำระเข้าบัญชีของโจทก์ หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดีทันทีได้เต็มตามฟ้อง 179,495 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากราคาที่ค้างชำระคือ 158,036 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอ จำเลยผิดนัดไม่ผ่อนชำระงวดวันที่ 30 สิงหาคม 2551 ตามกำหนด ขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งออกหมายบังคับคดี

          จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีโดยอ้างว่าจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความและโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
          ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้อง แต่วันนัดไต่สวน ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงร่วมกันแล้ว เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดไต่สวนและมีคำสั่งให้เพิกถอนหมายบังคับคดี

          โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรก จำเลยมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ภายหลังจากที่จำเลยยื่นคำร้องขอเพิกถอนหมายบังคับคดีแล้ว จำเลยยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอีกคดีหนึ่งอายัดทรัพย์สินของจำเลย ทรัพย์สินของจำเลยถูกเจ้าหนี้หลายรายรวมทั้งโจทก์อายัดไว้แล้ว การอายัดทรัพย์สินของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นการอายัดซ้ำกับคดีของโจทก์ ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการอายัดและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ถอนการอายัดแล้ว ถือว่าจำเลยให้สัตยาบันแก่การบังคับคดีของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสาม จำเลยไม่อาจขอเพิกถอนหมายบังคับคดีได้ เห็นว่า การที่จำเลยยื่นคำแถลงในอีกคดีหนึ่งว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอายัดซ้ำกับคดีของโจทก์ เป็นการดำเนินการในคดีอื่นอีกคดีหนึ่งภายหลังจากที่จำเลยยื่นคำร้องในคดีนี้เพื่อรักษาประโยชน์ของตนเองในฐานะที่เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษามิใช่การดำเนินการในคดีนี้มิใช่กรณีที่จำเลยได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หรือเป็นการให้สัตยาบันแก่การกระทำ ดังนั้น เมื่อจำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเห็นว่าศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีไม่ถูกต้อง จำเลยมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม

          ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไป จำเลยผิดนัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเหตุให้ต้องออกหมายบังคับคดีหรือไม่ เห็นว่า ตามคำขอลงวันที่ 5 กันยายน 2551 ของโจทก์ที่ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยอ้างว่า จำเลยผิดนัดไม่ผ่อนชำระหนี้งวดวันที่ 30 สิงหาคม 2551 นั้น ปรากฏตามคำแถลงรับข้อเท็จจริงของโจทก์จำเลย ในวันครบกำหนดคือวันที่ 30 สิงหาคม 2551 เป็นวันเสาร์ซึ่งหยุดราชการ แต่จำเลยก็นำเงินเข้าบัญชีโจทก์ในวันจันทร์ที่ 1 กันยายน 2551 เป็นวันเปิดทำการวันแรกทันที การนับระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8 บัญญัติว่า ถ้าวันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณี ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ดังนั้น การที่จำเลยนำเงินเข้าบัญชีของโจทก์ทันทีในวันแรกที่เปิดทำการไม่ถือว่าจำเลยผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ล่วงพ้นกำหนดและตกเป็นผู้ผิดนัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเป็นการไม่ชอบ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าธนาคารเปิดทำการในวันเสาร์อาทิตย์ก็มีนั้น ไม่อาจเป็นข้อยกเว้นของกฎหมาย และแม้จะมีข้อเท็จจริงปรากฏต่อมา ในงวดที่สามและที่สี่จำเลยยังคงนำเงินเข้าบัญชีโจทก์เกินกำหนด เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นในภายหลัง ไม่ทำให้การออกหมายบังคับคดีที่ไม่ชอบกลับกลายเป็นหมายบังคับคดีที่ถูกต้องตามกฎหมายไปได้ ฟังได้ว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่มีเหตุที่จะออกหมายบังคับคดีได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนหมายบังคับคดีชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-10-15 12:07:19



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล