ReadyPlanet.com


พินัยกรรมแม่(ยกสินสมรสส่วนของพ่อให้ลูก)


ก่อนแม่เสียแม่ทำพินัยกรรมไว้ยกที่ดินพร้อมบ้านและห้องเช่าซึ่งเช่าราชพัสดุอยู่ให้กับลูกทุกคนเท่าๆกันโดยพ่อไม่รับรู้เรื่องพินัยกรรมที่แม่ทำเลย ในพินัยกรรมระบุให้น้องเป็นผู้จัดการมรดก ตอนนี้น้องได้เปิดพินัยกรรมแล้วและจัดการติดประกาศครบ 30 วันตามระเบียบของที่ดินแล้ว แล้วผู้จัดการมรดกก็แจ้งมาว่าให้ไปรับโอนมรดกตามพินัยกรรม ขอปรึกษาข้อกฎหมายดังนี้

1. โฉนดที่ดินระบุเป็นชื่อแม่และห้องเช่าราชพัสดุระบุเป็นชื่อแม่ผู้เช่า ผมสอบถามพ่อแล้วว่าที่ดินและห้องเช่าข้างต้นนั้นได้มาหลังพ่อกับแม่สมรสกันดังนั้นที่ดินและสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุย่อมเป็นสินสมรสแต่พินัยกรรมระบุยกให้แต่ลูกๆเท่าๆกันพ่อไม่มีส่วนได้เลย ผมเห็นว่ามันเป็นทรัพย์สินของพ่อกับแม่ที่ร่วมกันหามาพ่อน่าจะได้ส่วนแบ่งในทรัพย์สินนี้ด้วย ช่วยแนะนำคุณพ่อผมหน่อยว่าต้องทำอย่างไรครับ

ป.ล. ตอนนี้ที่ที่เป็นโฉนดได้ติดประกาศที่อำเภอครบ 30 วันแล้วแต่ยังไม่มีการโอนรับมรดกจากผู้จัดการมรดก เพราะผมเห็นว่าถ้าโอนรับแล้วพ่อจะไม่มีส่วนแบ่งในที่ดินดังกล่าวเลย



ผู้ตั้งกระทู้ ประวิทย์ :: วันที่ลงประกาศ 2011-09-07 07:37:23


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2224613)

ทรัพย์สินทุกชนิดที่ได้มาระหว่างสมรส กฎหมายให้สันนิษฐานว่าเป็นสินสมรสครับ เมื่อคู่สมรสนำสินสมรสในส่วนของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไปทำพินัยกรรมจึงบังคับได้เพียงส่วนที่ผู้ทำพินัยกรรมมีสิทธิเท่านั้นครับ

ตามคำถามก็ต้องแบ่งสินสมรสก่อนครับ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งก็เป็นมรดกตกได้แก่ผู้รับพินัยกรรมตามสัดส่วนของผู้รับพินัยกรรมครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-10-12 11:15:30


ความคิดเห็นที่ 2 (2224630)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1083/2540
ในการทำพินัยกรรมเกี่ยวกับสินสมรสระหว่างสามีภริยาต้องบังคับตามมาตรา 1481 ที่ระบุว่าสามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้ ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าโจทก์ตกลงยินยอมให้ ช. สามีทำพินัยกรรมยกสินสมรสของตนให้แก่บุคคลอื่น ข้อตกลงนั้นย่อมฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว และยังขัดต่อความมุ่งหมายของมาตรา 1646 ที่กำหนดให้บุคคลใด ๆมีสิทธิทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้บุคคลอื่นได้ ก็แต่เฉพาะทรัพย์สินที่เป็นของตนเท่านั้นเหตุนี้ข้อตกลงยินยอมดังกล่าว จึงไม่ทำให้พินัยกรรมที่ ช. จัดทำ มีผลผูกพันไปถึงที่ดินสมรสที่เป็นส่วนของโจทก์ส่วนโจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลพิพากษา แสดงว่าพินัยกรรมไม่มีผลผูกพันสินสมรสที่เป็นส่วนของโจทก์ได้

โจทก์และช.ซึ่งสมรสกันก่อนปี2476ต่างตกลงยินยอมให้แต่ละฝ่ายทำนิติกรรมยกที่ดินสินสมรสส่วนของตนให้บุคคลอื่นในการทำพินัยกรรมที่เกี่ยวกับสินสมรสระหว่างโจทก์และช. นี้ต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1481แม้โจทก์ตกลงยินยอมให้ช.ทำพินัยกรรมดังกล่าวข้อตกลงยินยอมนั้นย่อมฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้นและยังขัดต่อความมุ่งหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1646ที่กำหนดให้บุคคลใดๆมีสิทธิทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้บุคคลอื่นได้ก็แต่เฉพาะทรัพย์สินที่เป็นของตนเท่านั้นเหตุนี้ข้อตกลงยินยอมดังกล่าวจึงไม่ทำให้พินัยกรรมที่ช. จัดทำมีผลผูกพันไปถึงที่ดินสินสมรสที่เป็นส่วนของโจทก์ด้วยโจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าพินัยกรรมไม่มีผลผูกพันสินสมรสที่เป็นส่วนส่วนของโจทก์ได้  ที่ดินโฉนดเลขที่4837ในส่วนที่พ.ยกให้ช. ตามสารบาญแก้ทะเบียนท้ายโฉนดดังกล่าวพ. ยกที่ดินส่วนนี้ให้ช. เมื่อวันที่9ตุลาคม2476ก่อนที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ5พ.ศ.2477ว่าด้วยเรื่องครอบครัวประกาศใช้จึงต้องนำกฎหมายลักษณะผัวเมียมาใช้บังคับซึ่งในกฎหมายดังกล่าวบทที่72ว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างผัวเมียบัญญัติว่า"ทรัพย์ที่บิดามารดาหรือญาติฝ่ายหญิงหรือชายให้ในวันที่แขก(วันแต่งงาน)ให้เป็นสินเดิมถ้าให้เมื่ออยู่กินเป็นผัวเมียกันแล้วให้เป็นสินสมรส"ซึ่งไม่ได้บัญญัติว่าให้เป็นสินส่วนตัวเลยพ.ได้ยกที่ดินส่วนดังกล่าวให้ช.ภายหลังการแต่งงานที่ดินส่วนนี้จึงเป็นสินสมรสระหว่างช.กับโจทก์เมื่อไม่ปรากฎว่าช.และโจทก์มีสินเดิมการแบ่งสินสมรสจึงเป็นไปตามกฎหมายลักษณะผัวเมียบทที่68คือชายหาบหญิงคอนช.จึงมีส่วนเป็นเจ้าของ2ส่วนและโจทก์มี1ส่วน

โจทก์ฟ้องว่า นายชื้น สุขสัมผัส กับโจทก์ได้อยู่กินและเป็นสามีภริยากันตั้งแต่ปี 2476 และเป็นสามีภริยากันตลอดมาจนกระทั่งนายชื้น ถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์กับนายชื้น มีบุตรด้วยกัน 4 คน บุตร 2 คน ถึงแก่ความตายก่อนนายชื้น คือนางสาวชุ่ม สุขสัมผัส บุตรคนที่ 1 และนางสาวชั้นสุขสัมผัส บุตรคนที่ 4 ส่วนบิดาและมารดานายชื้นถึงแก่ความตายก่อนนายชื้นแล้วจำเลยที่ 1 เป็นบุตรคนที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นบุตรคนที่ 3 จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 เกิดจากนายประทีปยิ้มพลาย ระหว่างอยู่กินเป็นสามีภริยา นายชื้นและโจทก์ได้ช่วยกันทำมาหากินมีทรัพย์สินสมรสหลายอย่าง ต่อมานายชื้น ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินซึ่งเป็นสินสมรส กล่าวคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 4837ตำบลลาดน้ำเค็ม อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ดินโฉนดเลขที่ 5451 ตำบลบ้านแค อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 2 หมู่ที่ 4ตำบลบ้านแค อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้แก่จำเลยทั้งสามและผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 4837 ตำบลลาดน้ำเค็ม อำเภอผักไห่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง เลขที่ 2หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านแค อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ดินโฉนดเลขที่ 5451 ตำบลบ้านแค อำเภอผักไห่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีชื่อนายชื้นในเอกสารทะเบียนที่ดินนั้นเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายชื้น โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของกึ่งหนึ่ง และพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน2527 ที่นายชั้นจัดทำขึ้นไม่ผูกพันบังคับในที่ดินส่วนที่เป็นสินสมรสของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินส่วนของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสามดำเนินการทางทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้โจทก์ได้ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว แปลงละกึ่งหนึ่งให้จำเลยทั้งสามกับโจทก์ ออกค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนฝ่ายละครึ่งหากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิในที่ดินได้ตามคำพิพากษาโดยให้โจทก์ทดรองออกค่าธรรมเนียมไปก่อนแล้วบังคับให้จำเลยทั้งสามใช้เงินดังกล่าวคืนโจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า ที่ดินทั้งสามแปลงตามฟ้องของโจทก์เป็นสินส่วนตัวของนายชื้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เป็นบุตรของนายชื้นกับโจทก์จริง ไม่ขอยกข้อต่อสู้ใด ๆ มาโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในคดีนี้

ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นางจำเริญ สุขสัมผัสผู้จัดการมรดกของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 4837 ตำบลลาดน้ำเค็มอำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของในฐานะสินสมรส 1 ใน 4 ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1)เลขที่ 2 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านแค อำเภอผักไห่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและที่ดินโฉนดเลขที่ 5451 ตำบลบ้านแค อำเภอผักไห่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายชื้นสุขสัมผัส โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของในฐานะเป็นสินสมรสกึ่งหนึ่งพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2527 ไม่มีผลผูกพันและบังคับถึงที่ดินส่วนที่เป็นสินสมรสของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินส่วนที่เป็นของโจทก์ดังกล่าว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย

โจทก์ จำเลย ที่ 1 และ ที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 4837ตำบลลาดน้ำเค็ม อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของในฐานะเป็นสินสมรสกึ่งหนึ่ง ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ทั้งสามแปลงดังกล่าว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลย ที่ 1 และ ที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้โต้เถียงว่า โจทก์และนายชื้น สุขสัมผัส สมรสกันก่อนปี 2476จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นบุตร จำเลยที่ 2 เป็นหลาน มีทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสซึ่งแต่ละฝ่ายมีส่วนเท่า ๆ กันหลายรายการ รวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 5451 และที่ดิน ส.ค.1 และที่ 2 ตำบลบ้านแคอำเภอผักไห่ (อำเภอเสนาใหญ่) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามสำเนาภาพถ่ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.5 และ ส.ค.1 เอกสารหมาย จ.7นอกจากนี้ยังมีที่ดินโฉนดเลขที่ 4837 ตำบลลาดน้ำเค็ม(อำเภอเสนาใหญ่) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีสารบาญแก้ทะเบียนท้ายโฉนดที่ดินระบุว่าเดิมนางพลายเจ้าของที่ดินได้ยกให้นายชื้นและนางชุ้นเป็นเจ้าของร่วมกัน เมื่อนางชุ้นตาย นายชื้นได้ซื้อส่วนของนางชุ้นจากผู้รับมรดกของนางชุ้น ปรากฎตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.6 วันที่ 26 พฤศจิกายน 2527 นายชื้นทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินโฉนดเลขที่ 4837 ให้จำเลยที่ 2ยกที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 และยกที่ดินโฉนดเลขที่ 5451 ให้จำเลยที่ 3 ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.9 ข้อ 1 ข้อ 2และข้อ 3 ตามลำดับ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2533 นายชื้นถึงแก่กรรม

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อ 3 ข้อ 5 และข้อ 6 ของจำเลยที่ 1และที่ 2 ซึ่งมีสาระสำคัญว่า โจทก์และนายชื้นตกลงยินยอมให้แต่ละฝ่ายทำพินัยกรรมยกทีดินสินสมรสส่วนของตนให้บุคคลอื่น ย่อมเป็นการจัดการสินสมรสร่วมกันโดยการแบ่งสินสมรสออกจากกัน สินสมรสที่แยกออกจากกันจึงตกเป็นทรัพย์สินของแต่ละฝ่าย เพียงแต่ให้ตกเป็นของบุคคลอื่นเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายเท่านั้น พินัยกรรมที่นายชื้นทำตามเอกสารหมาย จ.9 จึงผูกพันโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนพินัยกรรมที่เกี่ยวกับสินสมรสดังกล่าวนั้น เห็นว่า ในการทำพินัยกรรมที่เกี่ยวกับสินสมรสระหว่างสามีภริยาต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1481 ซึ่งบัญญัติว่า"สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้" ดังนี้แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าโจทก์ตกลงยินยอมให้นายชื้นทำพินัยกรรมดังกล่าวข้อตกลงยินยอมนั้นย่อมฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้น และยังขัดต่อความมุ่งหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 ที่กำหนดให้บุคคลใด ๆมีสิทธิทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้บุคคลอื่นได้ก็แต่เฉพาะทรัพย์สินที่เป็นของตนเท่านั้น เหตุนี้ ข้อตกลงยินยอมดังกล่าว จึงไม่ทำให้พินัยกรรมที่นายชื้นจัดทำมีผลผูกพันไปถึงที่ดินสินสมรสที่เป็นส่วนของโจทก์ด้วย โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าพินัยกรรมไม่มีผลผูกพันสินสมรสที่เป็นส่วนของโจทก์ได้

ปัญหาต่อไปตามฎีกาข้อ 7 ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 4837 ในส่วนที่นางพลายยกให้นายชื้นเป็นสินส่วนตัวของนายชื้นหรือไม่ และโจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของเพียงใด เห็นว่าตามสารบาญแก้ทะเบียนท้ายโฉนดที่ดินเลขที่ 4837 นางพลายยกที่ดินส่วนนี้ให้นายชื้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2476 ก่อนที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 พ.ศ. 2477 ว่าด้วยเรื่องครอบครัวประกาศใช้จังต้องนำกฎหมายลักษณะผัวเมียมาใช้บังคับ ซึ่งในกฎหมายดังกล่าว บทที่ 72 ว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างผัวเมีย บัญญัติว่า"ทรัพย์ที่บิดามารดาหรือญาติฝ่ายหญิงหรือชายให้ในวันมีแขก(วันแต่งงาน) ให้เป็นสินเดิม ถ้าให้เมื่ออยู่กินเป็นผัวเมียกันแล้วให้เป็นสินสมรส" ซึ่งไม่ได้บัญญัติว่าให้เป็นสินส่วนตัวเลย ได้ความจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า นางพลาย ยายของนายชื้น ได้ยกที่ดินส่วนดังกล่าวให้นายชื้นตอนนายชื้นแต่งงาน แต่เป็นเวลาภายหลังการแต่งงาน ดังนั้น ที่ดินส่วนนี้จึงเป็นสินสมรสระหว่างนายชื้นกับโจทก์ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่าทั้งนายชื้นและโจทก์มีสินเดิมการแบ่งสินสมรสจึงเป็นไปตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68คือชายหาบ หญิงคอน นายชื้นจึงมีส่วนเป็นเจ้าของ 2 ส่วน และโจทก์มี 1 ส่วน หาใช่เป็นของนายชื้นและโจทก์คนละกึ่งหนึ่งดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2ฟังขึ้นบางส่วน อนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า เพื่อสะดวกในการคิดคำนวณความเป็นเจ้าของในที่ดินแปลงนี้ของโจทก์และนายชื้น สมควรกำหนดให้ที่ดินแปลงนี้ทั้งแปลงเป็น 12 ส่วน จำนวนครึ่งหนึ่งหรือ 6 ส่วน ที่เป็นสินสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมียตกเป็นส่วนของนายชื้น 4 ส่วนของโจทก์ 2 ส่วน อีก 6 ส่วนที่นายชื้นซื้อมาเป็นเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 อันตกเป็นส่วนของโจทก์และนายชิ้นคนละ 3 ส่วน เท่า ๆ กัน รวมแล้วนายชิ้นมีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 4837 จำนวน 7 ส่วน โจทก์มี 5 ส่วนนายชื้น จึงมีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสให้บุคคลอื่นได้เพียงเฉพาะส่วนของตนจำนวน 7 ส่วนเท่านั้น หามีอำนาจทำเกินไปถึงส่วนของโจทก์อีก5 ส่วนไม่ พินัยกรรมที่นายชื้นทำขึ้นจึงไม่มีผลผูกพันสินสมรสส่วนของโจทก์

พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 4837 ตำบลลาดน้ำเค็มอำเภอผักไห่ (เสนาใหญ่) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของในฐานะเป็นสินสมรส 5 ใน 12 ส่วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2

 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-10-12 12:02:24



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล