ReadyPlanet.com


คดีรถชน(ผู้เสียหายมีส่วนผิดไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย)


ขอปรึกษาบ้าง

เนื้อหาคือ ขับรถมอไซมาทางตรง(ทางขวา และเร็ว) ระหว่างทางแยก มีรถบรรทุกอยู่ซ้ายมือ วิ่งเร็วเหมือนกันปาดหน้าเข้าทางแยก ขณะที่มอไซวิ่งตรงแล้วชน ถูกรถบรรทุกทับซ้ำ

ขอถามว่าคนขับมอไซทำอะไรได้บ้าง ตำรวจว่าผิดทั้งคู่จริงไหม

แรกตำรวจว่ามอไซชนแต่ที่รู้ว่าถูกปาดหน้าแล้วทับซ้ำเพราะหากล้องที่ถ่ายบนถนนได้

แล้วรถบรรทุกคนขับเป็นคนงานเอาผิดบริษัทได้ไหม

ทุกวันนี้คนขับมอไซ สมองหายไปเกือบครึ่งนึง

จะเรียกค่ารักษาพยาบาลยังงัย รบกวนตอบด้วย ทุกวันนี้มีแต่คนว่าความยุติธรรมไม่มีในโลกจะฟ้องก็ว่าสู้บริษัทคนขับรถบรรทุกไม่ได้เพราะเค้าเป็นบริษัทใหญ่รับสัมประทานรัฐ เราคนธรรมดายอมๆๆไปเหอะ  เห็นคนนอนป่่วยแล้วทุกข์ใจมากๆๆ

รบกวนช่วยตอบด้วยหาทางออกให้ด้วย

 



ผู้ตั้งกระทู้ ทุกข์มากๆๆ :: วันที่ลงประกาศ 2011-09-19 13:25:00


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2225544)

ปัญหาเรื่องขับรถโดยประมาท เป็นเรื่องข้อเท็จจริงไม่ใช่ข้อกฎหมายจึงตอบยาก และผู้ถามเองก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ตำรวจเองก็พิจารณาจากกล้องวงจรปิดแล้วทำความเห็นว่าประมาทร่วม หากเราไม่ผิดก็ต้องฟ้องให้ศาลมีคำชี้ขาดครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-10-15 21:58:19


ความคิดเห็นที่ 2 (2225552)

โจทก์เป็นฝ่ายผิดไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย
 
ในกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้เสียหายประกอบด้วย(ผิดด้วยกันทั้งคู่หรือประมาทร่วม) มาตรา 223 บอกว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร คำพิพากษาศาลฎีกาในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะยึดหลักว่าผู้เสียหายจะเรียกค่าเสียหายจากอีกฝ่ายไม่ได้ ถ้าความผิดของตนที่มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายเท่ากับหรือมากกว่าความผิดของอีกฝ่ายหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3002/2533

          เมื่อการที่โจทก์ขับรถไปชนไม้ที่รถจำเลยบรรทุกยื่นออกมาเกิดเพราะโจทก์เป็นฝ่ายประมาทมากกว่าจำเลย โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย.

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1บรรทุกไม้กระดานไป มีไม้บางส่วนยื่นออกนอกท้ายรถประมาณ 2 เมตรเศษโดยไม่ได้ติดสัญญาณไฟหรือผ้าแดงไว้ที่ปลายไม้ ขณะจำเลยที่ 2 จอดเพื่อรอเลี้ยวกลับรถบริเวณเกาะกลางถนนไม้ยื่นออกไปขวางช่องเดินรถติดเกาะกลางถนน เป็นเหตุให้รถที่โจทก์ข้บไปชนไม้ดังกล่าว ขอให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหาย

          จำเลยให้การว่า เหตุเกิดเพราะความประมาทของโจทก์ ค่าเสียหายน้อยกว่าที่ฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย28,274 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย

          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2ขับรถบรรทุกไม้กระดานมีไม้กระดานที่บรรทุกมาดังกล่าว บางส่วนยื่นพ้นท้ายรถออกไปประมาณ 1 เมตรเศษ ขณะที่จำเลยที่ 2 จอดรถเพื่อรอเลี้ยวตรงบริเวณเกาะกลางถนนอยู่นั้น โจทก์ได้ขับรถยนต์ไปชนถูกไม้กระดานที่ยื่นออกไปดังกล่าว เป็นเหตุให้รถโจทก์พังเสียหาย คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์หลายประการด้วยกัน

          สำหรับปัญหาตามฎีกาโจทก์ที่ว่า ความเสียหายเกิดขึ้นจากความประมาทของจำเลยที่ 2 หรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์และจำเลยที่ 2 ต้องกันว่า เหตุเกิดเวลาประมาณ 18.30 นาฬิกาและยังได้ความจากคำเบิกความของโจทก์อีกว่า ขณะนั้นท้องฟ้ากำลังสลัวพระอาทิตย์ใกล้ตกดิน จึงฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุยังไม่มืดเมื่อพิจารณาไม้กระดานที่ยื่นพ้นท้ายรถออกไปตามภาพถ่ายหมาย จ.5และ จ.6 ปรากฏว่าไม้กระดานที่ยื่นออกไปดังกล่าวมีจำนวนมากแผ่นด้วยกัน เมื่อฟังประกอบข้อเท็จจริงที่ฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุยังไม่มืดย่อมสามารถมองเห็นไม้กระดานที่ยื่นพ้นท้ายรถออกไปดังกล่าวได้ชัดเจนในระยะไกล หากโจทก์ขับรถมาด้วยความระมัดระวังตามสมควรแล้วย่อมต้องสังเกตเห็นและสามารถหลบหลีกไม่ให้ชนถูกไม้กระดานที่ยื่นออกมาดังกล่าวได้ การที่โจทก์ขับรถไปชนในพฤติการณ์ที่โจทก์มีโอกาสหลบหลี่ยงไม่ให้ชนได้เช่นนี้ จึงฟังได้ว่าโจทก์ขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ติดสัญญาณไฟหรือผ้าสีแดงไว้ที่ปลายกระดาน ดังที่โจทก์นำสืบ โจทก์ก็ได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายประมาทมากกว่าจำเลยที่ 2 อยู่ดี โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายที่บังเกิดขึ้น"

          พิพากษายืน.

( นาม ยิ้มแย้ม - ประชา บุญวนิช - เดชา สุวรรณโณ )

หมายเหตุ 

          ในกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้เสียหาย ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 223ก็บัญญัติแต่เพียงว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร และศาลฎีกาแปลความว่าให้ถือการทำละเมิดเป็นเกณฑ์พิจารณา ไม่ถือความเสียหายมากน้อยเป็นเกณฑ์(ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 143-144/2521) นอกจากนี้คำพิพากษาศาลฎีกาในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะยึดหลักว่าผู้เสียหายจะเรียกค่าเสียหายจากอีกฝ่ายไม่ได้ ถ้าความผิดของตนที่มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายเท่ากับหรือมากกว่าความผิดของอีกฝ่ายหนึ่ง (ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 834/2524,676/2524,580/2525และ 893-894/2530) หลักเช่นนี้คล้ายกับหลัก ComparativeNegligenceในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแบ่งส่วนความรับผิดในความเสียหายตามส่วนแห่งความผิดและมีเกณฑ์การใช้แตกต่างกันไปตามรัฐต่าง ๆ พอแบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ

          1. ผู้เสียหายจะเรียกค่าเสียหายได้เมื่อส่วนความผิดของตนน้อยกว่าของอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าคิดส่วนความผิดเป็นร้อยละก็เท่ากับไม่ถึง 50%

          2. ผู้เสียหายจะเรียกค่าเสียหายได้เมื่อส่วนความผิดของตนไม่มากกว่าของอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าคิดส่วนความผิดเป็นร้อยละก็เท่ากับไม่เกิน 50%

          3. หลัก PureFormofComparativeNegligence ซึ่งผู้เสียหายเรียกค่าเสียหายได้แม้ส่วนความผิดของตนจะเกินกว่าอีกฝ่ายหนึ่งก็ตาม

           มีการวิพากวิจารณ์การใช้หลัก ComparativeNegligence แบบที่ 1และที่ 2 ซึ่งคล้ายกังหลักที่ศาลฎีกาของไทยใช้อยู่มาก เพราะเกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ผู้มีส่วนความผิดร้อยละ 49 จะได้รับชดใช้ร้อยละ 51 ของความเสียหายที่ตนได้รับ แต่ผู้มีส่วนความผิดร้อยละ 51 จะไม่ได้รับชดใช้ความเสียหายใด ๆ ที่ตนได้รับเลยเป็นการขัดกับหลักกฎหมายละเมิดที่ให้บุคคลต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำของตนตามสัดส่วนที่ความผิดของตนก่อให้เกิดความเสียหายนอกจากนี้การตัดสินสัดส่วนความผิดก็ไม่ใช่เรื่องที่มีมาตรฐานกำหนดแน่นอน จะตัดสินได้อย่างไรว่าสัดส่วนความผิดของผู้เสียหายคือร้อยละ 51 ไม่ใช่ 50 หรือ 49 จึงไม่ควรให้เรื่องที่ไม่มีมาตรฐานแน่นอนเช่นนี้มีผลถึงกับให้ผู้เสียหายเสียสิทธิเรียกร้องไปเลย หลัก PureFormofComparativeNegligence แบบที่ 3เป็นทางเลือกทางหนึ่งที่น่าพิจารณานำมาใช้แทนเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากการใช้หลัก ComparativeNegligence แบบที่ 1 และที่ 2.

           พงศ์เทพเทพกาญจนา.
 
                

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-10-15 22:11:45



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล